ตอนที่ ๒
การต่อต้านการก่อการร้าย และการตอบโต้การก่อการร้าย
การต่อสู้กับการก่อการร้าย ประกอบด้วยการปฏิบัติใน ๒ ลักษณะ ผู้บังคับบัญชาจะต้องวางแผนและพัฒนาแผนซึ่งรวมเอาแนวทางในการต่อต้านและการตอบโต้การก่อการร้ายไว้ด้วยกัน แผนควรจะลดความล่อแหลมหรือจุดอ่อนของฐานที่ตั้ง,หน่วย และกำลังพลในยามสงบ,ก่อนการใช้กำลัง,ในขณะที่มีการใช้กำลัง และภายหลังการใช้กำลัง นอกจากนี้ยังจะต้องประกอบด้วยมาตรการป้องกัน, ขัดขวาง และตอบโต้พวกก่อการร้าย
๓ - ๘ การต่อต้านการก่อการร้าย
ฐานที่ตั้ง, หน่วย และกำลังพล จะใช้มาตรการต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อขจัดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย มาตรการดังกล่าวจะต้องพิจารณาทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันกรรมวิธีการก่อการร้าย ทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนของหน่วยทหาร ทหาร, พลเรือน และสมาชิกในครอบครัว หลักใหญ่ใจความของแผนงานนี้ คือ การรวบรวมและการกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามเป็นห้วงระยะเวลา, การปฏิบัติเพื่อต่อต้านการรวบรวมข้อมูลข่าวสารของฝ่ายก่อการร้าย และการใช้มาตรการป้องกันภัย มาตรการรักษาความปลอดภัย ๓ ประการที่ต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ, การรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ และการรักษาความปลอดภัยบุคคล
ก. การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ จะพิทักษ์ข่าวสาร, วัตถุ และกำลังพล เช่นเดียวกับการป้องกันการก่ออาชญากรรม ถึงแม้ว่าการก่อการร้ายจะถือเป็นการก่ออาชญากรรม แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บางประการที่ต้องพิจารณาในการนำมาตรการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพมาใช้ต่อต้านการก่อการร้าย ก่อการร้ายจะเป็นผู้ที่อยู่ในองค์กรการจัดที่เป็นระบบ, มีการฝึกอย่างดี ทั้งยังมีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานมากกว่าอาชญากรทั่วไป ผู้ก่อการร้ายจะได้รับการติดอาวุธครบมือ และมีขีดความสามารถ อย่างสูงพอที่จะเอาชนะมาตรการการรักษาความปลอดภัยทางภายภาพได้ ในการนำเอามาตรการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวมาใช้ต่อต้านการก่อการร้าย, ผบ.หน่วยจะต้องพิจารณาในแง่มุมที่ผู้ก่อการร้ายอาจใช้วิธีการยอมสละได้แม้แต่ชีวิตของตน ซึ่งความจริงในข้อนี้เป็นความแตกต่างจากการรักษาความปลอดภัยจากอาชญากรทั่วไป หรือข้าศึกศัตรูในสงคราม การปฏิบัติการต่าง ๆ จะเป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยข้อใดเป็นสิ่งจำเป็น
(๑) การทบทวนวิธีการป้องกันการก่ออาชญากรรม และการสำรวจตรวจตามพื้นที่ การสำรวจดังกล่าวจะกระทำในทุกพื้นที่ของฐานที่ตั้งหน่วยทหาร เช่นเดียวกับการสำรวจตรวจตราชุมชนที่อยู่ล้อมรอบภายนอกที่ตั้งด้วย
(๒) จัดหาภาพถ่ายของผู้ก่อการร้ายที่ฝ่ายเราสืบทราบได้ แจกจ่ายให้กับบุคลากรตำแหน่งสำคัญในหน่วยทหาร ภาพถ่ายดังกล่าวสามารถนำไปแจกจ่ายให้กับพลเรือนหรือหน่วยงานทางทหารอื่น ๆ ได้ แม้กระทั่งการเผยแพร่ไปยังพื้นที่ทั่ว ๆ ไป เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ
(๓) การสำรวจตรวจตราเครื่องมือรักษาความปลอดภัย การดำเนินการนี้ ได้แก่ การตรวจเครื่องกีดขวาง, ยามรักษาการณ์, เครื่องมือสื่อสาร, เครื่องมือขนส่ง, การสนับสนุนตามแผนเผชิญเหตุ, มาตรการแสงสว่าง, การใช้แสงสว่างป้องกันการบุกรุก, การพิสูจน์ทราบผู้บุกรุก และมาตรการทางกายภาพในการระวังป้องกันรักษาความปลอดภัย การปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยป้องกันฐานที่ตั้งหน่วยจากการลักขโมย, สิ่งของสูญหาย, การทำลาย, การก่อวินาศกรรม หรือการยอมอ่อนข้อเจรจา
(๔) ทบทวนสถานภาพของระบบงาน, จัดลำดับความเร่งด่วนของงาน โดยใช้ภัยคุกคามเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
(๕) พิจารณาดูว่า ฐานที่ตั้งหน่วยนั้นอยู่ในลักษณะปิดหรือเปิด หากมีลักษณะปิดเส้นทางเข้าสู่ฐานทั้งทางพื้นดินและทางน้ำจะถูกจำกัดด้วยแนวรั้ว,จุดวางยามรักษาการณ์หรือเครื่องกีดขวางทางกายภาพอื่นๆ หากไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผบ.หน่วยจะต้องดำเนินการโดยกำหนดเขตหวงห้าม, จัดการควบคุมเส้นทางเข้าออก และปรับปรุงแผนเผชิญเหตุเพื่อการระวังป้องกัน หรือปิดกั้นช่องทางเข้าสู่ฐานที่ตั้ง
(๖) พิจารณาปัจจัยทางกายภาพในการรักษาความปลอดภัย
• เครื่องกีดขวางและฉากขัดขวางป้องกัน
• เครื่องมือตรวจการณ์ด้วยสายตา – เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือตรวจการในเวลากลางคืน
• ภัยคุกคามจากระเบิด
• โทรทัศน์วงจรปิด
• การควบคุมเส้นทางเข้า – ออก
• ระบบการพิสูจน์ทราบผู้บุกรุก
• การให้แสงสว่าง
• การปิดล็อคและการใช้กุญแจควบคุม
• การควบคุมและตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์
• การตรวจสอบความไว้วางใจเป็นบุคคล
• ที่ตั้งของเขตหวงห้าม
• การตรวจสอบอาหารและน้ำ
• การตรวจสอบยานพาหนะของบุคคลสำคัญ
แผนรักษาความปลอดภัยทางกายภาพจะต้องมีความสมดุลย์ในวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมได้เช่นเดียวกับการก่อการร้าย ผบ.หน่วยจะต้องพิจารณาปรับปรุงแผนให้มีความทันสมัย และพร้อมป้องกันภัยคุกคาม
ข. การรักษาความปลอดภัยทางการปฏิบัติการ การป้องกันฝ่ายตรงข้ามมิให้รวบรวมข้อมูลข่าวสาร ในแผนงานการ รปภ.ทางการปฏิบัติการ เป็นงานหลักที่สำคัญที่สุด แผนงานการ รปภ.จะประสานการปฏิบัติทุกอย่างที่จำเป็นในการป้องกันข้าศึกศัตรู หรือผู้ก่อการร้ายมิให้เข้ามาล่วงรู้ถึงแผนและการปฏิบัติการ เทคนิคการลวง การ รปภ.ทางกายภาพ, การ รปภ.ทางการสื่อสาร และการ รปภ.ทางข่าวสารข้อมูล จะถูกจัดให้ความสัมพันธ์กันและเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน การวางแผนทั้งหมดต้องประกอบด้วยมาตรการป้องกันผู้ก่อการร้ายในพื้นที่เข้ามารวบรวมข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์ต่อการก่อการร้าย เป้าหมาย ๔ เป้าหมายที่ผู้ก่อการร้ายจะแทรกตัวเข้ามาขยายผลในด้านการข่าว ได้แก่.-
(๑) ข่าวกรองบุคคล หมายรวมถึง การใช้ประชาชนรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับขีดความสามารถทางทหาร และความพยายามที่จะเข้าถึงกิจวัตรประจำวันในฐานที่ตั้งหน่วยทหาร แหล่งที่มาของข่าวกรองบุคคล ได้แก่ การนำเรื่องของทางราชการหรือข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการไปพูดคุยกันในสถานเริงรมย์ หรือการเผยแพร่หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ของบุคคลสำคัญในหน่วยทหารให้เป็นที่ล่วงรู้กับบุคคลทั่วไป ภัยคุกคามในเรื่องข่าวกรองบุคคลนี้ สามารถลดหรือกำจัดได้ด้วยการใช้มาตรการระวังป้องกันทางกายภาพ และการฝึกรักษาความปลอดภัยข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการต่อต้านการเฝ้าตรวจและการต่อต้านข่าวกรองของฝ่ายตรงข้าม
(๒) ข่าวกรองทางการสื่อสาร ครอบคลุมทุกรูปแบบของการติดต่อสื่อสารและเครื่องมือส่งสัญญาณทางการสื่อสาร ผู้ก่อการร้ายอาจจะไม่มีความสามารถในการจัดหาระบบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้, แต่ผู้ก่อการร้ายสามารถแทรกตัวเข้ามาในการติดต่อสื่อสารที่ปฏิบัติเป็น รปจ. และกิจวัตรประจำวันได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่วิทยุสื่อสารของตำรวจหรือตำรวจดับเพลิงถูกลักขโมย หรือสูญหายไปแล้ว ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ที่ใช้อยู่เดิม หรือในกรณีโทรศัพท์ที่วางสายผ่านไปตามพื้นที่ล่อแหลม และไม่มีการตรวจจับการดักฟัง ภัยคุกคามในลักษณะนี้สามารถต่อต้านได้โดยการกำหนดการรักษาความปลอดภัยทางการสื่อสาร และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลข่าวสาร
(๓) ข่าวกรองภาพถ่าย ผู้ก่อการร้ายจะใช้การข่าวกรองภาพถ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร โดยใช้การปกปิดจาก อากาศยาน, ลักษณะภูมิประเทศสูงข่ม, รถยนต์ และอื่น ๆ การต่อ ต้านข่าวกรองภาพถ่ายนี้ กระทำได้โดยใช้มาตรการต่อต้านข่าวกรอง และแผนงานการต่อต้านการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ
(๔) รูปแบบของการปฏิบัติ การปฏิบัติที่มีรูปแบบซ้ำ ๆ กัน จนเป็นที่สังเกต จะทำให้ผู้ก่อการร้ายคาดคะเนข่าวสารการปฏิบัติได้ การต่อต้านการข่าวกรองของข้าศึกลักษณะนี้ ผบ.หน่วยจะต้องลดการปฏิบัติที่เป็นกิจวัตร หรือรูปแบบซ้ำ ๆ กัน จนฝ่ายตรงข้ามคาดเดาการปฏิบัติได้ หรืออีกหนทางหนึ่ง ผบ.หน่วยควรพิจารณาใช้มาตรการลวงเพื่อปกปิด หรืออำพรางการปฏิบัติที่เป็นรูปแบบนั้น
(๕) การรักษาความปลอดภัยบุคคล ไม่มีบุคคลใดที่จะปลอดภัยจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทน หรือตัวแทนของรัฐบาลต่างชาติ และรัฐบาลของชาตินั้น ๆ ล้วนแต่เป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ของผู้ก่อการร้ายทั้งสิ้น ผู้ก่อการร้ายอาจพิจารณาเลือกเป้าหมายสำหรับการวางระเบิดไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเป็นสำนักงาน, โรงผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้า หรือที่ตั้งทางทหารอื่น ๆ นอกจากเป็นเป้าหมายการระเบิดได้แล้ว อาจเป็นเป้าหมายของการก่อวินาศกรรม, การแสดงลวง และการก่ออาชญากรรม
ผู้ที่ครอบครองอาคารเหล่านี้ อาจไม่ใส่ใจหรือไม่ระมัดระวังในเรื่องการก่อการร้ายเท่าที่ควร มาตรการที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการป้องปรามการก่อการร้าย มีดังนี้.-
(๑) ควบคุมเส้นทางเข้าพื้นที่สำคัญ และสำนักงานควบคุม ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
(ก) ป้องกันทางเข้าโดยตรงไปยังพื้นที่สำคัญที่น่าจะตกเป็นเป้าหมายของการก่อ การร้าย อย่าจัดตั้งสำนักงานควบคุมไว้ที่ชั้นล่าง
(ข) ติดตั้งเครื่องมือเตือนภัย หรือสัญญาณเตือนภัยไว้ตามเส้นทางเข้าสู่พื้นที่สำคัญ และสำนักงานควบคุม
(ค) มีการบันทึกจดชื่อผู้เข้ามาเยี่ยมหรือติดต่อภายในอาคาร
(ง) มีการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่า มีบุคลากรทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่เข้ามาติดต่อภายในอาคาร ในพื้นที่สำคัญ หลังจากเวลาผ่านไปแต่ละชั่วโมงแล้ว
(จ) ล็อคประตูห้องน้ำทุกห้องที่อยู่ภายใน หรือใกล้เคียงสำนักงานควบคุม (เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ในอาคารที่มีสำนักงานควบคุมอยู่ในชั้นต่าง ๆ กัน) เพื่อป้องกันการเข้ามาของบุคคลภายนอก
(ฉ) ล็อคประตูทางเข้าไปยังห้องพักของพนักงานทำความสะอาด และพนักงานซ่อมบำรุงอุปกรณ์อื่น ๆ ตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติงาน
(ช) ล็อคประตูทางเข้าไปยังห้องควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า และโทรศัพท์ อนุญาตให้พนักงานซ่อมบำรุง หรือเจ้าหน้าที่โทรศัพท์เข้าไปได้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
(๒) เลือกห้องใดห้องหนึ่งไว้เป็นห้องหลบภัยภายในอาคาร หากเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายบุกเข้าอาคาร, แต่อย่าปิดป้ายแสดงให้รู้ทั่วไปว่าเป็นห้องหลบภัย
(๓) เตรียมสิ่งอุปกรณ์สำหรับใช้ในยามฉุกเฉินไว้ให้พร้อม เช่น เครื่องมือปฐมพยาบาล, อุปกรณ์ป้องกันแรงระเบิด, เทียนไข, อาหารแห้ง, น้ำ, ตะเกียงโคม และอื่น ๆ ให้บุคลากรในระดับหัวหน้างานได้รับทราบว่าสิ่งอุปกรณ์เหล่านั้นถูกจัดเตรียมไว้ ณ ที่ใด, รวมทั้งเส้นทางหลบหนีออกจากตัวอาคารในยามฉุกเฉิน
(๔) ปกปิดข้อมูลประวัติบุคคลไว้เป็นความลับโดยให้รู้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ก่อการร้ายอาจแสวงหาข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปใช้เลือกบุคคลเป็นเหยื่อในการปฏิบัติการ หรือใช้สืบหาบ้าน ที่พักอาศัย และครอบครัวของบุคลากรนั้น
(๕) สั่งการห้ามระบุตำแหน่งหรือชื่อบุคลากรที่สำคัญไว้บริเวณที่จอดรถ โดยให้ใช้หมายเลขรหัสแทน
(๖) ปกปิดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินทาง และแผนการสั่งงานควบคุม ตลอดจนบุคลกรสำคัญ โดยให้รู้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเท่านั้น
(๗)เน้นย้ำความสำคัญในเรื่องคำสั่งและมาตรการป้องกันบุคคลสำคัญโดยกระตุ้นเตือนในเรื่อง.-
(ก) การสงวนท่าทีและการให้ข่าวสารเท่าที่จำเป็น
(ข) อบรมให้กำลังพลรู้จักสังเกตบุคลิกและอาการผิดสังเกตของคนแปลกหน้า
(ค) การใช้สัญญาณ, การแจ้งเตือนที่เข้าใจง่ายและมีประสิทธิผลให้ครอบครัวและสมาชิกในองค์กรได้รับทราบเมื่อเกิดภัยจากการก่อการร้าย
(ง) การใช้เส้นทางหลายเส้นทางเปลี่ยนไปมาในการเดินทางมาทำงาน และกลับที่พัก
(จ) การระมัดระวังในการขับรถไปส่งเด็กที่โรงเรียน โดยเตรียมการป้องกันและหลบหนี
(ฉ) การตรวจยานพาหนะหรือรถยนต์ก่อนขึ้นขับขี่
(ช) การใช้เสื้อกันกระสุน
(ซ) การหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่คาดว่าผู้ก่อการร้ายจะใช้ปฏิบัติการ
(ด) การขับขี่ยานพาหนะโดยปิดกระจกและล็อคประตู
(ต) การมีความรู้และสามารถเข้าใจประโยคหรือถ้อยคำสำคัญในภาษาท้องถิ่น
(ถ) การรู้จักวินิจฉัยแยกแยะการรับความช่วยเหลือจากบุคคลในท้องถิ่น
(ท) การมีความรู้ในเทคนิคและวิธีการปฏิบัติของผู้ก่อการร้าย
(น) การเตรียมการลาดตระเวนเส้นทางในแผนที่เมื่อต้องเดินทางไปยังที่หมายแห่งใหม่ (เช่น ภัตตาคาร, โรงแรม, ร้านค้า และอื่น ) เพื่อใช้หลีกเลี่ยงให้พ้นจากการคาดคะเนของผู้ก่อการร้าย
๓ - ๙ สภาวะภัยคุกคามด้านการก่อการร้าย
สภาวะภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายจะอธิบายต่อไปนี้เป็นระดับความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตามลำดับขั้นสำหรับการปฏิบัติการก่อการร้ายต่อสถานที่ สิ่งอุปกรณ์ และกำลังพลของกองทัพฝ่ายเราที่ปฏิบัติการในท้องถิ่น ทั้งนี้ได้ใช้แนวทางตาม FM ๗–๙๘ ผบ.หน่วยควรศึกษาทำความเข้าใจเพื่อเลือกใช้วิธีการปฏิบัติโต้ตอบภัยคุกคาม หรือการวินิจฉัยเหตุการณ์เพื่อควบคุมและป้องกันภัยคุกคามที่มีต่อสิ่งอุปกรณ์, สถานที่ และกำลังพล
ก. สภาวะภัยคุกคามระดับต่ำ
(๑) คำจำกัดความ ภัยคุกคามทั่วไปที่น่าจะเกิดขึ้นได้ต่อสถานที่และกำลังพล, ด้วยวิธีการและลักษณะที่ไม่อาจคาดคิดจากความหลากหลาย เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้มาตรการเต็มรูปแบบ ในสภาวะภัยคุกคามที่มีมากกว่าขั้นนี้ ผบ.หน่วยก็จำเป็นต้องเลือกใช้มาตรการในขั้นที่สูงกว่า โดยพิจารณาเลือกตามความเหมาะสมและความจำเป็น
(๒) มาตรการที่นำมาใช้
(ก) ในช่วงเวลาปกติ, ให้ย้ำเตือนกำลังพลทุกคน รวมทั้งหน่วยขึ้นตรง หรือสมาชิกอื่น ๆ ให้สังเกตและพิจารณาบุคคลแปลกหน้าไว้ในลักษณะต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถือกระเป๋าเดินทาง หรือกล่องวัสดุอื่น ๆ, เตรียมพร้อมปฏิบัติการเมื่อปรากฏยานพาหนะที่ไม่อาจพิสูจน์ทราบฝ่ายที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามาใกล้หน่วยหรือฐานที่ตั้ง, เตรียมพร้อมและระวังเต็มที่ต่อพัสดุหรือกล่อง หรือกระเป๋าที่ถูกวางทิ้งไว้ หรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่ผิดสังเกต
(ข) สั่งการให้นายทหาร หรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการอพยพผู้คน หรือเคลื่อนย้ายสิ่งอุปกรณ์ออกไปจากพื้นที่ต้องสงสัย และตรวจค้นพื้นที่ดังกล่าว ในกรณีเกิดระเบิดหรือเกิดการโจมตีของผู้ก่อการร้าย จัดทำแผนเตรียมพร้อมให้กำลังพลดังกล่าวได้ปฏิบัติตามแผนรักษาความปลอดภัย
(ค) ตรวจค้นและระวังป้องกัน อาคาร,ห้องและพื้นที่เก็บสิ่งอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ในงานปกติ
(ง) เพิ่มความถี่และจำนวนจุดตรวจ ทั้งตรวจยานพาหนะและบุคคลที่จะผ่านเข้ามาในฐานที่ตั้งหน่วยและในพื้นที่ที่ไม่ได้จัดเป็นเขตหวงห้ามแต่อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบและเอกสิทธิ์ของฝ่ายเรา
(จ) จำกัดจุดผ่านเข้าออกของยานพาหนะและบุคคล
(ฉ) เพื่อเป็นการป้องปรามอีกขั้นหนึ่ง, ให้ใช้มาตรการในขั้นภัยคุกคามปานกลาง โดยใช้มาตรการต่อบุคคล ในลักษณะสุ่มตัวอย่างดังนี้.-
• จัดการรักษาความปลอดภัยและตรวจตราอย่างเป็นระบบต่ออาคารทั้งหมด, ห้องภายในอาคาร และชั้นต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีการใช้งานตามระเบียบ
• ในช่วงเวลาที่เริ่มงานและเลิกงานของแต่ละวัน รวมทั้งในช่วงเวลาพักงานตามระเบียบ ให้ทำการตรวจทั้งบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่มีการใช้งานตามระเบียบ เพื่อค้นหาและสังเกตการปฏิบัติที่ผิดปกติ รวมทั้งวัตถุแปลกปลอมหรือต้องสงสัย
• ตรวจสิ่งของและพัสดุที่ส่งเข้ามาในฐานที่ตั้งรวมทั้งให้คำแนะนำให้สมาชิกในหน่วยงานตรวจสิ่งของและพัสดุที่ส่งมายังบ้านพักของตน
• เท่าที่กำลังพลและทรัพยากรมีพอเพียง ให้ดำเนินการลาดตระเวนเฝ้าตรวจบริเวณสถานที่อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่อยู่ภายในด้วย (เช่น โรงเรียน, โรงอาหาร, สโมสร และเป้าหมายอื่น ๆ ที่เป็นจุดเปราะบาง) ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องปราม และการป้องกัน อีกทั้งเป็นการ สร้างความเชื่อมั่นในระหว่าง ฝ่ายอำนวยการ และกำลังพล
(ช) ทบทวนแผนทั้งหมด รวมทั้ง คำสั่ง, รายละเอียดเป็นบุคคล และความต้องการด้านการส่งกำลังบำรุง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องไปถึง ภัยคุกคามในระดับที่สูงกว่าต่อไป
(ซ) ทบทวนและดำเนินการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยต่อบุคคลที่มีอัตราการเสี่ยงภัย และมีความล่อแหลมสูง
ข. สภาวะภัยคุกคามระดับปานกลาง
(๑) คำจำกัดความ ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มีแนวโน้ม คาดว่าจะเป็นไปได้มากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการแสดงออกโดยสิ่งบอกเหตุเป็นพิเศษก็ตาม
(๒) มาตรการที่นำมาใช้
(ก) แจ้งเตือนให้กำลังพลทั้งหมดได้เพิ่มความระมัดระวัง และสังเกตผู้ต้องสงสัย,ยานพาหนะ และการปฏิบัติต่างๆ ที่ผิดปกติหรือมีพิรุธ เตือนภัยให้กำลังพลได้ระวังการโจมตี หรือวิธีการอื่น ๆ ที่ผู้ก่อการร้ายอาจนำมาใช้
(ข) จัดเตรียมแผนการติดตามตัวบุคคล และกำลังพลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามแผนการต่อต้านการก่อการร้าย
(ค) ตรวจสอบแผนการปฏิบัติตามมาตรการที่จะใช้ในสภาวะภัยคุกคาม ในระดับที่สูงกว่าต่อไป
(ง) หากทำได้ ให้เคลื่อนย้ายยานพาหนะและวัตถุอื่น ๆ ออกห่างจากตัวอาคารอย่างน้อย ๒๕ เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่มีความล่อแหลม ง่ายต่อการโจมตี โดยลักษณะธรรมชาติของตัวอาคาร ดำเนินการให้มีการจอดรถอยู่ในแหล่งรวมรถเป็นส่วนกลาง
(จ) ระวังป้องกันและตรวจตราอาคารทั้งหมด, รวมทั้งห้องต่าง ๆ ภายในและพื้นที่ที่มิได้มีการใช้งานตามระเบียบ
(ฉ) ดำเนินการตรวจตราอย่างเป็นระบบ ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร เพื่อค้นหาวัตถุแปลกปลอม หรือสิ่งของที่ต้องสงสัย โดยตรวจให้บ่อยครั้ง
(ช) ตรวจสอบพัสดุและสิ่งของทั้งหมดที่ถูกส่งเข้ามาภายในฐานที่ตั้ง รวมทั้งให้คำแนะนำให้สมาชิกในหน่วยงาน ตรวจสิ่งของและพัสดุที่ส่งมายังบ้านพักของตน
(ซ) เท่าที่กำลังพลและทรัพยากรมีพอเพียง ให้ดำเนินการเฝ้าตรวจบริเวณสถานที่อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่อยู่ภายในด้วย (เช่น โรงเรียน, โรงอาหาร, สโมสร และเป้าหมายอื่น ๆ ที่ เป็นจุดเปราะบาง) ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องปรามและการป้องกัน อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระหว่างฝ่ายอำนวยการ และกำลังพล
(ด) จัดการให้ฝ่ายอำนวยการและกำลังพล ได้รับทราบสถานการณ์ทั่วไปอย่าง แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการหยุดยั้งข่าวลือ และป้องกันการตื่นตระหนก
(ต) ในขั้นเริ่มแรก แจ้งเตือนให้กำลังพลภายในหน่วยงานรักษาความปลอดภัย เฉพาะตำบล ได้ทราบถึงการปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้นและเหตุผลของการปฏิบัติการนั้น ๆ
(ถ) ก่อนที่จะอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาในฐานที่ตั้ง จะต้องดำเนินการตรวจทางกายภาพต่อบุคคลนั้น ๆ รวมทั้ง กระเป๋าเดินทาง, สิ่งของติดตัว และพัสดุอื่น ๆ
(ท) จัดชุดลาดตระเวนทำการสุ่มตรวจค้นยานพาหนะ,บุคคลและอาคารต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้
(น) จัดการป้องกันกำลังพล และยานพาหนะของทหาร ที่ออกนอกฐานที่ตั้ง ด้วยการดำเนินการตามแผนที่จัดเตรียมไว้ สั่งการให้พลขับล็อคประตูรถเมื่อจอด และจัดระบบการตรวจสอบรถก่อนที่จะทำการบรรทุกและขับขี่
(บ) ดำเนินการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเสริม เพิ่มเติมต่อบุคคลที่มีอัตราการเสี่ยงภัย และมีความล่อแหลมสูง
(ป) ชี้แจงสรุป ต่อกำลังพลที่อาจจะมีส่วนร่วมในหน่วยยามรักษาความปลอด ภัย ในเรื่องการสั่งการ และกฎระเบียบในการใช้อาวุธและการปฏิบัติที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
(ผ) ดำเนินการสุ่มตรวจค้นยานพาหนะที่จะผ่านเข้ามาในฐานที่ตั้ง
ค. สภาวะภัยคุกคามระดับสูง
(๑) คำจำกัดความ สภาวะที่ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นแล้ว หรือการข่าวกรองระบุชี้ชัดว่ามีสิ่งบอกเหตุของการก่อการร้ายเกิดขึ้น
(๒) มาตรการที่จะนำมาใช้
(ก) ดำเนินการปฏิบัติตามขั้นตอนในสภาวะภัยคุกคามระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง หรือแนะนำเพิ่มเติมในการปฏิบัติที่ยังขาดความสมบูรณ์
(ข) จัดการให้กำลังพลทั้งหมดที่มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามแผนการต่อต้านการก่อการร้าย ได้เข้าประจำหน้าที่ในระบบเวร – ยาม
(ค) จำกัดช่องทางการเข้าสู่ฐานที่ตั้งจากภายนอก ให้เหลือน้อยที่สุด
(ง) บังคับใช้มาตรการควบคุมการเข้า และตรวจค้นยานพาหนะทุกคัน
(จ) บังคับให้ย้ายแหล่งจอดรถออกให้ไกลจากอาคารที่มีความล่อแหลมง่ายต่อการโจมตี
(ฉ) แจกจ่ายอาวุธให้กับยาม (ควรจัดทำคำสั่งเฉพาะในเรื่องการแจกจ่ายกระสุน)
(ช) เพิ่มจำนวนยามเฝ้าตรวจอาคาร
(ซ) ป้องกันจุดล่อแหลมทั้งหมดที่ได้กำหนดขึ้น และให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อจุดล่อแหลมที่ได้กำหนดขึ้นภายนอกหน่วยทหาร
(ด) จัดวางฉากขัดขวางและเครื่องกีดขวาง เพื่อควบคุมความเร็วของการจราจร
ง. สภาวะภัยคุกคามระดับสูงสุด
(๑) คำจำกัดความ สภาวะที่ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นอย่างฉับพลันในพื้นที่ หรือการข่าวกรองระบุชี้ชัดว่าจะมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ ซึ่งในสภาวะภัยคุกคามนี้จะมีการประกาศแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่
(๒) มาตรการที่จะนำมาใช้
(ก) ดำเนินการปฏิบัติตามขั้นตอนที่ผ่านมาในสภาวะภัยคุกคาม ระดับปานกลาง และระดับสูงต่อไป
(ข) เพิ่มจำนวนยามตามความต้องการ
(ค) จัดการพิสูจน์ทราบฝ่ายของยานพาหนะทุกคัน ในฐานที่ตั้งให้สมบูรณ์แน่ชัด ทั้งในพื้นที่ปฏิบัติการ และพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติตามภารกิจ
(ง) ตรวจค้นยานพาหนะทุกคันที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ หรือหน่วยทหาร รวมทั้งตรวจสิ่งที่อยู่ภายในยานพาหนะ และส่วนประกอบด้วย
(จ) ควบคุมช่องทางเข้า และใช้มาตรการเชิงรุกในการพิสูจน์ทราบบุคคลทั้งหมด
(ฉ) ตรวจค้นกระเป๋าใส่เสื้อผ้า, กระเป๋าใส่เอกสาร และหีบห่อทั้งหมดที่ถูกส่งเข้ามาภายในพื้นที่หรือฐานที่ตั้ง
(ช) บังคับใช้มาตรการควบคุมการเข้าสู่พื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งหน่วยงานที่อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบ และเอกสิทธิ์ของกองทัพฝ่ายเรา
(ซ) ทำการตรวจอย่างบ่อยครั้ง ต่อบริเวณภายนอกอาคารและสถานที่จอดรถ
(ด) ลดจำนวนการเดินทางไปราชการและการเข้าเยี่ยมชมให้เหลือน้อยที่สุด
(ต) ขอคำแนะนำปรึกษาไปยังหน่วยงานของทางราชการในเรื่องการปิดกั้นถนนสาธารณะ (หรือของทางทหาร) และสถานที่อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่อาจตกเป็นเป้าหมายหรือล่อแหลมต่อการก่อการร้าย
จ. แนวทางในการประเมินภัยคุกคาม แนวทางทั่วไปดังต่อไปนี้ จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดรูปแบบของการแจ้งเตือนสภาวการณ์เตรียมการรักษาความปลอดภัย ปัจจัยในการประเมินนี้ได้แก่.-
(๑) การปรากฏ นำปัจจัยนี้มาใช้ประเมินต่อเมื่อได้เกิดการปรากฏ หรือพิสูจน์ทราบได้ว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เพ่งเล็ง กลุ่มผู้ก่อการร้ายนั้นอาจจะยังไม่ได้ก่อภัยคุกคามต่อกองทัพของฝ่ายเราในอดีตที่ผ่านมา
(๒) ขีดความสามารถ นำปัจจัยนี้มาใช้ประเมินต่อเมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่อผลประโยชน์แห่งชาติของเราในพื้นที่เพ่งเล็ง ทั้งนี้หมายรวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ข่าวกรอง, ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่, กำลังพล และยุทโธปกรณ์ (วัตถุระเบิด, อาวุธ และกระสุน)
(๓) ประวัติศาสตร์ นำปัจจัยนี้มาใช้ต่อเมื่อกลุ่มของผู้ก่อการร้ายเคยมีประวัติความเป็นมา ในการปฏิบัติการและพฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นถึงการต่อต้านชาติของเรา หรือเคยมีการโจมตีเพื่อทำลายผลประโยชน์ชาติของเรา
(๔) แนวโน้ม นำปัจจัยนี้มาใช้ต่อเมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เคยปฏิบัติการมาแล้วในอดีต หรือปีที่ผ่านมา และมีทีท่าว่าจะยังคงดำเนินการต่อไป หรือเพิ่มความเข้มข้นขึ้น พฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ไม่จำเป็นต้องเป็นการปฏิบัติที่ใช้ความรุนแรง การโจมตีของกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่อกำลังทหาร หรือหน่วยงานของทหารของเรา อาจเป็นไปในลักษณะการคุกคามด้วยการปล่อยข่าว
(๕) การกำหนดเป้าหมาย นำปัจจัยนี้มาใช้ หากได้มีการล่วงรู้ถึงแผนหรือการแสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ในการกำหนดเป้าหมายต่อผลประโยชน์แห่งชาติ หรือหน่วยงานทางทหารของฝ่ายเรา เป้าหมายอาจเป็นแบบเจาะจงหรือไม่เจาะจงก็ได้ แต่ถ้าหากเป้าหมายไม่ใช่ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือหน่วยงานทางทหารของฝ่ายเรา ก็ไม่ควรนำปัจจัยนี้มาใช้ประเมินภัยคุกคาม การนำคำตอบทั้งหมดจากปัจจัยดังกล่าวแล้วมาผสมผสานกัน จะก่อให้เกิดภาพของสภาวะภัยคุกคามในระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นระดับต่ำ, ปานกลาง, สูง หรือสูงสุด แนวทางเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เฉพาะการประเมินภัยคุกคามของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มีต่อผลประโยชน์แห่งชาติ หรือหน่วยงานทางทหารของเรา
ฉ. กรรมวิธีในการรายงานสภาวะภัยคุกคาม เป็นความรับผิดชอบของ ผบ.หน่วยที่นำ กำลังออกไปตั้งฐานที่มั่นภายนอก ที่จะต้องวางระบบการรายงานสภาวะภัยคุกคามไปยังหน่วยเหนือ ตามสายการบังคับบัญชาโดยพลัน ระบบดังกล่าวนี้จะทำให้กองทัพบกและผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ได้รับข่าวสารข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการต่อต้านการก่อการร้าย และสามารถแบ่งสรรทรัพยากรให้กับหน่วยตามความจำเป็น และความสำคัญได้อย่างถูกต้อง (ดูรายละเอียดในการใช้กฎและกรรมวิธีการรายงาน)
๓ - ๑๐ การตอบโต้การก่อการร้าย
การตอบโต้การก่อการร้าย หมายรวมถึง การใช้มาตรการเต็มรูปแบบในอันที่จะป้องกัน, ขัดขวาง และสนองตอบการก่อการร้าย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการต่อสู้กับการก่อการร้าย ต้องใช้การเตรียมการอย่างละเอียดรอบคอบ และการวางแผนตอบโต้ในรายละเอียด รวมทั้ง มาตรการสนองตอบที่ได้กำหนดขึ้นในแผนการปฏิบัติการตอบโต้การก่อการร้าย ประเภทของหน่วยกำลังรบ และความสัมพันธ์ทางการควบคุมบังคับบัญชาที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติการตอบโต้การก่อ การร้าย ขึ้นอยู่กับพื้นที่ประเภทของการก่อการร้าย และระดับความต้องการการใช้กำลัง ข้อพิจารณาในการใช้กำลังจะเป็นไปตามกรอบข้อบังคับตามกฎหมาย และข้อจำกัดทางการเมือง การปฏิบัติการทางทหารด้วยกำลังของฝ่ายเรา เพื่อตอบโต้การก่อการร้ายในบางกรณี อาจจำเป็นต้องใช้หน่วยกำลังรบตามแบบ แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยกำลังรบเหล่านี้มักจะได้รับการสนับสนุน หรือรับการสมทบด้วยหน่วยที่มีการจัดพิเศษ, มียุทโธปกรณ์พิเศษ และหน่วยที่ได้รับการฝึกเป็นพิเศษ ในด้านการปฏิบัติการตอบโต้การก่อการร้าย ผู้บังคับหน่วยที่จะเข้าปฏิบัติการตอบโต้การก่อการร้าย จะต้องมั่นใจว่าหน่วยของตนได้รับการจัดให้มีส่วนต่าง ๆ ที่มีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจเฉพาะในเรื่อง.-
ก. การข่าวกรอง การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ และการจัดหน่วยที่เหมาะสม ตลอดจนแผนงานการรวบรวมข่าวกรอง เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะใช้พิสูจน์ทราบภัยคุกคาม และจัดรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคาม (รายละเอียดในบทที่ ๖) ทั้งนี้จะครอบคลุมถึงการประเมินขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อการร้าย, ยุทธวิธี และยุทธศาสตร์
ข..การเจรจาต่อรอง เมื่อพิจารณาในแง่มุมของกฎหมาย และการเมืองแล้ว จะเห็นว่าการเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย มักจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นของ รัฐบาล หรือชาติเจ้าบ้าน
ค. การช่วยชีวิตตัวประกัน กำลังพลภายในหน่วย และหน่วยจะต้องได้รับการจัดพิเศษ มียุทโธปกรณ์พิเศษ และได้รับการฝึกพิเศษ จะได้รับภารกิจให้ช่วยชีวิตและป้องกันตัวประกัน
ง. การบุกเข้าจู่โจมผู้ก่อการร้าย วัตถุประสงค์ตามนโยบายของชาติก็คือ การป้อง
ปรามการก่อการร้าย โดยใช้การปฏิบัติการต่อต้านมิให้ผู้ก่อการร้ายบรรลุเป้าหมาย เมื่อมีความจำเป็นแล้วก็มักจะใช้กำลังทหารของฝ่ายเราเข้าปฏิบัติการ ซึ่งอาจมอบภารกิจให้กับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง เช่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษ, หน่วยรบพิเศษ หรือหน่วยกำลังรบตามแบบ หรืออาจใช้หน่วยดังกล่าวผสมผสานกัน หากใช้กำลังของหน่วยปฏิบัติการพิเศษแล้ว ผบ.หน่วยทหารยังจำเป็นต้องวางแผนจัดตั้งการรักษาความปลอดภัยในวงรอบชั้นในด้วยหน่วยสารวัตรทหาร และยังวางการรักษาความปลอดภัยในวงรอบชั้นนอกด้วยกำลังทหาร และส่วนปฏิบัติการตอบโต้พิเศษ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นต่างหากในพื้นที่รับผิดชอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น