ตอนที่ ๓
การปฏิบัติการด้วยวิธีรุก
กองพันเฉพาะกิจหรือกรมเฉพาะกิจ เป็นกำลังในส่วนของกองกำลังทางบกในกองกำลังร่วมเฉพาะกิจ กองพันเฉพาะกิจและกรมเฉพาะกิจถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการด้วยวิธีรุก เพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเฉพาะกิจและความชัดเจน, การปฏิบัติการจะถูกนำมาพิจารณาโดยใช้ขั้นตอนการพัฒนาสถานการณ์ของการก่อความไม่สงบของฝ่ายกบฏ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กำลังทหารจากนอกประเทศมักจะไม่ถูกพิจารณาใช้งาน หรือมอบหมายภารกิจในขั้นที่ ๓ ของการปราบปราม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์ทางยุทธวิธีแล้ว จะเห็นว่าการปฏิบัติการรุกในรูปแบบต่าง ๆ แต่ละรูปแบบ หรือหลายรูปแบบที่แปรเปลี่ยนไป อาจถูกนำมาใช้ในขั้นใดขั้นหนึ่งใน ๓ ขั้นของการปฏิบัติของฝ่ายกบฏคือ ขั้นแฝงตัว และก่อตัวของฝ่ายกบฏ ขั้นสงครามกองโจร และขั้นสงครามตามแบบ
๒ - ๑๒ ขั้นที่ ๑ ขั้นแฝงตัวและก่อตัวของฝ่ายกบฏ
ขั้นที่ ๑ นี้ จะเริ่มตั้งแต่การบ่อนทำลาย ซึ่งเป็นภัยคุกคามจำกัด (แฝงตัวหรือก่อตัว) จนถึงสถานการณ์ที่เริ่มมีการปฏิบัติการบ่อนทำลายบ่อยครั้งขึ้น โดยกำลังที่มีการจัดตั้งเป็นรูปแบบ แต่ไม่หมายรวมถึง การปฏิบัติการด้วยความรุนแรงครั้งใหญ่หรือครั้งสำคัญ ๆ การปฏิบัติของฝ่ายกบฏในขั้นที่ ๑ อาจรวมถึงการเข้าโจมตีต่อกำลังตำรวจ, การปฏิบัติการก่อการร้ายในลักษณะอื่น ๆ และการปฏิบัติการทางทหารขนาดย่อย ๆ การปฏิบัติการเหล่านี้กระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอิทธิพลเหนือประชาชน หรือเพื่อสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการเคลื่อนไหว และเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาล อีกประการหนึ่งก็เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรับการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์จากภายนอกประเทศ การสนับสนุนดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของฝ่ายกบฏและโอกาสแห่งความสำเร็จ การปฏิบัติการของกองพันเฉพาะกิจหรือกรมเฉพาะกิจ จะเป็นไปในลักษณะดังนี้.-
ก. การปฏิบัติการแบบตำรวจ การปฏิบัติการลักษณะนี้จะควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏ หรือฝ่ายกบฏพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ การปฏิบัตินี้จะใช้กำลังตำรวจของประเทศเจ้าบ้าน, กำลังกึ่งทหารหรือกำลังทหาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ กำลังทหารของฝ่ายเราอาจจำเป็นต้องเข้าปฏิบัติการแบบตำรวจ จนกว่ากำลังของประเทศเจ้าบ้านจะมีความพร้อม (ในกฎหมายระหว่างประเทศ, มีข้อห้ามกำลังทหารของต่างชาติเข้าทำการฝึกกำลังตำรวจของประเทศอื่น นอกจากจะได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ)
(๑) การจัดชุดสายตรวจร่วมเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก การปฏิบัติการในลักษณะนี้จะใช้กำลังทหารของเราปฏิบัติการร่วมกับกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน
(๒) หากกำลังทหารของเราต้องปฏิบัติภารกิจนี้ ร่วมกับกำลังทหารของหลาย ๆ ชาติแล้ว การพิจารณาเลือกใช้หน่วยทหารสารวัตรถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและดีที่สุด แต่ถ้าหากไม่มีหน่วยทหารสารวัตรที่จะใช้งานแล้ว ก็สามารถใช้ทหารเหล่าพลรบเข้าปฏิบัติภารกิจนี้ได้
(๓) เมื่อเข้าปฏิบัติการแบบตำรวจ, จะต้องจัดให้มีผู้แทนจากกองกำลังของรัฐบาล เจ้าของประเทศร่วมไปกับหน่วยทหารของฝ่ายเราด้วย โดยจะทำหน้าที่เป็นล่ามและผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนการให้เกียรติกับประชาชน เมื่อต้องเข้าปฏิบัติการแบบตำรวจนี้ กำลังทหารจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนและทรัพย์สินของประชาชนอย่างระมัดระวัง สุภาพ และให้เกียรติ
ข. การปฏิบัติการตรวจค้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังของฝ่ายปราบปราม เข้าปฏิบัติการตรวจค้น และใช้กรรมวิธีการตรวจค้นนั้น จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในการปฏิบัติการด้วยวิธีรุกนั้น จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติทางยุทธวิธี แต่หากเป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมประชาชนและทรัพยากรแล้ว อาจใช้การปฏิบัติการตรวจค้นเป็นหลักได้ การตรวจค้นอาจกระทำโดยตรงต่อประชาชน, สถานที่, อาคารหรือภูมิประเทศก็ได้ การประกอบกำลัง ควรจัดให้มีทั้งกำลังของตำรวจและทหารผสมกัน
(๑) เนื่องจากการใช้มาตรการตรวจค้น ในบางขั้นตอนอาจก่อให้เกิดผลในทางลบต่อการปฏิบัติการของฝ่ายเรา ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังมิให้การปฏิบัติเป็นไปจนออกนอกขอบเขตและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังต้องทำการบันทึกหลักฐานไว้อย่างแน่ชัด การใช้อำนาจหน้าที่อย่างระมัดระวังและอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย จะทำให้ประชาชนยังคงมีศรัทธาเชื่อถือ และให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล การใช้ปฏิบัติการอย่างรุนแรง อุกอาจ เกินเลยกว่าเหตุ และขาดวิจารณญาณ อาจกดดันต่อฝ่ายกบฏอย่างได้ผล และกำลังบางส่วนอาจต้องเปิดเผยตัวออกมา แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการรุนแรงย่อมทำให้ประชาชนเกิดความเห็นใจฝ่ายกบฏและหันเหไปช่วยเหลือสนับสนุนได้
(๒)จะต้องมีการพิจารณาทบทวนในเรื่องอำนาจในการปฏิบัติการตรวจค้นอย่างระมัดระวัง กำลังทหารย่อมจะต้องใช้ปฏิบัติการตรวจค้นได้เฉพาะในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎอัยการศึก
(หรือพื้นที่ที่มีการมอบอำนาจ) วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการตรวจค้นนั้นก็เพื่อจัดให้มีการระวังป้องกันคุ้มครองการปฏิบัติการรุกนั่นเอง ตามปกติแล้วจะมีกฎหมายพิเศษควบคุมอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นโดยกำลังฝ่ายทหาร กฎหมายพิเศษนี้จะช่วยให้การปฏิบัติได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
(๓) ชุดตรวจค้นมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของต้องห้าม หรือสิ่งของที่ถูกควบคุม บัญชีรายชื่อของสิ่งของต้องห้ามหรือสิ่งของที่ถูกควบคุม เช่น วัตถุเคมี, เวชภัณฑ์ และเครื่องมือกล จะต้องถูกนำติดไปกับชุดตรวจค้น ก่อนเริ่มปฏิบัติการตรวจค้นนั้น จะต้องมีการประสานติดต่อกับหน่วยทหารสารวัตร หรือตำรวจที่ควบคุมข้อมูลบัญชีรายชื่อนั้น และอาจต้องมีการประสานการติดต่ออีกหลายครั้ง หากการตรวจค้นยังคงดำเนินการต่อไป
(๔) การปฏิบัติการตรวจค้นอาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร หากมีปัญหาในเรื่องภาษา ทำให้การสื่อความเข้าใจกับพลเมืองในท้องถิ่นไม่ได้ผล ดังนั้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญภาษาท้องถิ่น หรือล่ามซึ่งเป็นประชาชนในประเทศ หรือท้องถิ่นนั้นไปกับชุดตรวจค้น นอกจากนี้ควรใช้การประชาสัมพันธ์ด้วยเอกสาร หรือใบปลิวก่อนเข้าทำการตรวจค้น และการใช้เครื่องขยายเสียงแจ้งข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบในขณะเข้าทำการตรวจค้น จะช่วยให้ภาพพจน์ของการปฏิบัติดีขึ้น
(๕) การปฏิบัติการตรวจค้นในแต่ละขั้นตอนจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่ถึงกับเชื่องช้าจนทำให้ฝ่ายกบฏมีเวลาพอที่จะปฏิบัติการตอบโต้หรือขัดขวางฝ่ายเราได้ ดังนั้น หากเกิดการต่อต้านเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นเป็นอุปสรรคแล้ว ฝ่ายตรวจค้นก็จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อทำลายการต่อต้านนั้น (ดูรายละเอียดใน รส.๗–๑๐ : ผนวก ก)
(๖) ชุดตรวจค้นต้องพิจารณาใช้การย้อนกลับไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในตอนเริ่มแรกบ้าง ทั้งนี้ เพื่อผลในการจู่โจมและทำให้ฝ่ายกบฏจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายกำลังหรือปรับโครงสร้างกำลังของตนซึ่งอาจยังไม่ถูกตรวจค้นพบ หรือฝ่ายตรวจค้นอาจพบกับกำลังของฝ่ายกบฏที่เพิ่งย้อนกลับเข้ามาในพื้นที่แห่งนั้นได้
ค. การตรวจค้นบุคคล ผู้ก่อความไม่สงบหรือสมาชิกของกลุ่มกบฏย่อมปะปนอยู่กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ผู้ทำการตรวจค้นจะต้องหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดเงื่อนไขที่เกื้อกูลกับฝ่ายกบฏ และพยายามทำให้ประชาชนยังให้การสนับสนุนรัฐบาลเจ้าของประเทศ ความยากลำบากในการตรวจค้นบุคคลนี้จะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการปฏิบัติ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่สุด และในระหว่างการตรวจค้นนั้น จะต้องกำหนดให้มีบุคคลหนึ่งในชุดตรวจค้น ทำการระวังป้องกันให้กับกำลังพลคนอื่นที่ปฏิบัติการตรวจค้นอยู่อย่างจริงจัง (ดูผนวก ค)
ง. จุดตรวจและจุดปิดกั้นถนน การจัดตั้งจุดปิดกั้นถนน, จุดตรวจ, ด่านตรวจ จะช่วยควบคุมการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ, บุคคล และสิ่งอุปกรณ์ตามเส้นทางจำเพาะ หลักนิยมตลอดจนยุทธวิธี, เทคนิค และระเบียบปฏิบัติของทหารราบที่ได้กำหนดไว้แล้วนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ของความขัดแย้งระดับต่ำ, แต่ต้องพิจารณาประกอบกับพื้นฐาน คือ ปัจจัย METT–T และองค์ประกอบอื่น ๆ ของความขัดแย้งระดับต่ำด้วย
(๑) จุดปิดกั้นถนนจะจำกัดการเคลื่อนที่ของยานพาหนะตามเส้นทางที่มุ่งเข้าสู่พื้นที่ที่เพ่งเล็ง หรือเส้นทางเชื่อมต่อไปยังถนนอื่น ๆ จุดตรวจเป็นสถานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ และจุดตรวจนี้จะถูกใช้ร่วมกับจุดปิดกั้นถนน เพื่อบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะให้เข้าไปยังพื้นที่ตรวจค้น จุดปิดกั้นถนนนี้อาจถูกจัดตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราว, จัดตั้งขึ้นทันทีทันใดเพื่อการจู่โจม หรืออาจจัดตั้งขึ้นแบบกึ่งถาวรโดยใช้ลักษณะตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการ.-
• ดำรงการตรวจค้นอย่างต่อเนื่องต่อยานพาหนะและการเคลื่อนที่บนถนนเพื่อจับกุมผู้ต้องสงสัย และเพื่อป้องกันการลักลอบขนส่งสิ่งของที่อยู่ใน ความควบคุม
• ป้องกันการแทรกซึม ลักลอบ หรือบุคคลที่มิได้รับอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ควบคุม
• ตรวจค้นยานพาหนะเพื่อหาวัตถุระเบิด
• ประกันความมั่นใจในการใช้เส้นทางถนน ทั้งยานพาหนะของพลเรือนและทหาร
(๒) จุดตรวจหรือด่านตรวจอาจจัดตั้งขึ้นได้ทั้งแบบเร่งด่วนและแบบประณีต สำหรับจุดตรวจแบบประณีตนี้ จะอยู่ในเมืองหรือตำบลที่มีพื้นที่เปิด, มักอยู่บนถนนหลัก จุดตรวจนี้ใช้เพื่อป้องปรามการเคลื่อนที่หรือการเคลื่อนย้ายที่มิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจุดตรวจหรือด่านตรวจแบบเร่งด่วนนั้น มักจะมีความคล่องตัวสูง และสามารถจัดตั้งได้อย่างรวดเร็วในเมืองหรือตำบลที่มีพื้นที่เปิด ที่ตั้งของจุดตรวจหรือด่านตรวจแบบเร่งด่วนที่มีความเหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
(ก) การพรางจุดตรวจนั้นเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม แต่มักไม่สามารถกระทำได้ สถานที่ตั้งจุดตรวจควรจะมีลักษณะที่สามารถชะลอความเร็วของการเลี้ยวกลับของยานพาหนะได้โดยคนขับไม่สามารถสังเกตเห็นคันดิน, สะพาน หรือร่องลึก สามารถใช้เป็นทำเลที่ตั้งจุดตรวจได้เป็นอย่างดี สถานที่ที่อยู่ถัดจากโค้งอันตรายออกไปก็นับว่าเป็นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้ คนขับรถจะมองไม่เห็นจุดตรวจในระยะไกลพอที่จะบังคับรถหลบออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้นได้ ปัจจัยพิจารณาในด้านความปลอดภัยอาจมีผลต่อการเลือกที่ตั้งของจุดตรวจน้อยลง เมื่อจำเป็นต้องเน้นคุณลักษณะดังกล่าว สภาพของถนนที่ไม่ดีพอจะช่วยเพิ่มความเหมาะสมในการเลือกเป็นทำเลที่ตั้งจุดตรวจ
(ข) จุดตรวจหรือด่านตรวจ จำเป็นต้องมีกำลังทหารอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการถูกซุ่มโจมตี หรือการจู่โจมจากกำลังของฝ่ายกบฏ กำลังทหารที่ป้องกันจุดตรวจนี้จะอยู่ห่างจากจุดตรวจในระยะประมาณ ๑๐๐ เมตรหรือมากกว่า โดยมีการซ่อนพรางเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เพื่อการหลบหนีของยานพาหนะหรือบุคคลที่มองเห็นจุดตรวจ และพยายามเลี้ยวกลับ ในการตรวจค้นนั้น จะต้องกระทำการตรวจทั้งยานพาหนะ, คนขับ และผู้โดยสาร หากจุดตรวจจะต้องถูกจัดตั้งเป็นเวลานาน ก็จำเป็นต้องจัดให้มีการหมุนเวียนกำลังพลบางส่วนให้ได้พักผ่อน โดยพื้นที่พักผ่อนนั้นจะอยู่ใกล้ ๆ กับพื้นที่ตรวจค้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรวมกำลังทหารเป็นกองหนุนได้อย่างรวดเร็วทันเวลา (ดูรายละเอียด ใน รส.๗–๑๐)
จ. การตรวจค้นในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง – การปิดล้อมและตรวจค้น การตรวจค้นในพื้นที่สิ่งปลูกสร้างนั้นต้องการใช้เทคนิคพิเศษ รวมทั้งหลักการและการควบคุมบังคับบัญชาที่แตกต่างออกไป การปฏิบัติการเหล่านี้หมายรวมถึง การแบ่งพื้นที่สิ่งปลูกสร้างออกเป็นเขตและมอบหมายให้กำลังพวกตรวจค้นเข้ารับผิดชอบในแต่ละเขตนั้น ๆ ซึ่งพวกตรวจค้นนี้จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อปฏิบัติการ เช่น ส่วนปิดล้อมพื้นที่โดยรอบและส่วนตรวจค้น (ดูรายละเอียดใน รส.๗–๑๐ : ผนวก ก)
(๑) เทคนิค กำลังตำรวจและทหารซึ่งปฏิบัติการในพื้นที่สิ่งปลูกสร้างนั้น จะต้องได้รับการฝึกเพื่อปฏิบัติการลักษณะนี้มาเป็นอย่างดี เทคนิคเหล่านี้จะมีความจำเป็นที่ต้องนำมารใช้ตรวจค้นทั้งในพื้นที่อาคาร หรือบ้านเล็ก ๆ ที่อยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือแม้แต่พื้นที่ในตัวเมืองที่ได้รับการออกแบบและสร้างอย่างประณีต การปฏิบัติการตรวจค้นในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง จำเป็นต้องใช้การวางแผนอย่างละเอียด และซักซ้อมเป็นอย่างดี ซึ่งจะเน้นในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้.-
(ก) การแบ่งพื้นที่ที่จะตรวจค้นออกเป็นเขตย่อยๆ (อาคารแต่ละอาคารควรมีหมายเลขกำกับไว้) และแบ่งมอบเขตต่าง ๆ เหล่านั้นให้กับพวกตรวจค้นรับผิดชอบ พวกตรวจค้นประกอบด้วย ส่วนตรวจค้น (ทำหน้าที่ตรวจค้น), ส่วนระวังป้องกัน (ทำหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่เพื่อป้องกันการเข้าหรือออกนอกพื้นที่ของบุคคลอื่น ๆ, และทำการระวังป้องกันพื้นที่เปิด), และส่วนกองหนุน (เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือ)
• ส่วนตรวจค้น ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบ ซึ่งตามปกติแล้วส่วนนี้จะ
ถูกจัดเป็นชุดย่อย โดยใช้ปัจจัย METT – T เป็นพื้นฐาน
• ส่วนระวังป้องกัน ปฏิบัติหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่โดยรอบ ในขณะที่ส่วนตรวจค้นเคลื่อนที่เข้าไป กำลังพลในส่วนระวังป้องกันจะเพ่งเล็งและป้องกันมิให้มีการหลบหนีออกมาจากพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนระวังป้องกันก็สามารถขัดขวางการเพิ่มเติมกำลังของฝ่ายกบฏเข้าไปในพื้นที่ได้เช่นกัน ในการปฏิบัติในตัวเมือง จำเป็นต้องพิจารณาถึงเส้นทางใต้ดินที่อาจใช้หลบหนี หรือซุกซ่อนได้ เช่น ถนนใต้ดิน หรือท่อระบายน้ำ เป็นต้น
• ส่วนกองหนุน เป็นกำลังส่วนเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ มี
หน้าที่ช่วยเหลือสองส่วนแรก หากมีการต้านทานอย่างหนาแน่น และส่วนกองหนุนนี้ยังสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนส่วนใดส่วนหนึ่งในสองส่วนแรกได้อีกด้วย
(ข) ต้องพิจารณาและระมัดระวังกับระเบิดของฝ่ายตรงข้ามเป็นพิเศษ จนกว่าจะได้มีการตรวจสอบอย่างแน่ชัดแล้วว่ามีความปลอดภัย ซึ่งทั้งนี้หมายรวมถึง อุปกรณ์โฆษณาชวนเชื่อ และเอกสารใบปลิวของฝ่ายตรงข้ามด้วย
(ค) ตรวจค้นพื้นที่ใต้ดิน และใต้น้ำ รวมทั้งบริเวณที่เพิ่งถูกขุดใหม่ ๆ ซึ่งอาจใช้เป็นที่ซุกซ่อน ให้พยายามใช้เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด กับระเบิด เพื่อค้นหาและกำหนดจุดที่อยู่ของวัตถุที่เป็นโลหะที่อยู่ใต้ดินและใต้น้ำ
(ง) เคลื่อนกำลังอย่างรวดเร็ว, โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายกบฏยังคงอยู่ในพื้นที่ที่จะตรวจค้น ปิดล้อมพื้นที่ทั้งหมดที่จะตรวจค้นในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าหากทำไม่ได้ ก็ให้ใช้การควบคุมด้วยการตรวจการณ์ และการยิงในบริเวณพื้นที่ที่ไม่สามารถปิดล้อมได้
(๒) หลักการ หลักการที่จะนำมาใช้เมื่อเข้าตรวจค้นในพื้นที่สิ่งปลูกสร้างก็คือ ปฏิบัติการตรวจค้นโดยให้เกิดผลกระทบที่น้อยที่สุดที่จะรบกวนประชาชนในพื้นที่ การรบกวนประชาชนทำให้ไม่ได้รับความสะดวกนั้น ย่อมส่งผลในทางลบต่อฝ่ายปราบปราม และก่อให้เกิดความเห็นใจต่อฝ่ายกบฏ ประชาชนอาจช่วยเหลือฝ่ายกบฏให้ได้รับการซ่อนตัวอยู่ภายในพื้นที่ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะร่วมมือปฏิบัติการกับฝ่ายกบฏ การเข้าตรวจค้นในพื้นที่สิ่งปลูกสร้างเป็นบริเวณกว้างใหญ่ มักใช้กำลังผสมระหว่างทหารและตำรวจเข้าปฏิบัติการ กองกำลังฝ่ายปราบปรามจะวางแผนในรายละเอียดและทำการซักซ้อมเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ แต่จะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเข้าลาดตระเวนในพื้นที่ ก่อนทำการตรวจค้น ควรแสวงหาข่าวสารเกี่ยวกับภูมิประเทศจากภาพถ่ายทางอากาศ ในเมืองที่มีขนาดใหญ่นั้น ตำรวจที่ประจำอยู่ในท้องที่อาจมีแผนที่ ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดและที่ตั้งของตัวอาคาร ความสำเร็จของการปฏิบัติการขึ้นอยู่กับแผนการตรวจค้นที่จัดทำอย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว
(๓) การบังคับบัญชาและการควบคุม ตามปกติแล้วในการตรวจค้นซึ่งใช้กำลังทหารประกอบด้วย หน่วยระดับกองพัน หรือใหญ่กว่า จะใช้ผู้บังคับหน่วยทหารนั้นเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา โดยจะใช้กำลังของตำรวจให้การสนับสนุน แต่หากเป็นการใช้กำลังทหารที่มีขนาดหน่วยเล็กกว่าระดับกองพันลงมาแล้ว ก็มักจะใช้ฝ่ายตำรวจเป็นผู้ควบคุม และให้กำลังทหารเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน หลักการดังกล่าวถือว่าเป็นหลักการที่เหมาะสมที่สุด ยกเว้นในกรณีที่กำลังตำรวจของ รัฐบาลเจ้าของประเทศเข้าปฏิบัติการตรวจค้น โดยมีจำนวนกำลังพลพอเพียง และเมื่อทำการฝึกในเรื่องปฏิบัติการตรวจค้นมาแล้ว (ดูผนวก ค)
ฉ. การปฏิบัติการตรวจค้นทางอากาศ หน่วยปฏิบัติการตรวจค้นจะใช้อากาศยานปีกหมุนติดอาวุธ เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่และอำนาจการยิง โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากคุณลักษณะของอากาศยานดังกล่าว (ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบถึงการทำลายขวัญของกำลังฝ่ายกบฏ)
(๑) การลาดตระเวนโจมตีทางอากาศ, การปฏิบัติการตรวจค้นทางอากาศจะใช้ปฏิบัติการเป็นพื้นที่ตามที่ได้รับมอบหรือตามเส้นทางที่คาดว่าฝ่ายกบฏจะใช้ เมื่อฝ่ายเราสามารถค้นหาพบกำลังของฝ่ายกบฏแล้ว ฝ่ายเราก็จะใช้การยิงโจมตีจากทางอากาศ หรืออาจใช้การส่งกำลังทหารลงไปโจมตีทางภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตาม วิธีการลาดตระเวนโจมตีทางอากาศนี้ จะใช้ไม่ค่อยได้ผล เมื่อฝ่ายกบฏใช้การซ่อนตัวในภูมิประเทศที่เป็นป่ารกทึบ การโจมตีและลาดตระเวนทางอากาศมีขีดจำกัดในข้อนี้ เนื่องจากข่าวกรองที่ได้รับอาจไม่กระจ่างชัดและความยากลำบากในการเชื่อมต่อระบบการควบคุมบังคับบัญชากับการปฏิบัติการภาคพื้นดิน
(๒) ในการส่งกำลังเข้าปฏิบัติทางภาคพื้นดินนั้น จะใช้เฮลิคอปเตอร์นำกำลังทหารส่งลงไปในพื้นที่ที่สงสัยว่าจะมีกำลังของฝ่ายกบฏอยู่ และใช้เฮลิคอปเตอร์เฝ้าตรวจทางอากาศ, กำลังทหารเข้าตรวจค้นทางพื้นดิน หลังจากนั้นจะใช้เฮลิคอปเตอร์รับกำลังภาคพื้นดินไปปฏิบัติการเช่นเดียวกันนี้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องในพื้นที่อื่น ๆ
(๓) กำลังพลในหน่วยลาดตระเวนโจมตีทางอากาศ จะต้องได้รับการฝึกในเรื่องกรรมวิธีการสะกดรอยติดตาม หรืออาจได้รับการสมทบชุดสะกดรอยจากรัฐบาลเจ้าของประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยลาดตระเวนสามารถติดตามกำลังของฝ่ายกบฏเข้าไปจนถึงฐานที่มั่น หากหน่วยลาดตระเวนปะทะกับกำลังของฝ่ายกบฏที่มีมากกว่า ก็จะร้องขอกำลังจากกองหนุน (หน่วยเตรียมพร้อม) เข้าร่วมปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังจะต้องมีการวางแผนส่งกลับเชลยศึก, ผู้บาดเจ็บ และยุทโธปกรณ์อีกด้วย
ช. การรบกวนขัดขวางและควบคุมการจลาจล กำลังทหารของฝ่ายเราที่เข้าร่วมในกองกำลังฝ่ายปราบปราม อาจได้รับมอบภารกิจให้ช่วยเหลือตำรวจหรือทหารของรัฐบาลเจ้าของประเทศในการขัดขวาง หยุดยั้งการก่อการจลาจล กำลังทหารของเราจะต้องได้รับการจำกัดขอบเขตในการปฏิบัติเฉพาะในการรบกวน หรือหน่วงเหนี่ยว และป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของเราเท่านั้น บทบาทและภาระหน้าที่หลักในการกดดัน ทำลาย หรือสลายการจลาจลนั้น จะต้องเป็นของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลเจ้าของประเทศเท่านั้น การใช้กำลังทหารของเราเข้าปฏิบัติการโดยตรงต่อผู้ก่อการจลาจล ย่อมถูกแสวงประโยชน์ในการใช้เป็นเงื่อนไขสำหรับฝ่ายก่อการกบฏหรือแนวร่วม ทั้งนี้ เนื่องจากในการเข้าปฏิบัติการดังกล่าวย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยกำลังอย่างรุนแรง และการปฏิบัติที่นอกเหนือเกินเลยไปจากอำนาจอันชอบธรรม ซึ่งฝ่ายกบฏย่อมนำไปใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ (ดูรายละเอียดใน รส.๑๙–๑๕)
๒ - ๑๓ ขั้นที่ ๒ สงครามกองโจร
ในขั้นที่ ๒ นี้ เมื่อได้รับการสนับสนุนจากภายในท้องถิ่น และภายนอกอย่างเพียงพอแล้ว ฝ่ายกบฏก็จะเริ่มจัดกำลังเป็นหน่วยสำหรับทำสงครามกองโจร หรือการปฏิบัติการที่รุนแรงต่อฝ่ายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายหลักในทางทหารก็คือ การเข้าควบคุมทรัพยากรและประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ รัฐบาลจะถูกกดดันให้ต้องปฏิบัติการโดยไม่มีโอกาสใคร่ครวญอย่างรอบคอบ และเผชิญต่อปัญหาหลายด้านในเวลาเดียวกัน กำลังกองโจรจะพยายามกดดันให้กำลังฝ่ายรัฐบาลต้องตกเป็นฝ่ายรับ ในลักษณะการตรึงกำลังอยู่กับที่ กำลังกองโจรจะพยายามขัดขวางและทำลายเส้นหลักการติดต่อ สื่อสาร และแย่งชิง หรือทำลายสิ่งอุปกรณ์ รวมทั้งแหล่งทรัพยากรอื่น ๆ ของรัฐบาล ในขั้นนี้จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการของหน่วยทหารขนาดเล็กต่อกำลังกองโจรของฝ่ายกบฏ เทคนิคในการค้นหาและเข้าโจมตี เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลมากที่สุด เนื่องจากหน่วยทหารขนาดเล็กที่ถูกแยกออกไปหลาย ๆ หน่วยนั้น จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าการใช้หน่วยทหารขนาดใหญ่เพียงไม่กี่หน่วย หน่วยทหารขนาดเล็กจะทำให้กำลังกองโจรเสียสมดุล และการใช้อำนาจการยิงของฝ่ายเราจะเป็นไปในลักษณะที่เหมาะสมและพอเพียง เมื่อเกิดการรบปะทะ การปฏิบัติของฝ่ายเราคงใช้เทคนิคและวิธีการเช่นเดียวกับในขั้นที่ ๑ เพิ่มเติมด้วยวิธีการตีโฉบฉวยและการซุ่มโจมตี หน่วยทหารของฝ่ายเราจะถูกส่งออกไปลาดตระเวนเพื่อค้นหา และเลือกพื้นที่สำหรับการซุ่มโจมตีหรือเป้าหมายสำหรับการเข้าตีโฉบฉวย
ก. หลักนิยมการรบอากาศ-พื้นดิน และสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ สาระสำคัญของหลักนิยมการรบอากาศ-พื้นดิน ก็คือการสร้างอำนาจกำลังรบและการนำไปประยุกต์ใช้ในระดับยุทธการและยุทธวิธี หลักนิยมนี้จะถูกนำมาใช้กับสภาวะความขัดแย้งในระดับต่ำ ในลักษณะของยุทธการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะอยู่บนพื้นฐานของการระวังป้องกันและรักษาไว้ซึ่งความริเริ่ม ตลอดจนการฝึกฝนใช้เพื่อให้บรรลุภารกิจ ผู้บังคับหน่วยจะสามารถบรรลุผลสำเร็จในภารกิจได้ด้วยการปฏิบัติการที่รวดเร็ว, จู่โจมโดยไม่คาดหมาย, รุนแรง และฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ ในระดับยุทธวิธีนั้น การวางแผนจะต้องมีความอ่อนตัวพอเพียงที่จะแสวงประโยชน์ และปรับให้เข้ากับโอกาส และสถานการณ์ที่อาจแปรเปลี่ยนไปได้, แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีความถูกต้องในหลักการอย่างแน่ชัด เพื่อให้เกิดการประสานสอดคล้องอย่างต่อเนื่องตลอดการสู้รบ ความสำเร็จในการปฏิบัติการยุทธ์ภายใต้สภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของ ผบ.พัน. และ ผบ.กรม ในการประยุกต์ใช้หลักนิยมการรบอากาศ-พื้นดิน เข้าทำการสู้รบนั่นเอง
(๑) ความว่องไว ขีดความสามารถของกองกำลังฝ่ายเราในอันที่จะปฏิบัติการได้เร็วกว่าฝ่ายตรงข้ามนั้น คือความว่องไว ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อแรกที่ผู้บังคับบัญชาในกองกำลังฝ่ายปราบปรามกบฏจะนำมาใช้เพื่อชิงความได้เปรียบ และครองความเป็นฝ่ายริเริ่มในทุกสถานการณ์ ฝ่ายเราจะมีความรวดเร็วโดยสามารถรวมกำลังเข้าปฏิบัติต่อจุดอ่อนของฝ่ายกบฏ นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการตรึงฝ่ายกบฏไว้ด้วยกำลังเพียงส่วนเดียว ในขณะที่ใช้กำลังส่วนที่เหลือเข้าโจมตี การให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติในเรื่องความว่องไวนั้น ผู้นำหน่วยในทุกระดับจะต้องเอาชนะแรงต้านทานหรือความฝืด และ “อ่านสนามรบให้ออก” ผบ.พัน. และ ผบ.กรม จะต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และลงมือปฏิบัติโดยปราศจากความลังเล ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น, ผบ.หน่วยจะต้องรับผิดชอบพื้นที่อันกว้างใหญ่; แต่การปะทะจะเกิดขึ้นในหน่วยระดับเล็ก ๆ ผบ.พัน. และ ผบ.กรม ต้องเตรียมพร้อมที่จะใช้การเสี่ยงโดยที่อาจจะยังไม่มีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์พร้อม โดยไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะปฏิบัติการก่อน
(๒) ความริเริ่ม การเปิดฉากการรบ หรือปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการรบ ให้เป็นไปตามความต้องการนั้น ถือเป็นความริเริ่ม ความริเริ่มจะแฝงตัวอยู่ในสัญชาตญาณของการรุกรบในการปฏิบัติการยุทธ์ทุกครั้ง วัตถุประสงค์ของผู้บังคับบัญชาก็คือ การบีบบังคับให้ข้าศึกปฏิบัติตามที่ฝ่ายเราได้กำหนดไว้ โดยที่ฝ่ายเรายังมีเสรีในการปฏิบัติอยู่ ความริเริ่มจะมีอยู่ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทหารและผู้นำหน่วยต้องทำงานอย่างมีเสรีและมีความห้าวหาญ โดยที่ยังอยู่ในแนวทางและเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา ในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำนั้น ฝ่ายกบฏย่อมไม่ยอมตกเป็นฝ่ายถูกค้นพบและถูกทำลายขวัญจากการโจมตี ดังนั้น ฝ่ายเราจำเป็นต้องใช้การเตรียมการล่วงหน้า และการเตรียมสนามรบด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนจากการลาดตระเวนอย่างรุกรบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องการการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่หน่วยกำลังรบ และหน่วยส่งกำลังบำรุงไม่อาจกำหนดเป้าหมายได้อย่างแน่ชัด ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างคลุมเครือและแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ฝ่ายกบฏไม่สามารถใช้ฐานที่มั่น, แหล่งทรัพยากร และที่ซ่อนตัวที่ปลอดภัย ผู้บังคับหน่วยของฝ่ายกบฏจะไม่สามารถรวมกำลังได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีขีดความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้า
(๓) ความลึก คือขีดความสามารถในการปฏิบัติการได้อย่างกว้างขวางในพื้นที่, จังหวะ เวลาและด้วยเครื่องมือทรัพยากรหลายชนิด ผู้บังคับหน่วยจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับการดำเนินกลยุทธ์, ต้องการเวลาสำหรับการวางแผน และต้องการเครื่องมือหรือทรัพยากรเพื่อเอาชนะในทางลึก แรงหนุนเนื่องในการเข้าตีจะบังเกิดขึ้น และดำรงอยู่เมื่อมีการใช้เครื่องมือและกำลังรบได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่องในห้วงระยะเวลาอันยาวนาน ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น ผบ.หน่วยระดับยุทธวิธีจะต่อสู้กับฝ่ายกบฏตลอดพื้นที่ในทางลึก เพื่อลดเสรีในการปฏิบัติ, ลดความสามารถในการปรับตัว และความสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจได้อย่างยาวนาน รวมทั้งการขัดขวางการปฏิบัติตามแผนและการประสานการปฏิบัติ ผบ.หน่วยต้องจัดให้มีกองหนุนซึ่งมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่อย่างสูง เพื่อโอกาสในการขยายผลทางยุทธวิธี รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งเสรีในการปฏิบัติโดยการพิทักษ์ป้องกันพื้นที่ส่วนหลัง และหน่วยสนับสนุนทั้งมวล
(๔) ความประสานสอดคล้อง การบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในสนามรบเพื่อให้เป็นไปตามเวลา, พื้นที่ และวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจกำลังรบสัมพัทธ์ที่สูงที่สุด ณ ตำบลแตกหักนั้น เรียกว่า ความประสานสอดคล้อง ความประสานสอดคล้องจะหมายรวมถึง การรวมหน่วยและอำนาจการยิงในตำบลที่หวังผลแตกหักในการรบ และจะกินใจความครอบคลุมมากกว่านั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาใช้กำลังทางอากาศ, หน่วยบินทหารบก, ปืนใหญ่, หน่วยสนับสนุนการรบและหน่วยสนับสนุนการช่วยรบ ในการปฏิบัติการยุทธ์ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ และปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผบ.พัน. และ ผบ.กรม ต้องประเมินค่าทั้งขีดความสามารถและขีดจำกัดของกำลังทหารของรัฐบาลเจ้าของประเทศ, โดยใช้การเปรียบเทียบขีดความสารมารถหลักเมื่อใช้หลักนิยมของเรากับกำลังทหารของฝ่ายเรา
ข. หลักการสู้รบ หลักการสู้รบทั้ง ๗ ประการ จากหลักนิยมการรบอากาศ-พื้นดิน เปรียบเสมือนพื้นฐานที่ได้มาจากหลักการสงคราม หลักการสู้รบทั้ง ๗ ประการ ได้แก่.-
(๑) ประกันความมั่นใจในเอกภาพของความพยายาม กลุ่มหลักการเหล่านี้ได้แก่ หลักความมุ่งหมาย, เอกภาพในการบังคับบัญชา และความง่าย เอกภาพของความพยายามนั้นจำเป็นต้องใช้ความเข้าใจของผู้บังคับบัญชาอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของชาติของเรา และการปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์นั้น ผู้บังคับหน่วยจะประยุกต์ใช้หลักการซึ่งอยู่ภายในกลุ่มเหล่านี้ในหนทางที่จะมีผลเกื้อกูลต่อการปฏิบัติการยุทธ์ โดยไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของชาติของเรา
(๒) ใช้ความเข้มแข็งของฝ่ายเรากระทำต่อจุดอ่อนของข้าศึก กลุ่มหลักการเหล่านี้ได้แก่ หลักการดำเนินกลยุทธ์ และหลักการจู่โจม ผู้บังคับหน่วยจะพยายามทุกวิถีทางที่จะลดจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด และป้องกันตนในจุดที่ล่อแหลมนั้น ขณะเดียวกันจะใช้ความเข้มแข็งของฝ่ายเรากระทำต่อจุดอ่อนของฝ่ายกองโจร การที่จะปฏิบัติเช่นนี้ได้ ผบ.หน่วยจะต้องรู้ถึงโครงสร้างการจัดหน่วยของข้าศึก, อาวุธยุทโธปกรณ์ และยุทธวิธี นอกเหนือจากนี้ก็คือ เหตุผลในการสู้รบของกองโจร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ ผบ.หน่วยจะต้องทราบถึงเหตุผลนี้
(๓) กำหนดและดำรงรักษาความพยายามหลัก กลุ่มหลักการเหล่านี้ได้แก่ หลักการรวมกำลังและการออมกำลัง ทหารทั้งกองทัพไม่สามารถไปอยู่ทั่วทุกหนแห่งได้ภายในเวลาฉับพลัน และก็ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีการจัดลำดับความเร่งด่วนในการใช้กำลังทหารไว้ในระดับยุทธวิธี และระดับยุทธการ เพื่อพิจารณาว่าจะใช้กำลังเป็นความพยายามหลักในด้านใด และมีความมุ่งหมายอะไร
(๔) ทำการสู้รบอย่างต่อเนื่อง กำลังรบอาจต้องทำการสู้รบเป็นระยะเวลานานในสภาวะการส่งกำลังบำรุงอันจำกัด ผู้บังคับหน่วยจะต้องใช้กำลังรบดังกล่าวในความลึกอย่างเพียงพอและจัดการให้มีการสนับสนุนทางการช่วยรบเท่าที่จำเป็น เพื่อดำรงไว้ซึ่งแรงหนุนเนื่อง ผู้บังคับหน่วยต้องเป็นบุคคลที่ห้าวหาญ และจัดวางระบบในหน่วยพร้อมกับกำลังทหารให้มีความทรหดอดทนอย่างสูงสุด
(๕) เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว, โจมตีอย่างรุนแรง และเอาชนะอย่างฉับพลัน กลุ่มหลักการนี้ได้แก่ หลักการดำเนินกลยุทธ์ และหลักการรวมกำลัง ความเร็วและความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง กำลังของฝ่ายเราจะใช้เทคนิคการลวง, การรักษาความปลอดภัยทางการสื่อสาร และการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฝ่ายตรงข้ามตรวจพบ ในขณะที่ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ทั่วไป, การปฏิบัติทางยุทธวิธีจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อครองไว้ซึ่งความเป็นฝ่ายริเริ่มและเสรีในการปฏิบัติ หลักการนี้จะต้องใช้ด้วยความมีวิจารณญาณเช่นเดียวกับความจำเป็นในการรอจังหวะเวลาอย่างอดทน
(๖) ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศและสภาพลมฟ้าอากาศ กำลังของกองโจรจะมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศ และชินต่อสภาพลมฟ้าอากาศในท้องถิ่น การลาดตระเวนและการข่าวกรอง (หากได้ผลสำเร็จอย่างแท้จริง) จะช่วยให้ผู้บังคับหน่วยได้มีเครื่องมือในเชิงตัดสินเพื่อใช้คาดการณ์ในอุปสรรคอันเกิดจากภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ ทั้งนี้ผู้บังคับหน่วยจะใช้สองสิ่งนี้เพื่อให้ได้เปรียบข้าศึก
(๗) การสงวนรักษากำลังพล ผู้บังคับบัญชาที่ประสบความสำเร็จคือ ผู้ที่สามารถสงวนรักษาสภาพความแข็งแกร่งของกำลังพลเอาไว้ได้ โดยใช้มาตรการระวังป้องกัน, โดยรักษาไว้ซึ่งสุขภาพของกำลังพลและความพร้อมของยุทโธปกรณ์ และโดยการดำรงรักษาวินัยและขวัญของกำลังพล กำลังของกองโจรจะพยายามหาช่องทางที่จะลดสภาพขวัญของกำลังพลโดยใช้การปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการทำลายขวัญ กลวิธีของกองโจรจะถูกนำมาใช้เพื่อลดสภาพจิตใจที่จะต่อสู้ ผู้บังคับบัญชาจะต้องฝึกทหารของตน และย้ำเตือนให้ทหารตระหนักถึงภารกิจและความสำคัญของภารกิจอย่างแท้จริง
๒ - ๑๔ ขั้นที่ ๓ - สงครามตามแบบ
สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงจากขั้นที่ ๒ ไปสู่ขั้นที่ ๓ เมื่อการกบฏเริ่มกลายเป็นสงครามของการเคลื่อนไหว ระหว่างกองกำลังที่จัดตั้งของฝ่ายกบฏ กับกองกำลังของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้น
ก. ในระหว่างขั้นที่ ๓ นี้ การปฏิบัติการของฝ่ายกบฏจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ อย่างต่อเนื่องกันมา และขยายขอบเขตออกอย่างกว้างขวาง ในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ขั้นที่ ๓ นี้ ฝ่ายกบฏจะรวมกำลังกันเป็นปึกแผ่น และเป็นเป้าหมายที่ท้าทายต่อกำลังของฝ่ายรัฐบาล กำลังที่มีขนาดหน่วยใหญ่ของฝ่ายกบฏจะต่อสู้กับกำลังของฝ่ายรัฐบาล เพื่อพยายามที่จะเข้าควบคุมเป้าหมายทางภูมิศาสตร์ และทางการเมือง ฝ่ายกบฏอาจเริ่มใช้ยุทธวิธีของสงครามตามแบบอย่างกว้างขวางมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นอาจเลือกใช้วิธีการสู้รบในลักษณะยึดพื้นที่ หากได้พิจารณาแล้วว่าจะเกิดผลคุ้มค่า การตั้งรับอย่างได้ผลของฝ่ายกบฏ ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาและความตึงเครียดต่อกำลังของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องพยายามเอาชนะให้จงได้ ขั้นที่ ๓ นี้เอง น่าจะเป็นขั้นที่ฝ่ายรัฐบาลจะร้องขอการสนับสนุนจากหน่วยกำลังรบต่างชาติจากมิตรประเทศ
ข. ในขั้นตอนนี้เช่นเดียวกัน ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามตามแบบ แต่การปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนในขั้นที่ ๑ และ ๒ ยังคงดำเนินการต่อไป ผบ.หน่วยจะใช้การปฏิบัติการรุกโดยไม่ลดความพยายามที่จะกดดันต่อฝ่ายกบฏ และใช้การดำเนินกลยุทธ์เพื่อสกัดกั้นการถอนตัว หรือการหลบหนีของฝ่ายกบฏ ซึ่งในการนี้จะต้องใช้การยิงสนับสนุนอย่างเต็มที่ ร่วมกับหน่วยดำเนินกลยุทธ์และการสงครามอิเล็กทรอนิกส์เชิงรุก อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาการปฏิบัติการโดยสงวนและป้องกันชีวิตของพลเมืองผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำลาย
ทรัพย์สินของพลเมืองเหล่านั้นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น