ตอนที่ ๒
กองพันเฉพาะกิจและกรมผสมในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ
ผู้บังคับหน่วยปราบปรามการก่อความไม่สงบ จะเผชิญหน้ากับข้าศึกศัตรูที่มีความแตกต่างในเป้าหมายวัตถุประสงค์, ยุทธวิธี และแนวความคิดในการปฏิบัติของตนเอง ในตอนที่ ๒ นี้ จะอธิบายถึงการปฏิบัติการทางยุทธวิธีตามแผนของการปราบปรามซึ่งรวมทั้งการวางแผนและหลักการที่จะนำไปสู่วามสำเร็จ ตลอดจนการปฏิบัติการอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน และ ผบ.หน่วยจำเป็นต้องรู้
๒ - ๗ การปฏิบัติเสริมการรักษาความมั่นคงภายในให้กับกองกำลังรัฐบาลเจ้าของประเทศ
ปสรมน. เป็นบทบาททั่วไปสำหรับกำลังทหารจากภายนอกที่เข้ามาช่วยเหลือการปราบปราม ทั้งในด้านวัตถุประสงค์ของชาติ และแผนการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ผบ.กองกำลัง ปสรมน. จะต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของชาติเจ้าบ้านจากแผนการปราบปราม และหาหนทางกำหนดวิธีการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น (รายละเอียดเพิ่มเติม ให้ศึกษาได้จาก รส.๑๐๐ - ๒๐)
ก. การวางแผน กองกำลังจากชาติภายนอกส่วนใหญ่จะร่วมปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลัง ปสรมน. โดยการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในวิธีการสนับสนุนการปฏิบัติการของกองกำลังรัฐบาลเจ้าของประเทศนั้น ซึ่งโดยนัยนี้ วัตถุประสงค์ตามแผนของกองกำลังรัฐบาลก็จะกลายเป็นวัตถุประสงค์ของกองกำลัง ปสรมน. และ ผบ.กองกำลังนั้นด้วย ปัจจัยหลักที่จะนำมาใช้พิจารณาในการวางแผนก็คือ ผลกระทบที่มีต่อประชาชน ผบ.หน่วยจะต้องพยายามเอาชนะใจประชาชน เพื่อให้หันมาสนับสนุนการปฏิบัติและกิจกรรมทั้งหลายที่จะปฏิบัตินั้น พึงหลีกเลี่ยงการก่อเงื่อนไขที่ฝ่ายกบฏจะนำไปใช้ขยายผลทางด้านปฏิบัติการจิตวิทยาได้
ข. การสนับสนุนการปราบปราม กองกำลังจากภายนอกประเทศที่ได้รับการสมทบให้กับกองกำลัง ปสรมน.นั้น จะมีภารกิจควบคู่กัน ๒ ประการคือ การช่วยเหลือในการใช้กำลังปราบปรามกำลังฝ่ายกบฏ โดยแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลจากฝ่ายกบฏ นอกจากนี้ยังต้องช่วยสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจที่มิใช่การสู้รบ เช่น การฝึก, การช่วยระวังป้องกัน, การข่าวกรอง และการสนับสนุนทางด้านยุทธวิธี ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวการณ์ที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจ และพึ่งพาตนเองได้ ภารกิจทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติพร้อม ๆ กันไป จุดผิดพลาดซึ่งมักจะปรากฏเสมอก็คือ กองกำลัง ปสรมน. มักได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนเสียเอง แทนที่ประชาชนจะเชื่อมั่นในกองกำลังของรัฐบาลเจ้าของประเทศ ขอให้ตระหนักเสมอว่า การปฏิบัติการทั้งหลายทั้งปวง จะต้องมุ่งให้ประชาชนเชื่อมั่น และมอบความไว้วางใจให้กับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ
๒ - ๘ การปฏิบัติการทางยุทธวิธี
การปฏิบัติการทางยุทธวิธี เป็นไปเพื่อลดศักยภาพของฝ่ายกบฏในพื้นที่ และให้ได้มาซึ่งความเชื่อถือศรัทธาในแผนการพัฒนาของประเทศนั้น ทั้งสองสิ่งนี้จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เมื่อศักยภาพของฝ่ายกบฏลดน้อยลง, รัฐบาลก็จะเริ่มปฏิบัติตามแผนการพัฒนาประเทศได้ และเมื่อแผนการพัฒนาได้ผลมากขึ้น ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลก็ย่อมจะลดน้อยลงไป ส่งผลให้ความฝักใฝ่ในฝ่ายกบฏลดลงไปด้วย ฝ่ายกบฏจะถูกทำลายทั้งความศรัทธาและความมุ่งมั่นในการต่อสู้ (ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ)
๒ - ๙ การวางแผน
ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณาวางแผนก็คือ ปัจจัย METT – T และปัจจัยทางการเมือง
ก. ภารกิจ ในการวิเคราะห์ภารกิจนั้น ผบ.หน่วยจะพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้.-
(๑) การปฏิบัติการของกองกำลัง ปสรมน. ในด้าน
• การฝึกร่วมผสม
• การปฏิบัติการด้านการข่าว
• การควบคุมประชาชนและทรัพยากร
• การปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน (ทั้งการช่วยเหลือประชาชน และการปฏิบัติการทางจิตวิทยา
• การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
• การปฏิบัติสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง
• การปราบปรามยาเสพติด
• การปฏิบัติการทางยุทธวิธี
• การให้คำแนะนำช่วยเหลือ
(๒) หน่วยในระดับกรม มักจะมีภารกิจในด้านการปฏิบัติทางยุทธวิธี ทั้งนี้ลักษณะธรรมชาติของสงครามกองโจรจะบังคับให้ต้องใช้ทุกส่วนของกองกำลัง ปสรมน.เข้าปฏิบัติการด้วยยุทธวิธี หรือเทคนิคพิเศษ
(๓) แนวทางในการวางแผน และแผนขั้นต้นจะมีพื้นฐานอยู่บนภารกิจที่เป็นไปได้ หลังจากที่กรมได้รับมอบภารกิจแล้ว แนวทางในการวางแผนจะเริ่มมีความกระชับมากขึ้น ทั้งนี้ย่อมหมายรวมถึง การที่กรมจะเข้าปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของกองกำลัง ปสรมน.
ข. ข้าศึก เมื่อทำการประเมินค่าขีดความสามารถและขีดจำกัดของฝ่ายกบฏ ผบ.หน่วยจะพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
• เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด และประวัติวัฒนธรรม
• องค์กรทางการเมือง, ความเชื่อ และวัตถุประสงค์
• ขนาดของกำลัง, ขวัญ และสถานภาพการฝึก
• การใช้กำลังทางยุทธวิธี และประสิทธิภาพทางยุทธวิธี
• ขีดความสามารถในการเข้าโจมตี, การตั้งรับ และการเพิ่มเติมกำลัง
• แหล่งทรัพยากรที่มีอยู่
• ผู้นำและคุณลักษณะของตัวผู้นำ
• ความสัมพันธ์ที่มีกับประชาชน
• สถานภาพของการส่งกำลัง
• ประสิทธิภาพของการติดต่อสื่อสาร
• ประสิทธิภาพของการข่าวกรอง และการต่อต้านข่าวกรอง
• เส้นหลักการสื่อสาร
• จุดอ่อนและความล่อแหลม
• การสนับสนุนจากภายนอก
• ขีดความสามารถในการใช้ทุ่นระเบิด/การต่อต้านทุ่นระเบิด
• การควบคุมประชาชน
• กรรมวิธีในการชักจูงคนเข้าร่วมขบวนการ
• การหารายได้
ค. ภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ เมื่อทำการประเมินค่าอิทธิพลของภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศในการปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ผบ.หน่วยจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้.-
(๑) ผลจากสภาพฤดูกาลในทุกปี (รวมทั้งห้วงเวลาการเพาะปลูก และห้วงเวลาเก็บเกี่ยว) เวลาข้างขึ้น ข้างแรม และน้ำขึ้น น้ำลง
(๒) สภาพภูมิประเทศที่ใช้ในทางทหาร (รวมทั้งพื้นที่ส่งลง, พื้นที่รับขึ้น, ท่าเรือ และสนามบิน) และข่ายถนนที่ใช้ในทางยุทธวิธี และการส่งกำลังบำรุง
(๓) สภาพพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจจะเป็นภูมิประเทศสำคัญ ผบ.หน่วยจะประเมินค่าประเภทและจำนวนของสิ่งปลูกสร้าง และพิจารณาผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติการทางทหาร นอกจากนี้ ยังจะต้องพิจารณาถึงที่ตั้งของโรงพยาบาล, สิ่งอำนวยความสะดวก, สถานีตำรวจ, ค่ายทหาร, สนามบิน, สถานีวิทยา/สถานีโทรทัศน์, ศูนย์การติดต่อสื่อสาร, สะพาน, อุโมงค์, ทางข้าม และทางรถไฟ
ง.กำลังทหารและทรัพยากรที่ใช้ได้ ผบ.หน่วยมีความจำเป็นต้องจัดหาสิ่งอุปกรณ์สำหรับการรบ, การสนับสนุนการรบ และการช่วยรบมากมายหลายอย่าง ซึ่งสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวอาจได้รับมาจากการสนับสนุนภายนอกประเทศ หรือจากหน่วยงานพลเรือน และจากภายในประเทศ หรือหน่วยงานพลเรือนภายในประเทศ หรือจากแหล่งที่มาทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วผสมกัน วิธีการต่อต้านสงครามกองโจรนั้น ผบ.หน่วยเหนือจำเป็นต้องให้เสรีในการปฏิบัติ และความอ่อนตัวให้กับ ผบ. หน่วยรอง เพื่อการบรรลุภารกิจ ความสำเร็จของการปฏิบัติขึ้นอยู่กับการใช้ทรัพยากรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและลดจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยที่ ผบ.หน่วยจะต้องศึกษาเรียนรู้ คุณลักษณะและขีดจำกัดของทรัพยากรและสิ่งอุปกรณ์ หรือเครื่องมือปฏิบัติการของตน แล้วจัดหน่วยและใช้งานอย่างเหมาะสม
จ. เวลา ผบ.หน่วยทุกระดับต้องวางแผน และเตรียมการซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในแต่ละยุทธการ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น, แผนรากฐานนั้นจะต้องสามารถใช้เป็นหลักสำคัญการเพิ่มเติมรายละเอียดตามขั้นตอนและกรรมวิธีได้ กิจเฉพาะประจำจะต้องถูกวิเคราะห์และกำหนดลงใน รปจ. เพื่อทุกคนจะได้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้
(๑) อาจมีเวลาค่อนข้างจำกัดในการวางแผน ดังนั้น คำสั่งเตือนและคำสั่งยุทธการอาจต้องให้แก่หน่วยรองด้วยการสั่งด้วยวาจา ในสภาพเช่นนี้จำเป็นต้องใช้หลักการแบ่งเวลาหนึ่งในสาม และสองในสาม : ผบ.หน่วยจะใช้เวลาหนึ่งในสามของที่มีอยู่ เพื่อการวางแผนของตน และให้เวลาสองในสามแก่หน่วยรองของตน เพื่อวางแผนและออกคำสั่ง ในบางครั้งที่มีเวลาจำกัดจนทำให้ ผบ.หน่วยไม่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบการนำหน่วยได้ ผบ.หน่วยอาจใช้การควบคุมอำนวยการหน่วยรองของตนด้วยการออกคำสั่งเป็นส่วน ๆ ขีดความสามารถในการดำเนินการอย่างรวดเร็ว และการข่าวกรองที่ถูกต้องทันเวลาเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
(๒) กำลังทหารของเราที่เข้าร่วมในการ ปสรมน. ควรจะอยู่ในประเทศนั้น ๆ จนถึงช่วงจังหวะเวลาที่กำลังทหารของรัฐบาลเจ้าของประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากองกำลัง ปสรมน. จะประสบความสำเร็จเพียงใด, ฝ่ายกบฏจะยังไม่พ่ายแพ้จนกว่าจะได้มีการขจัดปัญหาทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง ได้อย่างหมดสิ้น
ฉ. การเมือง ผบ.หน่วยจะต้องประสบกับปัญหาทางด้านการเมืองมากมายหลายประการ กำลังทหารที่เข้าปฏิบัติการร่วมกับกำลังของฝ่ายรัฐบาล จะสนับสนุนวัตถุประสงค์ของชาติ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้น ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาทางการเมืองทั้งสิ้น
(๑) กำลังทหารของฝ่ายเราที่เข้าร่วมในการปราบปราม จะปฏิบัติการในสภาวะที่ค่อนข้างจำกัด และไม่เหมาะสมสำหรับการสู้รบลักษณะอื่นของสงคราม ข้อจำกัดเหล่านี้จะมีอยู่ในลักษณะของสนธิสัญญา, ข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายกำลัง และกฎของการปะทะ (ROE) ข้อจำกัดเหล่านี้ มีส่วนทำให้การค้นหาและทำลายกำลังฝ่ายกบฏ เป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก
(๒) กำลังของฝ่ายกบฏจะล่วงรู้ถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าว และจะพยายามชิงความได้เปรียบจากข้อจำกัดนี้โดยใช้การโจมตีกำลังของฝ่ายเราในตำบลหรือบริเวณที่การยิงของฝ่ายเราอาจอให้เกิดอันตรายกับฝ่ายเดียวกัน หรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับส่วนรวม ความปลอดภัยของทรัพย์สินของบุคคลพลเรือน เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในอันที่จะดำรงไว้ซึ่งอำนาจอันชอบธรรมของ รัฐบาลเจ้าของประเทศนั้น ๆ
(๓) องค์ประกอบของปัจจัยทางการเมืองมีผลต่อการปฏิบัติการของฝ่ายปราบปราม ดังนั้น การปฏิบัติการจึงกลายเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ ในด้านของการเมือง, สังคมจิตวิทยา, ศาสนา และเศรษฐกิจ
(๔) ผบ.หน่วยจะต้องเตรียมการสำหรับการปฏิบัติในสภาวะทางการเมืองอย่างกว้างขวาง รูปแบบของรัฐบาลเจ้าของประเทศอาจเป็นแบบเผด็จการ, แบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือแบบอื่น ๆ
(๕) ผบ.หน่วยจะดำเนินการทำลายกำลังของฝ่ายกบฏ โดยไม่คำนึงถึงบรรยากาศทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ผบ.หน่วยควรจะต้องปฏิบัติการภายในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายรัฐบาลที่ตนไปให้การสนับสนุน และจะต้องรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับ การคอรัปชั่น, การใช้อำนาจไม่ถูกกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยเหนือ ทั้งนี้ เพราะ ผบ.หน่วยในพื้นที่จะไม่มีความรับผิดชอบในการตัดสินใจปฏิบัติการนอกเหนือนโยบายของรัฐบาลของฝ่ายเรา
(๖) บางครั้งอาจเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ หรือท้องถิ่นที่กำลังของฝ่ายเรามิได้รับมอบอำนาจหน้าที่ ในกรณีกองบัญชาการของหน่วยเหนือจะเป็นผู้พิจารณาส่งกำลังของฝ่ายเราเข้าไปปฏิบัติการ แต่อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการของกองกำลังฝ่ายปราบปรามจะต้องเป็นผู้ประสานงานกับฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในท้องถิ่นนั้น ๆ ในเรื่องของการมอบอำนาจและการตัดสินใจ หาก ผบ.หน่วยไม่ได้รับความสะดวก หรือมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลคนใดหน่วงเหนี่ยว ขัดขวางการปฏิบัติงานของตนแล้ว ผบ.หน่วยนั้นจะต้องทำรายงานเป็นลายลักษณ์ไปยังกองบัญชาการหน่วยเหนือ เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว
๒ - ๑๐ หลักการปฏิบัติ
ผบ.หน่วยจะต้องยึดถือหลักการในการจัดหน่วย และปฏิบัติการภายในพื้นที่รับผิดชอบดังนี้.-
ก. การข่าวกรองทางยุทธวิธี การข่าวกรองทางยุทธวิธีเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะฝ่ายกบฏ การข่าวกรองจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ที่ตั้งของฝ่ายกบฏ, การปฏิบัติ, ขนาดของกำลัง, จุดอ่อน และแผนการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ ผบ.หน่วยได้ครองความเป็นฝ่ายริเริ่ม แต่หากไม่ได้รับข่าวกรองที่ถูกต้องและทันเวลาแล้ว โอกาสแห่งความสำเร็จก็จะลดน้อยลง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติการเชิงรุก แหล่งข่าวทั้งหมดในพื้นที่รับผิดชอบจะต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งมาตรการการต่อต้านข่าวกรอง (จากระดับกองพลถึงกองทัพน้อย) และความร่วมมือจากหน่วยข่าวกรองของฝ่ายรัฐบาล
ข. สถานการณ์ทางยุทธวิธี การจัดหน่วยและการปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายปราบปราม ขึ้นอยู่กับปัจจัย METT – T และสาเหตุพื้นฐานของความขัดแย้งระดับต่ำ ผบ.หน่วยจะจัดหน่วย และใช้หน่วยนั้นเพื่อต่อต้านและปราบปรามฝ่ายกบฏ หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะปฏิบัติการเป็นอิสระ เช่น การลาดตระเวนเฝ้าตรวจ, การตีโฉบฉวย และการซุ่มโจมตี ภายใต้การควบคุมแบบรวมการ (กองพัน หรือกรม) ซึ่งในการนี้จะเอื้ออำนวยให้ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจสามารถใช้กำลังขนาดเล็กที่สุดกระจายกัน ออกค้นหาฝ่ายตรงข้าม และใช้การรวมกำลังกันเข้าปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว
ค. ความอ่อนตัว กองกำลังที่เข้าปราบปรามฝ่ายกบฏจะต้องมีความอ่อนตัว และสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่ผันแปรไปได้อย่างรวดเร็ว ยุทธวิธีการต่อต้านการก่อความไม่สงบ จำเป็นต้องใช้คุณสมบัติในการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติจากขนาดใหญ่ เป็นขนาดเล็ก; ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของภูมิประเทศ, ลมฟ้าอากาศ และทัศนวิสัย; การเคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้า, การเคลื่อนย้ายด้วยยานพาหนะ หรือด้วยอากาศยาน; และเปลี่ยนไปตามรูปแบบของการยุทธ์จากวิธีรุก เป็นวิธีรับ
ง. ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ กองกำลังฝ่ายปราบปรามต้องมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่เท่าเทียมกันเป็นอย่างน้อย หรือมีความคล่องแคล่วมากกว่าฝ่ายกบฏ การใช้อากาศยานปีกหมุน และยานเกราะ รวมทั้งยานยนต์สนับสนุนการเคลื่อนที่ของทหารราบ จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบในความคล่องแคล่วทางยุทธวิธี ในขณะเดียวกัน ผบ.หน่วยก็ไม่ควรกำหนดน้ำหนักบรรทุกเป็นบุคคลให้กับทหารมากเกินไป น้ำหนักบรรทุกของทหารจะถูกกำหนดให้แปรเปลี่ยนไปตามปัจจัย METT – T การส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม จะใช้ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ หน่วยยานเกราะ, ทหารม้า และหน่วยบรรทุกยานยนต์เหมาะสำหรับใช้ระวังป้องกันตำบลสำคัญ เช่น ชุมทางถนน, สะพาน, อุโมงค์ลอดใต้ถนน, ถนนเลียบคลอง และสถานีผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า
จ. การใช้กำลัง ควรใช้อำนาจการยิงเพียงแต่น้อย เพื่อให้บรรลุภารกิจ พลซุ่มยิงเป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้อำนาจการยิงเมื่อฝ่ายเราปะทะกับฝ่ายกบฏ ทั้งนี้ เนื่องจาก ผบ.หน่วยจะสามารถตรึงกำลังของฝ่ายกบฏ และสั่งการให้หน่วยทหารดำเนินกลยุทธ์ พร้อมกับใช้การยิงได้อย่างเจาะจงต่อเป้าหมาย โดยไม่ทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน ผบ.หน่วยสามารถพิจารณาใช้กระสุนควัน และหากได้รับมอบอำนาจก็สามารถใช้สารแก๊สน้ำตาเพื่อช่วยในการดำเนินกลยุทธ์ แต่ถ้าหากการปะทะในครั้งนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำอันตราย หรือทำความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนได้แล้ว ผบ.หน่วยจะต้องพยายามถอนกำลังออกจากพื้นที่ปะทะ และไปสกัดกั้นตามเส้นทางการถอนตัวหนีของฝ่ายกบฏ อย่างไรก็ตาม ผบ.หน่วยจะต้องพิจารณาใช้เครื่องมือ และวิธีการต่าง ๆ ในอันที่จะสงวนรักษาชีวิตของทหารในบังคับบัญชา แม้ว่าบางครั้งอาจจะเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดกับพลเรือนของประเทศนั้น ๆ บ้าง
(๑) การยิงโดยไม่พิจารณาถึงข้อจำกัด หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต และทรัพย์สินของพลเรือนนั้น อาจส่งผลให้พลเรือนกลับไปให้การสนับสนุนกับฝ่ายกบฏ ทหารในกองกำลังฝ่ายปราบปรามจะต้องมีความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎของการปะทะอย่างเคร่งครัด สิทธิในการต่อสู้เพื่อป้องกันตนนั้น มิได้ถูกริดรอน หรือลบล้าง แต่สิทธิดังกล่าวอาจจำเป็นต้องอยู่ในขอบเขต
(๒) หากไม่มีผลกระทบหรืออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนแล้ว ทหารของกองกำลังฝ่ายปราบปรามย่อมสามารถใช้อำนาจการยิงทั้งหมดที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่
ฉ. ความอดกลั้น กองกำลังฝ่ายปราบปรามอาจต้องอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมเป็นระยะเวลายาวนาน โดยที่ยังไม่มีการปะทะ ฝ่ายกบฏย่อมรู้ดีว่ากำลังของตนนั้นด้อยกว่ามากมาย จึงหลีกเลี่ยงการปะทะ นอกเสียจากว่าฝ่ายตนจะอยู่ในสภาพที่ได้เปรียบ กำลังของฝ่ายปราบปรามจะต้องไม่ปล่อยให้ความรู้สึกประมาทและหย่อนการระวังป้องกันเกิดขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนั้นจะดูเหมือนว่าฝ่ายกบฏได้หยุดการเคลื่อนไหวไปแล้ว ผบ.หน่วยพึงระลึกอยู่เสมอว่าฝ่ายกบฏจับจ้องสายตามายังหน่วยของตนตลอดเวลา เพื่อค้นหาจุดอ่อนหรือช่องทางที่จะเข้าปฏิบัติการ ในช่วงเวลาที่หน่วยทหารเริ่มหย่อนการระวังป้องกันลงไป ทั้งฝ่ายกบฏจะได้เข้าปฏิบัติการโดยลดเกณฑ์ของความเสี่ยงลงไป ผบ.หน่วยจะต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า ฝ่ายกบฏจะปฏิบัติการเวลาใดก็ได้ที่สภาพการณ์เอื้ออำนวย
ช. กองหนุน ผบ.หน่วยต้องจัดให้มีกองหนุนพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้เปรียบในการปฏิบัติตามโอกาสที่เกิดขึ้นในการสู้รบ และต่อต้านการปฏิบัติการเชิงรุกของฝ่ายกบฏ ขนาดของกองหนุนนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยแม่ หรือต้นสังกัด และสถานการณ์ทางยุทธวิธี กองหนุนจะไม่ได้รับมอบภารกิจอื่นใดนอกเหนือจากที่ ทบ.กำหนด
(๑) ในการปฏิบัติการเข้าตี, กองร้อยอาจจัดกำลังขนาดหมู่หรือหมวดไว้เป็นกองหนุน; กองพันอาจมีกองหนุนระดับหมวด; และกรมอาจมีกองหนุนถึงระดับกองร้อยเท่านั้น
(๒) ในการปฏิบัติการเชิงรับ, เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องทำการระวังป้องกันรอบตัว, กำลังกองหนุนระดับกองร้อยและกองพัน อาจก่อให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ เนื่องจากต้องใช้กำลังทหารไปทำการระวังป้องกันตามรอบนอก ผบ.หน่วยอาจใช้ทางเลือกดังนี้.-
• จัดตั้งกองหนุนขนาดเล็ก แต่มีความพร้อมที่จะปฏิบัติการตามที่มั่นรอบนอกได้ทันที โดยใช้ที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลาง
• ไม่จัดให้มีกองหนุน แต่กำหนดให้กำลังที่อยู่ตามที่มั่นรอบนอกบางส่วนสามารถเคลื่อนย้ายไปช่วยเสริมกำลังยังด้านอื่นที่มีเหตุการณ์รุนแรง
• ลดขนาดของกำลังตามที่มั่นรอบนอกลงให้น้อยลง
(๓) ในหน่วยระดับกรม ก็ต้องจัดกองหนุนที่มีกำลังขนาดกองร้อยไว้ในการปฏิบัติการตั้งรับ ภารกิจกองหนุนนี้ควรจะได้มีการหมุนเวียนกองร้อยให้ได้ปฏิบัติโดยทั่วถึง โดยพิจารณาจัดกองร้อยที่เข้าปฏิบัติการในสนามรบเป็นเวลานานแล้ว (หรือรับภารกิจที่หนักมากกว่ากองร้อยอื่น ๆ ทั่วไป) กลับเข้าปฏิบัติภารกิจเป็นกองหนุน กองร้อยหนุนจะได้มีโอกาสพักผ่อน, ฟื้นฟูกำลัง, ปรนนิบัติบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ และรับการฝึกทบทวนหรือเพิ่มเติมในระหว่างรับหน้าที่เป็นกองหนุนนั้น
(๔) หน่วยที่เป็นกองหนุนจะต้องมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง การเคลื่อนย้ายทางอากาศเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดสำหรับกองหนุน ทั้งนี้เนื่องจากมีความรวดเร็วและไม่จำเป็นต้องอาศัยสภาพเส้นทางถนนทางพื้นดินเหมือนกับการใช้ยานยนต์หรือยานเกราะ แต่ไม่ว่าจะใช้การเคลื่อนย้ายกำลังแบบใดก็ตาม, กองหนุนจะได้รับยานพาหนะที่พอเพียงแก่การเคลื่อนย้ายและมีสภาพการใช้งานที่ดี พร้อมสำหรับภารกิจการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา กองหนุนจะถูกเตรียมไว้เพื่อรับแผนเผชิญเหตุ และเมื่อได้สั่งการให้ใช้กองหนุนไปแล้ว ผบ.หน่วยจะต้องพิจารณาจัดหน่วยใหม่เข้ามาเป็นกองหนุนแทนที่ โดยอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีหน่วยขึ้นตรงหรือกำลังที่มีอยู่ในกองบังคับการ หรือส่วนที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น
(๕) หน่วยยานเกราะ, ทหารม้า และทหารราบยานเกราะ มีคุณสมบัติในการปฏิบัติการตอบโต้ ทั้งในการปฏิบัติการรุกและรับ
๒ - ๑๑ การจัดเฉพาะกิจ
กรมและกองพันเฉพาะกิจ เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังร่วมเฉพาะกิจ จะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำการรบในลักษณะการผสมเหล่า กำลังผสมเหล่าที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับต่ำ จะมีความสำคัญเท่าเทียมกับในสถานการณ์สงครามตามแบบ การจัดกำลังจะมีพื้นฐานอยู่กับปัจจัย METT – T และสภาพเหตุการณ์ตามความเป็นจริงในความขัดแย้งระดับต่ำนั้น
ก. กองพันทหารราบ ไม่ว่าจะเป็นกองพันแบบหนักหรือเบา, จะได้เป็นกำลังพื้นฐานของการจัดหน่วยในกองกำลังปราบปรามการก่อความไม่สงบ
ข. กรมทหารราบ หน่วยในระดับกรมจะมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการควบคุม และบังคับบัญชาหน่วยในสถานการณ์ทางยุทธวิธีต่อเนื่องเมื่อเข้าปราบปรามการก่อความไม่สงบ และจะต้องแบ่งมอบเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นให้กับกองพันซึ่งเป็นหน่วยรองให้พอเพียง กรมจะประสานการปฏิบัติกับกองบัญชาการกองพล หรือประสานโดยตรงกับประเทศพันธมิตรในกลุ่มสมาชิก
ค. กำลังเพิ่มเติม เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและลักษณะตามธรรมชาติของการปฏิบัติการในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ กรมควรจะได้รับการเพิ่มเติมกำลังจาก.-
• หน่วยสารวัตรทหารและสุนัขสงคราม
• หน่วยปฏิบัติการกิจการพลเรือน
• หน่วยบรรเทาสาธารณภัย
• ทหารช่าง
• ทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
• หน่วยข่าวกรองทางทหาร และหน่วยปฏิบัติการสงครามอิเล็กทรอนิกส์
• หน่วยบินทหารบก
• หน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยา
• หน่วยทหารเสนารักษ์
• ทหารปืนใหญ่สนาม
• หน่วยปฏิบัติการพิเศษ
• หน่วยทหารสื่อสาร
• หน่วยยานเกราะ
• หน่วยทหารขนส่ง
• หน่วยทหารพลาธิการ
ง. หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ในระหว่างการปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบนั้น หน่วยปฏิบัติการพิเศษสามารถให้การสนับสนุนกำลังทหารของฝ่ายพันธมิตร หรือรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ได้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษมีขีดความสามารถเหมาะสมกับการสนับสนุนภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาติในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ภารกิจพื้นฐานของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาติก็คือการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ,ฝึก และช่วยเหลือกองกำลังทหารและกองกำลังกึ่งทหารของประเทศเจ้าบ้าน อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการพิเศษอาจเข้าปฏิบัติการรบในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง,ปฏิบัติการรบในเมืองเพื่อปลดปล่อยประเทศเจ้าบ้าน หรืออาจช่วยค้นหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกลักลอบนำออกไปจากกองทัพของรัฐบาล ผู้บังคับกองพันเฉพาะกิจหรือผู้บังคับการกรมต้องเตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติการลักษณะนี้ หรืออาจเข้าปฏิบัติการรบในเมืองด้วยกำลังทหารของตนเองตามลำพัง (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐-๑๐- ๑)
จ. กำลังส่วนอื่น ๆ ในกองกำลังร่วมเฉพาะกิจ กรมและกองพันจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยอื่น ๆ ของกองกำลังร่วมเฉพาะกิจ ซึ่งหมายรวมถึง กำลังจากกองทัพอากาศและหน่วยขึ้นตรงของกองทัพเรือ, การสนับสนุนจากการยิงของปืนเรือ และการสนับสนุนจากประเทศ เจ้าบ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น