ตอนที่ ๓
การต่อสู้การก่อการร้ายในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ
ผู้บังคับหน่วยจะต้องแสดงบทบาทในการตอบโต้การก่อการร้าย ในยามปกติ ผบ.หน่วยต้องจัดทำและพัฒนาแผนการต่อต้านการก่อการร้าย มาตรการป้องปราม, ป้องกัน และตอบโต้ภัยคุกคาม จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาวะของภัยคุกคามจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย แผนการต่อต้านการก่อการร้ายจะต้องมีความสอดคล้อง และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยในที่นี้รวมถึง การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ, การรักษาความปลอดภัยทางการปฏิบัติการ และการรักษาความปลอดภัยบุคคล ในระหว่างที่หน่วยถูกใช้เพื่อปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบ, การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ หรือการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในยามปกติ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการก่อการร้ายได้มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามในลักษณะใด ผบ.หน่วยจะต้องจัดการระวังป้องกันหน่วย, กำลังพล และยุทโธปกรณ์
๓ - ๑๑ การใช้กำลังตามแผนเผชิญเหตุ
ผบ.หน่วยที่ได้รับมอบภารกิจ จะต้องพยายามทุกวิถีทางในอันที่จะลดความล่อแหลมของหน่วย จากการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อการร้าย การเตรียมการระวังป้องกันล่วงหน้านี้ จะต้องปฏิบัติควบคู่ไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นก่อนการใช้กำลัง, ระหว่างการใช้กำลัง หรือภายหลังการใช้กำลัง
ก. ก่อนการใช้กำลัง ผบ.หน่วยจะต้องจัดทำและพัฒนาการรักษาความปลอดภัยของหน่วย เพื่อให้การตกลงใจวางแผนของกลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในขณะที่ ผบ.หน่วยกำหนดหนทางปฏิบัตินั้น จะต้องประเมินภัยคุกคามไปพร้อมกัน ด้วยการปฏิบัตินี้จะทำให้สามารถเลือกการใช้แผนยุทธการ, อาวุธยุทโธปกรณ์ และทักษะพิเศษในอันที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดกับฝ่ายผู้ก่อการร้ายได้
(๑) แนวความคิดในการปฏิบัติ จะต้อง.-
(ก) ประกอบด้วยการรักษาความปลอดภัยต่อการก่อการร้ายในทุกแผน, คำสั่งและการฝึก
(ข) ประกอบด้วยการรักษาความปลอดภัยในแนวทางการวางแผนของ ผบ.หน่วย
(ค) ป้องปรามและสร้างความล่อแหลมให้เกิดกับผู้ก่อการร้าย โดยใช้แผนงาน การ รปภ.
(๒) กระบวนการวางแผน จะต้องประกอบด้วย.-
(ก) การวิเคราะห์ภารกิจ
• ภารกิจจะได้รับผลกระทบ หรืออิทธิพลจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร?
• อะไรคือสาระสำคัญของการรักษาความปลอดภัยในกิจเฉพาะ และกิจแฝง?
• ดำเนินการทบทวนจุดอ่อนของหน่วยอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างขั้น
ตอนก่อนการใช้กำลัง,ระหว่างการใช้กำลังและภายหลังการใช้กำลัง
(ข) การประเมินภัยคุกคาม
• พิสูจน์ทราบกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่การใช้กำลังของหน่วย
• จัดทำรายการ หขส.เกี่ยวกับ : วิธีการปฏิบัติ, วิธีการโจมตี และสิ่งบอกเหตุ ก่อนมีการโจมตี
• พิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย : รู้ถึงวิธีการที่จะเข้าถึงแหล่งข่าวนั้นได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระบบ
• ดำเนินการจัดรวมการประเมินภัยคุกคามไว้กับประมาณการข่าวกรอง ให้เป็น รปจ.
(ค) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการสนับสนุนการช่วยรบ
• จัดทำรายการการใช้ยุทโธปกรณ์พิเศษในการรักษาความปลอดภัย (ตามตารางที่ ๓ - ๑)
• จัดการระวังป้องกันคลังเก็บและพื้นที่แจกจ่าย
• การปรนนิบัติบำรุงยุทโธปกรณ์พิเศษ
• จัดการระวังป้องกันให้กับหน่วยซ่อมบำรุงที่แยกออกไปปฏิบัติการจากหน่วยใหญ่
• จัดการระวังป้องกันระหว่างการเคลื่อนย้าย (ขึ้นอยู่กับภัยคุกคาม)
• จัดการระวังป้องกันในพื้นที่ปฏิบัติงาน
• จัดให้มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกับหน่วยงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งให้การสนับสนุนในระหว่างการเคลื่อนย้าย หรือกับหน่วยที่ควบคุมพื้นที่ที่จะเคลื่อนย้ายเข้าไป (ประเทศเจ้าบ้าน)
(ง) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการสนับสนุนการรบ
• ลำดับความเร่งด่วนของงานทางการช่าง โดยพิจารณาจากภารกิจและภัยคุกคาม
• ยุทโธปกรณ์พิเศษสายช่าง เพื่อใช้สำหรับภารกิจการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ทุ่นระเบิด กับระเบิด; การวางเครื่องกีดขวางป้องกันตน, การวางเครื่องปิดกั้นถนน, พื้นที่คับขัน, การประเมินค่า และการป้องกันชีวิตของกำลังพล
• ยุทโธปกรณ์พิเศษสายช่าง
• การฝึกการปฏิบัติงานทางการช่างให้กับกำลังพลในหน่วย ดำเนินกลยุทธ์ในการตรวจค้นทุ่นระเบิด กับระเบิดด้วยสายตา, การหมายแนวหรือพื้นที่สนามทุ่นระเบิด และกับระเบิด
• การตรวจสอบ/ทดสอบ/และปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพของหน่วย โดยทหารสารวัตร
• การจัดเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารติดต่อประสานงานกับตำรวจท้องที่/เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
• เจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ช่วยเหลือในการวางแผนและการฝึกการรักษาความปลอดภัย
• กำลังของหน่วยรักษาความปลอดภัยของชาติเจ้าบ้าน โดยการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ตรวจสอบพลเรือน และลูกจ้างของชาติเจ้าบ้าน
• งดเว้นการจ้างงานบุคคลพลเรือน, หากทำได้
• หากจำเป็นต้องจ้างงานบุคคลพลเรือน, ก็จำเป็นต้องใช้กรรมวิธีพิเศษในการรักษาความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบและติดตามพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้น
• ในหลายประเทศ จำเป็นต้องพิจารณากำหนดเงินค่าข่าวไว้ด้วย ทั้งนี้ต้องประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ให้ได้รายละเอียดและวิธีการจ่ายเงินส่วนนี้
(จ) ข้อพิจารณาทางด้านยุทธการ
• แผนของหน่วย จัดให้มีหัวข้อการรักษาความปลอดภัยไว้ในแต่ละแผน, รปจ., คำสั่งยุทธการ และคำสั่งเคลื่อนย้าย
• แผนการรักษาความปลอดภัย เตรียมการ, ทบทวน และปรับปรุงแผนการรักษาความปลอดภัยของหน่วย (การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ, การป้องกันอาชญากรรม และอื่น ๆ) และแผนการรักษาความปลอดภัยเป็นบุคคล (คำสั่งรักษาการณ์)
• แผนงานการรักษาความปลอดภัย พัฒนาแผนงานเฉพาะในเรื่องการรักษาความปลอดภัย เช่น การระวังภัยคุกคาม และการรักษาความปลอดภัยทางยุทธการ
• ชุดปฏิบัติการพิเศษ พิจารณาจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยใช้ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายเป็นปัจจัยพิจารณา (ชุดตรวจค้น, ชุดปฏิบัติการตอบโต้พิเศษ, ชุดปฏิบัติการป้องกัน)
• ทักษะพิเศษ เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย จำเป็นต้องเพิ่มทักษะพิเศษให้กับหน่วย (เทคนิคการซักถาม, ความรู้ภาษาต่างประเทศ, นายทหารชำนาญพื้นที่, เจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด, งานบริการสาธารณะ, เจ้าหน้าที่ติดต่อหน่วยรบพิเศษ, นายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน) ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องเดินทางร่วมไปกับส่วนล่วงหน้า
• ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชาและการสนับสนุน เรื่องเหล่านี้อาจแตกต่างไปจากปกติ (หน่วยงานของรัฐ, ชาติเจ้าบ้าน, ชุดประจำพื้นที่, ชุดปฏิบัติการพิเศษ) จำเป็นต้องออกแบบและจัดวางความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชาและการสนับสนุน ระหว่างส่วนล่วงหน้าของกองกำลังเฉพาะกิจร่วม และหน่วยระดับกรม กับหน่วยงานอื่น ๆ ก่อนที่จะเริ่มเคลื่อนย้ายและใช้กำลัง)
(ฉ) การฝึกทักษะพิเศษเฉพาะด้าน จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบการฝึกทักษะพิเศษดังกล่าว (เจ้าหน้าที่ชั้นคุณวุฒิ, การขับรถหลบหลีก, ชุดปฏิบัติการตอบโต้พิเศษ, การแจ้งเตือนและระวังภัยคุกคาม, เทคนิคการตรวจค้น, การเจรจาต่อรอง, การปิดกั้นถนน, การเข้าเวรยามรักษาการณ์, การปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของชาติเจ้าบ้าน)
(ช) การส่งกำลังเข้าพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ
• พิจารณาการรักษาความปลอดภัยของหน่วย โดยตลอดเส้นทางการเคลื่อนย้าย : กรรมวิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน, เส้นทางสำรองในการกระจายกำลัง และชุดระวังป้องกันที่มาขึ้นการสมทบกับหน่วยการเคลื่อนย้ายแต่ละหน่วย
• ใช้แผนการเคลื่อนย้าย และฝึกการเคลื่อนย้ายตามแผนนั้น
• ปรับปรุงข่าวกรอง/การประเมินภัยคุกคามให้ทันสมัยก่อนถึงจุดหมายปลายทาง
ข. การเคลื่อนกำลังเข้าปฏิบัติการ เป็นขั้นตอนที่ ๒ ของการปฏิบัติภารกิจ ในขณะที่หน่วยเคลื่อนย้ายกำลังเข้าพื้นที่และจัดตั้งฐานปฏิบัติการนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องไม่ทำให้หน่วยตกเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าต่อการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม
(๑) ข้อพิจารณาของส่วนล่วงหน้า
(ก) จำนวนกำลังพล จำเป็นต้องใช้กำลังพลในการรักษาความปลอดภัย และการจัดเจ้าหน้าที่ติดต่อกับหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของชาติเจ้าบ้าน ทั้งนี้ เพราะความจำเป็นที่ใช้ข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายที่มากขึ้นกว่าเดิม
(ข) การเคลื่อนกำลัง ข้อพิจารณาในด้านการรักษาความปลอดภัยขั้นแรกสำหรับกำลังพลส่วนล่วงหน้าก็คือ จะใช้การปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือการปกปิดสถานะของตน (แต่งเครื่องแบบ หรือใช้ชุดพลเรือน, ใช้ยานพาหนะของทางทหาร และของพลเรือน)
(ค) ความสามารถในการปฏิบัติ ส่วนล่วงหน้าต้องสามารถปฏิบัติภารกิจและตอบ หขส.ได้กิจเฉพาะที่จำเป็นจะครอบคลุมถึงการดำเนินการในกรณีที่ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ก่อตัวขึ้นเพิ่มจากเดิม และในกรณีที่ภัยคุกคามจากในประเทศส่งผลกระทบถึงความสำเร็จในภารกิจ และค้นหาภารกิจ หรืองานที่ต้องปฏิบัติ หากเป็นเช่นเดียวกับภารกิจของผู้บังคับบัญชา
(ง) กฎของการปะทะ ส่วนล่วงหน้าจะต้องยืนยันแผนการใช้กฎของการปะทะและจะต้องดำเนินการ หากกฎนั้นเป็นเช่นเดียวกับในขั้นก่อนการใช้กำลัง ปัญหาจะต้องได้รับการแก้ไข หรือค้นพบคำตอบก่อนที่กำลังส่วนใหญ่จะมาถึง
(๒) มาตรการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการเมื่อมีการเคลื่อนกำลัง
(ก) หลีกเลี่ยงการเปิดเผยเวลาและสถานที่ที่หน่วยจะเดินทางไปถึง; มิฉะนั้นแล้วจะต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย
(ข) หลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่เป็นกิจวัตร หรือเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ
(ค) จัดตั้งระบบการรักษาความปลอดภัยทางการสื่อสารระหว่างกำลังส่วนใหญ่ กับส่วนล่วงหน้า
(๓) การผ่อนปรน ในการปฏิบัติการที่ยืดเยื้อออกไปนั้น จะต้องพิจารณาขวัญของทหารเป็นหลัก อาจกำหนดนโยบายผ่อนปรนขึ้นได้ในพื้นที่ปฏิบัติการ แต่อย่างไรก็ตาม ทหารยังคงต้องสงวนรักษาความลับ ผู้บังคับบัญชาควรปฏิบัติดังนี้.-
(ก) จัดให้มีการบรรยายสรุปชี้แจงกำลังพล ในเรื่องภัยคุกคาม
(ข) จัดระบบคู่บัดดี้ เพื่อให้ทหารได้ผ่อนคลาย
(ค) อนุญาตให้ทหารเดินทางเข้าไปในพื้นที่บางแห่งได้เพิ่มขึ้น
(๔) การป้องกันกำลังพล ในการจัดตั้งฐานปฏิบัติการ และในการปฏิบัติการวันต่อวัน,ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาป้องกันรักษากำลังพลของตน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องหลักในขณะที่กฎของการปะทะยังคงจำกัด หรือไม่เอื้ออำนวยแก่ฝ่ายเรา ข้อพิจารณาดังกล่าวได้แก่.-
(ก) ประสานการปฏิบัติกับหน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งให้การป้องกันกำลังทหาร(หน่วยสารวัตรทหาร, กำลังทหารของชาติเจ้าบ้าน, ฝ่ายอำนวยการกำกับดูแล)
(ข) หลีกเลี่ยงการทำให้หน่วยตกเป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ หรือคุ้มค่าต่อการโจมตี(การรวมกำลัง, แหล่งรวมยานพาหนะ, ที่ตั้งทางการส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่)
(ค) การเคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการ
(ง) ยังคงใช้การประเมินภัยคุกคามตามเส้นทางในการเคลื่อนย้ายแต่ละครั้ง
(จ) จัดรวมมาตรการรักษาความปลอดภัยไว้ในคำสั่งการเคลื่อนย้ายทุกคำสั่ง
(ฉ) จัดการระวังป้องกันตามจุดแยกและที่หมายปลายทางทุกแห่ง
(ช) จัดให้มีกำลังระวังป้องกันในระหว่างการเคลื่อนย้าย
(ซ) จัดให้มีนายทหารติดต่อและนายทหารประสานงานกับหน่วย รปภ. ทุกหน่วยที่อยู่ตามเส้นทาง
(๕) การเสริมเพิ่มเติมการระวังป้องกัน ผู้บังคับบัญชาควรจะต้องใช้ยุทโธปกรณ์ตาม อจย. และยุทโธปกรณ์พิเศษในการจัดตั้งฐานในการระวังป้องกันรักษาความปลอดภัย ในการประเมินภัยคุกคาม
ก. มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบทางการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพให้กับนายทหารฝ่ายการสารวัตร หรือผู้บังคับหน่วยระวังป้องกัน
ข. ประกันความมั่นใจว่ากำลังพลทุกนายมีความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบของรัฐ (คำสั่งการรักษาการณ์, กฎของการปะทะ, การกำหนดเขตหวงห้ามเฉพาะตำบล)
ค. รักษาความลับเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารในเรื่องการฝึกและกำลังพล
ง. จัดรวมมาตรการป้องกันกำลังพล/ฐานที่มั่นไว้ในงานการจัดระเบียบที่มั่น
(การตั้งรับที่มีประสิทธิภาพ, แผนฉากขัดขวาง, การกระจายกำลังหรือนำหน่วยที่อาจตกเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าต่อการโจมตีออกห่างจากถนนที่ไม่มีความจำเป็น, การจัดวางรั้วล้อมรอบ)
จ. ดำรงรักษาการกำหนดเขตหวงห้าม (การจำกัดการผ่านเข้า – ออก)
ฉ. จำกัดการผ่านเข้าหน่วยของบุคคลที่มิได้รับอนุญาตให้ผ่านเป็นประจำ จำกัดจำนวนยานพาหนะที่อยู่ภายในพื้นที่ฐานที่มั่น และกำหนดให้จอดห่างจากตัวอาคาร ดำเนินการตรวจสอบและพิสูจน์ทราบยอดจำนวนยานพาหนะอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ช. แสดงออกถึงภาพลักษณ์ของความพร้อม และความชำนาญในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ซ. ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
ค. การถอนกำลังออกจากพื้นที่ ในระหว่างขั้นตอนการเคลื่อนกำลังออกจากพื้นที่ปฏิบัติการจะต้องเตรียมการสำหรับรับมือต่อการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และให้ความสำคัญกับงานนี้เช่นเดียวกับในขั้นตอนอื่น ๆ ในความเป็นจริงแล้ว กำลังพลในหน่วยย่อมมีความปรารถนาที่จะผ่อนคลายหลังจากการปฏิบัติ การถอนกำลังออกจากพื้นที่ ขึ้นอยู่กับภารกิจ, ประชามติ และปฏิกิริยาของนานาชาติ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจเป็นจุดล่อแหลมที่สุดที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายจะเข้าโจมตีต่อหน่วยทหาร
(๑) ส่วนล่วงหน้าจะยังคงเตรียมพร้อม ระวังป้องกันให้กับหน่วยทุกหน่วยจนกว่าจะกลับออกไปจากพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย ส่วนล่วงหน้าจะต้องจัดเตรียม หขส. สำหรับการเดินทางกลับให้พร้อม
(๒) กำลังพลที่ทำหน้าที่ระวังป้องกันหลัง จะมีความล่อแหลมต่อการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อการร้ายมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากกำลังและยุทโธปกรณ์หลัก ๆ ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ส่วนระวังป้องกันหลังนี้จะต้องดำรงรักษาการระวังป้องกัน เพื่อลดโอกาสการถูกเข้าโจมตี การปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้หมายรวมถึงการดำรงการจัดนายทหารติดต่อกับกำลังของหน่วยระวังป้องกัน, การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และการควบคุมกำกับดูแลกำลังพลอย่างเคร่งครัด
(๓) เรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรจะถูกนำมาพิจารณาในการถอนกำลังกลับ :
(ก) การระวังป้องกันหรือการรักษาความปลอดภัยบริเวณท่าอากาศยาน, ท่าเรือหรือตำบลบรรทุก และเส้นทางคมนาคมในการเคลื่อนย้ายกลับ
(ข) หากภารกิจทำให้สถานการณ์ภายในประเทศของเราเปลี่ยนแปลงไป ความผันผวนทางการเมืองอาจทำให้หน่วยของเรามีความล่อแหลมต่อภัยคุกคามมากขึ้น
(ค) ในการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยระหว่างการเคลื่อนกำลังเข้าพื้นที่หรือการเคลื่อนย้ายภายในพื้นที่ปฏิบัติการนั้น จะต้องมีการประสานการปฏิบัติกับหน่วยรักษาความปลอดภัยตามเส้นทาง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการตอบโต้
(๔) การประสานงานของนายทหารฝ่ายกิจการพลเรือน จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่ง :
(ก) ควบคุมการให้ข่าวสารต่อสื่อมวลชนว่ามีความถูกต้อง และสมบูรณ์ตามที่กำหนด
(ข) จะต้องมีการชี้แจงให้กำลังพลทราบถึงการมีหน้าที่ในการให้ข่าวสาร
ต่อหน่วยงานภายนอกว่าจะกระทำได้มากน้อยเพียงใด ตามปกติแล้วจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายทหารฝ่ายกิจการพลเรือนเท่านั้น
(๕) ต้องจัดให้มีการชี้แจงสรุปสถานการณ์ล่าสุด ทหารที่ออกปฏิบัติการจะมีความตึงเครียด ทั้งนี้ต้องจัดให้มีการผ่อนคลายพักผ่อนอิริยาบถ ซึ่งจะช่วยให้ทหารได้รับการปรับสภาวะจิตใจเข้าสู่ยามปกติ การชี้แจงสรุปควรจะประกอบด้วย.-
(ก) การชี้แจงให้ทหารเปลี่ยนแนวความคิดของตน จากสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ กลับเข้าสู่สภาวะสันติ
(ข) การชี้แจงให้ทหารได้รับทราบนโยบายใหม่ล่าสุด หรือชี้แจงให้ทหารได้รับทราบถึงภัยคุกคามที่ได้เปลี่ยนแปลงไป นับแต่เริ่มเข้ามาปฏิบัติการ
(ค) ตรวจตราเป็นบุคคลในเรื่อง แผนที่,ของที่ระลึกที่สะสม, อาวุธกระสุน และวัตถุระเบิด
(๖) ต้องเตรียมการรายงานสรุปหลังการปฏิบัติอย่างละเอียด ทั้งนี้จะส่งผลถึงการสนับสนุนการปฏิบัติที่สำคัญยิ่งในอนาคตต่อหน่วยทหาร ช่วยให้ผู้บังคับหน่วยคนต่อไปได้รับประโยชน์จากบทเรียนจากการปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังให้หน่วยได้รับทราบข้อมูล และแนวทางที่จะกำหนด รปจ. ในการต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคต
๓ - ๑๒ ลำดับความเร่งด่วนของความต้องการข่าวกรองและสิ่งบอกเหตุของการก่อการร้ายในท้องถิ่น
การต่อสู้กับการก่อการร้ายมีความจำเป็นในการใช้ข่าวกรองและความรู้เกี่ยวกับขีดความสามารถ และความประสงค์ของข้าศึกมากกว่าการปฏิบัติการรบในรูปแบบอื่น ๆ มากมาย นายทหารฝ่ายการข่าวที่ให้การสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการ จะต้องตระหนักอยู่เสมอถึงขีดความสามารถของผู้ก่อการร้าย เมื่อนายทหารฝ่ายการข่าวนั้นจะจัดทำ หขส. และรายการสิ่งบอกเหตุเกี่ยวกับการก่อการร้าย
ก. ลำดับความเร่งด่วนของความต้องการข่าวกรอง การได้รับทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ต่อไปนี้ จะช่วยให้นายทหารฝ่ายการข่าวได้พัฒนา ตขอ. ได้
• การจัดกำลัง, ขนาด และการประกอบกำลังของกลุ่ม
• แรงจูงใจ, เป้าหมายระยะยาว และเป้าหมายระยะสั้น
• การนับถือศาสนา,ความเชื่อทางการเมือง, ความแตกต่างในเชื้อชาติ หรือทั้งหมดผสมกัน
• การได้รับการสนับสนุนจากภายใน และภายนอกประเทศ (ขวัญ, กำลังพล, การเงิน)
• วิธีการโน้มน้าวชักจูง, สถานที่ตั้ง และเป้าหมาย (นักเรียน)
• การค้นหาพิสูจน์ทราบระบุตัวหัวหน้ากลุ่ม, ผู้แสวงหาโอกาส และผู้ยึดอุดมการณ์
• ขีดความสามารถในด้านการข่าวของกลุ่ม
• แหล่งที่มาของการสนับสนุน/การส่งกำลังบำรุง
• วันสำคัญ (วันหยุดทางศาสนา, วันสำคัญทางประวัติศาสตร์)
• ความสามารถในการวางแผน
• ระดับของความมีวินัย
• ยุทธวิธีและการปฏิบัติการที่นิยมใช้
• ความตั้งใจที่จะสังหาร
• ความเต็มใจที่จะเสียสละตน (จริงใจหรือเสแสร้ง)
• ทักษะของกลุ่ม (การซุ่มยิง, การระเบิดทำลาย, การปลอมตัว, การปลอมแปลงเอกสาร, การก่อวินาศกรรมโรงงาน, การปฏิบัติการทางเครื่องบิน/เรือ, การขุดอุโมงค์, การปฏิบัติการใต้น้ำ, การเฝ้าตรวจด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์, การวางยาพิษ/การใช้สารปนเปื้อนพิษ)
• อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ และที่ต้องการเพิ่มเติม
• เครื่องมือขนส่งที่มีอยู่ และที่ต้องการเพิ่มเติม
• การสนับสนุนทางการแพทย์ที่มีอยู่
• เสรีในการเข้าหาสื่อมวลชน และทักษะในการใช้สื่อมวลชน
ข. สิ่งบอกเหตุของการก่อการร้ายในท้องถิ่น เงื่อนไขบางประการที่อาจบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองในบางท้องถิ่น มีดังนี้.-
(๑) ความแตกแยกทางด้านการเมือง, สังคมจิตวิทยา หรือเชื้อชาติ โอกาสและข้อกล่าวหาที่จะใช้โจมตีการปกครองระดับท้องถิ่น
(๒) การจัดขบวนการของกลุ่มผู้โค่นล้มรัฐบาล, การกระจายสาขาของกลุ่มผู้บ่อนทำลาย หรือองค์กรลับต่าง ๆ
(๓) กลุ่มต่อต้านรัฐบาล, กลุ่มก่อกวน, ใช้เงื่อนไขจากข้อบกพร่องของรัฐบาลเป็นการสร้างปัญหา
(๔) มีผู้ปลุกระดมประชาชนปรากฏตัว; มีการเดินทางเข้ามาของผู้จัดองค์กร
(๕) มีการรวมตัว, นัดพบ และก่อตัวเป็นกลุ่ม; มีการกล่าวโจมตีรัฐบาล การปลุกระดม ยั่วยุให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้น, มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมือง, มีการตอบโต้อย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ, มีการใช้กำลังตำรวจหรือทหารเข้าปะทะกับฝูงชนอย่างรุนแรงถึงชีวิต
(๖) มีการปิดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาล, มีการใช้ใบปลิว, หนังสือพิมพ์เถื่อน, มีการชักจูงให้ประชาชนเข้าร่วมเวทีทางการเมือง, มีการหยิบยกปัญหาทางสังคมขึ้นเป็นข้ออ้าง
(๗) มีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงดึงดูดให้ประชาชนเข้ามารวมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณี ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาล
(๘) มีการแสดงออกถึงความไม่พอใจ, การไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่หรือมีการเดินขบวนประท้วง จากสาเหตุที่ได้รับการปลุกระดม หรือปลุกเร้าความไม่พอใจทางการเมือง
(๙) มีการรวมตัวกันเพิ่มขึ้นโดยการชักจูงจากกลุ่มและองค์กรต่อต้านรัฐบาล, มีการสนับสนุนภายในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
(๑๐) มีกิจกรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้นในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย
(๑๑) มีการใช้คำกล่าวและการสื่อแสดงออกถึงการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการรุนแรง
(๑๒) มีการพิสูจน์ทราบระบุถึงการได้รับอิทธิพล หรือการช่วยเหลือจากต่างประเทศ
(๑๓) มีภัยคุกคามเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณูปโภค, สิ่งอำนวยความสะดวก, ระบบการขนส่ง หรือการคุกคามต่อความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ
(๑๔) เกิดเหตุร้ายแรงต่อกลุ่มผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย, ชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาวต่างชาติ; มีการรวมกลุ่มเป็นปฏิปักษ์กัน; มีการใช้อาวุธของกลุ่มชนบางกลุ่ม
(๑๕) มีรายงานการขโมยอาวุธและวัตถุระเบิด; มีการบุกเข้าโจมตีคลังอาวุธ; หรือร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอาวุธได้
(๑๖) มีการใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สิน, การปล้นสดมภ์, ทำลายและการวางเพลิง; โดยเฉพาะในระหว่างการแสดงการประท้วง, การเดินขบวน และการก่อตัวของฝูงชน
(๑๗) มีการใช้ความรุนแรงต่อบุคคล, การฆาตกรรม, การพยายามฆ่า, การทารุณกรรม, การคุกคาม, การลักพาตัว หรือการใช้ประชาชนเป็นเป้าหมาย
(๑๘) มีการจัดซื้อจัดหาอาวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรงเพิ่มขึ้น; มีการใช้อาวุธอัตโนมัติ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธที่ผลิตจากต่างประเทศ
(๑๙) มีการค้นพบแหล่งซุกซ่อนอาวุธ, กระสุน และวัตถุระเบิด; สิ่งบอกเหตุถึงการฝึกการก่อการร้าย; มีการเฝ้าระวังของการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น
(๒๐) มีการโจมตีอย่างเปิดเผยต่อกำลังตำรวจ, ทหาร และหน่วยงานอื่น ๆ
(๒๑) มีรายงานการขโมยบัตรประจำตัวของทางราชการ, บัตรสมาชิก และอื่น ๆ
๓ - ๑๓ มาตรการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ
ผู้บังคับหน่วยสามารถนำมาตรการที่แน่ชัดและถาวรมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดักฟังข่าว และป้องกันข่าวสารข้อมูลไม่ให้รั่วไหลไปยังข้าศึก
ก. ผู้บังคับหน่วย จะต้องไม่ละทิ้งมาตรการต่าง ๆ ดังนี้.-
(๑) ใช้ หขส. ของฝ่ายเราเป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานการรักษาความปลอดภัย พัฒนา หขส.ของฝ่ายเรา – การปฏิบัติ/กิจกรรมในการวางแผนที่ผู้ก่อการร้ายสามารถนำไปใช้ได้
(๒) ใช้การปฏิบัติแบบสุ่มตัวอย่างหรือการปฏิบัติตามห้วงเวลาที่ไม่แน่นอนในการดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัย(เปลี่ยนแปลงตารางการจัดเวรรักษาการณ์,เส้นทาง, จุดตรวจ, ยาม หรือจุดสกัด)
(๓) หลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่เป็นรูปแบบและกิจวัตรของผู้บังคับบัญชา (การประชุม, การรับประทานอาหาร, กิจกรรมการส่งกำลังบำรุง, พิธีกรรมทางศาสนา หรือการผลัดเปลี่ยนเวรยามรักษาการณ์)
(๔) การใช้เครื่องกีดขวางป้องกันตน (วงรอบชั้นนอก และวงรอบชั้นใน)
(๕) ตรวจหลักฐานการแสดงตนของบุคคลทั้งหมดที่จะผ่านเข้า–ออกฐานที่ตั้งหน่วยทหาร
(๖) เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เขตหวงห้าม (ที่ตั้งทางการสื่อสาร, ศูนย์สื่อสาร, แหล่งรวมรถ, พื้นที่ที่มีกำลังพลอยู่หนาแน่น)
(๗) ควบคุมการแจกจ่ายแผนการเดินทางไปราชการของบุคคลสำคัญ/บุคคลที่มีอัตราความเสี่ยงสูง
(๘) กำหนดจุดลงรถ และพื้นที่จอดรถให้อยู่ห่างจากตัวอาคาร หากเป็นไปได้ จุดต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกฐานที่มั่น
ข. ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างของสิ่งบอกเหตุทางการข่าว ซึ่งอาจช่วยทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายสามารถรวบรวมข่าวสารจากหน่วยทหารได้ ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ไม่ใช่สูตรตายตัว.-
(๑) สิ่งบอกเหตุทางยุทธการ
(ก) กำลังพลถูกจำกัดอยู่ในบริเวณภายในค่าย ก่อนทำการเคลื่อนย้าย หรือออกปฏิบัติการ
(ข) การเพิ่มเวรยาม/การลาดตระเวนทางอากาศ
(ค) ไม่มีการจัดชุดตรวจ หรือชุดลาดตระเวนเลย
(ง) มีการเคลื่อนย้ายกำลังระหว่างจุดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีการสมทบกำลังในการจัดเฉพาะกิจ ก่อนออกปฏิบัติการ
(จ) มีการเพิ่มเติมสิ่งอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ เช่น อาหาร, ยานพาหนะ และกระสุน
(๒) สิ่งบอกเหตุทางข่าวกรองบุคคล
(ก) มีการปิดกั้นหรือกีดกันสื่อมวลชนในการหาข่าว
(ข) มีการตรวจเยี่ยม หรือการออกไปจากหน่วยของบุคคลสำคัญ หรือผู้บังคับบัญชาชั้นสูง
(ค) มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในคืนก่อนการปฏิบัติการ
(ง) มีการปิดประกาศแจ้งการจำกัดเวลาออกพักผ่อนนอกค่าย; มีการเปลี่ยนแปลงเวลาการให้บริการทางการแพทย์
(จ) มีเครื่องหมายแจ้งเตือนให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง รปจ. (การจำกัดการเข้า – ออกค่ายของพลเรือน)
(ฉ) มีภาพถ่ายแสดงถึงสถานที่ตั้งภายในค่าย และการเตรียมการต่าง ๆ
(๓) สิ่งบอกเหตุทางการติดต่อสื่อสาร
(ก) มีการเปลี่ยนแปลงนามเรียกขาน และความถี่วิทยุก่อนการปฏิบัติการ
(ข) มีการเคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนตำบลที่ตั้งเครื่องมือสื่อสารไปยังพื้นที่ตั้งแห่งใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น