วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การท้าทายต่อความเป็นผู้นำ

ตอนที่ ๔


การท้าทายต่อความเป็นผู้นำ

ผู้บังคับหน่วยทหาร จะต้องประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายรูปแบบ อันมีสาเหตุมาจาก วัฒนธรรมและค่านิยมที่แตกต่าง, ความไม่เท่าเทียมกันในชีวิตความเป็นอยู่, เป้าหมายที่ไม่แน่นอน และปัญหาในการแยกแยะศัตรู ธรรมชาติของความขัดแย้งทำให้จำกัดการใช้กำลังทหาร แต่อย่างไรก็ตาม ทหารอาจต้องถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในสภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรงตึงเครียด หรือภยันตรายในเวลาและสถานที่ที่ไม่คาดคิด ผบ.หน่วยทหารจำเป็นต้องเพิ่มวิถีทางป้องกันและช่วยเหลือกำลังพล ในกรณีที่ไม่มีอำนาจพอเพียง – ตัวอย่างเช่น การพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือและการประสานงานจากกำลังทหารต่างชาติ, หน่วยงานราชการอื่น ๆ หรือหน่วยงานที่มิใช่องค์กรของรัฐบาลและบุคลากรของหน่วยนั้น ๆ

๑ - ๑๓ การป้องกันกองกำลัง

การป้องกันกองกำลัง เป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างวิกฤติ และยิ่งมีความยุ่งยากมากขึ้นในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำ

ก. ขอบเขตจำกัดการปฏิบัติการ และการใช้กำลังทหาร จะต้องถูกอธิบายหรือระบุไว้อย่างชัดเจน และหน่วยทุกระดับจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทหารทุกนายต้องมีความเข้าใจว่า การปฏิบัติการของตนและหน่วยของตนไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม อาจทำให้เกิดเหตุลุกลามใหญ่โตได้ในระยะยาว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การปฏิบัติต่อประชาชนในประเทศที่มีเหตุการณ์ด้วยความสุภาพและให้เกียรติ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการโดยศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนในประเทศนั้น ๆ มาก่อนเป็นอย่างดี การปฏิบัติใด ๆ ก็ตาม สามารถก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว โดยสื่อของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก ตลอดจนผลของการปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ทั้งนี้ ผบ.หน่วยจะต้อง เอาใจใส่ พิจารณาหนทางการป้องกันกำลังพลของตนอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยข้อกำหนดในกฎของการปะทะ (ROE)

ข. การเอาชนะในด้านสงครามข่าวสารข้อมูล เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มิอาจมองข้ามในทุกโอกาส จึงจำเป็นต้องพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่อง ภาษา ในทุกปฏิบัติการ, ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับหน่วยงาน หรือองค์กรของรัฐบาลของประเทศ หรือกับประชาชนในประเทศที่มีเหตุการณ์ ผบ.หน่วยต้องจัดให้มีการตรวจสอบการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลในกองกำลังผสมนานาชาติ ในระหว่างการปฏิบัติแบบแยกการนั้น จะต้องจัดให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงาน หรือองค์การต่าง ๆ รวมทั้งพลเมืองในท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือและป้องกันกำลังพลในหน่วยและกองกำลัง

๑ - ๑๔ การดำรงสภาพอย่างต่อเนื่องของกองกำลัง

ขีดความสามารถของกองกำลังพันธมิตรในการดำรงสภาพของตนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่ด้อยพัฒนา ตลอดจนการให้การสนับสนุนและรับการสนับสนุนจากประเทศเจ้าบ้านนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การสนับสนุนตามรูปแบบที่เคยปฏิบัติอาจไม่สามารถช่วยได้ในบางกรณี การสนับสนุนภายในท้องถิ่น อาจไม่พอเพียงสำหรับกำลังทหารของเรา นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ท้องถิ่นนั้นขาดแคลนหนักขึ้นไปอีก หน่วยทหารขนาดเล็กมักจำเป็นต้องแยกตัวออกไปปฏิบัติการเป็นอิสระเสมอ ๆ และการจัดตั้งฐานการส่งกำลังบำรุงของกองทัพเราในดินแดนที่ไปปฏิบัติการทั่วไป ย่อมทำให้ภาพการปรากฏตัวของกำลังทหารมีมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับ

๑ - ๑๕ การดำรงรักษาวินัย

ทหารที่มีวินัยเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการปฏิบัติการทางทหารในความขัดแย้งระดับต่ำทหารเหล่านั้นจะต้องระมัดระวังรักษากฎแห่งการปะทะไว้ในขณะปฏิบัติการอย่างเคร่งเครียดประจำวัน ทหารจะต้องใช้จิตวิทยาต่อการปฏิบัติการของข้าศึก, ซึ่งอาจหมายรวมถึงการปฏิบัติการก่อการร้าย, นอกจากนี้ จะต้องระมัดระวังผลกระทบของการปฏิบัติที่มีต่อประชาชนในท้องถิ่น อีกด้วย

๑ - ๑๖ การป้องกันการยิงฝ่ายเดียวกัน

การพิจารณาภาพรวมของการปฏิบัติทางยุทธวิธีได้อย่างถ่องแท้ ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ ผบ.หน่วย ต้องพิจารณาเรื่องการยิงฝ่ายเดียวกันโดยไม่เจตนา ในระหว่างกรรมวิธีการวางแผนของตน ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะของการปฏิบัติจะเป็นแบบแยกการ มีหน่วยขนาดเล็กกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนี้ อย่างไรก็ตาม จะต้องเปรียบเทียบเกณฑ์การเสี่ยงระหว่างการยิงถูกฝ่ายเดียวกัน กับการสูญเสียจากการยิงของข้าศึก ในระหว่างเปรียบเทียบหนทางปฏิบัติด้วยการป้องกันการยิงฝ่ายเดียวกันสามารถทำได้โดยพิจารณา

ก. หลักนิยม หลักนิยมเป็นตัวกำหนดโครงสร้างพื้นฐานของการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุภารกิจ ผบ.หน่วยต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักนิยมของกองทัพตน, กองทัพพันธมิตร และกองทัพของประเทศเจ้าบ้านอย่างแท้จริง

ข. ยุทธวิธี, เทคนิค และระเบียบปฏิบัติ ทั้ง ๓ ประการนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า “จะปฏิบัติอย่างไร” ซึ่งกำลังพลทุกระดับต้องมีความเข้าใจ ยุทธวิธี, เทคนิค และระเบียบปฏิบัตินี้จะกระจายอยู่ทั่วไปในเอกสารหลักนิยม และระเบียบปฏิบัติประจำ

(๑) การวางแผน แผนที่มีความง่าย, แผนการดำเนินกลยุทธ์ที่มีความอ่อนตัว ซึ่งถูกกระจายลงไปถึงระดับต่ำสุดของสายการบังคับบัญชา จะช่วยป้องกันการยิงกันเองได้ แผนควรจะรวมถึงการใช้ รปจ. และแบบฝึกทำการรบในระดับผู้ปฏิบัติ นอกจากนี้ยังจะต้องประกอบด้วยมาตรการควบคุม และมาตรการประสานการปฏิบัติ ตลอดจนแผนการยิงสนับสนุน และการประสานการปฏิบัติเพื่อประกันความปลอดภัยของกำลังทหารฝ่ายเดียวกัน

(๒) การปฏิบัติ การปฏิบัติตามแผนจะต้องได้มีการเฝ้าฟัง ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับที่ตั้งของหน่วยทหารฝ่ายเดียวกัน ที่มีความสัมพันธ์กับการยิงของฝ่ายเรา หน่วยรองจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการรายงานที่ตั้งการวางกำลังของตน ผบ.พัน และ ผบ.ร้อย. จะต้องทราบที่ตั้งของหน่วยรองตลอดเวลา ทหารจะต้องฝึกปฏิบัติการด้วยการควบคุมความปลอดภัย, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใช้การยิงของปืนใหญ่, เครื่องยิงลูกระเบิด, รวมทั้งการโจมตีด้วยอากาศยานปีกหมุน และอากาศยานปีกติดลำตัว

ค. การฝึก การฝึกเป็นบุคคลและเป็นหน่วย จะประกอบด้วยกิจเฉพาะมากมายที่สนับสนุนการปฏิบัติการในความขัดแย้งระดับต่ำ ทหารที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี ย่อมรู้ขีดความสามารถและขีดจำกัดของตนเอง การฝึกเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะป้องกันการยิงฝ่ายเดียวกันเอง การฝึกจะได้ผลสมบูรณ์ต้องมีส่วนประกอบดังนี้

(๑) การตื่นตัวในสถานการณ์ ทหารที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี จะสามารถปฏิบัติภารกิจตามรูปแบบได้สำเร็จโดยสัญชาตญาณ สิ่งนี้จะทำให้ทหารตื่นตัว และให้ความระแวดระวังต่อปรากฏการณ์รอบ ๆ ตน; ทหารจะมองภาพสนามรบออก และจะดำรงความตื่นตัวต่อความเคลื่อนไหวทั้งของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก

(๒) การซักซ้อม การซักซ้อมถือเป็นการฝึกในสถานการณ์ไปในตัว ผบ.หน่วยทุกระดับต้องวาง แผนการใช้เวลา และแบ่งเวลาไว้สำหรับกิจเฉพาะที่สำคัญยิ่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น