วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การรักษาสันติภาพ

บทที่ ๔


การรักษาสันติภาพ

“การรักษาสันติภาพไม่ใช่งานของทหาร, แต่ทหารเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติงานนี้ได้”

สมาชิกนิรนาม

กองกำลังรักษาสันติภาพ

การปฏิบัติภารกิจการรักษาสันติภาพนั้น มุ่งสู่การขจัดความขัดแย้งที่มีอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาค กำลังทหารของกองทัพเรามักจะได้รับมอบหมายให้เข้าปฏิบัติภารกิจการรักษาสันติภาพ ตามมติขององค์การระหว่างประเทศ ในลักษณะของการปฏิบัติภารกิจร่วมกับกำลังทหารของชาติอื่น หรือการปฏิบัติภารกิจร่วมแบบพหุภาคี รายละเอียดในบทนี้จะเป็นเรื่องของการใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ซึ่งจะกล่าวถึงการเริ่มต้นของการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ, การควบคุม, การวางแผน, การปฏิบัติการ และการสนับสนุน นอกจากนี้แล้วยังนำเอาภารกิจย่อยที่หน่วยทหารของกองกำลังรักษาสันติภาพอาจจำเป็นต้องปฏิบัติมาเทียบเคียงกับยุทธวิธี,วิธีการ และระเบียบการต่างๆ เพื่อกำหนดเป็นกิจเฉพาะและกิจแฝงในการรักษาสันติภาพ



ตอนที่ ๑

การจัดตั้งและงานขั้นแรกของการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

ตอนที่ ๑ นี้จะกล่าวถึงหลักการควบคุมในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ, สถานะทางกฎหมาย, การใช้กำลังทหาร, การปฏิบัติการตอบสนองภารกิจการรักษาสันติภาพ, ข้อพิจารณาทางการเมือง และการควบคุมบังคับบัญชา เนื่องจากภารกิจการรักษาสันติภาพส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ UN ข้อความในบทนี้จึงจำเป็นต้องมีการกล่าวอ้างถึง UN เสมอ

๔ - ๑ สภาพแวดล้อม

คุณสมบัติสำคัญของกองกำลังรักษาสันติภาพในข้อ ความเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นไม่สามารถทำให้กองกำลังเข้าไปปฏิบัติภารกิจได้โดยทันทีในทุกประเทศทั้งนี้เนื่องจากการปฏิบัติการรักษาสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ภายหลังการเจรจาเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพแล้วเท่านั้น

ก. การเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การปฏิบัติการนี้ อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความคลุมเครือ, ต้องการให้กองกำลังรักษาสันติภาพเข้าดำเนินการต่อความตึงเครียด และความขัดแย้งที่รุนแรง โดยไม่เข้าร่วมเป็นคู่กรณีเสียเอง การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ มักจะเกิดขึ้นภายหลังการเจรจาทางการทูต (โดยคู่กรณีเข้าร่วมเจรจาด้วย) และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพ โดยแสดงถึงขอบเขตในการปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการมีอำนาจบังคับและห้ามปราม นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าชาติใดจะส่งกำลังทหารเข้าร่วมและมีขนาดของหน่วย ประเภทของกำลังทหารในแต่ละเหตุการณ์ ดังนั้นการรักษาสันติภาพในแต่ละครั้ง จึงมีลักษณะเฉพาะตัวของมันเอง การเข้าร่วมในปฏิบัติการนี้ อาจเป็นไปในลักษณะของการส่งกำลังทหารเข้าไปร่วม หรือส่งกำลังพลเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์

ข. กิจเฉพาะ ภารกิจที่ชัดเจน, มีขอบเขตแน่ชัด และสามารถปฏิบัติได้จริงเท่านั้นที่สมควรจะมอบให้กองกำลังรักษาสันติภาพเป็นผู้ปฏิบัติ รายงานของเลขาธิการใหญ่จะอธิบายถึงระบบงานในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ โดยการรับรองจากสภาความมั่นคง ภารกิจดังกล่าวจะถูกดำเนินการโดยลักษณะธรรมชาติของการปฏิบัติการ และพยายามที่จะ.-

(๑) ป้องกันการกลับเข้าสู่สภาวการณ์สู้รบของคู่กรณี

(๒) กำหนดและจัดตั้งกฎ ข้อบังคับและคำสั่ง รวมทั้งการนำเข้าสู่สภาพการณ์ปกติ

(๓) คุ้มกันการถอนกำลังติดอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาต ออกจากพื้นที่

(๔) เพื่อจัดตั้งพื้นที่เขตกันชนระหว่างประเทศคู่กรณี และป้องกันการเกิดเหตุพิพาทกัน

(๕) เพื่อผลักดันกำลังทหารของประเทศที่เข้ายึดครองออกจากพื้นที่ และใช้กองกำลังของ UN เข้ารักษาการณ์แทน

(๖) เพื่ออำนวยให้กองกำลังตำรวจของ UN เข้ารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่มีประชากรของทั้งสองประเทศอยู่ปะปนกัน นอกพื้นที่เขตกันชน แต่อยู่ในเขตของประเทศใดประเทศหนึ่ง

(๗) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายทหารติดต่อพร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์ทางทหารของ UN ได้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลังในการตรวจสอบ และทำความตกลงในการจำกัดอาวุธในพื้นที่ติดกับเขตกันชน

ค. ภาวะการสิ้นสุด ถึงแม้ว่าจะมีข้อยกเว้นตามที่กล่าวมาแล้ว แต่กองกำลังรักษาสันติภาพก็จะมีอำนาจหน้าที่อยู่ในห้วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น มิได้มีอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เนื่องจาก.-

(๑)สภาความมั่นคงมีความปรารถนาจะดำรงรักษาการควบคุมอย่างแน่นแฟ้นในทางการเมือง

(๒) ประเทศสมาชิกที่ร่วมกันจ่ายงบประมาณ และประเทศเจ้าบ้านต้องการที่จะให้ข้อตกลงตามสัญญาได้มีการสิ้นสุดลง

(๓) ประเทศสมาชิกที่ร่วมกันจ่ายงบประมาณ ในกรณีที่ประเทศสมาชิกของ UN ร่วมกันส่งกำลังทหารในการดำเนินการนั้น ต้องการดำรงรักษาการควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลาย

๔ - ๒ กฎข้อบังคับ

มีกฎข้อบังคับอยู่ ๘ ประการ เป็นปัจจัยในการกำหนดหลักนิยมพื้นฐานสำหรับกองกำลังรักษาสันติภาพ

ก. การยอมรับ การแสดงออก และระดับของการยอมรับ จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของกองกำลัง คู่กรณีจะแสดงออกถึงความต้องการที่จะยุติความขัดแย้ง หรือการไม่ยอมรับการปฏิบัติการของกองกำลัง ประเทศที่ส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการจำเป็นต้องยอมรับการปฏิบัติตามภารกิจนั้นเพื่อประโยชน์ของตนด้วย หรืออาจจะจำกัดขอบเขตการใช้กำลังทหารของตนผ่านทางกฎของการปะทะ (ROE) หรือข้อตกลงที่ใช้อ้างอิง การยอมรับนี้จะต้องเกิดขึ้นในรัฐที่จะได้รับประโยชน์นั้นด้วย รัฐเหล่านั้นอาจให้การสนับสนุนกองกำลัง หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องยินยอมในการละเว้นปฏิบัติการที่จะขัดขวางความสำเร็จของกองกำลังรักษาสันติภาพ กฎของการยอมรับนี้จะถูกนำไปใช้ร่วมกับกฎข้ออื่น ๆ

ข. ความเป็นกลาง กฎข้อนี้จะเป็นตัวเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดกับการยอมรับ ในทางอุดมคติแล้ว ประเทศที่ส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการ ควรจะมีสถานะของความเป็นกลางต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีผลประโยชน์ในเหตุการณ์อาจส่งกำลังทหารเข้าร่วมก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการยินยอม หรือยอมรับจากประเทศคู่กรณี เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถานะแห่งความเป็นกลาง, กองกำลังรักษาสันติภาพจะต้องพยายามดำรงไว้ซึ่งบรรยากาศแห่งความเที่ยงตรงและท่าที ตลอดจนการปฏิบัติที่ไม่เอนเอียง

ค. ความสมดุล ความสมดุลนี้หมายถึง สภาพทางภูมิศาสตร์, ทางการเมือง และองค์ประกอบในระบบงานของกองกำลังรักษาสันติภาพ ความสมดุลเป็นระบบของการยอมรับ ประเทศคู่กรณีอาจยื่นข้อเสนอให้กองกำลังรักษาสันติภาพจัดกำลังจากประเทศที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย, มี ความเสมอภาคทางภูมิรัฐศาสตร์

ง. การควบคุมและบริหารแบบเอกภาพ การแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคล หรือองค์กรใดเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ได้ผลนั้นขึ้นอยู่กับการควบคุมและบริหารแบบเอกภาพต่อการปฏิบัติการ การควบคุมและบริหารดังกล่าวจะดำเนินการ ณ จุดของการพบกันระหว่างโครงสร้างของการรักษาสันติภาพ และส่วนประกอบหลักซึ่งเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติ และแต่งตั้งผู้บริหาร ตัวอย่างเช่น หาก UNเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการ,เลขาธิการใหญ่จะเป็นผู้บริหารแบบเอกภาพ

จ. การปฏิบัติในลักษณะประนีประนอม เป็นการปฏิบัติใด ๆ ก็ตามที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ถาวรและยั่งยืน ในขณะที่กองกำลังรักษาสันติภาพปฏิบัติการเพื่อให้สถานการณ์มีเสถียรภาพ กิจกรรมใด ๆ ที่กองกำลังรักษาสันติภาพปฏิบัติไปเพื่ออำนวยความสะดวก และก่อให้เกิดความปรองดองกันในระหว่างประเทศคู่กรณี จะยังผลให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระยะยาวได้

ฉ. การให้การสนับสนุนโดยมิใช่การอุปถัมภ์ องค์การหรือกลุ่มประเทศให้การช่วยเหลือในการจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพ ควรจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ โดยสอดคล้องกับข้อบัญญัติในการจัดตั้งกองกำลัง การสนับสนุนดังกล่าวอาจเป็นไปในรูปของ งบประมาณ, การส่ง กำลังบำรุง หรือทางด้านการเมือง ทั้งนี้จะต้องเน้นหนักในด้านการได้รับความยินยอม เป็นที่ยอมรับ และความเป็นกลาง กลุ่มผู้ให้การสนับสนุนควรจะปล่อยให้กองกำลังรักษาสันติภาพปฏิบัติการได้อย่างมีเสรี ภายในกรอบของนโยบาย และไม่เข้าแทรกแซงโดยไม่จำเป็น

ช. การเคลื่อนที่ได้อย่างมีเสรี กำลังทั้งหมดในกองกำลังรักษาสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใด จะต้องได้รับหลักประกันให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างมีเสรี โดยไม่ต้องใช้การปกปิด หรือหลบซ่อน ทั้งนี้จะเคลื่อนที่ได้อย่างเปิดเผยทั้งภายในและรอบบริเวณพื้นที่เขตกันชน, ตามแนวเส้นเขตแดน หรือภายในพื้นที่ของชาติเจ้าบ้านโดยทั่วไป กฎของการยอมรับจะส่งผลให้เกิดเสรีในการเคลื่อนที่ดังกล่าว

ซ. การป้องกันตนเอง การใช้กำลังทหารในการป้องกันตนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวความคิดในการใช้กองกำลังรักษาสันติภาพ กฎของการป้องกันตนเองนั้นเป็นสิทธิที่พึงมีโดยชอบธรรม ซึ่งนับเป็นกฎข้อหนึ่งซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการยอมรับ กฎของการปะทะจะอธิบายถึงสถานการณ์ และวิธีการที่กองกำลังอาจใช้การปฏิบัติการทางทหาร เพื่อต่อต้านความพยายามที่จะขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ และหน้าที่ของกองกำลังรักษาสันติภาพ กฎของการปะทะโดยทั่วไปแล้ว จะอนุญาตให้กำลังทหารรักษาสันติภาพใช้การปฏิบัติการทางทหารได้เฉพาะในการป้องกันตนเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อบัญญัติและอำนาจหน้าที่

๔ - ๓ การจัดองค์กร

กองกำลังรักษาสันติภาพมีการจัดองค์กรเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ สภาการเมือง, หน่วย บัญชาการทหารรักษาสันติภาพ และหน่วยบัญชาการภาคทหาร

ก. สภาการเมือง เป็นองค์กรระดับสูงสุดของการจัดกองกำลังรักษาสันติภาพซึ่งประกอบด้วย ระบบการเจรจาและการประสานการปฏิบัติกับผู้นำของประเทศคู่กรณี โดยการเจรจานี้เอง สภาการเมืองจะสามารถกำหนดวิธีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระหว่างคู่กรณีความขัดแย้ง บุคลากรในระดับหัวหน้าของกองกำลังรักษาสันติภาพ อาจถูกจัดให้ร่วมอยู่เป็นสมาชิกของสภาการเมืองนี้ด้วย สภาการเมืองจะเป็นผู้รับมอบและถ่ายอำนาจให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพ และประสานข้อตกลงในการกำหนดสถานะของกำลังทหารกับประเทศคู่กรณี

ข. หน่วยบัญชาการทหารรักษาสันติภาพ การควบคุมบังคับบัญชาของกองกำลังรักษาสันติภาพทั้งมวล จะรวมอยู่ที่ระดับหน่วยบัญชาการทหารรักษาสันติภาพ การควบคุมและอำนวยการในระดับนี้ ตามปกติแล้วมักจะประกอบด้วยกำลังพลของกองทัพหลายชาติร่วมกัน ผู้บัญชาการหน่วยจะใช้การควบคุมทางยุทธการต่อกำลังร่วมผสม โดยใช้ระบบการบังคับบัญชาผ่านตามสายงานของ แต่ละชาติ ผู้บัญชาการหน่วยนี้อาจปฏิบัติร่วมไปกับหน่วยงานทางด้านการเมืองที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาการเมือง ผู้บัญชาการหน่วยมักจะไม่มีอำนาจในการเจรจาทางด้านการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีการมอบอำนาจให้สามารถดำรงการติดต่อประสานงานกับกองบังคับการของหน่วยกำลังทหาร หรือกึ่งทหาร และการปรับความเข้าใจหรือไกล่เกลี่ยกรณีเกิดความขัดแย้ง หรือการเข้าใจผิดกัน บุคลากรที่มีคุณวุฒิทางด้านภาษาและอุปกรณ์การติดต่อสื่อสาร จะต้องถูกบรรจุ และแบ่งมอบให้อย่างพอเพียง ภารกิจของหน่วยประกอบด้วย.-

(๑) ป้องปรามการปฏิบัติการรุนแรงระหว่างคู่กรณี

(๒) ป้องกันรักษาสถานที่สำคัญ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น

(๓) รายงานเสนอความต้องการของกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังสภาการเมือง ตัวอย่างเช่น ความต้องการทางด้านยุทธการที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อตกลง

(๔) รวบรวมและจัดชุดข้อมูลข่าวสารให้กับสภาการเมือง

(๕) ประกันความเป็นกลางของกองกำลังรักษาสันติภาพ หน่วยบัญชาการจะแจกจ่ายคำสั่ง และคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติการและระเบียบ ปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยทหารได้ปฏิบัติตาม

ค. หน่วยบัญชาการภาคทหาร องค์กรระดับที่ ๓ ในการรักษาสันติภาพคือ หน่วยบัญชาการภาคทหารแต่ละภาคทหารมักจะประกอบด้วยกำลังทหารที่มาจากประเทศเดียวกัน ซึ่งจะปฏิบัติงานรับผิดชอบพื้นที่เฉพาะของตน และรายงานการปฏิบัติไปยังหน่วยบัญชาการทหารรักษาสันติภาพ แต่รับการส่งกำลังบำรุงจากหน่วยบัญชาการ หรือจากสายงานของกองทัพประเทศของตน หน่วยบัญชาการภาคทหารจะกำหนดเครื่องหมายหน่วย และสัญญาณบอกฝ่ายที่เห็นได้ชัดเจนในระยะไกลให้ทหารได้ติดไว้กับเครื่องแบบหรือยุทโธปกรณ์ เครื่องหมายดังกล่าวจะช่วยเน้นย้ำการแสดงตัวของทหาร, เสริมความมั่นใจในความเป็นกำลังรักษาสันติภาพ และความเชื่อมั่นในตนเอง หน่วยบัญชาการภาคทหารควรจะมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารมากมายพอเพียงที่จะสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่ หน่วยบัญชาการภาคทหารจะป้องปรามการปฏิบัติที่รุนแรงได้โดยการปรากฏทางกายภาพในสถานที่ หรือตำบลที่มีการป้องกันตนเองบริเวณที่เกิดเหตุ และใช้การรวบรวมข้อมูลข่าวสารผ่านเครื่องมือโดยเปิดเผย เช่น ยามตรวจการณ์, ชุดเฝ้าตรวจ, การใช้เครื่องมือตรวจการณ์, การลาดตระเวนทางอากาศ, การสนทนาสอบถามจากประชาชนในท้องถิ่น และการรายงานตาม รปจ. หน่วยบัญชาการภาคทหารจะรวบรวม, วิเคราะห์ และรายงานข่าวกรองไปยังหน่วยบัญชาการทหารรักษาสันติภาพ

๔ - ๔ สถานะทางกฎหมาย

สถานะทางกฎหมายของกองกำลังรักษาสันติภาพ, กำลังพล และบุคคลพลเรือนในหน่วย, รวมทั้งทรัพย์สินของหน่วย จะได้รับการคุ้มครองจากสถาบันทางกฎหมาย และรัฐบาลประเทศเจ้าบ้าน ซึ่งการดำเนินการทั้งปวงเหล่านี้จะต้องสำเร็จลุล่วง ก่อนที่กำลังทหารของหน่วยจะเดินทางไปถึง

ก. ประเภทของการตกลงยินยอม จะขึ้นอยู่กับการส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมเจรจาจากคู่กรณี และองค์การสหประชาชาติ, รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนืออาณัติของสหประชาชาติ หากไม่มีการสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองกัน หรือยังปรากฏความแข็งกร้าวแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดทำบันทึกความเห็น หรือการแลกเปลี่ยนบันทึกการประชุมของแต่ละชาติ เพื่อยืนยันความเข้าใจและข้อตกลง การแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจนี้ อาจกระทำได้โดยตรงระหว่างรัฐบาลของแต่ละชาติ หรือกระทำในลักษณะพหุภาคี โดยทางคู่ขนานกันทั้งจากรัฐบาลของคู่กรณี และ UN ข้อตกลงจะทำให้เกิดความสมดุลของปัจจัยพื้นฐาน ๒ ประการคือ ความมีอิสระเสรีของกองกำลังทหารต่ออำนาจรัฐของประเทศเจ้าบ้าน และเสรีภาพในการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนย้ายกำลังของหน่วยในกองกำลังรักษาสันติภาพ ผู้แทนกองทัพของแต่ละชาติที่เข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพที่อยู่ในระดับต่ำกว่ากองบัญชาการภาคทหาร จะต้องไม่ดึงตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเดียว หรือหลายประเทศก็ตาม

ข. เครื่องมือทางกฎหมายระหว่าง UN และประเทศเจ้าบ้าน จะประกอบด้วย สิทธิของกองกำลังรักษาสันติภาพ, สิทธิพิเศษ, การคุ้มครอง, อำนาจทางกฎหมาย และสถานภาพต่าง ๆ ดังนี้

• อำนาจในสถานที่ตั้งของหน่วยทหาร

• การแสดงตนว่าเป็นหน่วยทหารจาก UN หรือการใช้ธงประจำหน่วย

• การแต่งกายและเครื่องแบบของกำลังพล

• การถืออาวุธ

• เสรีในการเคลื่อนที่ภายในพื้นที่ปฏิบัติการ

• การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

• การพิสูจน์ฝ่าย หรือการแสดงตนของบุคคล, ยานพาหนะ, เรือ และอากาศยาน

• การใช้เครื่องหมายแสดงที่ตั้งของกองกำลังรักษาสันติภาพ

• ความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจระหว่างกองกำลังรักษาสันติภาพ กับบุคลากรในกองกำลัง และระหว่างประเทศเจ้าบ้าน กับประชากรในประเทศ

• การใช้การติดต่อสื่อสาร, บริการไปรษณีย์, ถนน, ทางน้ำ, ท่าเรือ และท่าอากาศยาน

• การใช้สาธารณูปโภค (น้ำ, ระบบระบายน้ำ, ไฟฟ้า, พลังงาน อื่น ๆ)

• การประสานงานระหว่าง ตร.ของกองกำลังรักษาสันติภาพและ ตร.ของประเทศเจ้าบ้าน

• การรักษาความปลอดภัยทางเอกสารของกองกำลังรักษาสันติภาพ

• การเก็บรักษาสิ่งอุปกรณ์ และการบริการจากประเทศเจ้าบ้าน

• การจ้างแรงงานในท้องถิ่น

• การจัดทำข้อตกลง หรือสัญญาระหว่างคู่กรณี และการเรียกร้องสิทธิ์

• นายทหารติดต่อ

ค. ข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องกำลังทหาร จะพิจารณาระบุมอบอำนาจให้กำลังทหารของประเทศใดที่เข้าร่วมในกองกำลังพิจารณากล่าวหาการรุกราน หรือการทำลายชีวิตบุคคล พลเรือน โดยผู้ดำเนินการคือ บุคลากรที่เป็นพลเรือนหรือทหารในกองกำลังรักษาสันติภาพ ประเทศเจ้าบ้านอาจได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการร่วมได้ แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลพลเรือนหรือทหารในกองกำลังรักษาสันติภาพก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมาย และอำนาจศาลของประเทศของตน เครื่องมือทางกฎหมายนี้ ควรจะใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะของสมาชิกในกองทัพของประเทศเจ้าบ้านจากผู้แทนของรัฐนั้นมาเป็นผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศที่ปฏิบัติภารกิจด้วยความมีวินัยและรับผิดชอบต่อองค์การนั้น ผู้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจต้องมีการจัดเตรียมแผนไว้สำหรับดำเนินการต่อกรณีเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่ เมื่อบุคลากรในกองกำลังได้รับการคุ้มครองอย่างดี แม้นอกเวลาปฏิบัติภารกิจ พวกเขาเหล่านั้นย่อมต้องเคารพกฎหมาย, กฎระเบียบ และศาสนาของชาติเจ้าบ้าน นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองทุกชนิด

ง. เครื่องหมายแสดงตนจะต้องถูกนำไปติดหรือแสดงไว้ ดังนี้.-

(๑) กองกำลังรักษาสันติภาพของ UN บุคลากรทั้งหมดในกองกำลัง, ยานพาหนะ และสถานที่ตั้งจะต้องมีเครื่องหมายแสดงไว้อย่างเด่นชัด

(ก) กำลังพล กำลังพลจะต้องสวมรองในหมวกเหล็กสีฟ้า หรือหมวกทรงอ่อนสีฟ้า พร้อมกับเครื่องหมาย UN, ปลอกแขนสีฟ้า, เครื่องหมายติดไหล่, ผ้าพันคอสีฟ้า และบัตรแสดงตน หากมีเวลาพอเพียง UN จะแจกจ่ายส่วนประกอบของเครื่องแบบนี้ให้กับกำลังพลในหน่วยก่อนที่จะเดินทางออกจากที่ตั้งภายในประเทศของตนเอง ส่วนบัตรแสดงตนของเจ้าหน้าที่ UN นั้นจะแจกจ่ายให้กับกำลังพลเมื่อเดินทางเข้ามาถึงภายในพื้นที่ปฏิบัติการ ทั้งนี้ควรได้มีการจัดเตรียมภาพถ่ายสำหรับทำหนังสือเดินทาง จำนวน ๔ ภาพ ไว้ให้พร้อมก่อนออกเดินทาง

(ข) ยานพาหนะ ยานพาหนะทุกคันต้องติดธง UN ให้เห็นเด่นชัด พร้อมทั้งมีเครื่องหมายขององค์การติดไว้ที่ตัวยานพาหนะ โดยใช้การพ่นสีเพื่อให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับของกองกำลัง ยานพาหนะทุกคันตามปกติจะพ่นสีขาว

(ค)หน่วยลาดตระเวนเฝ้าตรวจหน่วยลาดตระเวนเดินเท้าจะต้องนำธงแสดง เครื่องหมาย UNไปด้วยอาจระบุไว้ในกฎข้อบังคับว่าจำเป็นต้องใช้แสงสว่างแสดงที่อยู่ของตนในเวลากลางคืน

(ง) ที่ตั้งของหน่วย ที่บังคับการทุกแห่ง, ฐานที่ตั้งทางทหารและที่ทำการ, จุด ตรวจการณ์, จุดตรวจ, จุดปิดกั้นถนน และเครื่องปิดกั้นถนน จะต้องมองเห็นได้ชัดเจน ปกติแล้วจะทาสีขาวและแสดงธงของ UN, รวมทั้งมีเครื่องหมายทาสีติดไว้ที่กำแพง หากมีภัยคุกคามทางอากาศ หน่วยก็จำเป็นต้องทาสีเครื่องหมาย UN ไว้บนหลังคาที่ตั้งของหน่วยทุกแห่งจะต้องใช้แสงสว่างแสดงตนในเวลากลางคืนเช่นกัน

(จ) เส้นแบ่งเขต เส้นแบ่งเขตแยกกำลังทหารออกจากกันนั้น จะต้องแสดงไว้อย่างชัดเจน และมีเครื่องหมายแจ้งให้ทราบ

(๒) กองกำลังรักษาสันติภาพที่มิใช่ของ UN กำลังทหารเหล่านี้คงใช้แนวทางการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับของ UN, ยกเว้นการใช้สีของเครื่องแบบ และยานพาหนะ รวมทั้งเครื่องหมายจะเป็นของหน่วยเดิมของตนเอง ที่ผ่านมาและในปัจจุบันกองกำลังรักษาสันติภาพที่มิใช่ของ UN ได้ถูกใช้ในเหตุการณ์ต่อไปนี้.-

(ก) กองกำลังนานาชาติและผู้สังเกตการณ์ใน SINAI หน่วยทหารแต่ละหน่วยจะใช้หมวกทรงอ่อนสีอิฐหรือสีดินเผา และใช้เฮลิคอปเตอร์หรือยานพาหนะสีขาว ผู้สังเกตการณ์จะใช้ เครื่องแต่งและหมวกสีส้ม

(ข) กองกำลังนานาชาติใน BEIRUT หน่วยทหารแต่ละหน่วยจะใช้ธงชาติของตนแสดงไว้บนยานพาหนะให้เห็นชัดเจนแต่ไกล

๔ - ๕ การใช้กำลัง

การใช้ปฏิบัติการรุนแรง และการใช้กำลังทหารปฏิบัติการนอกเหนือจากกฎข้อบังคับ จะทำลายความเชื่อถือ และการยอมรับจากประเทศเจ้าบ้าน, ประเทศคู่กรณี ตลอดจนประชาคมโลก นอกจากนี้ยังทำให้ระดับความรุนแรงในภูมิภาพเพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดสถานการณ์ในลักษณะที่กอง กำลังรักษาสันติภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง การใช้กำลังจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและเป็นไปอย่างจำกัด กองกำลังรักษาสันติภาพไม่มีอำนาจในการป้องกันเหตุการณ์รุนแรง ในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร

ก. การใช้กำลังทหารในเชิงรับ หมายถึงการปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคล, ฐานที่ตั้ง หรือยุทโธปกรณ์ ตัวอย่างเช่น การใช้ยานพาหนะในการปิดกั้น หรือขวางการเคลื่อนที่ของบุคคลหรือยานพาหนะด้วยกัน และการเคลื่อนย้ายบุคคลที่มิได้รับอนุญาตให้อยู่ในบริเวณที่ตั้งของหน่วยทหารรักษาสันติภาพ ให้ออกไปจากพื้นที่นั้น

ข. การใช้กำลังทหารในเชิงรุก หมายถึงการปฏิบัติการที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคล, ฐานที่ตั้ง หรือยุทโธปกรณ์ ตัวอย่างเช่น การใช้กระบอง, พานท้ายปืน หรือการยิงด้วยอาวุธ

ค. หากจำเป็นต้องใช้กำลัง ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการตัดสินใจโดย การติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการ ตลอดจนการเตรียมการของหน่วยที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะนั้นได้ดีเพียงใด การวางแผนควรจะใช้แนวทางดังต่อไปนี้

(๑) การหนักแน่นในเจตนารมณ์ และขีดความสามารถที่จะใช้กำลังทหารในหน ทางสุดท้าย เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง หากกองกำลังจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามและการใช้กำลังทหาร

(๒) การแจ้งเตือนล่วงหน้า ก่อนที่กองกำลังรักษาสันติภาพจะเริ่มใช้กำลังทหาร ควรจะต้องมีการแจ้งเตือนให้กำลังทหารของฝ่ายคู่กรณีได้รู้ตัวล่วงหน้า ถึงความจำเป็นที่กองกำลังรักษาสันติภาพจะต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนของกรรมวิธีการใช้กำลังในการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ยังจะต้องแจ้งเตือนให้รู้ถึงอัตราการเสี่ยงต่อผลของการใช้กำลังที่จะก่อให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้

(๓) การคาดการณ์ล่วงหน้า การคาดการณ์ล่วงหน้าตามหลักการข่าวกรองและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ย่อมจะทำให้กองกำลังรักษาสันติภาพมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมการและส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายแรงขยายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้เมื่อ พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์เริ่มเลวร้ายถึงขนาดที่จะต้องใช้กำลังแล้ว ผู้บังคับหน่วยจะต้องวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ

(๔) การใช้ปฏิบัติการรับมือ หากได้เคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปในพื้นที่เพียงพอแก่การปฏิบัติการ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว การใช้กำลังทหารปฏิบัติการในเชิงตั้งรับ เช่น การ ขัดขวางการเคลื่อนที่นั้นอาจเป็นสิ่งจำเป็น

(๕) การปฏิบัติการร่วม หากกำลังทหารในพื้นที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็อาจจำเป็นต้องส่งกำลังกองหนุน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยทหารจากชาติต่าง ๆ ร่วมกัน แสดงกำลังและป้องปรามมิให้เกิดการปฏิบัติของคู่กรณีที่จะส่งผลให้เกิดเหตุร้ายแรง การวางแผนที่ดีจะทำให้กองกำลังสามารถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้รวมถึงการซักซ้อมและการคาดการณ์อย่างแม่นยำด้วย

(๖) ที่มั่นตั้งรับ กองกำลังทหารจะต้องทำการลาดตระเวน จัดเตรียมที่มั่นให้พร้อมทำการยึดรักษาไว้ ทั้งนี้ต้องไม่ละทิ้งการใช้เครื่องกีดขวางป้องกันตนเองด้วย ที่มั่นตั้งรับยังจะต้องประกอบด้วยที่กำบังเหนือศีรษะที่สามารถป้องกันกระสุนปืนใหญ่, กระสุน ค. และจรวด การยึดรักษาที่มั่น จำเป็นต้องมีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติต่าง ๆ

ง. กำลังทหารทั้งหมดจะต้องได้รับการชี้แจงสรุปเมื่อเดินทางเข้ามาถึงพื้นที่ปฏิบัติการ โดยมีสาระสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้.-

(๑) ภัยคุกคามต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้รวมถึงกำลังทหารของคู่กรณีฝ่ายต่าง ๆ

(๒) จุดตรวจที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ป้องกันการล่วงล้ำเข้ามาในเขตกันชน

(๓) การเคลื่อนกำลังเข้าไปยังที่มั่น

(๔) วิธีการปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้กำลัง

จ. การใช้กำลังทหารรักษาสันติภาพปฏิบัติการทางทหาร จะเป็นไปเฉพาะในกรณีป้องกันตนเองเท่านั้น หลักปฏิบัติต่อไปนี้ ใช้ถือเป็นแนวทางในการป้องกันตน

(๑) กรณีเกิดเหตุการณ์ที่กำลังพลในหน่วย หรือบางส่วนของหน่วยตกอยู่ใน

อันตรายที่อาจถึงชีวิต

(๒) ในกรณีที่กำลังทหารของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พยายามใช้กำลังเข้าผลักดัน หน่วยทหารรักษาสันติภาพออกจากที่มั่นตั้งรับ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ยึดรักษาไว้ หรือฝ่ายคู่กรณีใช้การแทรกซึม หรือการโอบล้อมที่มั่นของทหารรักษาสันติภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของกำลังพลในหน่วยได้

(๓) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามใช้กำลังเข้าแย่งชิง หรือปลดอาวุธทหารรักษาสันติภาพ

(๔) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พยายามเข้าจับกุมหรือลักพาตัวบุคลากรของกำลังรักษาสันติภาพทั้งพลเรือนหรือทหาร

(๕) เมื่อเกิดมีการใช้กำลังเข้าปฏิบัติการขั้นรุนแรงต่อฐานที่ตั้ง หรือสถานที่ต่าง ๆ ของกำลังรักษาสันติภาพ

(๖) ในกรณีที่เกิดการเผชิญหน้ากับการต่อต้าน, ขัดขวางด้วยกำลัง เพื่อมิให้ทหารรักษาสันติภาพสามารถปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ของตนได้

ฉ. การแจ้งเตือนอย่างแน่ชัดถึงเจตนารมณ์ที่จะใช้กำลังของทหารรักษาสันติภาพปฏิบัติการรุนแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ (เมื่อเวลาและสถานการณ์อำนวยให้) โดยใช้ขั้นตอนดังนี้.-

(๑) เตือนกำลังฝ่ายรุกรานหรือกำลังที่จะก่อเหตุ ด้วยคำว่า “หยุด” โดยใช้ภาษาท้องถิ่น

(๒) หากจำเป็นให้แจ้งเตือนอีกครั้ง และบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิง ขึ้นนกปืน

(๓) เตือนด้วยคำว่า “หยุด” โดยใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นครั้งที่สาม

(๔) ยิงเตือน โดยมิให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลอื่นได้รับอันตราย

(๕) หากผู้ก่อเหตุไม่สนใจคำเตือน และยังคุกคามต่อไป ให้ทหารเปิดฉากการยิงด้วยกระสุนหนึ่งนัด หรือจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

(๖) ทำการปฐมพยาบาลให้กับผู้บาดเจ็บ และส่งกลับสายแพทย์

(๗) รายงานเหตุการณ์ไปยังกองบังคับการ หรือหน่วยบัญชาการทันทีด้วยวิทยุ, รวบรวมรายชื่อผู้เห็นเหตุการณ์เพื่อเป็นพยาน, เก็บรวบรวมปลอกกระสุน และเตรียมเขียนรายงานเหตุการณ์

ช. กองกำลังรักษาสันติภาพจะใช้กำลังทหารแต่เพียงจำนวนน้อย เท่าที่จำเป็นต่อการระงับเหตุหรือการป้องกันชีวิตของบุคคลจากเหตุการณ์รุนแรง ในทันทีที่เหตุการณ์สงบลง ทหารต้องหยุดยิง หากกองกำลังรักษาสันติภาพถูกโจมตี อาจจำเป็นต้องใช้อาวุธยิงสนับสนุน ผู้บัญชาการกองกำลังอาจมอบอำนาจในการตัดสินใจใช้อาวุธยิงสนับสนุนดังกล่าวให้กับผู้บังคับหน่วยทหารภาคพื้นดิน เมื่อเกิดการใช้กำลังเข้าปฏิบัติการทางทหาร จะต้องเป็นไปอย่างไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ทั้งหลักการและการปฏิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรม

๔ - ๖ การสนองตอบภารกิจ

ในทันทีที่ทราบว่าจะต้องเข้าร่วมในภารกิจการรักษาสันติภาพ กองทัพบกจะจัดเตรียมส่วนล่วงหน้าเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ พร้อมกับนำส่วนการติดต่อสื่อสารและส่วนการส่งกำลังบำรุงติดตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ส่วนล่วงหน้าดังกล่าวจะยังเดินทางไปถึงพื้นที่ไม่ได้จนกว่าจะมีการอนุมัติอำนาจจากสภาความมั่นคง และเลขาธิการ UN ได้จัดทำเรื่องร้องขอการใช้กำลัง, รัฐบาลของประเทศที่ส่งกำลังทหารเข้าร่วม ได้อนุมัติและได้มีการประสานงานกันอย่างดีในระหว่างผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ ทั้งที่เป็นของ UN และมิใช่ของ UN กับผู้มีอำนาจปกครองในประเทศเจ้าบ้านนั้น ๆ

ก. ก่อนที่จะมีการอนุมัติอำนาจหน้าที่, เลขาธิการ UN จะดำเนินการดังนี้.-

(๑) แจ้งเตือนไปยังผู้บัญชาการกองกำลัง และจัดเตรียมชุดกำลังพลประจำที่บัญชาการ โดยอาจจัดจากผู้สังเกตการณ์ทางทหารของ UN ที่มีอยู่ในพื้นที่

(๒) จัดตั้งระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างพื้นที่ปฏิบัติการ กับสำนักงานใหญ่ของUN ให้แล้วเสร็จก่อนที่ผู้บัญชาการกองกำลังจะเดินทางถึงพื้นที่

(๓) จัดตั้งระบบการติดต่อสื่อสาร และนายทหารติดต่อ ระหว่างกองบัญชาการกองกำลัง กับประเทศคู่กรณีพิพาท

(๔) จัดให้มีการประชุมประสานงานกันที่สำนักงานใหญ่ของ UN โดยมีเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการของสำนักงานเลขาธิการใหญ่ และผู้แทนของประเทศที่จะส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพ เข้าร่วมประชุม ในทางอุดมคติแล้ว ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในกองกำลังรักษาสันติภาพ จะต้องเข้าร่วมการประชุมด้วย ข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการประชุม ได้แก่.-

(ก) ข้อเสนอเรื่องรูปแบบการจัดกำลัง และขนาดของกองกำลัง

(ข) รายการสิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ที่กองทัพของประเทศสมาชิกไม่สามารถจัดหาได้

(ค) รายละเอียดในแผนการบรรทุกทั้งทางเรือ และด้วยอากาศยานที่กองทัพ

ในประเทศของตนไม่สามารถจัดการสนับสนุนให้ได้

(ง) ตำบลจ่ายสิ่งอุปกรณ์ประเภทเครื่องแต่งกาย และเครื่องหมายของ UN ที่จะส่งไปถึง

(จ) ที่ทำการไปรษณีย์ภายในประเทศ ที่ทำการไปรษณีย์ของกองกำลังรักษาสันติภาพจะส่งไปถึง

(ฉ) รายการอาหารและ สป.๑ ที่ควรจะแจกจ่าย

(ช) ขนาดของส่วนล่วงหน้าและกำหนดนัดหมายที่จะเดินทางไปถึง ตลอดจนสถานที่ที่จะเดินทางไปถึง ซึ่งอาจเป็นท่าอากาศยาน และท่าเรือของประเทศเจ้าบ้าน โดยอนุโลมว่าได้มีการอนุมัติมอบอำนาจหน้าที่ของกองกำลังแล้ว

ข. หากใช้การเคลื่อนย้ายด้วยอากาศยาน หรือเรือของประเทศที่ส่งกำลังทหารเข้าร่วมภารกิจเองแล้ว จะต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายและเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค เดินทางล่วงหน้ามาประสานการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก ณ ท่าอากาศยานหรือท่าเรือปลายทาง ซึ่งเป็นของประเทศเจ้าบ้าน

(๑) ผู้บัญชาการกองกำลัง และกำลังของส่วนบัญชาการ

(๒) ส่วนลาดตระเวนและส่วนล่วงหน้าของหน่วยกำลังรบ และส่วนส่งกำลังบำรุงที่จะเข้ามาควบคุมอำนวยการเคลื่อนย้าย

(๓) การจัดตั้งที่พักแรมของส่วนล่วงหน้าที่จะเตรียมการรับกำลังส่วนใหญ่ในเรื่องการใช้ยานพาหนะขนส่ง และการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ

(๔) ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย, การเมือง และการบริหารของผู้บัญชาการกองกำลัง

(๕) การจัดเตรียมระบบที่สมดุลระหว่าง ส่วนกำลังรบ, ส่วนสนับสนุนการรบ และส่วนสนับสนุนการช่วยรบให้กับกองกำลัง

ค. เนื่องจากการวางแผนเผชิญเหตุของกองกำลังรักษาสันติภาพเป็นเรื่องที่ไม่ผูกพันกับทางการเมือง, ความไม่พอเพียงในการจัดการสนับสนุนเป็นเรื่องปกติวิสัยของการเริ่มภารกิจใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ โดยใช้การปฏิบัติลักษณะอื่นไว้ อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องใช้ตารางการเคลื่อนย้ายทางอากาศแบบมาตรฐาน เป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาทบทวนแผน เมื่อจำเป็นต้องจำกัดขนาดของหน่วยและอาวุธหนัก การผสมกำลังกันระหว่างส่วนกำลังรบ, ส่วนการติดต่อสื่อสาร และหน่วยส่งกำลังบำรุง จะเป็นไปตามความต้องการและการตัดสินใจของ UN การเคลื่อนย้ายทางอากาศเข้าไปยังพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ มักจะมอบให้เป็นความรับผิดชอบของประเทศที่ส่งกำลังเข้าร่วมภารกิจ แต่ในบางกรณีอาจร้องขอการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพของประเทศมหา อำนาจได้ กองกำลังรักษาสันติภาพควรจะต้องมีขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุง ช่วยเหลือตนเองได้จนกว่าจะได้มีการจัดตั้งพื้นที่การสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงเรียบร้อย ทั้งนี้เนื่องจากกองกำลังร่วมผสมนานาชาติ ย่อมใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าพื้นที่ปฏิบัติภารกิจเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน

๔ - ๗ ขั้นตอนการประสานงาน

กองกำลังรักษาสันติภาพจะได้รับการสนับสนุนจาก UN ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ในหัวข้อ ๔ - ๗ นี้จะอธิบายถึงขั้นตอนที่จะต้องประสานงานเมื่อได้รับการสนับสนุนจาก UN สำหรับกองกำลังรักษาสันติภาพที่เข้าร่วมปฏิบัติการนอกเหนือจากมติของ UN นั้น กองทัพเราน่าจะไม่มีโอกาสเข้าร่วมดำเนินการได้

การรักษาสันติภาพได้กำเนิดและมีวิวัฒนาการมาจากความต้องการในการเข้าควบคุม และลดระดับความขัดแย้ง โดยไม่มีการคัดค้านจากสภาความมั่นคง และไม่ขัดกับบทบัญญัติในมาตราใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการรักษาสันติภาพก็จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางทหารร่วมด้วย, โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กำลังเข้าปราบปราม หรือบีบบังคับประเทศคู่กรณี กองกำลังรักษาสันติภาพจัดตั้งขึ้นโดย UN หรือกลุ่มประเทศบางกลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาและดำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้ง ขั้นตอนของการประสานงานมีดังต่อไปนี้.-

(๑) ภารกิจของกองทัพจะได้รับการประสานร้องขอจาก UN ผ่านทางรัฐบาลของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม, การสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุง, การจัดผู้สังเกตการณ์ หรือการจัดหน่วยทหารเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ ประธานคณะเสนาธิการร่วมจะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าทำหน้าที่บริหารจัดการองค์กรหน่วยที่จัดตั้งขึ้น

(๒) หัวหน้าเสนาธิการร่วม จะคัดเลือกบุคคลเข้าร่วมในคณะทำงาน เพื่อร่างภารกิจที่ต้องปฏิบัติและประสานงานผ่านทางกองบัญชาการทหารสูงสุด และหน่วยราชการอื่น ๆ

(๓) กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งแต่งตั้งผู้บัญชาการกองกำลัง และผู้บัญชาการกองกำลังจะเป็นผู้สรรหาผู้ทำหน้าที่ฝ่ายกำลังพล, ฝ่ายการข่าว, ฝ่ายยุทธการ, ฝ่ายส่งกำลังบำรุง, ฝ่ายกิจการพลเรือน รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ในกองบัญชาการ และฝ่ายการสื่อสาร ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต้องให้การสนับสนุนช่วยเหลือกองกำลังที่มาจากชาติอื่น ตามข้อตกลงจากการประชุม

(๔) คณะทำงานจะจัดทำระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติ ของกองกำลังรักษาสันติภาพซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบ และยินยอมจากประเทศคู่กรณีความขัดแย้ง ระเบียบข้อบังคับจะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจ, ความสัมพันธ์ทางการควบคุมบังคับบัญชา, การจัดหน่วย, การส่งกำลังบำรุง, การปลัดบัญชี, การประสานงาน และการจัดนายทหารติดต่อ ตลอดจนหน้าที่ของกำลังพลที่บรรจุในกองกำลัง และที่มาให้การสนับสนุนกองกำลังด้วย ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวนี้จะเป็นหลักการกว้าง ๆ และมักไม่ค่อยเจาะจงลงในรายละเอียดเหมือนกับระเบียบคำสั่งทางทหาร ประเทศคู่กรณีจะต้องมีความเห็นพ้อง และยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงและสนธิสัญญา ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะใช้ควบคุมประเทศคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตาม โดยละเลิกความพยายามที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่แอบแฝง และใช้กองกำลังรักษาสันติภาพเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุความต้องการนั้น คณะทำงานจำเป็นต้องแปลระเบียบข้อบังคับให้เป็นภาษาในชาติของตน เพื่อให้กำลังพลได้ศึกษาทำความเข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์คลุมเครือได้ด้วย เหตุผลทางการเมือง จำเป็นต้องใช้กองกำลังรักษาสันติภาพเดินทางไปยังพื้นที่แห่งนั้น เพื่อกำหนดนิยามของโครงสร้างงานสำหรับปฏิบัติการ

(๕) ผู้บัญชาการกองกำลัง หรือผู้แทนจะประสานขอรับการสนับสนุน และแจ้งให้คณะทำงานได้ทราบถึงข่าวสารข้อมูลของการปฏิบัติ แล้วรายงานให้หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วมซึ่งจะรายงานต่อไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหม

(๖) หน่วยทหารของกองทัพที่เข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพ จะอยู่ภายใต้การควบคุมทางยุทธการของผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพในทันทีที่เดินทางเข้าถึงพื้นที่รับผิดชอบ ผู้บังคับหน่วยทหารดังกล่าวจะยังคงมีอำนาจในการบังคับบัญชาหน่วยรอง และหน่วยขึ้นสมทบของตน

๔ - ๘ การควบคุมบังคับบัญชา

ภายในกองกำลังรักษาสันติภาพ จะต้องได้รับการจัดระบบการควบคุมบังคับบัญชา และการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และจะต้องเข้าใจถึงลักษณะธรรมชาติของการปฏิบัติการรักษาสันติภาพด้วย

ก. ความสัมพันธ์ทางการควบคุมบังคับบัญชาเหล่านี้จะถูกจัดตั้งขึ้น :-

(๑) การควบคุมบังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือหน่วยกำลังที่มีผู้บังคับบัญชาเพียงหนึ่ง และมีกองบัญชาการหนึ่งหน่วย เพื่อรับผิดชอบกองกำลังรักษาสันติภาพ หน่วยทหารนานาชาติจะรายงานการปฏิบัติมายังผู้บัญชาการกองกำลัง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับหน่วยทหารแต่ละชาติยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล สั่งการ และอำนวยการประสานงานให้บรรลุภารกิจของตน การติดต่อสื่อสารจะเปลี่ยนแปลงไปตามภารกิจและความต้องการของหน่วยปฏิบัติงาน วิธีการที่ดีที่สุดก็คือให้ผู้บังคับหน่วยทหารแต่ละชาติรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ที่ได้เข้ารับผิดชอบ วางแผนและกำหนดหนทางปฏิบัติ รวมทั้งจัดระบบการควบคุมบังคับบัญชาตามความจำเป็นและความต้องการของตน

(๒) กองกำลังประกอบด้วยหน่วยทหารของแต่ละชาติ ที่ส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ, ทรัพยากรที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติต่าง ๆ และนายทหารฝ่ายอำนวยการของแต่ละชาติในกองบัญชาการกองกำลัง ในการปฏิบัติการยุทธ์และการส่งกำลังบำรุงนั้น ผู้บัญชาการกองกำลังจะมีอำนาจเต็มที่ในการบังคับบัญชา พร้อมกับสิทธิพิเศษเรื่องการบรรจุมอบ และวินัยทหาร ผู้บัญชาการกองกำลังจะมีความรับผิดชอบในการออกคำสั่ง และระเบียบวินัยของกำลังพลในกองกำลัง โดยสามารถดำเนินการสอบสวน, สอบถาม และขอข่าวสารข้อมูล, รายงาน และให้คำปรึกษา ผู้บังคับหน่วยทหารแต่ละชาติจะมีความผิดชอบในด้านวินัยและความประพฤติของกำลังพลในหน่วยของตน ซึ่งเป็นไป ตามกฎ แบบธรรมเนียม และข้อบังคับภายในกองทัพของชาตินั้น ๆ การประพฤติผิดวินัยสำคัญ ย่อมจะนำมาซึ่งความแตกแยก และความขัดแย้งในระหว่างหน่วยทหารต่างชาติ และประเทศคู่กรณี อันจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในการรักษาสันติภาพ ดังนั้นผู้บัญชาการกองกำลังจึงต้องเป็นผู้พิจารณาคดี หรือเหตุการณ์ร่วมกับหัวหน้าคณะนายทหารต่างชาติ และอาจรายงานเหตุการณ์ผ่านไปทางสำนักงานเลขาธิการใหญ่ และรัฐบาลของประเทศที่ส่งกำลังทหารเข้าร่วมและมอบทรัพยากรสนับสนุนนั้น ๆ

(๓) ผู้บัญชาการกองกำลังและฝ่ายอำนวยการ จะปฏิบัติงานร่วมกับผู้บังคับหน่วยทหารแต่ละชาติอย่างใกล้ชิด หัวหน้าคณะนายทหารต่างชาติไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บังคับหน่วยทหารเสมอไป ในกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้บังคับหน่วย ก็จะปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทของผู้ให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาและไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาหน่วยทหาร เมื่อมีการใช้กำลังทหารรักษาสันติภาพ กระจายกันออกไปปฏิบัติงานทั่วพื้นที่, อาจจำเป็นต้องใช้การจัดตั้งกองพลน้อย หรือกองบัญชาการร่วมเฉพาะกิจขึ้น

ข. การปฏิบัติการโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจาก UN อาจเกิดขึ้นได้ในหลายหนทางซึ่งอาจขึ้นอยู่กับเวลาที่มีอยู่และปัจจัยประกอบทางการเมืองซึ่งได้แก่บทบาทและการปฏิบัติของประเทศอภิมหาอำนาจ และยินยอมพร้อมใจ หรือขีดความสามารถของชาติต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วม การปฏิบัติการดังกล่าว ได้แก่.-

(๑) จัดตั้งกองบัญชาการขึ้นเพียงหนึ่งแห่ง เพื่อประสานงานทั้งด้านการเมือง และการปฏิบัติทางทหาร ซึ่งอาจเป็นกองบัญชาการร่วมเฉพาะกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยผู้บัญชาการกองกำลังในภูมิภาค

(๒) จัดตั้งกองบัญชาการขึ้นเพื่อควบคุมการปฏิบัติทางทหาร โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ซึ่งมาจากหลายด้าน

(๓) การบริหารจัดการแบบ ad hoc

ค. ผู้บัญชาการกองกำลังจะสั่งการ และควบคุมการปฏิบัติ โดยมีเจตนารมณ์ชัดเจน หากในกรณีที่มีผู้รับมอบอำนาจให้เข้าดำเนินการแทน (อาจเป็นรองผู้บัญชาการ หรือเสนาธิการ) ก็ย่อมจะสามารถออกคำสั่งและควบคุมการปฏิบัติได้ทันที ผู้บังคับหน่วยทหารจะต้องมั่นใจว่าคำสั่งนั้นเป็นการสั่งการในอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการกองกำลัง โดยอนุมัติจากเลขาธิการใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากผู้บังคับหน่วยทหารจะไม่สามารถรับคำสั่งที่มาจากแหล่งอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศเจ้าบ้าน, ประเทศคู่กรณีหรือแม้แต่จากรัฐบาลประเทศของตน มีข้อยกเว้นเพียงกรณีที่กองกำลังรักษาสันติภาพมิได้รับการสนับสนุนจาก UN และหน่วยทหารแต่ละชาติได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศของตน

ง. ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ จะต้องเข้าใจถึงลักษณะตามธรรมชาติของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และประสิทธิผลที่เกิดจากกำลังพลในหน่วยบัญชาการ สิ่งที่พึงตระหนักบางประการมีดังนี้.-

(๑) หลีกเลี่ยงการจัดการเจรจาโดยตรง เรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายทหารระดับผู้บังคับหมวด หรือนายทหารชั้นประทวน

(๒) หลีกเลี่ยงการส่งกำลังออกปฏิบัติการ โดยขาดการส่งกำลังบำรุงที่พอเพียงให้กับหน่วยทหารต่างชาติอื่นๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ นอกเสียจากว่า UN จะเป็นผู้จัดหาให้

(๓) หากเกิดมีการต่อสู้กันขึ้น, ให้เปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบไปเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

(๔) พึงระมัดระวังในการเลือกกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่, เนื่องจากกำลังพลทุกนายย่อมไม่เหมาะสมกับภารกิจการรักษาสันติภาพเสมอไป

(๕) ในทันทีที่สังเกตพบกำลังพลคนใดคนหนึ่งเริ่มมีความเอนเอียง หรือสนิทสนมใกล้ชิดกับกำลังของประเทศคู่กรณีประเทศใดประเทศหนึ่งมากเป็นพิเศษ ให้ปรับย้ายออกนอกพื้นที่โดยทันที จงพยายามเน้นย้ำให้มีการติดต่อประสานงานโดยเสมอภาคทั้งสองฝ่าย

จ. การประสานงานจะเกิดขึ้นจากระบบการประชุม โดยมีประธานคือ ผู้บัญชาการกองกำลัง หรือเสนาธิการ การประชุมจะไม่เกิดขึ้นโดยกองกำลังรักษาสันติภาพทุกกองกำลัง แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละกองกำลังก็ย่อมจะมีหนทางในการกระจายข้อมูลข่าวสารและนโยบาย

ฉ. การจัดนายทหารติดต่อระหว่างกองกำลังรักษาสันติภาพ, ประเทศเจ้าบ้าน และประเทศคู่กรณีเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในทุกระดับ นับตั้งแต่กองบัญชาการกองกำลังลงไปจนถึงหน่วยระดับกองร้อย และหมวด ในระดับกองบัญชาการ อาจมีการจัดนายทหารติดต่ออย่างเป็นทางการ เป็นระบบ เช่น การจัดระบบกองกำลังและผู้สังเกตการณ์ทางทหารใน SINAI โดยที่การพิจารณาวิเคราะห์ปัญหาและการรายงานจะผ่านทางรัฐบาลของอียิปต์ และรัฐบาลของอิสราเอล โดยใช้ระบบการจัดนายทหารติดต่อ

ช. การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ มีการจัดองค์กรอยู่ ๓ ระดับ คือ.-

(๑) สภาการเมือง ถือเป็นระดับสูงสุด ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการเจรจาและประสานงานกับผู้นำของประเทศคู่กรณีความขัดแย้ง ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ อาจเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภาการเมือง

(๒) ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ เป็นผู้มีอำนาจการบังคับบัญชา ควบคุมหน่วยทหารรักษาสันติภาพ การควบคุมและอำนวยการในระดับนี้จะใช้นายทหารและเจ้าหน้าที่จากหลายชาติ ผู้บัญชาการกองกำลังจะใช้การควบคุมทางยุทธการต่อกองกำลังผสมนานาชาติ โดยมอบอำนาจการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยของตนเองให้กับผู้บังคับหน่วยทหารชาตินั้น ๆ

(๓) หน่วยบัญชาการภาคทหาร มักจะประกอบด้วยกำลังทหารจากชาติเดียว ซึ่งจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากแหล่งด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้ยามคอยเหตุ, การจัดชุดลาดตระเวน, การเฝ้าตรวจด้วยเครื่องมือตรวจการณ์, การลาดตระเวนทางอากาศ การพบปะสนทนากับประชาชนในท้องถิ่น และเอกสารรายงาน ซึ่งจะรวบรวม, วิเคราะห์ และรายงานข่าวกรองไปยังหน่วยบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น