วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้อพิจารณาทางด้านยุทธการ

ตอนที่ ๔


ข้อพิจารณาทางด้านยุทธการ

เนื่องจากมีตัวแปรต่าง ๆ มากมาย การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบแต่ละครั้ง จึงมักมีความแตกต่างกันในการวางแผนและการปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับหน่วยควรจะต้องพิจารณาปัจจัยทางด้านยุทธการ ซึ่งมีผลกระทบต่อธรรมชาติและขอบเขตของความพยายามในการปฏิบัติ ผู้วางแผนจะต้องปฏิบัติการตามแผนของตน, มีความพยายามที่จะใช้การปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างดี, ใช้การส่งกำลังบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ, มีแผนการลวงที่มีประสิทธิภาพ, มีระบบการควบคุมบังคับบัญชาที่สมบูรณ์ และมีความรู้ถึงขอบเขตและข้อจำกัดต่าง ๆ ในตอนที่ ๔ ของบทนี้จะอธิบายถึงเทคนิคและหลักการบางประการ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับภารกิจของแผนเผชิญเหตุในยามสงบ

๕ - ๑๖ การปฏิบัติโดยผู้วางแผน

เนื่องมาจากความไวต่อผลกระทบและความยุ่งยากของแผนเผชิญเหตุในยามสงบ ผู้วางแผนจะต้องศึกษาวิเคราะห์ภารกิจอย่างถ่องแท้ เพื่อวางแผนให้รัดกุมและมีความสมบูรณ์ สามารถใช้ปฏิบัติได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เมื่อแผนที่วางไว้ถูกกำหนดให้มีผลบังคับใช้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดให้น้อยที่สุด

๕ - ๑๗ การปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยา

แผนเผชิญเหตุฉุกเฉินในยามสงบ เป็นเรื่องยุ่งยากและอาจถูกใช้อย่างกระทันหัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้การวางแผนและเตรียมการในระยะยาว การเตรียมการสภาพแวดล้อมอาจกระทำได้ล่วงหน้าเพื่อให้การสนับสนุนหน่วยกำลังรบที่ถูกใช้เข้าปฏิบัติการ ผู้บังคับบัญชามักเลือกใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาสำหรับการเตรียมการในระยะยาว เพื่อขยายผลจากจุดอ่อนของข้าศึก และอาจใช้กับกำลังรบที่เป็นเป้าหมาย หรือกับประชาชนที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนความสำเร็จของการ ปฏิบัติการ ความพยายามเหล่านี้จำเป็นต้องใช้การเตรียมการเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีความไวต่อผลกระทบทางด้านเขตแดน และต้องใช้การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานพลเรือนและหน่วยทหาร

๕ - ๑๘ การส่งกำลังบำรุง

การส่งกำลังบำรุงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแผนเผชิญเหตุในยามสงบ การส่งกำลังบำรุงอาจมีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวของภารกิจ และอาจสนองความต้องการพิเศษของกองกำลังเฉพาะกิจร่วมได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุต้องการการแสวงข้อตกลงใจที่ฉับไว, มีลักษณะเฉพาะและอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แร้นแค้นยากลำบาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมเส้นหลักการส่งกำลังบำรุงไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อรองรับหน่วยทหารที่เข้าปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของชาติเดียวหรือหน่วยระดับใดก็ตาม

๕ - ๑๙ แผนการลวง

ความรวดเร็วและการจู่โจม เป็นกุญแจสำคัญในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ การใช้แผนการลวงที่มีประสิทธิภาพต่อเป้าหมายและผู้นำของฝ่ายตรงข้ามจะทำให้เกิดผลในทางจู่โจม แผนการลวงดังกล่าวจะถูกจัดทำและดำเนินการในระดับยุทธการ ส่วนในระดับยุทธวิธีนั้นแผนการลวงจะใช้เพื่อแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถคาดเดาการปฏิบัติของฝ่ายเราที่เป็น รปจ.ได้แผนการลวงจะถูกใช้ในบทบาทสำคัญคือ.-

ก. ปิดบังอำพรางรูปขบวนการเคลื่อนที่ทางยุทธวิธีของฝ่ายเรา

ข. เบี่ยงเบนไม่ให้ข้าศึกสามารถคาดหมายหรือล่วงรู้วัตถุประสงค์ของฝ่ายเรา

ค. เบี่ยงเบนไม่ให้ข้าศึกสามารถคาดคะเน หรือล่วงรู้จุดอ่อนของฝ่ายเรา

๕ - ๒๐ การบังคับบัญชาและการควบคุม

ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชา (หน่วยขึ้นตรง/ ร่วม/ ผสม) จะมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติการดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องมาจากลักษณะทางธรรมชาติ, ความจำเป็นของรูปแบบ และความเกี่ยวข้องทางการเมืองและทางทหาร อีกทั้งยังมีความตึงเครียดอันเนื่องมาจากความจำเป็นที่ต้องดำรงไว้ซึ่งการบังคับบัญชา การควบคุมและการประสานงาน และความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบังคับบัญชาและควบคุมที่เกินความจำเป็น

๕ - ๒๑ ข้อจำกัดทางด้านยุทธการ

ผู้บังคับบัญชาจะมีความยุ่งยากในการผสมผสานมาตรการระวังป้องกันของหน่วย ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อบังคับจากกฎของการปะทะในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ กฎของการปะทะสำหรับหน่วยระดับยุทธวิธีจะถูกกำหนดโดยผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรวม โดยใช้พื้นฐานจากแนวทาง, ภารกิจ, ภัยคุกคาม, กฎแห่งการสงครามของหน่วยบัญชาการแห่งชาติ รวมทั้งข้อจำกัดในการใช้กำลังของประเทศเจ้าบ้านในโลกที่สาม ข้อพิจารณาทางการเมืองที่เป็นตัวกำหนดกฎของการปะทะขึ้นมานั้น ย่อมมีความขัดแย้งกับความจำเป็นของการรักษาความปลอดภัยของหน่วยทหาร จึงต้องใช้ดุลยพินิจในการชั่งน้ำหนักระหว่าง ความต้องการทางการเมือง และความเสี่ยงภัยของหน่วย กฎของการปะทะนี้จะต้องมีความสมเหตุสมผล, สามารถปฏิบัติได้ และใช้บังคับได้จริง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม กำลังทหารจะต้องปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมที่มีความบีบบังคับ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความอดทนอดกลั้น, มีการฝึกอย่างดี และมีความเสียสละอุทิศตน

๕ - ๒๒ หลักการ

ระบบการทำงานหลักที่สำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุนั้น ประกอบด้วย.-

ก. การปฏิบัติทางด้านการทหาร จะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับด้านการทูต และการประชาสัมพันธ์

ข. รัฐสภาจะเป็นองค์กรนำ เว้นเสียแต่ว่า กองทัพจะใช้การปฏิบัติการรุก

ค. นโยบายของชาติกำหนดวัตถุประสงค์ทางทหาร และการประกอบกำลังของหน่วยรบ ผู้จัดทำนโยบายจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้แน่ชัด และมีความไวต่อข้อจำกัดในทางทหาร

ง. มีความจำเป็นต้องวางแผนอย่างละเอียด และมีความอ่อนตัวในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

จ. สายการควบคุมบังคับบัญชาและการติดต่อสื่อสารจะต้องถูกจัดตั้งขึ้นระหว่างหน่วยทหาร และหน่วยงานทางพลเรือน

ฉ. แผนการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงจะต้องพร้อมสมบูรณ์

ช. มีความจำเป็นที่จะต้องฝึกพิเศษในทุกระดับ

ซ. ณ จุดที่มีการปะทะ ควรจะใช้กำลังรบที่จำเป็นให้น้อยที่สุด การใช้กำลังที่เหนือกว่าได้อย่างรวดเร็ว ณ พื้นที่เป้าหมาย ย่อมสามารถลดโอกาสที่จะเกิดการต่อสู้กันจริง ๆ ลงได้

ด. หน่วยทหารจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับพลเรือนหรือผู้ลี้ภัย

ต. การระวังป้องกันและ การ รปภ.ของหน่วยกำลังรบจะต้องถูกนำมาพิจารณาความสำคัญร่วมกับกฎของการปะทะ,สถานการณ์ทางยุทธวิธีและสภาพแวดล้อมทางการเมืองในแต่ละสถานการณ์

ตอนที่ ๕

การนำกำลังรบเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามสูง

กองกำลังเฉพาะกิจร่วมมักจะได้รับมอบให้เป็นผู้ปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ ขนาดของกองกำลัง, ภารกิจ และพื้นที่รับผิดชอบจะแปรเปลี่ยนไปตามการใช้งานในแต่ละครั้ง แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ก็อาจจำเป็นต้องใช้กองกำลังส่งเข้าไปปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามสูงกำลังรบในส่วนของ ทบ. จะมีขนาดไม่ใหญ่โตเกินไปนัก แต่จะเป็นกำลังที่ได้รับการฝึกอย่างดีเป็นพิเศษ เป็นหน่วยระดับกองพันเฉพาะกิจหรือกรมผสม การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุนั้น มักใช้หน่วยทหารราบส่งทางอากาศ, หน่วยทหารราบเคลื่อนที่โจมตีทางอากาศ หรือหน่วยทหารราบเบาและอาจมีการสมทบหรือเพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วยขนาดหนัก

๕ - ๒๓ ส่วนนำในการเข้าโจมตี

ส่วนนำในการเข้าโจมตีจะเน้นการประสานการปฏิบัติของหน่วยทหารขนาดเล็ก ในการเข้ายึดที่หมายที่มีขนาดจำกัดก่อนที่จะใช้การบุกเข้าจู่โจม เมื่อได้มีการเข้ายึดที่หมายขั้นต้นได้แล้ว ก็จะเปลี่ยนความพยายามเป็นการเริ่มจัดตั้งหัวสะพานอากาศ

ก. ยุทธวิธีการรบแบบจู่โจม พร้อมด้วยการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ จะทำให้หน่วยสามารถเข้ายึดที่หมายขั้นต้น และจัดตั้งเป็นหัวสะพานอากาศก่อนที่ข้าศึกจะมีเวลาปฏิบัติการตอบโต้ได้ทัน ภารกิจของหน่วยอาจถูกเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็น หากข้าศึกได้มีการป้องกันที่หมายขั้นต้น ทั้งนี้ข้าศึกอาจได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และได้มีการเตรียมกำลังประจำถิ่นไว้ เพื่อสามารถตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วตามแนวทางการเคลื่อนที่ของฝ่ายเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ระดับความเข้มข้นในการประสานการปฏิบัติ และกำลังส่วนเข้าโจมตีจะต้องเพิ่มมากขึ้น กำลังฝ่ายเราที่เข้ายึดหัวสะพานอากาศได้แล้ว จะต้องเตรียมการป้องกันที่มั่นในขั้นต้น ต่อการโจมตีของหน่วยยานเกราะ เท่าที่ขีดความสามารถของหน่วยจะมีอยู่

ข. หน่วยที่ได้รับมอบภารกิจในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ จะเป็นส่วนหนึ่งของกำลังที่ถูกส่งเข้าไปในขั้นแรก เพื่อที่จะ.-

• จัดวางเครื่องปิดกั้นถนน

• ค้นหาที่ตั้งกำลังของข้าศึก

• รบกวนหรือทำลายเครื่องมือและระบบการติดต่อสื่อสารของข้าศึก

• จัดเตรียมข้อมูลข่าวสารการระวังป้องกันและการแจ้งเตือนแต่เนิ่นให้กับผู้บังคับบัญชา

เนื่องจากการลาดตระเวนทางพื้นดินของผู้บังคับหน่วยก่อนการปฏิบัติการ เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากหรือไม่มีโอกาส ดังนั้นจึงต้องรีบดำเนินการลาดตระเวนทางพื้นดินในทันทีที่หน่วยลงสู่พื้นดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง หขส./ตขอ.ของหน่วยทหารราบส่งทางอากาศก็มักจะมีความคล้ายคลึงกับของหน่วยอื่น ๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าว ทำให้จำเป็นต้องมีการลาดตระเวนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อรายงานให้กับหน่วยเหนือได้ใช้ประโยชน์ในการวางแผน

ค. หากที่หมายขั้นต้นได้ถูกฝ่ายข้าศึกวางกำลังป้องกันไว้อย่างหนาแน่น, ผบ.พัน.หรือ ผบ.กรม จะมอบภารกิจในการเข้ายึดเส้นทางสำคัญและสนามบินให้กับกำลังขนาดใหญ่ นอกจากนี้พื้นที่ส่งลง/ พื้นที่รับขึ้นจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางหรือเครื่องกีดขวาง และได้รับการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนเพื่อรอรับกำลังส่วนติดตาม หากที่หมายขั้นต้นได้ถูกฝ่ายข้าศึกวางกำลังป้องกันไว้อย่างเบาบาง ก็จะใช้กำลังขนาดใหญ่ของฝ่ายเราในการกวาดล้างพื้นที่และเขตรับผิดชอบ ตลอดจนการเตรียมที่มั่นตั้งรับในทางลึก การลาดตระเวนจะเริ่มต้นแต่เนิ่นในระหว่างที่มั่นตั้งรับที่อยู่ข้างเคียงกับหัวอากาศ และระหว่างหัวสะพานอากาศกับเส้นเขตการลาดตระเวนและระวังป้องกัน อากาศยานของกองทัพบกเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับงานนี้ กองกำลังจะพยายามติดต่อกับหน่วยรบพิเศษของฝ่ายเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ให้ได้แต่เนิ่น ๆ

ง. ผู้บังคับบัญชาจะชี้แจงแผนการปฏิบัติของหน่วย, แผนของหน่วยข้างเคียง และแผนของหน่วยเหนือ รวมทั้งแผนสำรอง ให้กับกำลังพลของหน่วยได้รับทราบ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้หน่วยหรือกำลังพลสามารถลงสู่พื้นดินในพื้นที่ที่ไม่ได้เตรียมการวางแผนไว้ ในกรณีที่พื้นที่ส่งลงไม่มีความปลอดภัย แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ หน่วยหรือกำลังพลที่ถูกส่งลงไปผิดพื้นที่จะต้องรีบติดต่อกลับมายังกองบังคับการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

จ. หากการติดต่อสื่อสารและสถานการณ์ทางยุทธวิธีเอื้ออำนวย ผู้บังคับหน่วยจะใช้การควบคุมแบบรวมการ ช่วงการติดต่อสื่อสารจะต้องถูกจัดตั้งเสร็จเรียบร้อยก่อนที่อากาศยานจะบินเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติการ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการควบคุมบังคับบัญชาจากทางภาคพื้นดินอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยจะต้องรีบจัดตั้งระบบการบังคับบัญชาและควบคุมในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้.-

(๑) ข่ายการบังคับบัญชาและควบคุมการยิงของกองกำลัง

(๒) ข่ายการติดต่อสื่อสารกับหน่วยสนับสนุนทางอากาศและกำลังทางเรือ

(๓) ข่ายการติดต่อสื่อสารกับหน่วยลำเลียงทางอากาศในภารกิจการส่งกำลังและการส่งกลับ

(๔) ข่ายการติดต่อสื่อสารฐานที่มั่นของฝ่ายเราในดินแดนของข้าศึก

(๕) ข่ายการติดต่อสื่อสารที่กว้างไกล ระหว่างหน่วยส่งทางอากาศกับกำลังภาคพื้นดิน (เช่น การยุทธบรรจบ) ร่วมกับภารกิจทั่วไปหรือภารกิจที่ต้องมีการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วย

เจ้าหน้าที่สื่อสารและเครื่องมือจะต้องเคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่หัวสะพานอากาศ ล่วงหน้าก่อนที่จะจัดตั้งที่บังคับการ เพื่อประกันให้มั่นใจว่าจะตั้งข่ายการสื่อสารได้อย่างทันเวลา

ฉ. ผู้บังคับหน่วยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติได้โดยการโยกย้าย หรือแบ่งมอบหน่วยยิงสนับสนุนการเคลื่อนย้ายกำลัง, การปรับภารกิจ, การเปลี่ยนที่หมายและเขตปฏิบัติการ และการใช้กองหนุน นอกจากนี้ผู้บังคับหน่วยยังอาจจำเป็นต้องเคลื่อนที่ไปยังตำบลที่คาดคิดว่าจะมีอิทธิพลต่อการควบคุมการปฏิบัติได้มากที่สุด

ช. เมื่อสามารถจัดการระวังป้องกันที่หมายขั้นต้นได้แล้ว หน่วยรองก็จะสามารถเข้ายึดที่หมายอื่น ๆ ที่สามารถช่วยเหลือการประสานงานในการตั้งรับ หรือการปฏิบัติการในอนาคตของกรม ที่มั่นตั้งรับจะถูกจัดเตรียม, เพิ่มเติมการติดต่อสื่อสาร และจัดเตรียมกองหนุนขึ้นมาใหม่ มาตรการอื่น จะถูกจัดเตรียมขึ้นเพื่อขับไล่การเข้าตีโต้ตอบของข้าศึก, ลดประสิทธิผลของการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือเพื่อใช้ในการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก

ซ. กองหนุนมีหน้าที่จัดเตรียมและเข้ายึดที่มั่นสกัดกั้น เมื่อได้รับคำสั่ง กิจทั่วไปที่กองหนุนมักได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติในระหว่างการโจมตีในขั้นแรกก็คือ การเข้ารับปฏิบัติภารกิจแทนหน่วยที่ถูกส่งลงผิดพื้นที่หรือไม่สามารถลงสู่พื้นที่ที่กำหนดไว้ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากการต่อต้านของฝ่ายตรงข้าม ณ พื้นที่ส่งลงหรือหัวสะพานอากาศ

๕ - ๒๔ การพัฒนาหัวสะพานอากาศ

ภายหลังจากที่กองกำลังปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุได้ทำการโจมตีจากการเคลื่อนย้ายทางอากาศ และได้สำเร็จภารกิจทางภาคพื้นดินในขั้นต้นแล้ว ผู้บังคับหน่วยจะต้องจัดตั้งแนวหัวสะพานอากาศขึ้น (รส.๙๐–๒๖)

ก. ขนาดของหัวสะพานอากาศ แนวหัวสะพานอากาศจะทอดยาวออกไปในพื้นที่ส่งลงเป็นระยะทางพอที่จะทำให้มั่นใจในการระวังป้องกันการส่งลงของกำลังพล,ยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ ทั้งนี้จะต้องสามารถให้การ รวป. ภูมิประเทศสำคัญและพื้นที่ดำเนินกลยุทธ์สำหรับการปฏิบัติการในอนาคตได้ด้วย

ข. การเข้ายึดและการจัดระเบียบหัวสะพานอากาศ การเข้ายึดและจัดระเบียบแนวหัวสะพานอากาศจะมีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ผู้บังคับหน่วยจะปรับการวางกำลังและฐานที่ตั้งให้เข้ากับภูมิประเทศและสถานการณ์ หน่วยจะใช้วิธีการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ซึ่งเป็นการเสริมการระวังป้องกัน ระดับการวางกำลังป้องกันการเข้ายึดครองและการจัดระเบียบหัวสะพานอากาศนั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์, ขีดความสามารถของข้าศึก และลักษณะภูมิประเทศจะเอื้ออำนวยต่อการวางกำลังเพียงใด

ค. การจัดตั้งหัวสะพานอากาศ การจัดตั้งและสร้างหัวสะพานอากาศเป็นขั้นการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในระหว่างการเข้ายึดและการจัดระเบียบแนวหัวสะพานอากาศ โดยพิจารณาจากจำนวนกำลังรบที่มีอยู่ ผู้บังคับหน่วยจะจัดกำลังเป็นหน่วยหลัก, กำลังส่วนหน้าเป็นส่วนเพิ่มเติม และจัดกำลังกองหนุนเตรียมการไว้สำหรับการปฏิบัติการรุก

๕ - ๒๕ การปฏิบัติการตั้งรับ

เวลาที่จะใช้สำหรับการตั้งรับจะแปรเปลี่ยนไปตามภารกิจ, ขนาดและการประกอบกำลัง, การปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายข้าศึก และประเภทของการปฏิบัติการ

ก. ขั้นการตั้งรับ อาจเกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้ขั้นการตั้งรับในรูปแบบของการปฏิบัติการสั้น ๆ เพื่อแยกที่หมายให้อยู่โดดเดี่ยว ซึ่งจะสามารถกระทำได้โดยการทำลายและทำให้ข้าศึกต้องกระจัดกระจายกันอยู่ในที่หมายห่างกันในระหว่างการเข้าโจมตี หลังจากนั้นกำลังส่วนเข้าโจมตีของฝ่ายเราจะถอนตัวออกมาก่อนที่ข้าศึกจะรวมกำลังกันเข้าทำการตีโต้ตอบ

ข. การป้องกันหัวสะพานอากาศ กองกำลังจะใช้การวางกำลังป้องกันหัวสะพานอากาศ โดยเข้ายึดรักษาภูมิประเทศสำคัญและแนวทางการเคลื่อนที่ที่ข้าศึกจะใช้เข้ามาสู่แนวหัวสะพานอากาศ หน่วยจะใช้การขัดขวางข้าศึกมิให้เข้ามาในพื้นที่บริเวณที่ฝ่ายเราวางกำลังยึดไว้ด้วยการผสมผสานกันระหว่าง การใช้หน่วยลาดตระเวน, การใช้สนามทุ่นระเบิด, การยิง และการใช้เครื่องกีดขวาง หน่วยจะทำการลาดตระเวนระหว่างที่ตั้งต่าง ๆ ภายในหัวสะพานอากาศ, ระหว่างหัวสะพานอากาศ และเขตการลาดตระเวนระวังป้องกัน และข้างหน้าของเขตการลาดตระเวนระวังป้องกัน โดยเฉพาะในระหว่างเวลาที่มีทัศนวิสัยจำกัด จะเน้นการลาดตระเวนข้างหน้าเขตเป็นพิเศษ การวางกำลังในหัวสะพานอากาศจะต้องเอื้ออำนวยให้สามารถโยกย้ายกำลังได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเคลื่อนย้ายกองหนุน และการยิงสนับสนุน เพื่อทำให้สามารถเสริมเพิ่มเติมกำลังพื้นที่รับผิดชอบในด้านอื่น ๆ ของหัวสะพานอากาศ นอกจากนี้ยังจะต้องเตรียมที่มั่นสู้รบในทางลึกตามขีดความสามารถที่ทำได้อีกด้วย

ค. การป้องกันในระหว่างการถอนตัว หากจำเป็นจะต้องถอนตัวออกจากที่มั่นใน ขั้นต้นแล้ว พื้นที่สุดท้ายจะต้องมีมิติพอเพียงสำหรับการดำเนินกลยุทธ์, พอเพียงสำหรับการป้องกันฐานที่มั่นสำคัญ และพอเพียงสำหรับการวางแผนปฏิบัติการส่งกลับทางอากาศ

ง. การป้องกันและต่อต้านยานเกราะ ในระหว่างขั้นต้นของการปฏิบัติการนั้น วิธีการป้องกันและต่อต้านยานเกราะของข้าศึกก็คือ การสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธีซึ่งอากาศยานติดอาวุธจะมีขีดความสามารถในการโจมตียานเกราะของข้าศึกในระยะที่ห่างไกลจากพื้นที่ที่หมาย และสามารถโจมตีและสังเกตการณ์เป้าหมายได้ในขณะที่ยังเป็นภัยคุกคามต่อกำลังของฝ่ายเรา การใช้จุดต้านทานแข็งแรงเพื่อป้องกันรักษาหัวสะพานอากาศจะกระทำได้เมื่อมีเครื่องกีดขวางอย่างพอเพียง หน่วยจะใช้การวางอาวุธต่อสู้รถถังในทางลึก ตามแนวทางการเคลื่อนที่ของยานเกราะ โดยเตรียมแผนการยิงไว้ ล่วงหน้า เพื่อควบคุมเส้นทางการเคลื่อนที่ที่เป็นอันตราย อาวุธต่อสู้รถถังเหล่านี้จะต้องสามารถโยกย้ายไปเสริมด้านอื่นได้อย่างรวดเร็ว

จ. การตั้งรับเพื่อต่อต้านการโจมตีของหน่วยส่งทางอากาศ, หน่วยกองโจร และการแทรกซึม การวางกำลังตั้งรับนั้นจะต้องวางแผนเตรียมรับมือและต่อต้านการโจมตีของข้าศึกที่เป็นหน่วยส่งทางอากาศ, หน่วยกองโจร หรือหน่วยแทรกซึม วิธีการขั้นพื้นฐานก็คือ การใช้การลาดตระเวน และการใช้เครื่องมือเฝ้าตรวจ แจ้งเตือนอย่างกว้างขวาง และด้วยวิธีการตั้งรับแบบวงรอบพร้อมด้วยกองหนุน หน่วยจะต้องเตรียมพร้อมในช่วงเวลาที่มีทัศนวิสัยจำกัด เพื่อป้องกันการแทรกซึมของข้าศึก หากหน่วยใช้การก่อกำลังภายในหัวสะพานอากาศก็จะไม่สามารถปฏิบัติการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลาที่มีทัศนวิสัยดีนั้น หน่วยจะต้องพยายามค้นหาและทำลายข้าศึกที่พยายามแทรกซึมเข้ามาในหัวสะพานอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น