บทที่ ๕
การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ
“ในท่ามกลางสันติภาพ ก็ยังมีกลิ่นไอของสงครามปะปนอยู่”
John Dryden
Absolm and Achitopel
การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุจะเป็นไปได้ในทุกลักษณะของความขัดแย้งระดับต่ำ ทั้งนี้จะเริ่มจากการปฏิบัติในลักษณะการป้องปราม เช่น การแสดงกำลัง ไปจนถึงการปฏิบัติในลักษณะของการสู้รบ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติในเงื่อนไขที่กำหนดข้าศึกชัดเจน หรือไม่ชัดเจนก็ได้ การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุอาจหมายรวมถึงงานทางด้านกิจการพลเรือน หรืองานการรักษาสันติภาพ (ซึ่งมิใช่การปฏิบัติการป้องปรามหรือการปฏิบัติการก่อนการสู้รบทั้งสองกรณี) ตามปกติแล้วกรมดำเนินกลยุทธ์จะถูกใช้เข้าปฏิบัติในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังเฉพาะกิจร่วม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับการกรมจะต้องพิจารณาปัจจัยประกอบหลายประการ เพื่อดำรงสถานะของความพร้อมรบ ที่จะตอบสนองต่อแผนเผชิญเหตุ เพื่อความมีสันติสุขของโลกและของภูมิภาค บทที่ ๕ นี้จะมุ่งเน้นถึงความจำเป็นของปฏิบัติการ ซึ่งมีผลกระทบต่อขั้นตอนต่าง ๆ ตามแผนเผชิญเหตุ
ตอนที่ ๑
การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุแต่ละขั้นตอนในยามสงบ
การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุคือ การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต ซึ่งมักจะมีความยุ่งยากซับซ้อนจากทางการเมือง ทั้งนี้หมายรวมถึง ความขัดแย้งในทางทหารที่อาจเริ่มเกิดขึ้นและที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในระดับต่ำและระดับปานกลางของการปฏิบัติการต่อเนื่อง การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ เป็นการปฏิบัติร่วมกันโดยลักษณะธรรมชาติ ซึ่งอาจต้องใช้กำลังทหารที่เป็นหน่วยเตรียมพร้อมของ ทบ. และกำลังทหารส่วนของหน่วยรับผิดชอบในพื้นที่ ข้อความในตอนที่ ๑ นี้จะมุ่งเน้นถึง คุณลักษณะ,ความสำคัญทางด้านการเมืองและความจำเป็นของการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ
๕ - ๑ คุณลักษณะ
การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ มักมีวิธีดำเนินการซึ่งแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เนื่องจากมีตัวแปรมากมาย
ก. ลักษณะเฉพาะบางประการของการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุมีดังนี้.-
(๑) ผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
(๒) ใช้การปฏิบัติลักษณะกดดันเพื่อให้ได้ชัยชนะ และผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว
(๓) ภารกิจ, สถานการณ์ และข้าศึก ไม่มีรูปแบบแน่นอน
(๔) ความจำเป็นทางการเมืองทำให้ต้องใช้การควบคุมแบบรวมการและปฏิบัติแบบ แยกการ
(๕) ความจำเป็นและความต้องการการเคลื่อนย้ายทางอากาศ และทางน้ำมีมาก ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังที่ตัดสินใจแล้ว จะต้องมีการปฏิบัติการตามมาอย่างรวดเร็ว
(๖) การตกลงใจที่จะใช้ทางเลือกของการปฏิบัติการทางทหาร มักจะกระทำในสถานการณ์ที่มีเงื่อนไขของเวลาบีบบังคับ
ข. ลักษณะของการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุจะมีผลกระทบต่อขั้นตอนของการดำเนินการ กรมที่จะเข้าร่วมในการปฏิบัตินี้ จะต้องมีการเตรียมการ.-
(๑) การจัดเฉพาะกิจหรือการจัดกำลังเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายและใช้ปฏิบัติการรบได้อย่างรวดเร็ว
(๒) การเคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปใช้ทำการสู้รบ โดยการส่งเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ
(๓) การจัดที่บังคับการทางยุทธการ ซึ่งสามารถดำเนินการตอบโต้อย่างรวดเร็ว, เคลื่อนย้ายกำลังเข้าใช้ทำการรบอย่างรวดเร็วทั้งยังสามารถตกลงใจตัดสินใจปฏิบัติการเชิงรุกอย่างรวดเร็ว
(๔) การเคลื่อนย้ายส่วนควบคุมและบังคับบัญชาเข้าไปในพื้นที่เป้าหมายได้แต่เนิ่น เพื่อประเมินสถานการณ์ และแสวงข้อตกลงใจทางยุทธการ/ทางยุทธวิธีได้อย่างรวดเร็ว
๕ - ๒ ความจำเป็นของการสนองตอบอย่างรวดเร็ว
การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ จำเป็นต้องใช้การแสวงข้อตกลงใจสนองตอบอย่างรวดเร็วของหน่วยระดับกรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ทั้งนี้จะต้องการการปฏิบัติดังต่อไปนี้.-
ก. การดำเนินกรรมวิธีให้ได้มาซึ่งข่าวกรองที่ถูกต้องและทันเวลาเกี่ยวกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ภายในพื้นที่เป้าหมาย
ข. การจัดตั้งและดำรงรักษา รวมทั้งเพิ่มพูนขีดความสามารถในการส่งกำลังเข้าปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ
ค. การประกันให้มั่นใจได้ว่า ผู้วางแผนในระดับกรมมีความเข้าใจในขีดความสามารถร่วม และกรรมวิธีในการรบร่วม
ง. การบริหารจัดการอย่างละเอียดรอบคอบในการเคลื่อนกำลังเข้าใกล้เป้าหมาย
จ. การจัดทำระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสม และการฝึกปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
๕ - ๓ ความสำคัญของการสนองตอบที่มีประสิทธิภาพเชื่อถือได้
การมีกำลังทหารที่สามารถสนองตอบคำสั่งอย่างเชื่อถือได้ ต่อสถานการณ์หรือวิกฤตการณ์ใด ๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประการแรกก็คือ กำลังทหารดังกล่าวนั้น สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับมิตรประเทศ ประการที่สองคือ ความสำเร็จในการปฏิบัติการต่อวิกฤตการณ์นั้นจะสร้างความประทับใจ และชี้ชัดว่าขีดความสามารถในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุนั้นมีอยู่จริง และสามารถใช้ได้ผล ประการสุดท้ายก็คือ การสนองตอบอย่างเชื่อถือได้ จะมีผลในทางบวกต่อความต้องการของชาติและของนานาชาติ ซึ่งในทางกลับกันก็จะมีผลกระทบต่อปัจจัยที่กล่าวมาแล้วด้วย กุญแจแห่งความสำเร็จในการสนองตอบดังกล่าวก็คือ การที่หน่วยระดับกรมได้จัดทำ รปจ. ในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ และ รปจ.นี้จะต้องถูกนำไปทดลองใช้ในสถานการณ์สมมุติ และสถานการณ์จริงต่าง ๆ กัน ตัวอย่างเช่น การส่งกำลังเข้าปฏิบัติการในภูมิภาค การอพยพส่งกลับบุคคลพลเรือน, การรักษาสันติภาพ, การแสดงกำลัง, การใช้กำลังเข้าทำการสู้รบ และอื่น ๆ
๕ - ๔ ขั้นตอนของการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ
หน่วยระดับกรมจะปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังร่วม หรือกองกำลังผสม โดยการควบคุมบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองกำลังร่วม/ผสม การปฏิบัติงานของกรมจะต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกำลังทางอากาศ และทางเรือ การปฏิบัติการในประเทศอื่น ๆ ก็คงต้องการการปฏิบัติร่วมกับกำลังของหน่วยรบพิเศษ และกำลังทหารของชาติเจ้าบ้านด้วย การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ จะเป็นขั้นตอนก่อนการใช้ปฏิบัติการหลัก ขั้นตอนแรกจะเริ่มต้นด้วยการวางแผน และการเตรียมการ และจบลงด้วยการเคลื่อนย้ายกำลังออกของกองกำลังเฉพาะกิจนั้น ซึ่งในหัวข้อนี้จะอธิบายขั้นตอน ๕ ขั้น ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ ทั้งนี้ในขั้นตอนแต่ละขั้นยังสามารถปรับ หรือประยุกต์ให้เข้ากับความต้องการของแผนเผชิญเหตุอื่น ๆ ได้
ก. ขั้นที่ ๑ การเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลัง/ปฏิบัติในภาวะวิกฤต ขั้นนี้เป็นขั้นตอนที่วิกฤตของการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ หน่วยระดับกรมซึ่งได้รับมอบหมายบทบาทหน้าที่ จะต้องคาดการณ์ล่วงหน้าถึงเงื่อนไขความต้องการกำลังทหารเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ, การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกำลังทหาร ตามเงื่อนไขดังกล่าว พร้อมทั้งการใช้ทรัพยากร วัตถุประสงค์นี้ประกอบด้วยการเลือกและการจัดกำลัง รวมทั้งการพัฒนาแนวความคิดในการปฏิบัติทางยุทธการ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขและความต้องการในขั้นต้นของแผนการทัพ ความจำเป็นที่ต้องวางแผนและเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลังทางยุทธศาสตร์ภายในกรอบเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ในสภาวะที่เกิดวิกฤตการณ์ ถือเป็นข้อใหญ่ใจความของขั้นตอนนี้ ปัจจัยตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้หน่วยระดับกรมต้องรีบดำเนินการเตรียมและจัดหาข้อมูลให้กับผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ เพื่อวิเคราะห์หาคำตอบเกี่ยวกับ : ขนาดและการประกอบกำลัง, เวลาที่จะเริ่มการเคลื่อนย้ายกำลัง และวิธีการที่จะเคลื่อนย้าย นอกจากนี้กรมยังจะต้องเตรียมภาพสนามรบด้านการข่าว และเตรียมการเพิ่มเติมในด้านกำลังรบ, หน่วยสนับสนุนการรบ และหน่วยสนับสนุนการช่วยรบที่จำเป็น ซึ่งจะได้คำตอบออกมาว่า ต้องการการเคลื่อนย้ายทางอากาศ หรือทางเรือเป็นจำนวนเท่าใด และพิจารณามาตรการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ ควบคู่ไปกับการลวงตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งการจู่โจม กรมยังจะต้องจัดตั้งที่บังคับการ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการควบคุมและบังคับบัญชา รวมทั้งองค์กรการจัดเพื่อสนับสนุนแนวความคิดในการปฏิบัติ
ข. ขั้นที่ ๒ การเคลื่อนย้ายกำลัง/การเริ่มเข้าสู้รบ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นของการปฏิบัติการที่สำคัญ จากการเข้ายึดครองพื้นที่ขั้นต้น เพื่ออำนวยการส่งกำลังเข้าไปจนถึงพื้นที่เป้าหมาย ขนาดและการประกอบกำลังของส่วนแรกที่เป็นส่วนนำของกรมที่จะเข้าไปยังพื้นที่ปฏิบัติการนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย METT-T และปัจจัยประกอบทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึง กำลังทหารของชาติเจ้าบ้านที่เป็นพันธมิตร ซึ่งสามารถจัดการระวังป้องกันให้กับเราได้, กำลังและขีดความสามารถของฝ่ายข้าศึก และกำลังส่วนอื่น ๆ ของฝ่ายเราที่สามารถให้การสนับสนุนได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับวิกฤตการณ์ อาจจำเป็นต้องใช้การส่งกำลังเข้าไปในดินแดนของฝ่ายตรงกันข้าม, ดินแดนที่เกิดปัญหา หรือดินแดนที่สามารถสนับสนุนช่วยเหลือกำลังทหารของฝ่ายเรา ดังนั้นหน่วยทหารราบส่งทางอากาศ และหน่วยทหารราบเคลื่อนที่โจมตีทางอากาศ จึงเป็นหน่วยที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับภารกิจการจู่โจมทางยุทธศาสตร์นี้ ยิ่งไปกว่านั้น กำลังส่วนติดตามจะต้องถูกเตรียมไว้เพื่อการเข้าเกาะติดพื้นที่เป้าหมายและการเสริมกำลังให้กับส่วนโจมตีอีกด้วย หากปรากฏภัยคุกคามจากหน่วยยานเกราะของข้าศึก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมขีดความสามารถในการต่อต้านยานเกราะให้กับหน่วยนำ และหน่วยเพิ่มเติมกำลัง หรือส่วนติดตาม หน่วยยานเกราะ, หน่วยบิน และหน่วยทหารปืนใหญ่สนาม จะสร้างขีดความสามารถของกำลังรบผสมเหล่าขึ้นมา หากปรากฏภัยคุกคามจากทางอากาศแล้ว ฝ่ายเราก็จำเป็นที่จะต้องเสริมขีดความสามารถในการต่อสู้อากาศยานและการป้องกันภัยทางอากาศ เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกำลังรบต่าง ๆ ในการป้องกันภัยทางอากาศ ทหารช่างสนามจะช่วยซ่อมสร้างสนามบิน ทางวิ่งขึ้น-ลง ไว้สำหรับกำลังส่วนติดตามหรือส่วนหนุน รวมทั้งการเสริมความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ให้กับกำลังทหารภาคพื้นดิน หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งของขั้นตอนนี้ก็คือ การจัดให้มีการประสานสอดคล้องกันระหว่างอำนาจกำลังรบของส่วนต่าง ๆ ในระหว่างการปฏิบัติการโจมตี เมื่องานในการควบคุมบังคับบัญชาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติไปในเวลาเดียวกันกับการประสานสอดคล้องแล้ว การประสานสอดคล้องจะส่งผลกระทบให้เกิดความเครียดในการควบคุมบังคับบัญชาเป็นอย่างมาก
ค. ขั้นที่ ๓ การก่อกำลัง/การปฏิบัติการรบ ขั้นตอนนี้จะมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการสร้างอำนาจกำลังรบขึ้นอย่างรวดเร็ว และเข้าปฏิบัติการรบได้ในทันทีทันใด วัตถุประสงค์ก็คือ การส่งกำลังรบเข้าปฏิบัติการทางภาคพื้นดิน โดยพร้อมสู้รบกับฝ่ายข้าศึก ในขณะที่กำลังรบส่วนตามหนุนเนื่องเข้ามา และเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการในขั้นต่อไป กิจหลักจะประกอบด้วย : การจัดตั้งฐานปฏิบัติการหน้า, ติดตามกำลังส่วนที่เหลือ, กระจายการวางกำลังออกไป, ทำการยุทธ์บรรจบกับกำลังรบร่วมผสมอื่น ๆ แล้วเข้าโจมตีกำลังของข้าศึกในลักษณะการปฏิบัติการเชิงรุก ขีดความสามารถของกำลังรบผสมเหล่า และการประสานสอดคล้องอำนาจกำลังรบร่วมเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวใจของการปฏิบัติ ความเร็วถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากความสำเร็จของการปฏิบัติการขั้นแตกหักขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของกองกำลังในการสร้างอำนาจกำลังรบได้โดยไม่สูญเสียความริเริ่ม
ง. ขั้นที่ ๔ การปฏิบัติการสู้รบขั้นแตกหัก หน่วยระดับกรมบรรลุเป้าหมายทางยุทธวิธีด้วยการสู้รบขั้นแตกหัก ทำให้ได้รับผลทางยุทธศาสตร์ในแผนการทัพ ซึ่งในขั้นที่ ๑ จะต้องสร้างเงื่อนไขให้กับขั้นที่ ๔ นี้ด้วย (ตามปกติแต่ละขั้นจะสร้างเงื่อนไขให้กับขั้นตอนที่ลำดับต่อไป) กรมจะต้องมุ่งเน้นในการทำลายหรือทำให้จุดศูนย์ดุลย์ของฝ่ายข้าศึกต้องหมดสภาพ ด้วยวิธีการต่าง ๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามวิกฤตการณ์ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินกลยุทธ์ในสงครามในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุก็คงเป็นเช่นเดียวกับการปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ คือต้องการการประสานสอดคล้องของระบบปฏิบัติการยุทธ์ และระบบการทำงานอื่น ๆ
จ. ขั้นที่ ๕ การถอนกำลัง วัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้ก็คือ การนำกำลังทหารกลับสู่ประเทศของตน หรือกลับไปยังฐานที่มั่นในขั้นตอนเริ่มแรก หรือนำกำลังส่งไปยังยุทธบริเวณแห่งอื่น
ดังนั้น จึงอาจกำหนดเป็นเงื่อนไขสำหรับขั้นการถอนกำลังนี้ได้ว่า มีความจำเป็นต้องใช้กำลังทหารส่วนนี้เข้าปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุแผนอื่น และเช่นเดียวกับในขั้นตอนแรก กรมจะต้องรีบจัดตั้งการควบคุมบังคับบัญชาขึ้น เพื่อจัดให้มีความอ่อนตัวในการปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องเสร็จสิ้นการประสานการปฏิบัติในการแบ่งมอบความรับผิดชอบให้กับประเทศเจ้าบ้าน หรือกองกำลังอื่น ๆ โดยปราศจากการสูญเสียความเป็นฝ่ายริเริ่ม หากการถอนกำลังนั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อกลับคืนสู่ประเทศของตนแล้ว กรมจะต้องช่วยดูแลมิให้ทหารเกิดความเครียดภายหลังจากการออกจากสภาวะ การสู้รบ มาสู่สภาวะปกติ
ตอนที่ ๒
การวางแผน
การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อวิธีการดำเนินการทางการทูตใช้ไม่ได้ผลในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของเราไว้ ทั้งนี้จะมีเป้าหมายที่อ่อนไหวต่อเวลาในการปฏิบัติ และเป็นเป้าหมายที่มีค่าอย่างสูง ซึ่งจำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการสนองตอบอย่างรวดเร็ว ผู้บังคับหน่วยจะจัดกำลังรบเพื่อให้สามารถรักษาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้ และจะประสานงานและความพยายามทางทหารเข้ากับการปฏิบัติทางการทูต และทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความพยายามที่เป็นเอกภาพ ใน รส.๑๐๐–๒๐ จะกำหนดหลักการในการวางแผนไว้ ๓ ประการ คือ : การประสานงาน, การจัดกำลังให้เกิดสมดุลย์ และการวางแผนเผชิญความไม่แน่นอน ในตอนที่ ๒ จะได้ขยายความหลักการทั้ง ๓ ข้อนี้
๕ - ๕ การประสานงาน
องค์กรอื่น ๆ ของรัฐบาล และแหล่งข่าวที่นอกเหนือจากทางทหาร จะเป็นประโยชน์และให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงานได้ ดังนั้น เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์สุดท้ายของการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ จึงไม่เจาะจงเฉพาะที่ด้านการทหาร หน่วยกำลังรบที่จะถูกใช้ในการปฏิบัติจึงควรจะถูกเลือกมาจากหน่วยที่ได้รับการวางแผนและได้รับการฝึกให้สามารถปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ โครงสร้างกำลังของกองกำลังเฉพาะกิจร่วม จะอยู่บนพื้นฐานของปัจจัย METT-T ซึ่งจะประกอบด้วย กำลังรบร่วมหรือผสมเหล่าภายใต้การบังคับบัญชาและการควบคุมของผู้บัญชาการคนเดียว กุญแจแห่งความสำเร็จของการปฏิบัติการ จึงขึ้นอยู่กับการประสานงานอย่างใกล้ชิดของหน่วยต่าง ๆ
ก. การประสานงานระหว่างหน่วยทหารกับองค์กรอื่น ๆ และองค์กรอิสระ จะเป็นไปเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่ผันแปรและอ่อนไหว รัฐจะเป็นองค์กรนำโดยกองทัพจะมีบทบาทในการสนับสนุน, ยกเว้นในขั้นตอนของการโจมตี เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทางการทหาร จะต้องมีความประสานสอดคล้องกับการปฏิบัติของหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ หากการประสานงานไม่เกิดขึ้น การปฏิบัติการก็จะล้มเหลว
ข. ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชา (หน่วยในอัตรา, กองกำลังร่วม, กองกำลังผสม) จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ ทั้งนี้เนื่องมาจากลักษณะเฉพาะของชาติ, ลักษณะเฉพาะของความต้องการกองกำลัง และความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างกองทัพและการเมือง สายการบังคับบัญชาและการควบคุมที่ชัดเจน ตลอดจนการติดต่อสื่อสารจะถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มของการปฏิบัติ ข้อตกลงในเรื่องการบังคับบัญชา การควบคุม และการติดต่อสื่อสารนี้ จะต้องหลีกเลี่ยงการบังคับบัญชาและควบคุมที่เป็นไปมากเกินกว่าเหตุ การผสมผสานกันระหว่างการเฝ้าฟังเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความริเริ่มและความอ่อนตัว จะช่วยแก้ปัญหาที่ยากลำบากได้; อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับสิ่งนี้
ค. ผู้บังคับการกรม, ผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับกองร้อย จะต้องระมัดระวังความยุ่งยากอันอาจเกิดจากลักษณะเฉพาะตัวในการประสานงาน ทั้งนี้จะเป็นไปตามโครงสร้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนกดดันให้เกิดความยุ่งยากขึ้น โอกาสที่จะลดความยุ่งยากได้ก็คือ การจัดให้กองกำลังทหารเหล่านั้นได้มีการฝึกและปฏิบัติงานร่วมกันก่อน ซึ่งจะทำให้บุคลากรของแต่ละหน่วยได้มีความคุ้นเคยกัน
(๑) ผู้นำหน่วยต้องสามารถปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบได้โดยใช้เวลาในการวางแผนไม่มากนัก โดยจะออกคำสั่งยุทธการจากการประยุกต์หรือดัดแปลง แผนยุทธการ แผนเผชิญเหตุ หรืออาจเขียนขึ้นใหม่ก็ได้ การจัดกำลังขึ้นมานั้น ย่อมจะเป็นผลลัพธ์จากการกำหนดของระบบการเคลื่อนย้ายกำลังรบร่วม/ผสม และเนื่องจากกองกำลังอาจไม่เคยได้รับการฝึกร่วมกันมาก่อน จึงจำเป็นต้องให้หน่วยต่าง ๆ เข้ามารวมตัวกันโดยเร็ว ภายใต้การบังคับบัญชาและควบคุมของส่วนบังคับบัญชาและควบคุมที่มีเอกภาพ
(๒) หน่วยบัญชาการแห่งชาติ จะมอบอำนาจผ่านทางหัวหน้าคณะเสนาธิการร่วม เพื่อออกคำสั่งการปฏิบัติการทางทหาร ตารางที่ ๕ - ๑ จะลำดับเหตุการณ์, การปฏิบัติ และผลลัพธ์ที่เกิดในระหว่างขั้นตอนการวางแผน
(๓) นักวางแผนทางทหาร ซึ่งจะเผชิญหน้ากับการวางแผนที่มีเวลาจำกัดเป็นปัจจัย ย่อมจะต้องเข้าใจว่าหน่วยบัญชาการแห่งชาติได้มีการทบทวนหนทางเลือกด้านการทูต, การเมือง, เศรษฐกิจ และด้านการทหาร หนทางเลือกทางทหารนั้นอาจเป็นหนทางที่ต้องการให้เกิดน้อยที่สุด การตกลงใจใช้หนทางเลือกทางทหารจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ หนทางเลือกอื่น ๆ ดูเหมือนว่าจะใช้ไม่ได้ผลแล้ว ในการเลือกใช้การปฏิบัติการทางทหารนั้น หน่วยบัญชาการแห่งชาติอาจพิจารณาใช้การปฏิบัติเต็มรูปแบบ (ตารางที่ ๕ - ๒) ความรับผิดชอบและอำนาจในการตัดสินใจเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ย่อมอยู่กับผู้นำประเทศ ซึ่งจะมอบอำนาจให้กับการปฏิบัติการทางทหาร นั่นคือ เหตุผลที่ว่า ทำไมกองทัพจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่ในที่ที่สามารถเคลื่อนย้ายกำลังเข้าปฏิบัติการได้ทันที ในระหว่างขั้นตอนที่ ๔ หน่วยทหารจะอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมในระหว่างขั้นตอนที่ ๖, ผู้นำประเทศจะตัดสินใจว่าจะใช้กำลังหรือลดระดับทางทหารลง
(๔) ตามหนทางเลือกที่ระบุไว้ในตารางที่ ๕ - ๒ นั้น จำนวนห้าในเจ็ดรายการ สามารถรวมเอาการปฏิบัติการของกองทัพบกไว้ดังนี้.-
• การแสดงแสนยานุภาพ/การแสดงลวง
• การปฏิบัติการรุก
• การอพยพเคลื่อนย้ายในสภาพที่มิใช่การรบ
• การปฏิบัติการสร้างสันติภาพ
• การส่งกำลังทหารเข้าไปในประเทศที่เป็นคู่กรณี
• การสนับสนุนด้านการสงครามนอกแบบ
• การปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิต
• การสนับสนุนหน่วยงานพลเรือน
• การบรรเทาสาธารณภัยหรือภัยพิบัติ
ตารางที่ ๕ - ๒ ระดับของทางเลือกการใช้กำลังทหาร
ทางเลือกภารกิจทางทหาร
สภาได้บัญญัติไว้ว่า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรวม และหน่วยบัญชาการรบเฉพาะกิจ เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบัญชาการแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติทางทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ประธานคณะเสนาธิการร่วม และหน่วยบัญชาการแห่งชาติ มีอำนาจตกลงใจในการสั่งใช้การปฏิบัติการทางทหารต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเลือกของการปฏิบัติทางทหารเฉพาะคือ การปฏิบัติการโดยพลันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้ขีดความสามารถทางทหารเท่าที่จะปฏิบัติได้ เมื่อต้องเผชิญกับกิจที่ได้รับมอบ หรือสถานการหนึ่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะแสวงหาการปฏิบัติที่เหมาะสมโดยใช้กำลังน้อยที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ มุมมองของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค จะสอดคล้องกับมุมมองของประธานคณะเสนาธิการร่วม และหน่วยบัญชาการแห่งชาติที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวมของโลก มุมมองดังกล่าวจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางด้านการเมือง, การทูต และเศรษฐกิจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกหนทางแก้ไขปัญหา ปัจจัยพิจารณาทางด้านการทหารอาจไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณา ถ้าหากการใช้กำลังทหารเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างละเอียดรอบคอบและลึกซึ้ง หน่วยบัญชาการแห่งชาติอาจระบุระดับขั้นการใช้กำลังทางทหาร ซึ่งเป็นไปตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการนั้นเป็นทางเลือกสุดท้าย และหากจะต้องใช้ก็จะใช้อย่างเบาหรือน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้บรรลุความต้องการเท่านั้น ทางเลือกของการใช้กำลังทหารดังต่อไปนี้จะถูกพิจารณาเลือกโดย หน่วยบัญชาการแห่งชาติ, ประธานคณะเสนาธิการร่วม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด
การปรากฏกำลังทหาร
การปรากฏกำลังทหารเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ขนาดของกำลังทหารจะแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และจำนวนหน่วยที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่สถานการณ์ ปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จของการปรากฏกำลังก็คือ การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วทันเวลา โดยจะทำให้เกิดผลทางจิตวิทยามากกว่าการรอเวลาเพื่อรวมกำลังให้ได้เป็นขนาดใหญ่ ในการปรากฏกำลังทหารนั้น หน่วยทหารที่อยู่ในส่วนหน้าจะเป็นตัวแทนในการแสดงให้เห็นถึงความพร้อม ลักษณะคล้ายกับการ “โชว์ธง” เพื่อให้ชาติต่าง ๆ ได้เกิดความเกรงขาม
การแสดงกำลังทางทหาร
การแสดงกำลังทางทหาร เป็นการปฏิบัติต่อเนื่องจากการปรากฏกำลัง เพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดการหวั่นเกรงและหยุดความพยายามหรือความตั้งใจที่จะใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขสถานการณ์ ทั้งนี้อาจเปรียบเทียบได้กับ “การเบ่งกล้ามเนื้อ” หรือ “การตวัดดาบ” การใช้วิธีการแสดงกำลังทางทหารได้อย่างถูกจังหวะและเหมาะสม จะเป็นการป้องปรามมิให้สถานการณ์ลุกลามใหญ่โตได้ และการแสดงกำลังทหารอย่างถูกต้องนั้นจะต้องแสดงให้เห็นความน่าเชื่อถือในมุมมองของฝ่ายตรงข้าม การใช้การฝึกปฏิบัติในพื้นที่ที่เริ่มมีความขัดแย้งนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแสดงกำลังทางทหาร
การแสดงแสนยานุภาพทางทหาร
การแสดงแสนยานุภาพทางทหาร มีความคล้ายคลึงกับการแสดงกำลังทางทหาร จะแตกต่างกันตรงที่ระดับความรุนแรงที่ต้องการใช้คุกคามเท่านั้น วัตถุประสงค์ของการแสดงแสนยา นุภาพทางทหารนั้น ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อต้องการความแตกหัก ในความเป็นจริงแล้วก็คือ การแสดงกำลังทางทหารในพื้นที่ส่วนหน้าในขณะที่ยังไม่มีการก่อกำลังได้เพียงพอที่จะเข้าปฏิบัติการได้อย่างแตกหัก การแสดงแสนยานุภาพทางทหารย่อมต้องการใช้การเคลื่อนย้ายกำลัง แต่เป็นเพียงการข่มขวัญหรือการคุกคามเท่านั้น ไม่ใช่การเคลื่อนย้ายกำลังเพื่อเข้าทำการรบกับฝ่ายตรงข้าม การแสดงแสนยานุภาพสามารถใช้เตือนฝ่ายตรงข้ามให้เห็นถึงขีดความสามารถทางทหารและความพร้อมในการปฏิบัติการ การแสดงแสนยานุภาพอาจใช้เพื่อลวงหรือหันเหความสนใจของฝ่ายข้าศึกก็ได้ การลวงหรือการแสดงลวงจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร ในอดีตได้เคยมีการใช้การแสดงลวงเพื่อหันเหความสนใจของฝ่ายตรงข้าม และอำนวยความสะดวกให้กับการยกพลขึ้นบกของฝ่ายเรามาแล้ว ตัวอย่างก็คือ การเข้าทำลายฐานขุดเจาะน้ำมันของอิหร่านในอ่าวเปอร์เซีย (ค.ศ.๑๙๘๗) และการฝึกทางทะเล
การปฏิบัติการพิเศษ
(การปฏิบัติการทางจิตวิทยา/ การสงครามนอกแบบ/ การปฏิบัติกิจการทางพลเรือน)
ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมสามารถใช้การวางแผนโดยใช้การปฏิบัติในลักษณะการปฏิบัติควบคู่กัน หรืออาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการหลักก็ได้ ในบางสถานการณ์ผู้บัญชาการกองกำลังอาจเลือกใช้การปฏิบัตินี้แต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ การ ปจว. เป็นความพยายามที่ปฏิบัติต่อฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายที่เป็นมิตร เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือและความเข้าใจอันดี ในอันที่จะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ส่วนการสงครามนอกแบบนั้น อาจเป็นการปฏิบัติด้วยกำลังทหารหรือกำลังกึ่งทหารก็ได้ การ ปจว. และ สนบ.มีระดับของการปฏิบัติตั้งแต่การปฏิบัติการในระหว่าง กองกำลังทหารของฝ่ายเรา และหน่วยงานทางพลเรือน รวมทั้งพลเรือนในพื้นที่เป้าหมาย การปฏิบัติกิจการพลเรือนนั้น ตามปกติแล้วจะใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ การปฏิบัติการพิเศษนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือการจัดตั้งและการปฏิบัติการของหน่วยกำลังไม่ตามแบบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเวียตนาม
การกักกัน
คำว่า “การกักกัน” ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๖๒ ในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา โดยมีความหมายถึง “กระบวนการทางสันติวิธีทั้งปวง รวมทั้งมาตรการบังคับในขอบเขตเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของอาวุธทางทหารในเชิงรุกทุกประเภท และการแพร่กระจายอาวุธเหล่านี้ไปยังประเทศอื่น ๆ” ซึ่งในความหมายเดิมของมันนั้นก็คือ ห้วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งใช้บังคับให้เรือลอยลำอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพื่อป้องกันการเผยแพร่ของโรคติดต่อ จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีการระบาดของเชื้อโรคนั้นแล้ว เมื่อนำคำจำกัดความทั้งสองมารวมกันเข้า ก็จะหมายความถึง “การรณรงค์ในห้วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธสงคราม หรือสิ่งของต้องห้ามเข้าไป หรือออกมาจากประเทศหนึ่ง”
การปิดกั้น
การปิดกั้นนั้นมีระดับของการปฏิบัติอยู่หลายระดับ แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์แบบของการปิดกั้นก็คือ การตัดระบบการคมนาคมและการพาณิชย์ของฝ่ายศัตรู เป็นความพยายามที่จะโดดเดี่ยวหรือตัดขาดอาณาเขตหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และสามารถนำไปใช้กับการขนส่งได้ทุกประเภท ประชาคมโลกได้จัดรวมการปิดกั้นไว้เป็นประเภทหนึ่งของการทำสงครามการปิดกั้นในแปซิฟิคจัดเป็นระดับการปิดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ซึ่งไม่น่าจะจัดเข้าไว้ในลักษณะของการทำสงคราม เนื่องจากเป็นการจำกัดเฉพาะอากาศยานที่ติดเครื่องหมายธงประจำชาติไม่ให้บินข้ามน่านฟ้าของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นการปิดกั้นเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลโดยหลีกเลี่ยงเกณฑ์การเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสงครามด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่
การส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการ
การส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการ เป็นการปฏิบัติโดยใช้กำลังทหารต่อพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งถือเป็นทางเลือกของปฏิบัติการทางทหารที่มีระดับความรุนแรงมากที่สุด และต้องใช้การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ในทางเลือกนี้ กำลังทหารจะอยู่ในสภาพอันตรายเนื่องจากการสู้รบ หากจำเป็นต้องใช้เพื่อให้บรรลุภารกิจ หากมีการต่อต้านเกิดขึ้นก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธอย่างแท้จริง ระดับของความรุนแรงในการปฏิบัติอาจเริ่มจากการปฏิบัติการในลักษณะของตำรวจ (ตัวอย่าง เช่น การส่งกำลังนาวิกโยธินเข้าไปในเลบานอนในปี ค.ศ.๑๙๕๘) ไปจนถึงการปฏิบัติการบุกรุกนอกเหนือสิทธิในสภาวะของสงคราม (ตัวอย่างเช่น การปฏิบัติการ Overload ในปี ค.ศ.๑๙๔๔) การาบุกเป็นการเข้าโจมตีด้วยกำลังทหารต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังเข้าไปในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม และเกิดการปะทะกัน ณ จุดที่ฝ่ายเราเคลื่อนกำลังเข้าไป แต่อย่างไรก็ตาม ในการวางแผนหลายครั้งที่ผ่านมา เราจะใช้การเคลื่อนกำลังผ่านจุดที่ได้รับการยินยอมหรือให้การสนับสนุนจากรัฐบาลของมิตรประเทศ หากเกิดการต่อต้านหรือปะทะกันก็จะไม่ใช่ ณ จุดที่ฝ่ายเราใช้เป็นช่องทางการเคลื่อนกำลัง ทางเลือกของปฏิบัติการทางทหารนี้จะใช้เพื่อป้องปรามในเมื่อทางเลือกอื่นน่าจะใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น
- ความมุ่งหมายของการนำข้อมูลนี้มาเสนอแนะ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงระดับของการใช้กำลังทางทหารในการปฏิบัติภารกิจตามแผนยุทธการ และทางเลือกในการใช้กำลังทหารเพื่อการป้องปราม
๕ - ๖ การจัดกำลังให้มีดุลยภาพ
ผู้บังคับบัญชาทางทหารจะต้องจัดให้มีความสมดุลย์ทางกายภาพในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของกำลังทหาร โดยพิจารณาจาก ภารกิจและความจำกัดของกฎของการปะทะ กฎของการปะทะสำหรับกองกำลังทางยุทธวิธีจะถูกกำหนดโดยผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรวม โดยอยู่บนพื้นฐานของแนวทางจากหน่วยบัญชาการแห่งชาติ ภารกิจ, ภัยคุกคาม, กฎการสงคราม และข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายกำลังที่มาจากประเทศเจ้าบ้าน หรือประเทศที่สาม ข้อพิจารณาทางการเมืองซึ่งนำมาใช้กำหนดกฎของการปะทะนั้น อาจขัดแย้งกับความต้องการทางกายภาพ ในการรักษาความปลอดภัยของกองกำลังตามภารกิจ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความต้องการทางการเมืองและ อัตราความเสี่ยงในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของกองกำลัง ผู้บังคับบัญชาจะต้องซักถามให้ได้ความเข้าใจที่แน่ชัดในเรื่องวัตถุประสงค์ภายใต้ข้อจำกัดในการปฏิบัติการ ก่อนที่จะรับมอบภารกิจและหน่วยที่มาประกอบกำลัง ข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าวจะต้องทำให้เกิดหนทางในการสำเร็จภารกิจได้เท่า ๆ กับหนทางในการป้องกันกองกำลังที่ถูกใช้ปฏิบัติภารกิจนั้น
ก. ผู้บังคับบัญชาจะต้องจัดทำกำหนดการฝึกเพื่อให้มั่นใจว่ามีการป้องกันกองกำลังอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น.-
(๑) แผนงานการฝึกตามหน้าที่สำหรับฝึกการใช้อาวุธและเครื่องมือติดต่อสื่อสารให้กับบุคลากรในงานการช่วยรบ
(๒) การวิเคราะห์ทางภายภาพในเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการพัฒนาแผนงานภายในหน่วย โดยอยู่บนพื้นฐานของปัจจัย METT – T
(๓) การฝึกงานป้อมสนามในฐานที่มั่น
(ก) เน้นการใช้เครื่องกีดขวางและการใช้ที่กำบังเหนือศีรษะ
(ข) การถกแถลงเรื่องที่ตั้งยิงและการจัดทำที่ตั้งยิงของอาวุธประจำหน่วย
(ค) อธิบายประเภทของทุ่นระเบิดกับระเบิดแสวงเครื่องและวัตถุระเบิดอื่นๆ
(๔) บูรณาการการฝึกปฐมพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย.-
• การรักษาบาดแผล
• การถูกงู/ แมลงมีพิษกัด
• การช่วยชีวิต ด้วยการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ
• การแบกหามผู้ป่วยเจ็บ
• การทำเฝือกและเปลแบบแสวงเครื่อง
(๕) เน้นการพรางและการซ่อนพราง
(๖) เน้นความสำคัญของมาตรการรักษาสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น สุขอนามัยในสนาม และสุขอนามัยเป็นบุคคล
ข. ผู้นำหน่วยจะต้องกวดขันวินัยของทหารแต่ละคน เรื่องนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติภารกิจตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ
(๑) ความมีวินัยช่วยให้ทหารสามารถสงบนิ่งต่อการยิงของพลซุ่มยิงได้ โดยไม่ยิงตอบโต้ออกไปในลักษณะเดาสุ่ม
(๒) ความมีวินัยช่วยป้องกันทหารมิให้ใช้การตอบโต้ในลักษณะรุนแรงเกินกว่าเหตุ
(๓) ในการควบคุมการจลาจล ความมีวินัยจะทำให้ทหารสามารถควบคุมอารมณ์และไม่ทำการยิงใส่ฝูงชนที่กำลังมีปฏิกริยารุนแรง
(๔)เหนือสิ่งอื่นใด,ทหารที่มีวินัยจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับกฎของการปะทะได้อย่างดี
ค. กฎของการปะทะจะสร้างปัญหาให้กับผู้บังคับบัญชา การเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎจะทำให้ได้ผลดีทางการเมือง แต่อาจทำให้ทหารต้องเสี่ยงกับการเสียชีวิต ในระหว่างการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ กฎของการปะทะอาจจะมีผลให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น เมื่อต้องปฏิบัติการต่อไป การปฏิบัติภารกิจภายใต้กฎของการปะทะนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องเป็นผู้กล้าตัดสินใจ หากไม่มีการอนุมัติให้ใช้การยิงปืนใหญ่หรือเครื่องยิงลูกระเบิด ก็อาจตัดสินใจใช้การระดมยิงด้วย ค.เอ็ม ๒๐๓ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติทั้งปวงจะต้องอยู่ในอาณัติของกฎของการปะทะ
๕ - ๗ การวางแผนเพื่อเผชิญความไม่แน่นอน
สืบเนื่องมาจากความอ่อนไหวและความซับซ้อนของแผนเผชิญเหตุในยามสงบ ผู้บังคับบัญชาจะต้องใช้การประมาณสถานการณ์อย่างละเอียดรอบคอบ ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมานั้น จะต้องใช้การขยายผลจากหลักการประสานงาน และผสมผสานลงไปในกระบวนการของการวางแผน ประการแรก จะต้องถกแถลงถึงกระบวนการวางแผน เสมือนหนึ่งว่ามีความแตกต่างจากปกติ ทั้งการเริ่มและการสิ้นสุด แต่อย่างไรก็ตาม การแสวงข้อตกลงใจ, การวางแผน และการวิเคราะห์การปฏิบัติการนั้น จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำนั้น ภารกิจตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบก็จะประกอบด้วย กิจเฉพาะและกิจแฝง เช่นเดียวกับการปฏิบัติการทางทหารทั่วไป เมื่อเริ่มการปฏิบัติการนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องเตรียมตัวพร้อมและอ่อนตัวสำหรับการรับปฏิบัติกิจที่อาจมีเพิ่มขึ้น กิจที่เพิ่มขึ้นมานี้อาจจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลง และความผันผวนทางการเมืองของฝ่ายเราและของประเทศเจ้าบ้าน ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งการวางแผนในรายละเอียดสำหรับการส่งกำลังบำรุง และการสนับสนุนด้านการข่าวกรอง เพื่อรองรับความผันผวนดังกล่าว
ก. การสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง ในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบนั้น การเคลื่อนย้ายสิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์จะใช้เวลามากกว่าการเคลื่อนย้ายกำลังพล หากมีความต้องการการส่งกำลังบำรุงเพิ่มมากขึ้น ความล่าช้าในการเคลื่อนย้ายการสนับสนุนเข้าไปในพื้นที่รับผิดชอบ จะทำให้เกิดการล้มเหลวของภารกิจขึ้นได้ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องวางแผนเพื่อรับมือเรื่องความต้องการการส่งกำลังบำรุงเพิ่มขึ้น โดยปฏิบัติดังนี้.-
(๑)ดำเนินการเพื่อเพิ่มการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงเพิ่มขึ้นในกรณีจำเป็นที่อาจเกิดขึ้น
(๒) ดำเนินการจัดหาแหล่งทรัพยากร และตำบลสำหรับการสนับสนุนประเภทนี้ (อาจเป็นของกองทัพของเราเอง หรือของประเทศเจ้าบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง)
(๓) จัดทำรายละเอียดของแผนการขนส่งและการเคลื่อนย้าย เพื่อให้สามารถนำการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงเข้าไปในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
(๔) จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหนักของ วัสดุอุปกรณ์, ปริมาตร, ความหนาแน่น, วิธีการขนส่ง และลำดับความเร่งด่วนในการเคลื่อนย้ายที่น่าจะเป็นไปได้
(๕) เลือกท่าเรือ, ท่าอากาศยาน, รวมทั้งข่ายคมนาคมทางถนนและทางรถไฟ เพื่อช่วยในการเคลื่อนย้าย วางแผนรักษาความปลอดภัย ณ ตำบลปลายทางดังกล่าวเพื่อเคลื่อนย้ายต่อไปยังพื้นที่รับผิดชอบ
ข. การสนับสนุนด้านการข่าวกรอง การสนับสนุนนี้จะต้องมีการประสานงาน, มีความสมบูรณ์และต่อเนื่อง ทั้งนี้จะช่วยพิสูจน์ทราบและตอบโต้ต่อการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติการ ข่าวกรองจะได้มาจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งหน่วยข่าวกรองของพลเรือน เช่นเดียวกับหน่วยข่าวกรองทางทหาร การวิเคราะห์ข่าวกรองจะต้องประสานข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และพัฒนาจัดเตรียมสนามรบด้านการข่าวสำหรับผู้บังคับบัญชา ลำดับของความต้องการข่าวกรองจะต้องรวมเอาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางด้านการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อภารกิจและต้องการการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงเพิ่มมากขึ้น การประสานงานด้านการข่าวกรองที่ดีจะต้องเริ่มต้นไปพร้อมกันกับการวางแผน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น