วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความพร้อมรบและการเตรียมพร้อม

สภาพแวดล้อมพิเศษ


ความพร้อมรบและการเตรียมพร้อมของกองทัพบก จะถูกดำรงรักษาให้คงอยู่เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมพิเศษ ซึ่งอาจต้องเผชิญโดยไม่คาดคิด ในตอนที่ ๕ นี้ จะประกอบด้วยโครงสร้างของข้อพิจารณาเพื่อประยุกต์หลักนิยมใช้กับการปฏิบัติการในสภาพพิเศษ เช่น ในป่าทึบ, ทะเลทราย, ภูเขา, สภาพอากาศหนาวจัด และในสภาพภูมิประเทศที่เป็นเมืองหรือชุมชน

๗ - ๒๒ ป่าทึบ

ภูมิภาคที่เป็นป่าทึบในทวีปเอเซีย, อาฟริกา และในครึ่งซีกโลกทางด้านตะวันตกจะเป็นสนามรบที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก ป่าจะมีสภาพแตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งป่าในเขตร้อนชื้นใกล้ศูนย์สูตร ป่าที่เกิดใหม่ และป่าที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขัง จนถึง ป่าซาวันนาในเขตร้อน สภาพโดยทั่วไปในพื้นที่ที่เป็นป่า จะมีพืชพันธุ์ไม้หนาทึบ, อุณหภูมิค่อนข้างสูงคงที่และมีความชื้น อีกทั้งมีฝนตกหนัก การปฏิบัติการทางทหารในป่าทึบจะมีผลกระทบจากปัจจัย ๒ ประการ คือ สภาพภูมิอากาศและพืชพันธุ์ไม้ ปัจจัยทั้งสองผสมกันจะจำกัดความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่, การตรวจการณ์, พื้นที่การยิง, การติดต่อสื่อสาร และการปฏิบัติเพื่อรวบรวมข่าวกรองในสนามรบ นอกจากนี้ปัจจัยดังกล่าวยังจำกัดการปฏิบัติการยุทธ์ และการดำรงขีดความสามารถของหน่วย ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษที่เหมาะสมในการลดผลกระทบเหล่านั้น (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐ - ๕)

๗ - ๒๓ ทะเลทราย

พื้นที่ทะเลทรายหลายแห่งในโลก เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศมหาอำนาจ และมีความจำเป็นที่ประเทศเหล่านั้นต้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการในทะเลทรายให้กับทหารในกองทัพ ทะเลทรายอาจเป็นพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง หรือพื้นที่แห้งแล้งเต็มที่ จำนวนน้ำที่พอเพียงเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการวางแผนและการปฏิบัติการในทะเลทราย ทะเลทรายอาจมีสภาพอากาศที่หนาวจัดและร้อนจัดในแต่ละช่วงเวลา และอาจมีทัศนวิสัยดี หรือทัศนวิสัยที่เลวมากจากพายุทราย, แจ้งจัดหรือมีฝนตกทันทีทันใด, ขาดแคลนน้ำ หรืออาจมีน้ำท่วมฉับพลัน นอกจากนี้ยังอาจมีสภาพการจราจรที่ดี หรือเป็นเครื่องกีดขวางของกำลังทั้งสองฝ่าย ลักษณะบางประการของการปฏิบัติการยุทธ์ในทะเลทราย จะประกอบด้วย การใช้หน่วยทหารขนาดใหญ่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว, มีการตรวจการณ์ที่ดี และมีพื้นการยิงกว้างไกล จำเป็นต้องใช้การลวง และมักไม่ค่อยมีภูมิประเทศสำคัญ (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐ - ๓)

๗ - ๒๔ ภูเขา

พื้นที่ที่เป็นภูเขามีอยู่ทั่วไปในโลก ตั้งแต่แถบขั้วโลก จนถึงเขตร้อน ภูเขามีอิทธิพลและผลกระทบต่อการปฏิบัติการทางทหารอย่างมาก การปฏิบัติการในพื้นที่ที่เป็นภูเขาจะมีลักษณะพิเศษ คือ จำกัดระยะยิงของอาวุธกระสุนวิถีราบ, มีความจำเป็นในการใช้การยิงแบบเล็งจำลองมากยิ่งขึ้น, ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่จะอยู่ที่การใช้พื้นที่ราบหรือหุบเขา, มีการสู้รบแบบกระจายกำลัง, มีความจำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการบนพื้นที่สูงมากกว่าการปฏิบัติการบนเส้นหลักการคมนาคม และขีดความสามารถในการบังคับบัญชาและควบคุม จะลดน้อยลง (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐ - ๖)

๗ - ๒๕ สภาพแวดล้อมในแถบพื้นที่อากาศหนาวจัด

สภาพแวดล้อมในแถบพื้นที่อากาศหนาวจัด ก็มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการทางทหารอย่างมากเช่นเดียว ในฤดูหนาวจะมีลักษณะพิเศษ คือ ช่วงเวลากลางคืนยาวนาน, อากาศเย็นจัด และมีหิมะปกคลุมหนาและลึก ซึ่งจะลดขีดความสามารถในการใช้อาวุธ เนื่องจากความแข็งและเปราะของพื้นผิว, มีน้ำแข็งและละอองน้ำอยู่รอบ ๆ ศูนย์ปืนหรือกล้องเล็ง และมีน้ำแข็งจับเกาะตามเสาอากาศวิทยุ หรือเข้าไปเกาะในไส้กรองอากาศของเครื่องยนต์ สภาพอากาศหนาวจัดทำให้การปฏิบัติกิจต่าง ๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า แม้แต่กิจขั้นพื้นฐานก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีผลทางด้านลบต่อสุขภาพและขวัญของทหาร (ดูรายละเอียดใน รส.๓๑ - ๗๑)

ตอนที่ ๖

การสนับสนุนจากหน่วยทหารสารวัตร

หน่วยทหารสารวัตรสามารถเข้าร่วมปฏิบัติการในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปฏิบัติหน้าที่และภารกิจเช่นเดียวกับยามปกติ หน่วยทหารสารวัตรจะปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจและสารวัตรทหารของประเทศเจ้าบ้าน หน่ายสารวัตรทหารสามารถจะปฎิบัติการลาดตระเวนเฝ้าตรวจได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นเครื่องมือหรือแหล่งรวบรวมข่าวกรองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการจัดหน่วยและยุทธปกรณ์เพื่อปฎิบัติการควบคุมการใช้เส้นทางการจราจรในพื้นที่การรบ การรักษาความปลอดภัยเป็นพื้นที่ การควบคุมเชลยศึกและการปฏิบัติการตามกฎหมายและคำสั่ง ทหารสารวัตรสามารถเข้าปฎิบัติบัติหน้าที่ในฐานะของหน่วยกองกำลังในการพิทักษ์หน่วย และในบทบาทของการระวังป้องกัน

๗–๒๖ ภารกิจ

หน่วยทหารสารวัตรมีความเหมาะสมในกิจเฉพาะมากมายในแต่ละประเภทของการ :

ก. การปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ซึ่งประกอบด้วย.-

(๑) การปฏิบัติการแบบตำรวจ

(๒) การปฏิบัติการตรวจค้น หน่วยทหารสารวัตรจะปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น โดยปฏิบัติหรือกำกับดูแลชุดตรวจค้น, การรักษาความปลอดภัยบุคคลหรือทรัพย์สินที่ยึดมาได้ และการส่งกลับเชลยศึก

(๓) การจัดตั้งจุดตรวจและจุดปิดกั้นถนน

(๔) การตรวจค้นในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง

(๕) การควบคุมการก่อจลาจลหรือฝูงชน

(๖) การเข้าตีโฉบฉวย

(๗) การลาดตระเวนเฝ้าตรวจ

(๘) การซุ่มโจมตี

(๙) การป้องกันฐานที่มั่น

(๑๐) การระวังป้องกันเส้นหลักการคมนาคม โดยการลาดตระเวนตามถนนและพื้นที่, จัดตั้งตำบลควบคุมการจราจร, คุ้มกันขบวนยานยนต์ และการลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบของตน หน่วยทหารสารวัตรสามารถเข้าทำการสู้รบกับกำลังส่วนย่อยของข้าศึกและสามารถปฏิบัติการเป็นส่วนตรึงกำลังไว้จนกว่าหน่วยรบจะเข้ามาถึงพื้นที่

(๑๑) การควบคุมประชาชนและทรัพยากร การปฏิบัติการในสถานการณ์การก่อความไม่สงบ อาจจำเป็นต้องใช้การปฏิบัติในลักษณะของตำรวจมากยิ่งขึ้น หน่วยทหารสารวัตรสามารถควบคุมประชาชนและแหล่งทรัพยากรของประเทศเจ้าบ้านได้ ซึ่งประกอบด้วย การแยกคัดเลือกบุคคล, การพิสูจน์ทราบบุคคล, การจัดทำทะเบียนควบคุม, การปราบปรามโดยใช้เคอร์ฟิวส์, การปฏิบัติการลาดตระเวนและจัดตั้งจุดตรวจ และการสืบสวนคดีอาชญากรรม

(๑๒) การดำเนินการเกี่ยวกับเชลยศึก หน่วยทหารสารวัตรดำเนินกรรมวิธี, ระวังป้องกัน และส่งกลับเชลยศึกและผู้ลี้ภัย โดยปฏิบัติตามหลักการใน รส.๑๙ - ๔๐, ตามคำสั่งของกองทัพบก และตามข้อตกลงของประเทศเจ้าบ้าน

(๑๓) การปฏิบัติการด้านการข่าวกรอง เนื่องจากการปฏิบัติของกองโจรมักจะมีส่วนคาบเกี่ยวกับอาชญากรรม ดังนั้น การปฏิบัติการแบบตำรวจของสารวัตรทหารจะสามารถพัฒนาระบบการข่าวและเครือข่ายของการข่าวได้ ซึ่งในการนี้จะสามารถผลิตข่าวกรอง และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้

ข. การต่อสู้กับการก่อการร้าย ซึ่งประกอบด้วย.-

(๑) การรักษาความปลอดภัยวัตถุและสถานที่

(๒) การรักษาความปลอดภัยการปฏิบัติการ

(๓) การรักษาความปลอดภัยบุคคล หน่วยทหารสารวัตรจะจัดการรักษาความปลอดภัยทางภายภาพให้กับบุคคลและฐานที่มั่น ซึ่งอาจหมายรวมถึง ชุมชนที่ได้รับมอบหมายด้วย

ค. การรักษาสันติภาพ ซึ่งประกอบด้วย.-

(๑) การแสดงกำลัง

(๒) การตีโฉบฉวย

(๓) การปฏิบัติการอพยพเคลื่อนย้ายในสภาพที่มิใช่การรบ

(๔) การรักษาสันติภาพ

(๕) การช่วยชีวิตและการกู้ภัย

(๖) การสนับสนุนหน่วยงานพลเรือน

๗ - ๒๗ การจัดหน่วย

โดยทั่วไปแล้ว หน่วยระดับกรมจะได้รับหนึ่งหมวดสารวัตรทหารขึ้นสมทบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อาจมีการจัดหน่วยทหารสารวัตรจากกองร้อยสารวัตรทหารของกองพลมาขึ้นสมทบเพิ่มมากขึ้นได้ ในทำนองเดียวกันอาจมีการจัดสารวัตรทหารจากกองทัพน้อยมาขึ้นสมทบ ขนาดและการประกอบกำลังจะขึ้นอยู่กับ :

• ภารกิจและขนาดของกองกำลังเผชิญเหตุ

• ท่าทีของประชาชนในท้องถิ่น

• จำนวนและการใช้เส้นหลักการคมนาคม

• คุณภาพของเส้นหลักการส่งกำลังบำรุง, ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นเส้นทางย่อย ๆ ต่อระยะออกไป และมีจุดควบคุมมากมาย

• ความยากง่ายในการเข้าถึงสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นถึงขั้นวิกฤติ

• จำนวนของสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสูงสุด และตำบลส่งกำลังที่ต้องการการระวังป้องกัน

• ชนิดของภูมิประเทศ

๗ - ๒๘ ชุดสุนัขทหาร

ชุดสุนัขทหารสามารถให้การสนับสนุนได้ในทุกประเภทของสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ สุนัขทหารมีการแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ สุนัขยามลาดตระเวน, สุนัขลาดตระเวน/ค้นหายาเสพติด และสุนัขลาดตระเวน/ค้นหาวัตถุระเบิด

ก. สุนัขยามลาดตระเวน เป็นสุนัขที่สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบที่สุดในบรรดาสุนัขทหาร ด้วยการประกอบกำลังและจัดให้มีการควบคุมได้ตลอดเวลา สุนัขยามเหล่านี้สามารถปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชนได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะใช้สายจูงหรือไม่ใช้ก็ตาม สุนัขยามจะปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีลักษณะตามธรรมชาติที่ค่อนข้างเข้ากับผู้คนได้ดี, แต่สุนัขยามก็สามารถสืบค้นและแยกแยะผู้ที่เป็นอาชญากรทั้งในภารกิจการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ และในสถานการณ์ของการปราบปรามตามกฎหมาย พวกมันจะเข้าทำร้ายบุคคลตามคำสั่งของผู้บังคับสุนัข และสามารถถูกเรียกกลับมาจากการบุกเข้าทำร้ายได้ สุนัขยามได้ถูกฝึกมาเพื่อสืบค้นและค้นหาบุคคลที่แปลกปลอม หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาภายในอาคาร หรือในพื้นที่เปิด และสุนัขยามบางตัวก็สามารถดมกลิ่นหรือสะกดรอยคนร้ายได้ สุนัขยามและผู้บังคับสุนัขจะได้รับการฝึกร่วมกันในศูนย์ฝึกสุนัขทหาร ผู้บังคับสุนัขจะได้รับการฝึกเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ ในเรื่องการดูแลสุนัขยาม

(๑) การฝึก

(ก) พื้นฐานการเชื่อฟัง - การนั่ง, การรอ, การเดินตาม, การหมอบ และอื่น ๆ

(ข) การฝึกระเบียบแถว - การปฏิบัติตามระเบียบวินัยร่วมกับสุนัขอื่น ๆ หรือ ผู้บังคับสุนัข

(ค) การลาดตระเวน - การค้นหาในพื้นที่ป่าหรือในสนาม และการเตือนให้ผู้บังคับสุนัขได้ล่วงรู้ถึงการเข้ามาของผู้บุกรุก

(ง) การทำร้ายและการทำให้หวาดกลัว - เพื่อตอบโต้การปฏิบัติของผู้บุกรุกหรือ ฝ่ายศัตรู ตามคำสั่งของผู้บังคับสุนัขที่สั่งให้เข้าโจมตี

(จ) การค้นหาภายในอาคาร - การค้นหาภายในตัวอาคารโดยใช้สายจูงหรือ/ไม่ใช้ และเข้าโจมตีทันทีเมื่อค้นพบผู้บุกรุก

(ฉ) การสะกดรอย - การตามกลิ่นของบุคคล, ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง, ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิประเทศใดก็ตาม

(ช) การปฏิบัติเมื่อเกิดการยิงปืน- ฝึกให้สุนัขทหารมีปฏิกริยาที่ไวต่อเสียงปืน โดยจะปฏิบัติในทรงตรงกันข้าม หรือหลบหลีกภัย ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืนของผู้บังคับสุนัขหรือผู้อื่น

(ซ) การลาดตระเวนบนยานพาหนะ - ฝึกให้สุนัขยามอยู่บนยานพาหนะอย่างสงบเงียบในขณะที่ผู้บังคับสุนัขกำลังขับขี่ยานพาหนะนั้นอยู่ โดยที่สุนัขยามจะไม่แสดงอาการดุร้ายต่อผู้คนอื่น ๆ

(๒) การใช้งาน

(ก) การเข้ายาม - เดินยามหรือเคลื่อนที่ไปกับยานพาหนะ, ปฏิบัติการเมื่อเกิดสัญญาณแจ้งเตือนภัย, ตรวจสอบในพื้นที่ที่มีการระวังป้องกันอย่างเข้มงวด และอื่น ๆ

(ข) การตรวจค้นภายในอาคาร - ค้นหาผู้บุกรุกได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัยมากกว่าใช้สารวัตรทหาร

(ค) การควบคุมฝูงชน - ให้อยู่นอกระยะสายตาจนกว่าจะต้องการใช้งาน, สุนัขยามเหล่านี้สามารถใช้ปฏิบัติงานได้เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรง

(ง) การสะกดรอย/การลาดตระเวน - ค้นหาผู้สูญหาย, ผู้บาดเจ็บ, ผู้หลงทาง, นักโทษ, เชลยศึก หรืออาชญากรที่กำลังหลบหนี

(จ) งานด้านกิจการพลเรือน - ใช้ในการแสดงบขีดความสามารถและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน

(๓) วิธีการแจ้งเตือน

(ก) ในการตรวจค้นภายในอาคาร-ฝึกให้บุกเข้าทำร้าย, ขู่คำราม, เห่า และอื่น ๆ

(ข) การลาดตระเวน - ฝึกให้แจ้งเตือนให้ผู้บังคับสุนัขทราบถึงการเข้ามาของผู้บุกรุก โดยมิให้ผู้บุกรุกรู้สึกตัว

ข. สุนัขลาดตระเวน/ค้นหายาเสพติด สุนัขทหารประเภทนี้เป็นสัตว์ที่มีความชำนาญอย่างสูง ซึ่งภารกิจของพวกมัน คือการสืบค้นแหล่งซุกซ่อน หรือการขนย้าย กัญชา, เฮโรอีน และสารอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน สุนัขประเภทนี้เป็นสัตว์ที่มีคุณค่า ทั้งนี้เนื่องจากได้ถูกฝึกมาในขั้นแรกให้ทำหน้าที่สุนัขยาม ดังนั้น พวกมันจึงสามารถปฏิบัติงานได้เช่นเดียวกับสุนัขยาม และยังปฏิบัติงานบางอย่างได้มากกว่า สุนัขทหารประเภทนี้จะได้รับการฝึกร่วมกับผู้บังคับสุนัขที่ศูนย์ฝึกสุนัขทหาร ผู้บังคับสุนัขจะได้รับการฝึกเป็นเวลา ๔ สัปดาห์ ในเรื่องวิธีการตรวจค้น, กลิ่นของยาเสพติดที่แตกต่างกัน และคุณลักษณะของยาเสพติด, การแจ้งเตือนของสุนัข และอื่น ๆ ถึงแม้ว่าผู้บังคับสุนัขจะได้รับการฝึกอย่างช่ำชองที่ศูนย์ฝึก แต่สุนัขและผู้บังคับสุนัขจะต้องได้รับการฝึกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงรักษาทักษะและความชำนาญ

(๑) การฝึก สุนัขลาดตระเวน/ค้นหายาเสพติด จำเป็นต้องได้รับการฝึกเพื่อดำรงรักษาทักษะ และความชำนาญในการปฏิบัติทุกลักษณะของสุนัขยาม และเพิ่มเติมในเรื่องการสืบค้นด้วยการ ดมกลิ่น :

• กัญชา

• เฮโรอีน

• โคเคน

• ฝิ่น

(๒) การใช้งาน สุนัขลาดตระเวน/ค้นหายาเสพติด มีทักษะและความชำนาญในทุกลักษณะการปฏิบัติของสุนัขยามลาดตระเวน และยังสามารถสืบค้นหาสิ่งของต้องห้าม หรือสิ่งอุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้ามโดยใช้การปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกับการค้นหายาเสพติด

(๓) ภารกิจ

(ก) ภารกิจการค้นหายาเสพติดจะถูกจัดทำเป็นตารางเวลาการปฏิบัติและมอบให้กับผู้บังคับสุนัข

(ข) ชุดสุนัขทหารค้นหายาเสพติดจะเดินทางไปยังหน่วย เพื่อรับภารกิจ และรายงานตัวกับผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร เพื่อดำเนินการชี้แจง บรรยายสรุป

(ค) จากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการค้นหายาเสพติด

(ง) เมื่อสุนัขมีท่าทีแจ้งเตือนในบริเวณห้องใดห้องหนึ่งหรือบ่อน้ำพุหรืออื่นๆ ผู้บังคับสุนัขจะต้องรีบแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อรับอนุมัติให้ปฏิบัติภารกิจการค้นหา หรือปฏิเสธภารกิจนั้น

(จ) หากได้รับการอนุมัติให้ทำการตรวจค้นในพื้นที่นั้น การตรวจค้นจะเริ่ม

ดำเนินการโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

(ฉ) หากไม่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการตรวจค้น, ภารกิจก็จะถูกยกเลิก

(๔) ประเภทของการแจ้งเตือน

(ก) การปฏิบัติเชิงรับ - เมื่อพบสิ่งที่ต้องสงสัย, สุนัขลาดตระเวนจะถูกฝึกให้นั่งรอ ณ จุดนั้น เพื่อรอผู้บังคับสุนัข

(ข) การปฏิบัติเชิงรุก - เมื่อพบสิ่งที่ต้องสงสัย, สุนัขลาดตระเวนจะถูกฝึกให้เข้าทึ้ง และกัดบริเวณนั้น

ค. สุนัขลาดตระเวน/ค้นหาวัตถุระเบิด สุนัขลาดตระเวนประเภทนี้จะมีประสาทสัมผัสพิเศษในเรื่องการดมกลิ่น และถูกฝึกให้สามารถแยกแยะกลิ่นของวัตถุระเบิดชนิดต่าง ๆ ได้มากมาย สุนัขลาดตระเวนประเภทนี้จะถูกคัดเลือกมาจากสุนัขยามลาดตระเวน และผ่านการฝึกพิเศษ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานที่ยากลำบากนี้ได้ สุนัขลาดตระเวนประเภทนี้และผู้บังคับสุนัขจะได้รับการฝึกเป็นชุดปฏิบัติการร่วมกัน ณ ศูนย์ฝึกสุนัขทหาร ทั้งนี้จะต้องได้รับการฝึกจนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อย ๙๕ เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้น

(๑) การฝึก สุนัขลาดตระเวน/ค้นหาวัตถุระเบิด จำเป็นต้องมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานในลักษณะของสุนัขยามลาดตระเวน และเพิ่มเติมด้วยขีดความสามารถในการค้นหาวัตถุระเบิดชนิดต่าง ๆ

(๒) การใช้งาน สุนัขลาดตระเวน/ค้นหาวัตถุระเบิด จะมีขีดความสามารถและถูกใช้งานในลักษณะเดียวกับสุนัขยามลาดตระเวน และสามารถใช้ตรวจค้นวัตถุระเบิดเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานทั้งของสารวัตรทหาร และชุมชนพลเรือน สุนัขลาดตระเวนประเภทนี้ยังสามารถใช้ในภารกิจการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ, รักษาความปลอดภัยตำบลจ่าย, คุ้มกันการเคลื่อนย้ายเงิน และอื่น ๆ

(๓) ประเภทของการแจ้งเตือน ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนหลายประการ สุนัขลาดตระเวน/ค้นหาวัตถุระเบิดจึงถูกฝึกให้ใช้การแจ้งเตือนด้วยการปฏิบัติเชิงรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น