ตอนที่ ๕
การปฏิบัติการทั่วไป
กำลังทหารของเราสามารถปฏิบัติภารกิจทั่วไป เพื่อสนับสนุนภารกิจการรบด้วยวิธีรุกและการรบด้วยวิธีรับ ในการต่อต้านการก่อความไม่สงบหรือการต่อต้านฝ่ายกบฏ ในขั้นใดก็ตามจากขั้นที่ ๑ ถึง ๓ ส่วนจะใช้ได้อย่างกว้างขวางเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางยุทธวิธี
๒ - ๒๐ การระวังป้องกันการเคลื่อนที่
ผบ.หน่วย จะวางแผนและดำเนินการเคลื่อนย้ายกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ โดยถือเป็นการเคลื่อนย้ายทางยุทธวิธี ทั้งนี้จะมุ่งเน้นมาตรการระวังป้องกันเป็นสำคัญ การจัดหน่วยหรือรูปขบวนการเคลื่อนย้าย ขึ้นอยู่กับประเภทของการเคลื่อนย้าย และเส้นทางที่ใช้ว่าจะเป็น ทางพื้นดิน, ทางอากาศหรือทางน้ำ
ก. มาตรการระวังป้องกันเหล่านี้ ได้แก่.-
(๑) การรักษาความลับในขณะวางแผนและออกคำสั่ง, การรักษาวินัยการใช้แสงและเสียงในระหว่างการเคลื่อนย้าย, รวมทั้งการกำหนดให้มีเส้นทางสำรองหลายเส้นทาง และตารางการเคลื่อนย้ายที่สามารถปรับเวลาได้
(๒) กำลังส่วนระวังป้องกันที่บรรจุมอบให้หน่วยพร้อมยุทโธปกรณ์ เพื่อปฏิบัติภารกิจสนับสนุน จะช่วยประกันความมั่นใจในเรื่องการระวังป้องกันอย่างมีประสิทธิผล ทั้งทางตรงหน้า, ทางปีก และด้านหลัง ในขณะทำการเคลื่อนย้ายหรือเมื่อหยุดหน่วย การระวังป้องกันรอบตัวอย่างมีประสิทธิผลนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในขณะเคลื่อนที่, โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามจุดหรือตำบลต่าง ๆ ที่เราได้รับข่าวสารข้อมูล และพิจารณาแล้วว่าล่อแหลมต่อการถูกซุ่มโจมตี
(๓) การประสานงานกับหน่วยสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด เพื่อประกันความมั่นใจในความเข้าใจของหน่วยสนับสนุนทางอากาศที่เข้ามาช่วยหน่วยทางภาคพื้นดิน ทั้งในด้านการเสริมมาตรการป้องกันตนและในด้านการสู้รบระยะใกล้ ความจำเป็นในเรื่องการรักษาความลับอาจทำให้ต้องใช้การระวังป้องกันจากทางอากาศแต่เนิ่น แต่ยังไม่หมายรวมถึงการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายทางอากาศ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณา
(๔) ส่วนยิงสนับสนุน ซึ่งมีหน้าที่ให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในระหว่างการเคลื่อนที่
(๕) การดำเนินกลยุทธ์เพื่อต่อต้านการซุ่มโจมตี ซึ่งรวมถึงแผนเผชิญเหตุสำหรับการปฏิบัติอย่างฉับพลัน เพื่อต่อต้านการซุ่มโจมตี และการใช้รูปขบวนการเคลื่อนที่ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ส่วนต่าง ๆ ภายในรูปขบวนสามารถดำเนินกลยุทธ์ต่อต้านกำลังของข้าศึกที่ซุ่มโจมตี
(๖) การติดต่อสื่อสารกับหน่วยสนับสนุน, กับหน่วยฝ่ายเดียวกันในทางข้าง และหน่วยเหนือ รวมถึงการถ่ายทอดการติดต่อสื่อสารทางอากาศ
(๗) ที่อยู่ของ ผบ.หน่วย ที่จะต้องเลือกไว้หลาย ๆ แห่ง, การติดต่อสื่อสารและอาวุธกลของหน่วยที่มีอยู่ในรูปขบวนการเคลื่อนที่
(๘) คำถามที่จะต้องสอบถามพลเรือนในพื้นที่ตามเส้นทางการเคลื่อนย้าย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ที่ฝ่ายกบฏน่าจะใช้เป็นพื้นที่ซุ่มโจมตี
(๙) การเคลื่อนที่ด้วยเทคนิคการเฝ้าตรวจสลับการเคลื่อนที่
(๑๐) การใช้ชุดสุนัขทหาร และเครื่องมือตรวจค้นและพิสูจน์ทราบการซุ่มโจมตี
ข. การวางแผนร่วมกันและการประสานแผนการเคลื่อนย้ายกับหน่วยทหาร ตามเส้นทางการเคลื่อนที่และข้อพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้
(๑) การติดต่อสื่อสาร เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จของการเคลื่อนย้าย ผบ.หน่วยจะวางแผนการใช้วิทยุ และมั่นใจในยานพาหนะที่ใช้บรรทุกในขบวนกับหน่วยการเดิน,
พร้อมทั้ง ผตน.ป.สนาม และผู้ควบคุมอากาศยานหน้า, ร่วมกับหน่วยและศูนย์กลางของชุมชนในพื้นที่ตามเส้นทางการเคลื่อนย้าย ทัศนสัญญาณและเสียงสัญญาณได้ถูกเตรียมการไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว สัญญาณเหล่านี้ ได้แก่ ควันสี, ป้ายบอกนามหน่วย และสัญญาณนกหวีด หรือสัญญาจากแตร ในขณะที่จำกัดการใช้สัญญาณบางประเภทนั้น เครื่องมือการสื่อสารบางชนิดจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการเตรียมการและซักซ้อมทำความเข้าใจกันมาเป็นอย่างดี
(๒) การสนับสนุนด้วยปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิด หน่วยอาจพิจารณาใช้การยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิด ซึ่งสามารถคุ้มครองการเคลื่อนที่ตามเส้นทางที่ได้พิจารณาไว้ การเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องได้รับการสมทบ ผตน.ป. และ ค.ไปกับหน่วย หรืออาจได้รับการสนับสนุนการตรวจการณ์และปรับการยิงจากอากาศยาน ทบ. แผนที่แสดงแนวขั้นการเคลื่อนที่พร้อมกับเป้าหมายที่ได้วางแผนเลือกไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้กำลังพล (นอกเหนือจาก ผตน.) สามารถร้องขอการยิงสนับสนุนได้ การประสานงานกับ ศอย. ซึ่งรับผิดชอบการยิงสนับสนุนตามเส้นทางการเคลื่อนที่ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ผตน.สามารถติดต่อกับข่ายการสื่อสารของ ศอย., ส่งรายงานที่ตั้งตาม รปจ., รวมทั้งร้องขอและปรับการยิงได้ ผบ.หน่วยจะต้องประสานการปฏิบัติเพื่อให้ทราบถึง นามเรียกขาน, ความถี่, ระยะของการติดต่อสื่อสาร, พื้นที่ที่คาดว่าจะใช้การยิงสนับสนุน, ตารางการเคลื่อนย้าย และหมายเลขเป้าหมาย
(๓) อากาศยาน ประวัติศาสตร์การรบ ชี้ชัดว่าการปรากฏตัวของอากาศยาน จะเป็นสิ่งขัดขวางความพยายามในการซุ่มโจมตี ในการเคลื่อนย้ายจึงอาจจำเป็นต้องใช้รูปขบวนแถวตอน สนับสนุนด้วยการเฝ้าตรวจ หรือการเฝ้าตรวจสลับการเคลื่อนที่ จากเฮลิคอปเตอร์โจมตี ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับข่ายเส้นทาง, ชุมทางถนน และการลาดตระเวนเส้นทางจากเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวน หรือการใช้อากาศยานปีกติดลำตัวโจมตี การวางแผนจะต้องระบุ ชนิด, จำนวน และวิธีการใช้อากาศยาน ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองรูปขบวน, การเตรียมพร้อมทางอากาศ และการเตรียมพร้อมทางพื้นดิน การคุ้มกันขบวนการเคลื่อนย้ายด้วยเครื่องบินรบนั้น จะมีความสิ้นเปลืองสูง และก่อให้เกิดความเหนื่อยล้ากับนักบินหรือพลประจำอากาศยาน รวมทั้งการใช้เวลาในการปรนนิบัติบำรุงและการซ่อมบำรุงจะมีมากขึ้น ดังนั้น จึงควรพิจารณาใช้เครื่องบินลาดตระเวนที่มีขนาดเบา ซึ่งมีขีดความสามารถในการติดต่อหรือเรียกให้เครื่องบินรบเข้ามาปฏิบัติงานในช่วงเวลาสั้น ๆ ในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ได้ เมื่อได้มีการวางแผนใช้การสนับสนุนจากอากาศยาน จะต้องพิจารณาให้ได้คำตอบในเรื่อง การติดต่อสื่อสาร, ข้อมูลเกี่ยวกับความถี่ของวิทยุ, นามเรียกขานและกรรมวิธีขั้นตอนต่าง ๆ ที่หน่วยจำเป็นจะต้องใช้ ในขณะเดียวกัน หน่วยบินจะต้องมีความเข้าใจความต้องการของหน่วยภาคพื้นดิน หากมีการซุ่มโจมตีเกิดขึ้น
(๔) การตรวจเส้นทาง การปฏิบัตินี้จะต้องดำเนินการก่อนที่จะเริ่มการเคลื่อนย้าย การปฏิบัติการตรวจค้นตามเส้นทาง ใช้วิธีการเช่นเดียวกับการลาดตระเวน และมีปัจจัยพิจารณาคือ METT-T ตามปกติแล้ว หน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ตามเส้นทางการเคลื่อนย้ายผ่าน จะถูกใช้ในการตรวจค้นเส้นทาง กำลังทหารเหล่านี้จะประกอบด้วย ส่วนที่ลาดตระเวนด้วยยานพาหนะ และส่วนลาดตระเวนด้วยการเดินเท้า หน่วยจะวางกำลังทางยุทธวิธีไว้ เพื่อยึดรักษาภูมิประเทศสำคัญยิ่งตามเส้นทางการเคลื่อนย้ายหลัก ทหารช่างที่ร่วมไปกับส่วนลาดตระเวน จะพิสูจน์ทราบและดำเนินการให้เส้นทางมีความสะดวก และใช้งานได้อย่างคล่องตัว ทั้งนี้หมายรวมถึง การตรวจค้นทุ่นระเบิด กับระเบิด การซ่อมแซมสะพาน, การเตรียมท่าข้ามและเส้นทางอ้อมผ่าน ตลอดจนการซ่อมแซมเส้นทาง
(๕) กองหนุน (หน่วยเตรียมพร้อม) มีความสำคัญยิ่งสำหรับการต่อต้านการซุ่มโจมตี อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกบฏจะต้องพยายามหาหนทางเอาชนะโดยใช้ปฏิบัติการซุ่มโจมตีอย่างรวดเร็ว รุนแรง ไร้ความปราณี และยากแก่การตอบโต้จากกำลังสนับสนุนของฝ่ายปราบปราม กองหนุนอาจต้องใช้การโจมตีทางอากาศ และการไล่ติดตามทางพื้นดิน ก่อนการเคลื่อนย้าย ผบ.หน่วยกองหนุนและนักบินจะต้องได้รับฟังคำบรรยายสรุปชี้แจงเกี่ยวกับพื้นที่ปฏิบัติการทั่ว ๆ ไป, เขตบินลง และที่ตั้งที่สงสัยและคาดว่าจะเป็นที่วางกำลังของฝ่ายกบฏ การบรรยายสรุปจะเน้นเรื่อง การติดต่อสื่อสาร กองหนุนอาจจำเป็นต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการได้อย่างรวดเร็ว หากขบวนยานยนต์ต้องเคลื่อนที่เป็นระยะทางไกล
๒ - ๒๑ การเคลื่อนย้ายด้วยยานยนต์
หน่วยที่มาสมทบเพื่อทำการระวังป้องกัน อาจปฏิบัติภารกิจได้ไม่ทั่วถึงสำหรับการเคลื่อนย้ายด้วยยานยนต์ ดังนั้น ผบ.หน่วยจึงต้องเตรียมให้ขบวนยานยนต์สามารถระวังป้องกันตนเองได้เป็นบางส่วน หรือได้ตลอดทั้งเส้นทาง
ก. เมื่อ ผบ.หน่วย ได้กำหนดมอบภารกิจให้กับหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในการคุ้มกันขบวนยานยนต์แล้ว ส่วนต่าง ๆ ของหน่วยจะดำเนินการเพื่อคุ้มกันในพื้นที่รับผิดชอบของตน หน่วยยานเกราะและทหารม้ายานเกราะ เป็นหน่วยที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการคุ้มกันขบวน การลาดตระเวนเส้นทางก่อนที่ขบวนยานยนต์จะเคลื่อนที่ผ่านเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หน่วยเพียงหน่วยเดียวอาจดำเนินการให้การคุ้มกันภายในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยอื่นได้ในบางโอกาส ดังนั้นการประสานการปฏิบัติร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการยิงสนับสนุนอย่างเพียงพอ และมีการเพิ่มเติมกำลังได้ตามความต้องการในระหว่างการเคลื่อนที่ผ่าน เนื่องจากความจำกัดด้วยปัจจัยเวลาที่จะใช้ในการแจกจ่ายคำสั่งระหว่างการซุ่มโจมตี, ผบ.หน่วยจะวางแผนการใช้หน่วยระวังป้องกันเพื่อปฏิบัติภารกิจ และให้เวลาซักซ้อมโดยใช้แบบฝึกทำการรบเป็นต้นแบบหรือแนวทาง
ข. การมอบความรับผิดชอบของ ผบ.ขบวนยานยนต์ จะดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในรูปของสายการบังคับบัญชา (รูปที่ ๒-๑) ผบ.หน่วยและหน่วยรองจะได้รับการบรรยายสรุปชี้แจงข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะเคลื่อนที่ผ่าน ผบ.หน่วยจะออกคำสั่งและแจกจ่ายพร้อมกับการกำหนดรูปขบวน, ระยะต่อระหว่างระลอกและยานพาหนะ, ความเร็วในการเดินทาง และรายละเอียดของแผนการปฏิบัติหากฝ่ายกบฏเข้าโจมตีขบวน กำลังทั้งหมดจะลงจากรถที่เข้าจอดในรูปขบวนตามที่ได้รับการฝึกมา เตรียมอาวุธและกระสุนให้พร้อมปฏิบัติการได้ในทันทีทันใด ผบ.รถหรือ ผบ.ยานพาหนะจะรับผิดชอบในกำลังพลทุกคนในรถให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม
ค. หน่วยต้องดำเนินการเสริมยานพาหนะให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากทุ่นระเบิด โดยใช้กระสอบทรายปูวางบนพื้นและด้านข้างของรถ รวมทั้งการใช้แผ่นยางที่มีน้ำหนักวาง ทับบนกระสอบทรายอีกชั้นหนึ่ง เพื่อลดอันตรายจากเศษโลหะที่แตกกระจาย
๒ - ๒๒ การเคลื่อนย้ายทางรถไฟ
ภารกิจประการแรกของเจ้าหน้าที่การรถไฟ และกำลังพลของหน่วยรบ และหน่วยระวังป้องกันก็คือ การประกันให้มั่นใจว่ารถไฟจะเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง
ก. แนวความคิด ในขณะที่รถไฟกำลังเคลื่อนที่นั้น การควบคุมการเคลื่อนย้ายเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การรถไฟ แต่ถ้าหากเกิดการซุ่มโจมตีและการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธยิงแล้ว รถไฟไม่สามารถเคลื่อนที่หลบด้วยการเดินหน้าหรือถอยหลังได้ ชุดระวังป้องกันจะเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยใช้กำลังพลเท่าที่มีอยู่ทำการป้องกันรถไฟ หากไม่มีชุดระวังป้องกัน, ทหารที่อาวุโสมากที่สุดที่อยู่บนรถ จะทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา วิทยุจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขอความช่วยเหลือ ชุดระวังป้องกันจะมีระบบการติดต่อสื่อสารของตนเอง ซึ่งอาจเชื่อมต่อเข้ากับระบบการติดต่อสื่อสารของการรถไฟ
ข. การจัด สถานที่ทำการรถไฟและทางรถไฟจะถูกระวังป้องกัน โดยใช้การกำหนดพื้นที่แบ่งมอบความรับผิดชอบกองบัญชาการระดับสูงสุดจะทำหน้าที่ออก รปจ.และการจัดหน่วยสำหรับการเคลื่อนย้ายทางรถไฟ ผบ.หน่วยจะประสานการระวังป้องกันกับ ผบ.หน่วยทางยุทธวิธี ในพื้นที่ซึ่งให้การสนับสนุน
ค. การปฏิบัติการ ผบ.หน่วยจะใช้ขบวนรถหุ้มเกราะในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจทางรถไฟ ตรงบริเวณที่คาดว่าข้าศึกน่าจะทำการซุ่มโจมตี กำลังพลเหล่านี้จะปฏิบัติการทางยุทธวิธีภายใต้การบังคับบัญชาอย่างเหมาะสมของ ผบ.หน่วยทหาร เนื่องจากการปฏิบัติการของขบวนรถหุ้มเกราะมีความแตกต่างจากขบวนรถไฟธรรมดา ในการเคลื่อนย้ายทางทหารด้วยรถไฟ จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่รถไฟที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษ และผ่านการคัดเลือกมาแล้ว เจ้าหน้าที่รถไฟเหล่านี้จะประสานการเคลื่อนย้ายทางรถไฟกับรถไฟขบวนอื่น ๆ โดยใช้ข้อพิจารณาจากสถานการณ์ทางยุทธวิธี ตู้รถไฟธรรมดาสามารถดัดแปลงให้เหมาะสำหรับการป้องกัน โดยใช้กระสอบทรายวางกองบนพื้นและทางด้านข้าง พร้อมทั้งติดตั้งปืนกล, เครื่องยิงลูกระเบิด และเครื่องยิงจรวด ตู้รถไฟดังกล่าวนี้จะต้องไม่พ่วงต่อกับตู้รถไฟที่บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง, กระสุน หรือวัตถุไวไฟอื่น ๆ ขบวนรถดังกล่าวควรจะมีการระวังป้องกันโดยใช้ขบวนรถล่วงหน้าซึ่งประกอบด้วยตู้รถไฟ ๒ ตู้ หรือมากกว่า บรรทุกอุปกรณ์ป้องกัน คือ กระสอบทราย, หิน หรือเศษวัสดุอื่น ๆ ที่ให้การป้องกันทุ่นระเบิด หรือเครื่องกีดขวางอื่น ๆ ใน เส้นทางรถไฟรางเดี่ยวซึ่งล่อแหลมต่อการโจมตีของฝ่ายกบฏ ผบ.หน่วยจะใช้วิธีการปฏิบัติแบบการกำหนดจุดสกัด วิธีการนี้ ขบวนรถไฟดังกล่าวจะไม่สามารถผ่านจุดสกัดไปได้ จนกว่าขบวนรถล่วงหน้าจะได้ตรวจค้นเส้นทางรถไฟแล้ว และถ้าหากขบวนรถไฟที่อยู่ภายในระยะทางระหว่างจุดสกัดถูกโจมตี ก็จะใช้กำลังเข้าทำการช่วยเหลือจากทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
๒ - ๒๓ การเคลื่อนย้ายทางน้ำและการปฏิบัติการลำน้ำ
ผบ.หน่วยอาจต้องนำหน่วยเข้าปฏิบัติการปราบปรามฝ่ายกบฏในพื้นที่ที่ใช้การสัญจรทางน้ำ (ทะเลสาบ, ชายฝั่ง, พื้นที่ลุ่มที่น้ำท่วมถึง และเส้นทางน้ำภายในประเทศ) ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยชุมชน และมีข่ายถนนหรือทางรถไฟจำกัด ขีดความสามารถของกองกำลังฝ่ายปราบปรามที่จะปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สำเร็จภารกิจได้ (ดูรายละเอียดใน รส.๓๑ - ๑๑ และ รส.๓๑ - ๑๒ การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก)
ก. ภารกิจและแนวความคิด กำลังพลอาจใช้เรือสำหรับปฏิบัติภารกิจทางยุทธวิธี และกิจในเรื่องการส่งกำลังบำรุง การวางแผนสำหรับการเคลื่อนย้ายกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ทางเรือ คงเป็นเช่นเดียวกับการเคลื่อนย้ายด้วยยานพาหนะทางบก; อย่างไรก็ตาม จะต้องนำคุณลักษณะเฉพาะของการขนส่งทางเรือมาพิจารณาประกอบด้วย กองกำลังปราบปรามฝ่ายกบฏ อาจทำการรบปะทะในการปฏิบัติการตามลำน้ำร่วมกับกำลังทหารทางบก,กำลังทางเรือ,กำลังกึ่งทหารของประเทศเจ้าบ้าน,กำลังที่ปฏิบัติการทางเรือและกำลังกองทัพเรือของฝ่ายเรา
ข. การจัด เมื่อใช้การเคลื่อนย้ายหน่วยดำเนินกลยุทธ์ตามลำน้ำ จำเป็นต้องใช้รูปขบวนการเคลื่อนย้ายในลักษณะที่คล้ายคลึงกับขบวนยานยนต์ทางพื้นดิน กองระวังหน้าและกองระวังหลังจะถูกจัดบรรทุกบนเรือ ส่วนลาดตระเวนทางเรืออาจจัดไว้เพื่อการระวังป้องกันทางปีก โดยใช้เส้นทางน้ำที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรืออาจใช้การลาดตระเวนระวังป้องกันด้วยการเดินเท้าบนแนวฝั่งก็ได้ ความแตกต่างจากการเคลื่อนย้ายด้วยขบวนยานยนต์ก็คือ การเคลื่อนย้ายทางน้ำอาจไม่ใช้รูปขบวนแถวตอนเสมอไป รูปขบวนที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเคลื่อนย้าย, ความเข้มแข็งของกำลังทหารฝ่ายเดียวกัน และความกว้างของลำน้ำ ซึ่งคงมีลักษณะในการพิจารณาใช้เช่นเดียวกับรูปขบวนทำการรบบนพื้นดิน ซึ่งได้แก่ การควบคุม, การระวังป้องกัน, ความอ่อนตัว, ความเร็วของการปฏิบัติการตอบโต้, การตรวจการณ์ และพื้นการยิง
ค. การปฏิบัติ เส้นทางน้ำย่อมมีการปกปิดกำลังและการซ่อนพรางค่อนข้างน้อย เรือซึ่งใช้กำลังเครื่องยนต์ขับเคลื่อนก็มีเสียงดังและดึงดูดความสนใจ อีกทั้งยังถูกตรวจการณ์พบและถูกยิงได้ง่ายในเวลากลางวัน ข้อเสียเปรียบนี้อาจถูกทำให้ลดลงได้โดยใช้การเคลื่อนย้ายในเวลากลางคืน และใช้วิธีการเคลื่อนที่ชิดกับแนวฝั่ง เพื่ออาศัยร่มเงาและใช้การซ่อนพรางจากกิ่งไม้หรือพุ่มไม้ที่อยู่ระดับสูงเหนือศีรษะ เรือจะต้องแล่นเข้าสู่ฝั่งเพื่อขนย้ายสิ่งที่บรรทุกลงจากเรือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาที่จะปฏิบัติการตอบโต้ หากเกิดการซุ่มโจมตี อาวุธประจำหน่วยที่บรรทุกมากับเรือ จะต้องติดตั้งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา เพื่อใช้ยิงตอบโต้การซุ่มโจมตี
(๑) การปฏิบัติการเคลื่อนย้ายขึ้นบก อาจกระทำได้ยากลำบาก เนื่องจากสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยของชายฝั่งหรือตลิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม กำลังที่บรรทุกเรือจะต้องได้รับมอบที่ตั้งยิงในขณะที่อยู่บนเรือ เพื่อตอบโต้การซุ่มโจมตี หน่วยขนส่งควรจะพิจารณาจัดอาวุธประจำหน่วยติดตั้งไว้บนเรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อใช้ทำการยิงข้าศึกบนฝั่งใกล้หรือทั้งสองฝั่งของลำน้ำ
(๒)กองกำลังปราบปรามฝ่ายกบฏสามารถริเริ่มการผสมผสานกันระหว่างยุทธวิธีการสกัดกั้น, การโจมตี และการทำฉากกำบัง โดยใช้ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ของกำลังทางเรือ (หน่วยปฏิบัติการโจมตีทางน้ำ) และหน่วยเคลื่อนที่โจมตีทางอากาศ การปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยกำลังทางภาคพื้นดินที่เคลื่อนที่ตามแนวชายฝั่ง และหน่วยปฏิบัติการยิงสนับสนุนทางเรือ และปืนใหญ่ลำน้ำ จะก่อให้เกิดผลสำเร็จในการปฏิบัติการต่อต้านฝ่ายกบฏในพื้นที่ลำน้ำนั้น
(๓) เวลาที่ใช้ในการวางแผนจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยที่มาประกอบกำลัง การวางแผนควรจะลงในรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวยให้, แต่ก็จำเป็นที่จะต้องใช้การปฏิบัติการตอบโต้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวกรองที่ทันเวลา การวางแผนจะประกอบด้วย.-
(ก) การพยายามลดเวลาที่ฟุ่มเฟือยในการวางแผน โดยใช้ รปจ. เข้ามาแทนที่ เช่น การขึ้นบรรทุกเรือและการลงจากเรือ ตลอดจนการกำหนดยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
(ข) การสนธิและประสานแผนการปฏิบัติเข้ากับแผนของกำลังทหารพันธมิตร, กำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน และหน่วยงานพลเรือน
(ค) สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อใช้ในการควบคุมบังคับบัญชาสำหรับหน่วยบัญชาการรวม และการประสานการยิงสนับสนุน รวมทั้งการสนับสนุนในเรื่องอื่น ๆ
(ง) ลดเวลาการซักซ้อมในเรื่องที่มักจะปฏิบัติเป็นประจำ,ลดกิจที่จะต้องปฏิบัติที่กำหนดไว้แล้วใน รปจ, ลดจำนวนยุทโธปกรณ์และความต้องการในการส่งกำลังบำรุง
(จ) แสวงหาข่าวกรองข้อมูลในรายละเอียดจากพลเมืองในท้องถิ่นและตำรวจ
(ฉ) แสวงหาข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับคลื่น และกระแสน้ำในชั่วโมงของการปฏิบัติการ, สภาพชายหาด และเงื่อนไขเกี่ยวกับชายฝั่งและเส้นทางถนนที่เข้ามายังชายฝั่ง
(ช) แสวงหาข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ทุ่นระเบิดทางน้ำของฝ่ายกบฏ
(ซ) วิเคราะห์เส้นทางเคลื่อนย้ายเพื่อกำหนดความเป็นไปได้ในการใช้ทุ่นระเบิดทางน้ำ พื้นที่ที่เหมาะจะใช้ทุ่นระเบิดทางน้ำก็คือ เส้นทางคับขัน, เส้นทางโค้งในลำน้ำ ซึ่งมีผลให้เรือต้องเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางบังคับ
(ด) การปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดในลำน้ำ
๒ - ๒๔ การเคลื่อนย้ายด้วยการเดินเท้า
แผนของหน่วยทหารขนาดเล็ก และการปฏิบัติการด้วยการเดินเท้า จะเป็นไปตามหลักการของการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ แต่ในหน่วยที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น ก็จะนำหลักการเคลื่อนที่เข้าปะทะมาประยุกต์ใช้ (ดูรายละเอียดใน รส.๗-๘, ๗–๑๐, ๗–๒๐ และ ๒๑–๑๘)
๒ - ๒๕ การเคลื่อนย้ายทางอากาศ
การเคลื่อนย้ายหน่วยทางอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการยุทธ์เพื่อปราบปรามฝ่ายกบฏ หลักการระวังป้องกันการเคลื่อนย้ายดังกล่าวจะปรากฏอยู่ใน รส.๗–๑๐, ๗–๒๐ และ ๙๐-๔ กองกำลังของฝ่ายปราบปรามจะมีความล่อแหลมเป็นอย่างมากในระหว่างการเคลื่อนย้ายทางอากาศ ทั้งนี้เนื่องจากหลักนิยมทางทหารของประเทศในโลกที่สาม ได้เน้นความสำคัญในเรื่อง อาวุธต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่ายิง เป็นอย่างมาก
๒ - ๒๖ การปฏิบัติการตามแนวชายแดน
การปฏิบัติการเพื่อควบคุมแนวชายแดน ตามปกติแล้ว จะเป็นภารกิจของหน่วยงานรักษาความมั่นคงของพลเรือน อย่างไรก็ตาม หน่วยทหารระดับกรมก็อาจเข้าร่วมในการปฏิบัติได้ในลักษณะของการช่วยเสริม หรืออาจเข้ารับผิดชอบภารกิจการลาดตระเวนและควบคุมการปฏิบัติตามแนวชายแดน กรมที่เข้าปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุกอาจจำเป็นต้องเข้าร่วมในการปฏิบัติเพื่อควบคุมแนวชายแดนในบางโอกาสขอบเขตและความจำเป็นในด้านการรบที่มีต่อการควบคุมแนวชายแดนอาจทำให้การปฏิบัติการมุ่งเน้นไปในด้านยุทธวิธีมากกว่าปัญหาความมั่นคงทางด้านพลเรือน กรมอาจจำเป็นต้องเข้าปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะของการควบคุมแนวชายแดน
ก. วัตถุประสงค์ การปฏิบัติการควบคุมแนวชายแดน ต้องการมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิผล เพื่อการรักษาความปลอดภัยแนวเขตแดนทางบกที่มีระยะทางยาวไกล หรือพื้นที่ตามชายฝั่งทะเล มาตรการดังกล่าวอาจหมายรวมถึง การป้องกันทางการติดต่อสื่อสารและการส่งกำลังเพิ่มเติม (ทางอากาศ) ระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนภายนอกและกำลังของฝ่ายกบฏ
(๑) แนวความคิด ในขั้นที่ ๑ ของการก่อความไม่สงบ หรือการก่อการกบฏนั้น การปฏิบัติตามแนวชายแดนของฝ่ายปราบปรามจะเป็นไปในลักษณะการปฏิบัติของตำรวจ, ศุลกากรและหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ ของรัฐบาล กองกำลังติดอาวุธและกำลังกึ่งทหาร อาจเข้าร่วมช่วยเหลือในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ควบคุม ส่วนในขั้นที่ ๒ และ ๓ การขัดขวางการสนับสนุนฝ่ายกบฏจากภายนอก อาจจำเป็นต้องใช้การสู้รบในพื้นที่ตามแนวชายแดน การปฏิบัติการเหล่านี้ต้องการการประสานงาน และการประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดในระหว่างกำลังของเหล่าทัพ และกำลังกึ่งทหาร กับหน่วยงานของรัฐบาลทั้งหมดที่เข้าร่วม การป้องกันตามแนวชายแดนโดยตลอดทั้งหมดนั้น อาจเป็นไปไม่ได้, ทั้งนี้เนื่องจากต้องใช้กำลังของรัฐบาลจำนวนมาก รวมทั้งทรัพยากรและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกมากมาย การใช้กำลังหรือหน่วยปฏิบัติการและการฉากขัดขวางตามช่องทาง หรือเส้นทางเข้าออกทั้งหมดเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้, ผบ.หน่วยจึงจำเป็นต้องใช้การพิจารณากำหนดความสำคัญและเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาใช้เครื่องกีดขวางตามธรรมชาติให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผบ.หน่วยจะกำหนดการปฏิบัติการขัดขวางและการใช้เครื่องกีดขวาง หลังจากที่ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ, สิ่งแวดล้อม และที่ตั้งเป้าหมายของการแทรกซึมที่น่าจะเป็นไปได้ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติ
(๒) การจัดกำลังป้องกันตามแนวชายแดน อาจใช้การประกอบกำลังจาก ตชด. หรือ อส. ทั้งอาจรวมถึงกำลังกึ่งทหาร และกำลังทหารตามแบบ โดยมีการสนับสนุนหรือรับผิดชอบโดยตรงจากคณะกรรมการร่วมระหว่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาตามแนวชายแดน
(๓) การบังคับบัญชาและการควบคุม การปฏิบัติการตามแนวชายแดนจะได้รับการวางแผนและอำนวยการปฏิบัติจากหน่วยงานระดับชาติ อาจมีการมอบอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานรองหรือหัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่น ๆ ในพื้นที่
(๔) โครงสร้างของหน่วย หน่วยงานเฉพาะกิจตามแนวชายแดนจะถูกออกแบบให้สามารถปฏิบัติงานและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบได้ ทั้งนี้ควรจะประกอบด้วย ส่วนสนับสนุนการรบ และส่วนสนับสนุนการช่วยรบ เพื่อให้การสนับสนุนในระยะยาว หน่วยทหารม้าลาดตระเวนถือเป็นหน่วยที่ถูกออกแบบมาได้อย่างเหมาะสมกับภารกิจนี้ เนื่องจากมีการผสมผสานกันเป็นอย่างดีระหว่างหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและทางภาคพื้นดิน ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้กำลังเพิ่มเติมจากหน่วยทหารราบเพื่อปฏิบัติการในภูมิประเทศปิด
ข. การเฝ้าตรวจ การเฝ้าตรวจอย่างละเอียดและต่อเนื่องเป็นเรื่องจำเป็น ผบ.หน่วยควรพิจารณาเส้นทางแทรกซึมเข้าและออก และพื้นที่การสนับสนุน ความถี่และปริมาณการจราจร, ประเภทของการขนส่ง, ชนิดและจำนวนกำลังพล, ปริมาณและประเภทของวัสดุสิ่งอุปกรณ์, สภาพภูมิประเทศและการจราจร และที่ตั้งที่น่าจะใช้เป็นฐานปฏิบัติการและพื้นที่อพยพ
(๑) การเฝ้าตรวจและการควบคุมพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล จำเป็นต้องใช้การประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยลาดตระเวนทางพื้นดินและหน่วยลาดตระเวนชายฝั่ง, การประสานงานกับเรือยามฝั่ง, การลาดตระเวนทางอากาศ และระบบการพิสูจน์ฝ่ายยานพาหนะทางน้ำ ทั้งที่เป็นของทหารและของพลเรือน
(๒) เขตแดนที่ได้มีการปักปันกันไว้แล้วอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล อาจจัดไว้ให้เป็นความรับผิดชอบในการเฝ้าตรวจอย่างมีประสิทธิผล และควบคุมการปฏิบัติโดยใช้ยามรักษาการณ์ประจำที่, กำลังกองหนุน, ผู้ตรวจการณ์หน้าทางภาคพื้นดินและทางอากาศ รวมทั้งหน่วยลาดตระเวน อย่างไรก็ตาม การเฝ้าตรวจและการควบคุมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตามแนวชายแดนทางบกและชายฝั่งทะเลนั้นมีความเป็นไปได้ยาก และด้วยเหตุผลที่ว่าการนำกำลังทหารภายในกรมไปวางไว้ตามช่องทาง และตำบลสำคัญทุกแห่งนั้น ไม่สามารถกระทำได้ ผบ.หน่วยจึงต้องจัดลำดับความเร่งด่วนและความสำคัญให้กับแต่ละพื้นที่หรือแต่ละตำบล ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร
ค. การปฏิบัติการทางทหาร หน่วยปฏิบัติงานชายแดนจัดตั้งฐานสนับสนุนการปฏิบัติการให้กับหน่วยระดับกองพันและกองร้อย เพื่ออำนวยการกำกับดูแลการปฏิบัติ ส่วนกำลังของหน่วยบินทหารบก, หน่วยทหารสื่อสาร, หน่วยทหารช่าง และหน่วยยิงสนับสนุนนั้น เป็นส่วนที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมตามปกติ กำลังส่วนที่กล่าวมาแล้วจะถูกนำมาจัดแบบรวมการไว้ที่ฐานสนับสนุนการปฏิบัติการ หากไม่จัดแยกไปสมทบให้กับหน่วยรองหลักในอัตรา
ง. วิธีการควบคุมแนวชายแดน มีแนวความคิดทางยุทธการสำหรับการควบคุมแนวชายแดนที่มีระยะทางยาวอยู่ ๒ วิธี คือการกำหนดพื้นที่เขตหวงห้าม และเขตกันชนโดยใช้ประชากรพันธมิตร
(๑) พื้นที่เขตหวงห้าม ผบ.หน่วยควรจะใช้วิธีการนี้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์จำเป็นเท่านั้น การปฏิบัติการอาจส่งผลให้เกิดความหายนะต่อความพยายามในการดำเนินการเรื่องการป้องกันและพัฒนาภายใน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การลงมือปฏิบัติการในแนวความคิดนี้จะใช้การประกาศพื้นที่ที่กำหนดความกว้างเป็นแนวขนานตลอดแนวชายแดนเป็นพื้นที่เขตหวงห้าม
(ก) ผบ.หน่วยจะแจกจ่ายประกาศเตือน หรือแจ้งความไปให้ประชากรในพื้นที่ได้ทราบทั่วกันว่า หากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดได้ผ่านเข้าไปในพื้นที่เขตหวงห้าม และถูกตรวจจับได้ จะเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหรือกลุ่มกบฏ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องเป็นกำลังกึ่งทหาร หรือกำลังของหน่วยอื่นที่มีการจัดในลักษณะคล้ายคลึงกัน พื้นที่เขตหวงห้ามจะเป็นพื้นที่ค่อนข้างโล่ง ปราศจากพืชพันธุ์ไม้ที่รกทึบและไม่มีเครื่องกีดขวางอื่น ๆ ที่กำบังสายตาหรือการตรวจการณ์ อาจพิจารณาใช้เครื่องมือกลในการถากถางพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย และหากได้รับอนุมัติให้ใช้สารเคมีในการโปรยหว่านให้ต้นไม้ตาย ก็ดำเนินการได้ แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้เท่านั้น
(ข) เนื่องจากการกำหนดและดำเนินการให้พื้นที่เขตหวงห้ามเป็นเขตปลอดการเคลื่อนไหวได้ตลอดแนวชายแดนทั้งหมดนั้น ไม่อาจทำได้พร้อมกันในคราวเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดความสำคัญและความเร่งด่วนในการกำหนดพื้นที่เขตหวงห้าม การควบคุมพื้นที่เขตหวงห้ามดำเนินการได้โดยการตรวจการณ์ทางพื้นดินและทางอากาศ, เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการเฝ้าตรวจ, ชุดลาดตระเวน, ทุ่นระเบิดและเครื่องกีดขวาง การปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้สามารถปฏิบัติการได้ดีที่สุดด้วยกำลังตำรวจและกำลังกึ่งทหารของประเทศเจ้าบ้าน ทั้งนี้จะเอื้ออำนวยให้สามารถนำกำลังรบไปใช้ในการปฏิบัติทางยุทธวิธีได้เต็มที่
(๒) เขตกันชนโดยใช้ประชากรพันธมิตร การดำเนินการลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบประชากรในพื้นที่เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าพลเรือนแต่ละครอบครัวนั้นเป็นฝ่ายเดียวกัน และให้การสนับสนุนรัฐบาล การจัดระเบียบดังกล่าวจะมีงานย่อย ๆ กล่าวคือ การตรวจสอบและพิสูจน์ทราบบุคคลแต่ละบุคคลในพื้นที่เขตกันชนตามแนวชายแดน, การโยกย้ายที่อยู่ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่พิสูจน์ทราบหรือตรวจสอบไม่ได้แน่ชัดว่ามีใจฝักใฝ่ฝ่ายกบฏหรือไม่ และการเสริมเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลพลเรือนที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเข้าไปในพื้นที่ตามแนวชายแดน
(ก) แนวความคิดนี้จะช่วยให้ฝ่ายเราได้มีเครือข่ายในด้านการข่าวตามพื้นที่ชายแดน และยังทำให้พลเรือนฝ่ายเราตามแนวชายแดนได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกำลังป้องกันตนเองในการควบคุมพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้ ยังช่วยป้องปรามพลเรือนตามแนวชายแดน ในอันที่จะติดต่อหรือช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่เป็นกำลังของฝ่ายกบฏที่จะเดินทางข้ามไปมาระหว่างพรมแดน การโยกย้ายที่อยู่อาศัยของพลเรือนตามแนวชายแดนถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้งานทางการเมืองเข้าช่วย ดังนั้น จึงสมควรที่จะให้กำลังของฝ่ายรัฐบาลเจ้าของประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายประเทศนั้น ๆ กำลังทหารหรือบุคลากรจากภายนอกประเทศไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมดำเนินการ นอกเสียจากว่าการดำเนินการโยกย้ายที่อยู่ของพลเรือนในสภาวะที่เกิดความขัดแย้งระดับต่ำในระหว่างประเทศนั้น จะได้รับอนุมัติและมอบอำนาจตามบทบัญญัติและข้อตกลงในการประชุมเจนีวา ครั้งที่ ๔
(ข) การปฏิบัติการโยกย้ายที่อยู่ของพลเรือนนั้น จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าสำหรับรายละเอียดในเรื่อง เศรษฐกิจ,สังคมจิตวิทยาและการเตรียมการในด้านการเมืองการปกครอง เพื่อมิให้มีผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อความมั่นคงในด้านสังคมเศรษฐศาสตร์ในพื้นที่นั้น ๆ การปฏิบัติการหรือดำเนินการโดยขาดการเตรียมการล่วงหน้านั้น ย่อมส่งผลร้ายต่อความมั่นคงทางการเมือง, สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง, เกิดความไม่เป็นธรรมในการแบ่งสรรที่ดิน, มีการจัดการบริการสาธารณะไม่ดี, การบริหารท้องถิ่นขาดความมีประสิทธิภาพ และยังอาจก่อปัญหาความขัดแย้งในด้านความเชื่อทางศาสนาและปัญหาทางสังคมต่อไปได้อีกอย่างกว้างขวาง
(๓) การวางแผนและการดำเนินการ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม เมื่อมีความจำเป็นต้องโยกย้ายที่อยู่ของประชากรแล้ว ผบ.หน่วยจะต้องวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบและรัดกุม ถึงแม้ว่ากำลังทหารจะมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือการปฏิบัติได้ แต่ตามปกติแล้วจะใช้หน่วยงานพลเรือนเป็นผู้รับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินการโยกย้ายที่อยู่ของประชากร การบีบบังคับให้ย้ายที่อยู่นั้นจะต้องกระทำให้น้อยที่สุด ข้อตกลงในที่ประชุมเจนีวา ปี พ.ศ.๒๔๙๒ ห้ามการบังคับพลเรือนให้ย้ายที่อยู่อาศัย นอกจากว่าจะมีความจำเป็นด้านการทหารอย่างแท้จริง
จ. แนวพรมแดนทางน้ำ การลาดตระเวนเฝ้าตรวจและควบคุมแนวเขตแดนตามพื้นที่เมืองท่าและเขตชายฝั่ง ตามปกติแล้วจำเป็นต้องใช้วิธี.-
(๑) การประสานการปฏิบัติของหน่วยลาดตระเวนทางพื้นดิน
(๒) การประสานการปฏิบัติของหน่วยเรือยามฝั่ง ทั้งทางทะเลและลำน้ำในแผ่นดิน
(๓) การเสริมเพิ่มเติมด้วยการลาดตระเวนทางอากาศ, การตรวจการณ์ด้วยสายตา และการลาดตระเวนถ่ายภาพนอกเขตชายฝั่งและบริเวณชายฝั่ง
(๔) ยามเฝ้าตรวจตามแนวชายฝั่งใกล้ปากน้ำ, เส้นทางคมนาคมทางพื้นดิน และบริเวณพื้นดินที่เกิดขึ้นใหม่ตามแนวชายฝั่ง
(๕) ระบบการพิสูจน์ฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับหน่วยทหารฝ่ายเดียวกัน และเรือของพลเรือนที่สัญจรไปมานอกบริเวณชายฝั่ง
(๖) การควบคุมมาตรการและระบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วแบบรวมการ และการประสานการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
ฉ. เขตปลอดทหาร ฝ่ายกบฏอาจตั้งฐานปฏิบัติการและลักลอบข้ามพรมแดน จากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามายังประเทศเจ้าบ้าน โดยใช้ความได้เปรียบจากพื้นที่ตามแนวชายแดนเข้าปฏิบัติการ แล้วถอนตัวหลบหนีออกไปการปฏิบัติการตามแนวชายแดนของฝ่ายทหารจำเป็นต้องยึดถือข้อตกลงและมติระหว่างประเทศ ในเรื่องการปักปันเส้นเขตแดน ฝ่ายทหารก็สามารถปฏิบัติการสู้รบกับกำลังของฝ่ายกบฏได้ หากกำลังส่วนนั้นย้อนกลับเข้ามาภายในประเทศอีก การจัดหน่วยลาดตระเวนรบซุ่มโจมตี เป็นวิธีการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อต้านฝ่ายกบฏ หรือผู้ก่อความไม่สงบที่ใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ
๒ - ๒๗ การปฏิบัติการในเมือง
เนื่องจากจุดศูนย์ดุลของประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ตัวเมือง กำลังทหารของฝ่ายเราจึงมีโอกาสมากพอสมควรที่จะต้องเข้าปฏิบัติการสู้รบในพื้นที่ตัวเมือง (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐–๑๐-๑)
ก. การปฏิบัติการในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเมือง จำเป็นต้องมุ่งเน้นในเทคนิคและวิธีการพิเศษมากกว่าการปฏิบัติการในพื้นที่ชนบทหรือนอกตัวเมือง ทั้งประชาชนและสภาพพื้นที่ตัวเมืองจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกบฏหรือฝ่ายรัฐบาล ในระหว่างขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ ของการก่อความไม่สงบนั้น พื้นที่ตัวเมืองย่อมไม่เอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติการของฝ่ายกบฏ แต่อย่างไรก็ตาม กำลังบางส่วนของฝ่ายกบฏภายในพื้นที่ตัวเมือง อาจใช้การจลาจล, ใช้ยุทธวิธีการก่อการร้าย หรือเข้ายึดสถานที่บางแห่งและสถานที่ที่เป็นแหล่งสาธารณูปโภค ในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องใช้กำลังหทารเข้าช่วยเสริมกำลังของตำรวจในการปราบปรามจลาจหล และทำลายระบบการควบคุมอำนวยการของฝ่ายกบฏ อาจต้องใช้การปฏิบัติทางยุทธวิธี หากฝ่ายกบฏใช้วิธีการเข้ายึดสถานที่สำคัญ หรือพื้นที่บางส่วนภายในตัวเมือง (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐–๑๐-๑ และ รส.๑๙–๑๕)
ข. ความหนาแน่นของประชากรในตัวเมือง ทำให้ต้องเน้นการใช้อาวุธที่ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต และการระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจำเป็นต้องใช้อาวุธที่มีอำนาจการทำลาย และหากต้องใช้กำลังจำนวนน้อยที่สุดเข้าปฏิบัติการเพื่อลดความสูญเสียของชีวิตประชาชนและทรัพย์สิน ผบ.หน่วยจะต้องพิจารณาวางแผนในรายละเอียด, การประสานการปฏิบัติและการควบคุม
ค. การปฏิบัติการลับของพวกกบฏ สามารถกระทำได้อย่างกว้างขวางในพื้นที่ตัวเมือง ฝ่ายรัฐบาลจะต้องเน้นหนักในงานด้านข่าวกรอง และการปฏิบัติการของตำรวจ เพื่อต่อต้านองค์กรของพวกปฏิบัติการลับ, การข่าวกรอง, การส่งกำลังบำรุง และการปฏิบัติด้านการก่อการร้าย ในพื้นที่ตัวเมืองนั้น การป้องกันและการพัฒนาภายในประเทศอาจจัดเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการขยายผล
ง. พื้นที่ตัวเมืองนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการป้องกันและพัฒนาภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าในนโยบายจะกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหรือไม่ กำลังทหารนั้นควรจะมีส่วนร่วมในการวางแผนและการปฏิบัติการป้องกันและพัฒนาภายในประเทศในพื้นที่ตัวเมือง ในทุกขั้นตอนของการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ในการนี้กำลังทหารจะต้องเตรียมการเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานปราบปรามอื่น ๆ
(๑) การปฏิบัติของฝ่ายรัฐบาล พื้นที่ตัวเมืองต้องการการเน้นความสำคัญของระบบงาน และการบริการของหน่วยงานของรัฐมากกว่าในพื้นที่ชนบท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้หน่วยงานของรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่และกำลังพลมากกว่าการปฏิบัติงานในชนบท ในการวางแผน ผบ.หน่วยจะต้องพิจารณางานและขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐในการป้องกันและพัฒนาภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
(๒) การปฏิบัติการบ่อนทำลาย พวกบ่อนทำลายจะใช้ความพยายามในการทำลายความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล ซึ่งต้องเน้นหนักไปที่หน่วยงานประจำพื้นที่ ฝ่ายกบฏจะพยายามขยายผลการปฏิบัติโดยขัดขวางมิให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐบรรลุภารกิจและวัตถุประสงค์ ดังนั้นหน่วยปฏิบัติของฝ่ายกบฏจึงมีวัตถุประสงค์และกิจกรรมในทิศทางตรงกันข้าม การปฏิบัติงานในด้านการก่อการร้ายและการปฏิบัติการจิตวิทยา จะเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับองค์กรของการปฏิบัติการลับ, การข่าวกรอง และการปฏิบัติการส่งกำลังบำรุง หน่วยงานตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงภายใน และหน่วยงานอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ จะเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญในอันดับแรกของฝ่ายกบฏ
(๓) การปฏิบัติทางยุทธการ การปฏิบัติทางยุทธการต้องมีการวางแผนและประสานการปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งงานหลักก็คือการใช้กำลังทหาร หน่วยทหารจะได้รับมอบหมายภารกิจให้เข้าร่วมปฏิบัติในแผนงาน และเตรียมการปฏิบัติภารกิจอื่นเมื่อได้รับคำสั่ง หน่วยทหารจะต้องมีขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับตำรวจ และหน่วยงานอื่น ๆที่เข้าร่วมปฏิบัติการ ทั้งนี้ต้องมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารอย่างละเอียดเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่และสถานที่สำคัญ ๆ
(๔) การปฏิบัติทางยุทธวิธี การปฏิบัติทางยุทธวิธีอาจจำเป็นต้องใช้พื้นที่ภายในหรือพื้นที่ใกล้ ๆ กับตัวเมืองเพื่อต่อสู้เอาชนะกำลังของฝ่ายกบฏ ในความพยายามของฝ่ายกบฏที่ต้อง การเข้าควบคุม หรือยึดพื้นที่ในตัวเมืองนั้น อาจจำเป็นต้องใช้การยึดพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเช่นเดียวกัน เมื่อกำลังตำรวจ หรือกำลังของหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์การสู้รบภายในตัวเมืองได้ กำลังทหารควรจะถูกใช้ปฏิบัติการร่วมเพื่อจัดการระวังป้องกันพื้นที่ภายนอกโดยรอบตัวเมือง รวมทั้งการป้องกันการเพิ่มเติมกำลัง หรือการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายกบฏ
(ก) เมื่อกำลังทหารต้องเข้าเพิ่มเติมกำลังช่วยเหลือการปฏิบัติของตำรวจ หรือต้องเข้าสู้รบกับกำลังของฝ่ายกบฏภายในตัวเมือง ผบ.หน่วยจำเป็นต้องเข้าควบคุมและประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด กำลังทหารควรจะถอนตัวออกจากการปฏิบัติในทันทีที่กำลังตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
(ข) หากพื้นที่ภายในตัวเมืองถูกยึดหรือควบคุมโดยฝ่ายกบฏ ผบ.หน่วยจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้การปฏิบัติการด้วยกำลังทหาร หรือจะใช้เทคนิควิธีการปฏิบัติลักษณะอื่น ๆ โดยพิจารณาภาพรวมทั้งในทางยุทธวิธี และในทางจิตวิทยา จำนวนหน่วยทหารและเทคนิคการปฏิบัติพิเศษเพื่อเข้าปฏิบัติการแย่งยึดพื้นที่กลับคืนมานั้น จะถูกพิจารณากำหนดโดยใช้ปัจจัยเกี่ยวกับผลทางด้านจิตวิทยาที่น่าจะมีต่อข้าศึก, พลเรือนในพื้นที่ และหน่วยทหารฝ่ายเดียวกัน, ความปลอดภัยของพลเรือนและทหารฝ่ายเดียวกัน, ความเสียหายของอาคารบ้านเรือน และกำลังทหารที่มีอยู่ในขณะนั้น หลักการในการใช้กำลังจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจะช่วยลดการสูญเสียและการบาดเจ็บของพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ
(ค) เมื่อได้รับอนุมัติ ผบ.หน่วยจะสามารถใช้อาวุธปราบปรามการจลาจลเข้าปฏิบัติการต่อที่หมายในระยะประชิด เพื่อเข้าจับกุมข้าศึกโดยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บสูญเสียของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ การปฏิบัติการอาจเป็นไปในลักษณะของการช่วยเหลือฝ่ายตำรวจ ทั้งนี้ ผบ.หน่วยจะต้องประสานการปฏิบัติระหว่างทหารกับตำรวจให้ได้ผล (ดูรายละเอียดใน ผนวก ก)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น