วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การต่อสู้กับการก่อการร้าย

การต่อสู้กับการก่อการร้าย


“ฆ่าคนเดียว, เพื่อคนอีกหนึ่งหมื่นตระหนก”

ซุนวู…

ในบทนี้ จะอธิบายถึงลักษณะของการก่อการร้าย และหลักการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยกล่าวถึง มาตรการและการเตรียมการป้องกัน ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดการปฏิบัติการยุทธ์ หลักการสำคัญที่มุ่งเน้นก็คือ การป้องกันและสะกัดกั้นมิให้การก่อการร้ายได้เกิดขึ้น การขจัดความล่อแหลมโดยสร้างเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อการร้าย ผู้บังคับบัญชาจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ ไม่สูญเสียชีวิตของกำลังพล, ยุทโธปกรณ์ และวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ไปกับการก่อการร้าย (ดูรายละเอียดใน รส.๑๐๐–๓๗)



ตอนที่ ๑

การก่อการร้าย

ในการต่อต้านการก่อการร้าย, ผบ.หน่วยจะต้องมีความเข้าใจถึงวิธีการก่อการร้าย และต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ในมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งจะลดโอกาสที่ฝ่ายก่อการจะปฏิบัติการต่อสถานที่ตั้ง, หน่วย และกำลัง

๓ - ๑ คำจำกัดความ

กระทรวงกลาโหมได้ให้คำจำกัดความของการก่อการร้ายไว้ว่า “เป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม - ผิดกฎหมาย - หรือการคุกคาม – หรือการใช้กำลัง หรือความรุนแรง ปฏิบัติต่อประชาชน หรือทรัพย์สิน เพื่อบังคับหรือข่มขู่ให้รัฐบาล หรือสังคมยินยอมให้ข้อเสนอหรือความต้องการทางการเมือง, ศาสนา, หรือแนวความคิดของกลุ่มผู้ก่อการ” การปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายจะไม่เป็นไปตามรูปแบบหรือกฎของการทำสงคราม วิธีการเหล่านี้ได้แก่ การลักพาตัว, การจี้เครื่องบิน, การก่อวินาศกรรม, การลอบสังหารบุคคลสำคัญ, การวางเพลิง, การใช้ระเบิดลวง การวางระเบิด, การโจมตี การเข้ายึดสถานที่, การใช้อาวุธ นชค. และอื่น ๆ โดยมากแล้วเหยื่อมักจะเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนเข้าร่วม หรือเกี่ยวข้องในการสู้รบ, บุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญ, รวมถึงสมาชิกทางการเมือง/บุคคลสำคัญทางการเมือง บ่อยครั้งที่เหยื่อมักจะไม่มีส่วนร่วม หรือเป็นสาเหตุแห่งความไม่พอใจของกลุ่มผู้ก่อการร้าย

๓ - ๒ ธรรมชาติของการก่อการร้าย

การใช้ลัทธิการก่อการร้ายจะไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในขั้นตอนแรกของความขัดแย้ง แต่อาจจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ระดับใดของความขัดแย้ง ตั้งแต่ในยามสงบจนถึงขั้นการทำสงคราม ยุทธวิธีของการก่อการร้ายจะมีลักษณะที่ยากจะระบุแหล่งที่มา, มีลักษณะจู่โจม และการปฏิบัติการรุนแรงอย่างเฉียบพลัน

๓ - ๓ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทั่วไป

ยุทธศาสตร์ทั่วไปของการก่อการร้ายก็คือ การใช้วิธีการปฏิบัติด้วยความรุนแรง การปฏิบัติเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจของประชาชน, รัฐบาล และโลกให้มีต่อการปฏิบัตินั้น ๆ สื่อต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์นี้ โดยเป็นผู้แพร่ข่าวสารการปฏิบัติให้เป็นที่ล่วงรู้ อันตรายก็คือ การเผยแพร่ข่าวสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดแรงดลใจให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มอื่นปฏิบัติการในลักษณะเดียวกัน

ก. เหยื่อของการก่อการร้ายมักจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง เป้าหมายหรือจุดเพ่งเล็งโดยมากจะเป็นสถานที่สาธารณะ, รัฐบาล หรือบางทีอาจเป็นอย่างธุรกิจ

ข. ยุทธวิธีพื้นฐานทั่วไปของการก่อการร้ายจะประกอบด้วย.-

(๑) การวางระเบิด ยุทธวิธีพื้นฐานทั่วไปก็คือ การใช้ระเบิด การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นและถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๓ ประมาณ ๖๗ เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการใช้ระเบิดของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ระเบิดเป็นอาวุธที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากใช้ต้นทุนการผลิตไม่มาก, ทำได้ง่าย, สามารถนำไปใช้ได้มากมายหลายวิธี และยากแก่การสืบสวนหรือค้นหาที่มาภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของเหตุระเบิดและอุปกรณ์ที่มีความพิสดารหลากหลาย ทำให้หน่วยปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิดของ NATO ได้จัดประเภทของวัตถุระเบิดในการก่อการร้ายไว้ว่า เป็นอุปกรณ์การระเบิดที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย (Improvised explosive devices – IEDs.) คำย่อ IED นี้เป็นที่ใช้กันแพร่หลายในหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรม เช่นเดียวกับหน่วยทหาร การจัดแบ่งประเภทของ IED อาจแบ่งได้ดังนี้.-

(ก) เครื่องมือ หรือวิธีการส่งไปยังเป้าหมาย

• ระเบิดติดยานพาหนะ --- ยานพาหนะติดตั้งกับระเบิด, อุปกรณ์ติดตั้ง และรถระเบิด (รถบรรทุกระเบิด)

• การวางระเบิด --- วางที่เป้าหมายด้วยมือ

• ลูกระเบิดยิงหรือขว้าง --- ใช้การขว้างด้วยมือ หรือการยิงจากเครื่องยิง

• ระเบิดส่งทางไปรษณีย์

• ระเบิดติดจักรยาน

(ข) วิธีการจุดระเบิด มีวิธีการจุดระเบิด IED อยู่ ๓ วิธี

• การบังคับให้ระเบิด --- ด้วยวิทยุ, การใช้กระแสไฟฟ้า, การใช้ลวดดึง หรือใช้เครื่องมือกล

• ทำให้เกิดการระเบิดโดยบุคคล/เป้าหมาย --- ลวดสะดุด, แรงกด, เครื่องมือที่ไวต่อแสงสว่าง, ไฟฟ้า

• การใช้วิธีตั้งเวลา --- ด้วยนาฬิกา, ด้วยชนวนเผาไหม้, ด้วยวัตถุเคมี, ด้วยความกดของบรรยากาศ

(ค) การใช้ อาจแบ่งตามความมุ่งหมายในการใช้ได้ ๒ แบบ

• การใช้วัตถุระเบิดทางยุทธวิธี --- โดยทั่วไปจะเป็นระเบิดที่มุ่งใช้ สังหารบุคคล ซึ่งได้แก่ ระเบิดตะปู, ระเบิดเคลโมร์ และระเบิดลับ อันที่จริงแล้วระเบิด IED ทุกแบบอาจจัดเป็นระเบิดทางยุทธวิธีได้

• การใช้วัตถุระเบิดทางยุทธศาสตร์ --- อาจพิจารณาลักษณะการใช้เพื่อให้เกิดข่าวสารดังไปทั่วโลก มิใช่เพื่อสังหารบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ใช้กับกลุ่มบุคคล ตัวอย่างเช่น ในฝูงชน, ในศูนย์การค้า, บนเครื่องบิน และอื่น ๆ วัตถุระเบิดเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในชุมชน, รัฐบาล หรือระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

(ง) การใช้ระเบิดลวง ไม่ว่าจะเป็นระเบิดประเภทใด กลุ่มผู้ก่อการร้ายมักจะนำระเบิดลวงนี้มาสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่า จะมีการใช้ระเบิด และแสดงให้เห็นถึงความจริงจัง หากประชาชนเข้าใจตามนั้นแล้ว ผู้ก่อการร้ายก็จะดำเนินการตามที่ต้องการต่อไป, แม้จะไม่มีการระเบิดทำลายจริง ๆ แต่ใช้วัตถุระเบิดลวงที่ประดิษฐ์มาเป็นอย่างดี และการวางระเบิดลวงอย่างเหมาะเจาะถูกตำแหน่ง การใช้ระเบิดลวงควบคู่กับการใช้ระเบิดจริง จะทำให้กำลังของหน่วยรักษาความปลอดภัยต้องปฏิบัติงานอย่างเคร่งเครียด และไม่สามารถต่อต้านการก่อการร้ายได้ผล

(๒) การวางเพลิง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นยุทธวิธีที่นิยมใช้กันในกลุ่มผู้ก่อการร้าย, แต่การวางเพลิงก็สามารถนำมาใช้เพื่อทำลาย หรือรบกวนเป้าหมายสำคัญ เช่น สถานที่ที่เป็นสาธารณูปโภค, สถานที่ตั้งทางด้านการเมือง, รวมทั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรม (ร้านค้า, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงแรม) วิธีการที่นิยมใช้เพื่อก่อเพลิง ได้แก่ การใช้วัตถุเคมีที่เผาไหม้ตัวเองได้ตามเวลาที่ตั้งกำหนดไว้, โดยมากจะซุกซ่อนหรือบรรจุในกล่องบุหรี่ หรือกล่องใส่เทปคาสเซ็ท วัตถุเคมีเหล่านี้สามารถซุกซ่อนนำพาไปได้ง่าย และยากแก่การตรวจค้น วัตถุเคมีดังกล่าวมีราคาไม่แพงและประดิษฐ์ได้ง่ายเช่นเดียวกับระเบิด

(๓) การจี้บังคับยานพาหนะ การจี้บังคับให้ยานพาหนะ หรือเครื่องบินพาณิชย์เปลี่ยนเส้นทางไปยังสถานที่ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายกำหนดไว้นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประมาณสี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยแรกทีเดียวเริ่มจากการจี้บังคับยานพาหนะที่บรรทุกอาหารจำเป็น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ยากไร้ เป็นการสร้างความนิยมให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ในการปฏิบัติการจี้บังคับยานพาหนะของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในสเปน หรือไอร์แลนด์เหนือ สิ่งที่ตามมาภายหลังก็มักจะเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรง ตัวอย่างเช่น การจี้ปล้นรถบรรทุกน้ำมันเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุระเบิดด้วยน้ำมันเบนซินขนาด ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ บังคับจุดระเบิดด้วยชนวนเวลาที่ตั้งไว้ ยิ่งไปกว่านั้นการจี้ปล้นยานพาหนะของทางราชการทหาร ยังทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายสามารถเคลื่อนที่เข้าไปใกล้ที่ตั้งของหน่วยทหารได้ง่าย

(๔) การซุ่มโจมตี การซุ่มโจมตีซึ่งมีการวางแผนเตรียมการและซักซ้อมเป็นอย่างดี ย่อมไม่ประสบความล้มเหลว การซุ่มโจมตีตามปกติแล้วจะใช้ชุดย่อย ๆ กระจายกำลังกันและทำหน้าที่แจ้งเตือนได้แต่เนิ่น ชุดย่อย ๆ เหล่านี้จะต้องเตรียมการและซักซ้อมกันจนเป็นที่มั่นใจ กลุ่มผู้ก่อการร้ายจะใช้เวลาได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เพื่อเตรียมการในเรื่องต่าง ๆ และรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสม กลุ่มผู้ก่อการร้ายจะมีเสรีในการเลือกเวลาและสถานที่ที่จะลงมือปฏิบัติการ หากเป้าหมายหรือเหยื่อใช้การปฏิบัติเป็นกิจวัตรตามเวลาและเส้นทางเดียวกันเสมอ ๆ กลุ่มผู้ก่อการร้ายก็จะยิ่งมีเวลาซักซ้อมมากจนแทบจะนับครั้งไม่ถ้วนก่อนเริ่มปฏิบัติการ

(๕) การจับตัวเรียกค่าไถ่ การซุ่มโจมตีทุกครั้งอาจไม่มีวัตถุประสงค์ในการสังหารบุคคลเสมอไป การจับบุคคลเพื่อเรียกค่าไถ่ได้เกิดขึ้น คิดเป็นเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ ๗.๙ ของการก่อการร้ายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และถือเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างตึงเครียดสำหรับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายจะจับเหยื่อไปกักขังในที่ซ่อนที่ค้นพบได้ยาก และกำหนดค่าตัวของเหยื่อเป็นจำนวนสิ่งของที่ต้องการ(เงิน,อาวุธ,การแลกเปลี่ยนตัวประกัน และอื่น ๆ) การจับตัวเรียกค่าไถ่ที่ไม่ประสบผลตามวัตถุประสงค์จะส่งผลให้เกิดการลักพาตัว

(๖) การลักพาตัว ความแตกต่างระหว่างการลักพาตัว กับการจับตัวเรียกค่าไถ่นั้น มีอยู่ตรงที่ว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ใช้การลักพาตัวจะกระทำการโดยท้าทายต่ออำนาจรัฐ และยื่นข้อเรียกร้องเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งข้อเรียกร้องนั้นมีนอกเหนือจากสิ่งของหรือจำนวนเงิน เงื่อนไขหรือข้อตกลงทางการเมืองมักจะถูกกำหนดให้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับการมีชีวิตอยู่ของเหยื่อหรือตัวประกัน การลักพาตัวนี้เป็นยุทธวิธีใหม่และเป็นที่นิยมใช้กันในกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยลักษณะธรรมชาติของการปฏิบัตินี้จะเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชน, ข้อเท็จจริงก็คือ ประเด็นที่ว่าการยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ของเหยื่อนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่สุดของความสนใจ เหยื่อที่เป็นตัวประกันจะกลายเป็นเครื่องต่อรองที่มีตัวตน ดังนั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายย่อมสามารถเพิ่มความกดดันต่อข้อเรียกร้อง ถึงแม้ว่าการจับตัวเรียกค่าไถ่และการลักพาตัว จะเป็นการปฏิบัติที่ใช้การลงทุนไม่มาก และอาจได้รับผลตอบแทนอย่างเกินคุ้มแต่เกณฑ์การเสี่ยงของการปฏิบัติก็มีค่อนข้างสูง

(๗) การลอบสังหารบุคคลสำคัญ วิธีการนี้เป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุด แต่ก็ยังมีการนำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน เป้าหมายของการลอบสังหารมักจะเป็นที่คาดหมายไว้ได้ล่วงหน้า และกลุ่มผู้ก่อการร้ายจะประกาศความรับผิดชอบและเหตุผลที่ต้องใช้ปฏิบัติการนั้น เมื่อเหตุการณ์ได้จบสิ้นลง เป้าหมายของการลอบสังหาร ได้แก่ บุคคลสำคัญของรัฐบาล, ผู้มีหน้าที่ประสานงาน, ตำรวจ, บุคคลสำคัญทางทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง

(๘) ยุทธวิธีอื่น ๆ ไม่ว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายจะใช้วิธีการใดก็ตาม วิธีการเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ง่ายต่อการปฏิบัติ, ได้ผลตอบแทนมากเกินคุ้ม, เป็นวิธีการแบบจู่โจมโดยธรรมชาติ และถูกกำหนดให้ปฏิบัติต่อเป้าหมายมากกว่าปฏิบัติต่อบุคคล กลุ่มผู้ก่อการร้ายจะใช้การลาดตระเวนสำรวจลู่ทางอย่างละเอียด และวางแผนอย่างรัดกุม โดยไม่จำกัดเวลาในการวางแผนและเตรียมการ ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความตื่นตัวและระมัดระวังเตรียมพร้อมป้องกันการก่อการร้ายในพื้นที่ปฏิบัติการของหน่วยของตนอยู่ตลอดเวลา ยุทธวิธีอื่น ๆ ที่อาจถูกนำมาใช้ ได้แก่ การใช้สารเคมี,การรบกวน,การตีโฉบฉวย,การก่อวินาศกรรม, การยึดสถานที่ และการลอบทำร้าย

๓- ๔ เครือข่ายระหว่างประเทศ

กลุ่มผู้ก่อการร้ายในปัจจุบัน จะไม่ปฏิบัติการตามลำพังโดยไม่สนใจไยดีกับกลุ่มอื่น ๆ

เครือข่ายของการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อหวังผลการปฏิบัติอย่างสูงสุด โดยใช้เงินทุนจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นสมาชิก ไม่มีใครคาดคิดว่าองค์การก่อการร้ายระหว่างประเทศ จะมีการวางแผนเพื่อปฏิบัติการในอีกซีกโลกหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่าการสนับสนุนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ หรือการก่อการร้ายข้ามชาติได้มีอยู่จริง ผลตอบแทนที่ได้รับจากเครือข่ายดังกล่าวดูเหมือนว่าจะมีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็น อาวุธ, กระสุน, เงิน, ข่าวกรอง, วัตถุระเบิด, ที่หลบซ่อน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การถ่ายทอดประสบการณ์และการให้ความช่วยเหลือในด้านการฝึก และสิ่งอุปกรณ์สนับสนุน ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงทำให้เครือข่ายของการก่อการร้ายเจริญเติบโตขึ้นทุกขณะ

๓ - ๕ ประเภทของกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ตัวเลือกเป้าหมาย และยุทธวิธีของกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็คือ วิธีการจัดระบบปฏิบัติงานของหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลกลุ่มผู้ก่อการร้ายถูกจัดประเภทออกตามองค์กรการจัดของหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งช่วยทำให้วางแผนของหน่วยงานด้านความมั่นคงได้วาดภาพเป้าหมาย ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย รวมทั้งระบบข่าวกรองและระบบอาวุธของกลุ่ม กลุ่มผู้ก่อการร้ายอาจแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท

ก. กลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของชาติใด เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ปฏิบัติการเป็นอิสระและโดยอัตโนมัติ, ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของชาติใดทั้งสิ้น

ข. กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ปฏิบัติการตามลำพัง แต่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐบาลหนึ่งชาติหรือมากกว่า

ค. กลุ่มที่ปฏิบัติการภายใต้การควบคุมขององค์กรของรัฐ เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งปฏิบัติงานเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานของรัฐบาล, รับการสนับสนุนด้านการข่าวกรอง, การส่งกำลังบำรุงและด้านยุทธการ

๓ - ๖ วัตถุประสงค์ของการก่อการร้าย

วัตถุประสงค์ระยะสั้นของการโจมตี หรือการปฏิบัติการก่อการร้าย ตามปกติแล้วจะประกอบด้วยหนึ่งหรือหลายวัตถุประสงค์ เป้าหมายอาจเป็นได้ทั้งเป้าหมายระยะสั้น หรือเป้าหมายระยะยาว การก่อการร้ายจะแสดงออกให้เห็นถึง พลังของกลุ่ม, ความต้องการการแก้แค้น, การได้รับการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง และการทำให้รัฐบาลต้องตอบโต้อย่างรุนแรงเกินขนาด การแสดงออกจะปรากฏในรูปของการบีบบังคับ, การข่มขู่ และการสร้างความไม่พอใจ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็จะได้รับการสนับสนุนให้กับตนเองหรือกลุ่มกบฏ

ก. เป้าหมายระยะสั้น

(๑) ได้รับผลจากการปฏิบัติในระดับท้องถิ่น, ระดับชาติ หรือระดับโลก

(๒) บังคับให้รัฐบาลปฏิบัติการตอบโต้, ตอบโต้อย่างรุนแรงเกินขนาด และก่อให้เกิดความกดดันและความขัดแย้งต่าง ๆ ในหน่วยงานของรัฐบาล

(๓) ก่อกวน, ตัดรอน หรือทำให้รัฐบาล, หน่วยทหาร หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องเสียหน้าหรือเสื่อมเสีย

(๔) ได้รับการสนับสนุนเงิน หรือยุทโธปกรณ์

(๕) แสดงให้เห็นถึงความไม่มีสมรรถภาพของรัฐบาล ในการปกป้องประชาชน

(๖) รบกวน หรือทำลายเครื่องมือเครื่องใช้ในการเคลื่อนย้าย หรือการติดต่อสื่อสาร

(๗) แสดงให้เห็นถึง พลังอำนาจ หรือขีดความสามารถในการคุกคาม

(๘) ป้องกันหรือหน่วงเหนี่ยวการตัดสินใจ หรือการตราบทบัญญัติเป็นกฎหมาย

(๙) ทำให้เกิดการหยุดงาน หรือหน่วงเหนี่ยวการทำงาน

(๑๐) ทำให้เกิดความไม่แน่ใจต่อผู้ลงทุนด้านธุรกิจ หรือโครงการลงทุนด้านธุรกิจต่างชาติ

(๑๑) การปลดปล่อยนักโทษ

(๑๒) ก่อให้เกิดเหตุลุกลามใหญ่โต

ข. เป้าหมายระยะยาว

(๑) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล เช่น การปฏิวัติ, สงครามกลางเมือง หรือสงครามระหว่างประเทศ

(๒) ก่อกวน หรือลดความเชื่อถือในหน่วยงานที่สนับสนุนการปราบปราม

(๓) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจในระดับท้องถิ่น, ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ

(๔) ทำให้กลุ่มบุคคลทางการเมืองได้ตระหนักถึงกลุ่มต่อต้านภายในชาติ

๓ - ๗ เป้าหมายของการก่อการร้าย

ไม่ว่าบุคคลใดหรือสถานที่ใดก็อาจตกเป็นเป้าหมาย หรือเหยื่อของการก่อการร้ายได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในสายตาของกลุ่มผู้ก่อการร้าย, หน่วยทหารจะเป็นแหล่งของอาวุธและวัสดุอุปกรณ์ ในทำนองเดียวกันที่องค์กรทางการเมือง, องค์กรระดับชาติก็จะเป็นแหล่งที่มาของนโยบายต่าง ๆ หน่วยทหารจึงดูเหมือนว่าจะอยู่ในความล่อแหลมอย่างมาก รายการที่นำมาแสดงต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของเป้าหมายที่ล่อแหลมต่อการปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งอาจแสดงเป็นบางพื้นที่ เป้าหมายอาจถูกเปลี่ยนแปลงหากมีการเพิ่มการระวังป้องกัน

• เครื่องมือตรวจการณ์ในเวลากลางคืน และเครื่องมือสื่อสาร

• อาวุธ

• กระสุน

• เครื่องมือในการควบคุมบังคับบัญชา

• วัตถุระเบิด

• เครื่องช่วยฝึกทางทหาร

• พื้นที่สนับสนุนที่จำเป็นต่อกำลังพล (โรงอาหาร, กองร้อย, ศูนย์การค้า, ร้านค้า, สถานที่ออกกำลังกาย, สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา, สโมสร และแหล่งสมาคม

• แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า, เขื่อนกั้นน้ำ, ท่อส่งน้ำมัน และพื้นที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

• เส้นทางการคมนาคม, เครื่องมืออำนวยความสะดวก และเครื่องมือคอมพิวเตอร์

• คลังเก็บสารเคมี

• คลังเก็บชิ้นส่วนอะไหล่

• ศูนย์กลางการขนส่ง, แหล่งรวมรถ, ท่าอากาศยาน, สถานีรถไฟ, สถานีรถยนต์โดยสาร, ทางรถไฟ และท่าเรือ

• บุคลากรในกองทัพและสมาชิกในครอบครัว

• ผู้นำกองทัพ

• ที่ทำการไปรษณีย์และที่ทำการขนส่งไปรษณีย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น