วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“การรบชนะร้อยครั้งในสงครามร้อยครั้งนั้น มิใช่สุดยอดของทักษะ

บทที่ ๑


กล่าวนำ

“การรบชนะร้อยครั้งในสงครามร้อยครั้งนั้น มิใช่สุดยอดของทักษะ

การเอาชนะข้าศึกโดยไม่ต้องรบต่างหาก คือ ทักษะสุดยอด”

ซุนวู…

นับวันกองทัพของเรายิ่งมีแนวโน้มและโอกาสที่จะเข้าปฏิบัติการในความขัดแย้งระดับต่ำมากขึ้นเรื่อย ๆ คู่มือราชการสนามเล่มนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างของภารกิจของหน่วยระดับกองพัน และกรม เมื่อเข้าปฏิบัติการในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ รวมทั้งคำจำกัดความและธรรมชาติของความขัดแย้งระดับต่ำ, บทบาทของทหาร, ความสำคัญ และประเภทของยุทธการ นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อพิจารณาของผู้นำ เมื่อต้องเผชิญกับสภาวการณ์ของความขัดแย้งระดับต่ำ

ตอนที่ ๑

ความเป็นมา

สภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ เกิดขึ้นจากการเผชิญหน้ากันในด้านการเมือง และการทหาร ระหว่างรัฐ หรือกลุ่มของรัฐ ซึ่งระดับความรุนแรงนั้นน้อยกว่าสงครามทั่วไป แต่จะมากกว่าการพบปะเจรจากันด้วยสันติวิธี ความขัดแย้งดังกล่าวได้ก่อตัวสะสมเป็นเวลายาวนาน จากหลักการหรือทฤษฎีความเชื่อที่ไม่ตรงกัน หรือการแข่งขันกัน การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้มิให้เกิดลุกลาม จะต้องใช้การผสมผสานกันด้วยวิธีการทางการเมือง, เศรษฐกิจ, ข้อมูลข่าวสาร และเครื่องมือทางการทหาร ความขัดแย้งระดับต่ำนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนา แต่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงความมั่นคงและสันติสุขของโลก

๑ - ๑ ธรรมชาติของความขัดแย้งระดับต่ำ

ปัจจัย ๔ ประการ ของพลังอำนาจแห่งชาติ ได้เแก่ พลังอำนาจทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ, ทางระบบข่าวสารข้อมูล และทางทหารนั้น มีปัจจัยหลักที่เป็นตัวก่อให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าวคือ ด้านการเมือง เมื่อพิจารณาในแง่ของยุทธการ จะเห็นว่าความขัดแย้งระดับต่ำอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกันของการแข่งขันด้วยสันติวิธี, การขัดแย้ง และสงคราม วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการก็คือ การดำรงรักษา หรือการทำให้คืนสู่สภาวะของการแข่งขันด้วยสันติวิธี และก่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในโลกแห่งเสรี คู่มือเล่มนี้เน้นถึงภารกิจ และพันธกิจทางยุทธวิธีในระหว่างการปฏิบัติการ เพื่อยับยั้งการประกาศสงคราม

๑ - ๒ การพิจารณาสภาวะแวดล้อม

สภาวะแห่งความขัดแย้งระดับต่ำ เป็นผลพวงจากวัตถุประสงค์แห่งชาติในความตึงเครียดทางการเมือง พลังอำนาจทางการทหารนั้นเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเมือง, เศรษฐกิจ และระบบข่าวสารข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลังอำนาจของชาติ การปฏิบัติการทางทหารในสภาวะดังกล่าว จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางสังคมในภูมิภาค หรือพื้นที่ที่เกิดวิกฤติการณ์ ๑ - ๓ บทบาทของทหารในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ

การปฏิบัติการทางทหารในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จะปรับตัวไปตามลักษณะตามธรรมชาติของการใช้กำลังทหาร ทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อมคละเคล้ากันไป

ก. บทบาทของกองทัพบกในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จะถูกกำหนดไว้ในเอกสารคู่มือฝ่ายเสนาธิการร่วม ๓ - ๐๗ (JCS Pub ๓ - ๐๗) และ รส.๑๐๐ - ๒๐ (FM ๑๐๐ - ๒๐) โดยผู้นำประเทศกำหนดนโยบาย, ผบ.ทบ.จะเป็นผู้แปลงนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติทางยุทธการ และผู้บังคับหน่วยระดับรองลงไปจะเป็นผู้กำหนดวิธีการปฏิบัติในทางยุทธวิธี หน่วยจำเป็นต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุต่าง ๆ ไว้สำหรับการเคลื่อนกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ต่าง ๆ หลายพื้นที่ โดยเฉพาะการปฏิบัติทางยุทธวิธี ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสันติ หรือความขัดแย้งเข้าสู่สงคราม อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของการปฏิบัติ ก็คือ การป้องกันและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ โดยปราศจากสงคราม

ข. บทบาทของหน่วยระดับกรม และกองพัน ในระหว่างการปฏิบัติทางยุทธการนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทาย ไม่ว่าการใช้กำลังทหารจะถูกกำหนด หรือจำกัดอยู่ในวงแคบเท่าใด, หน่วยที่มีวินัยดีเยี่ยม มีกำลังที่ประกอบด้วยทักษะมีประสิทธิภาพ ปฏิบัติการด้วยความเข้าใจในเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาอย่างแท้จริง, จะสามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จในสภาวะแวดล้อมดังกล่าว

ค. ทหารจะต้องได้รับการฝึกให้สามารถปฏิบัติการได้ในทุกสภาพภูมิศาสตร์ และทุกเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นในป่า และภูเขา ในทะเลทราย หรือในเมือง สภาพภูมิประเทศต่าง ๆ และสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างสูงต่อการปฏิบัติการ นอกจากนี้ ภาษา, ความแตกต่างทางศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนสังคมจิตวิทยา ยังเป็นอีกหลาย ๆ สิ่งที่เป็นตัวเพิ่มระดับของความท้าทาย ค่านิยมพื้นฐาน และความเชื่อที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งสภาพ การเจริญเติบโตของชุมชน การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน

ย่อมทำให้ทหารต้องใช้การปฏิบัติการในตัวเมืองในทุกความขัดแย้งของมนุษยชาติ

ตอนที่ ๒

หลักการ

หลักนิยมการรบอากาศพื้นดิน เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้การปฏิบัติการทางทหารด้วยกำลังตามแบบบรรลุผลสำเร็จ เช่นเดียวกับการนำมาประยุกต์ใช้ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ การบรรลุความสำเร็จในภารกิจได้นั้น จำเป็นต้องใช้การวางแผนและการปฏิบัติการโดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้

๑ - ๔ การนำปัจจัยทางการเมืองเป็นข้อพิจารณาร่วม

วัตถุประสงค์ทางการเมือง ก่อให้เกิดการปฏิบัติการทางทหารในสงครามตามแบบ ในการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น วัตถุประสงค์ทางการเมืองจะผลักดันให้เกิดการตกลงใจทางทหารในทุกระดับ ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ จนถึงยุทธวิธี ผู้บังคับหน่วยและนายทหารฝ่ายอำนวยการทุกคน จะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ทางการเมืองดังกล่าว ตลอดจนผลของการปฏิบัติการทางทหารที่มีต่อวัตถุประสงค์นั้น ผบ.หน่วยและ ฝอ.จะต้องพิจารณาใช้หนทางปฏิบัติซึ่งชอบด้วยกฎหมาย และสามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ แม้ว่าหนทางปฏิบัตินั้นอาจไม่สอดคล้องกับหลักนิยมที่ใช้กันอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนและขั้นตอนกรรมวิธีการวิเคราะห์ภารกิจในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จึงต้องใช้ปัจจัย METT–T พิจารณาร่วมกับปัจจัยทางการเมืองด้วย

๑ - ๕ เอกภาพของการปฏิบัติ

ผู้นำทางทหารจะต้องใช้การบูรณาการ ทั้งปฏิบัติการทางทหารและการดำเนินงานของพลเรือน ทั้งของรัฐบาลฝ่ายเรา และของประเทศที่รับการสนับสนุนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกันในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ผู้วางแผนทางทหารจะต้องพิจารณาผลของการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นว่าสามารถก่อให้เกิดผลเชิงรุกทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยาได้ อย่างไร เอกภาพของการปฏิบัติจำเป็นต้องใช้การบูรณาการและประสานการปฏิบัติของหน่วยงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการปฏิบัติงาน ผบ.หน่วยทหารอาจต้องยอมรับหัวหน้าหน่วยงานพลเรือน หรืออาจต้องใช้ทรัพยากรของหน่วยงานดังกล่าวนั้น

๑ - ๖ ความสามารถในการปรับตัว

ความสามารถในการปรับตัว เป็นคุณสมบัติพิเศษในการเปลี่ยนหรือปรับโครงสร้างหรือกลวิธีในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์ภารกิจอย่างละเอียดถี่ถ้วน, การข่าวกรองที่สมบูรณ์ และความคุ้นเคยในประเทศนั้น ๆ ความสามารถในการปรับตัว เป็นคุณสมบัติที่สูงกว่าความอ่อนตัว หรือความคล่องตัว ซึ่งต้องใช้เทคนิควิธีการเช่นเดียวกันในสถานการณ์ที่หลากหลาย ความสำเร็จของการปฏิบัติการทางทหารในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของกำลังทหารแต่ละเหล่าทัพ, ซึ่งนอกเหนือไปจากการใช้วิธีการและรูปแบบการปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว ยังจะต้องพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกในแต่ละสถานการณ์

๑ - ๗ อำนาจอันชอบธรรม

อำนาจอันชอบธรรม คือการได้รับการยอมรับฉันทามติจากรัฐบาล ในการตัดสินใจใช้กำลัง หรือการได้รับฉันทามติจากกลุ่มหรือองค์การให้มีอำนาจตัดสินใจใช้กำลัง อำนาจอันชอบธรรมดังกล่าว มิใช่ทั้งสิ่งที่มีตัวตนที่จะกำหนดกะเกณฑ์เป็นปริมาณได้ง่าย ๆ การสำรวจประชามติก็ไม่สามารถกำหนด หรือสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจอันชอบธรรมได้เสมอไปทุกครั้ง อำนาจอันชอบธรรมมาจากแนวความคิดซึ่งกำหนดอำนาจแท้จริงและมีประสิทธิผล และใช้องค์การหลักอย่างถูกวัตถุประสงค์ ไม่มีกลุ่มองค์การ หรือกองกำลังใดที่จะสามารถสร้างอำนาจอันชอบธรรมด้วยตนเองได้ แต่จะสามารถก่อขึ้นและดำรงไว้ได้โดยการปฏิบัติขององค์การต่าง ๆ เหล่านั้น อำนาจอันชอบธรรมเป็นศูนย์กลางแห่งการกำหนดบทบาทของแต่ละกลุ่มที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนั้น ๆ

๑ - ๘ ความมุ่งมั่น

ความขัดแย้งในระดับต่ำ มักจะไม่ปรากฏจุดเริ่มต้นและจุดจบจากการปฏิบัติการอย่างแตกหักให้เห็นรูปของชัยชนะอย่างชัดเจน โดยธรรมชาติแล้วจะเป็นการต่อสู้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างยืดเยื้อ แม้กระทั่งการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงในบางครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะจบลงในเวลาอันสั้น แต่ก็ยังทิ้งเงื่อนไข หรือเป็นจุดเริ่มต้น ก่อปัญหาต่อเนื่องออกไปอีก ความมุ่งมั่นหรือทิฐิมานะนั้น ยากที่จะยุติลงได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดการปฏิบัติอย่างแตกหัก ทั้งนี้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อเลือกเวลาและสถานที่ที่จะปฏิบัติการ ความมุ่งมั่นช่วยให้ ผบ.หน่วยปฏิเสธการเลือกวิธีปฏิบัติที่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว โดยจะมุ่งเน้นที่ผลในระยะยาวแทน หลักการต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในยุทธการในความขัดแย้งทั้ง ๔ ลักษณะ (ดูตอนที่ ๓)

ตอนที่ ๓

ประเภทของการปฏิบัติการ

การปฏิบัติการทางทหารในความขัดแย้งระดับต่ำ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท ในตอน ที่ ๓ นี้ จะอธิบายถึงลักษณะต่าง ๆ ของประเภทการปฏิบัติการ และบทบาทของหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในแต่ละลักษณะ

๑ - ๙ การสนับสนุนกลุ่มกบฏ หรือการต่อต้านกบฏ

ผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงของประเทศเรา อาจขึ้นอยู่กับความสำเร็จของรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง หรืออาจขึ้นอยู่กับความสำเร็จของกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลนั้น หากเราจะสนับสนุนกลุ่มกบฏแล้ว วัตถุประสงค์ก็จะเป็นการล้มล้างรัฐบาลด้วยการบ่อนทำลายและการต่อสู้ด้วยอาวุธ หากเราจะสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ก็ต้องพยายามเอาชนะกลุ่มกบฏด้วยการใช้กำลังทหาร, กำลังกึ่งทหาร, การเมือง, การเศรษฐกิจ, สังคมจิตวิทยา และงานด้านกิจการพลเรือน (ดูบทที่ ๒)

๑ - ๑๐ การต่อสู้การก่อการร้าย

เป้าหมายของการต่อสู้การก่อการร้าย ก็คือการป้องกันสถานที่ตั้ง, หน่วย และกำลังพลให้พ้นจากภัยของการก่อการร้าย การต่อสู้การก่อการร้ายหมายรวมถึง การต่อต้านการก่อการร้าย และการปฏิบัติการตอบโต้การก่อการร้าย โดยใช้ยุทธการที่ต่อเนื่อง (ดูบทที่ ๓) แผนการปฏิบัติจะประกอบไปด้วย การประสานการปฏิบัติ ทั้งก่อน, ระหว่าง และหลังจากเกิดการก่อการร้าย

๑ - ๑๑ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ คือการปฏิบัติการทางทหารเพื่อดำรงรักษาสันติภาพ โดยผ่านความพยายามและงานทางด้านการทูต กองกำลังรักษาสันติภาพจะทำหน้าที่กำกับดูแลและช่วยเหลือในการเจรจาเพื่อให้กลุ่มคู่กรณีได้มีการตกลงรอมชอมกันได้ กองกำลังจะปฏิบัติการอย่างเคร่งครัดภายในขอบเขตของอำนาจตามกฎบัตร (TORs) โดยทั่วไปแล้ว กองกำลังรักษาสันติภาพจะถูกห้ามใช้กำลัง ยกเว้นในกรณีป้องกันตนเอง (ดูบทที่ ๔)

๑ - ๑๒ การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ

การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุนั้น ได้แก่ การปฏิบัติการในหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติ; การปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด; และการโจมตีทางพื้นดิน, ทะเล และอากาศ ภาพรวมของปฏิบัติการเหล่านี้ก็คือ การใช้กองกำลังเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการต่อปัญหาเฉพาะในวิกฤติการณ์ การปฏิบัติการนี้จะถูกระบุไว้ในระดับชาติ เป็นแผนป้องกันเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ (ดูรายละเอียดใน JCS Pub ๕ - ๐๒.๔) บ่อยครั้งที่การปฏิบัติการนี้ต้องเคลื่อนกำลังไปไกลจากฐานที่ตั้ง และจำเป็นต้องใช้การเจาะลึก และการจัดวางการติดต่อสื่อสารในระยะไกล เข้าไปในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุนี้ อาจจำเป็นต้องจำกัดการใช้กำลัง หรืออาจจะต้องปฏิบัติการรุนแรง (ดูบทที่ ๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น