วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การจัดกำลังเฉพาะกิจ

ตอนที่ ๒


การจัดกำลังเฉพาะกิจ

ผู้บังคับบัญชาจะจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจของตนขึ้นภายหลังจากที่ได้วิเคราะห์ปัจจัยทางด้านการเมือง และปัจจัย METT – T การจัดเฉพาะกิจแต่ละครั้งสำหรับปฏิบัติงานในแต่ละกรณีของความขัดแย้งระดับต่ำ จะมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับการจัดเฉพาะกิจสำหรับปฏิบัติการแต่ละภารกิจในความขัดแย้งระดับต่ำก็จะมีลักษณะและโครงสร้างไม่เหมือนกัน ผู้บังคับบัญชาต้องประเมินภารกิจต่อขีดความสามารถและขีดจำกัดของหน่วยในอัตราและหน่วยที่ให้การสนับสนุน และจะต้องจัดทำพัฒนาความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชาและการควบคุมให้มีความกระจ่างชัด ซึ่งจะกำหนดทิศทางของการกำลังพล, การจัดยุทโธปกรณ์, การติดต่อสื่อสาร, สิ่งอำนวยความสะดวก และระเบียบปฏิบัติในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการวางแผนที่จะปฏิบัติการในเรื่องต่าง ๆ ผู้บังคับบัญชาต้องกำกับดูแลการปฏิบัติในยุทธการและวางแผนเตรียมการที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติการรบได้อย่างรวดเร็ว

๖ - ๑๑ การวางแผนการจัดกำลังเฉพาะกิจ

การจัดหน่วยภายในกองกำลังเฉพาะกิจในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำ จะเป็นไปโดยใช้แนวทางตามรูปแบบของกองกำลังแบบมาตรฐาน โดยยึดหลักการบังคับบัญชาและการควบคุม ซึ่งจะประกอบด้วย กลุ่มของฝ่ายอำนวยการ สนับสนุนด้วยส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม, การส่งกำลังบำรุง และการติดต่อสื่อสาร ในขณะที่การบังคับบัญชาและการควบคุมในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำ มีลักษณะคู่ขนานไปกับการบังคับบัญชาและการควบคุมในสงครามตามแบบ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในวิธีการและหลักการวางแผนปฏิบัติการประเภทนี้

ก. ความแตกต่างจะปรากฏอยู่ในระดับความสำคัญที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจมีให้กับสถานการณ์ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจที่เผชิญหน้าอยู่ขณะนั้น ในสงครามตามแบบ กำลังทหารถือเป็นส่วนหลักของพลังอำนาจแห่งชาติที่จะใช้สร้างเงื่อนไขเพื่อการแก้ปัญหาทางการเมือง ส่วนประกอบอื่น ๆ ทางด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยาจะเป็นส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางการทหาร แต่ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น กองทัพจะไม่ได้เป็นผู้แสดงบทบาทหลักในการนำ หากแต่จะเป็นส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารจะต้องมีความเข้าใจในข้อแตกต่างพื้นฐานนี้ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จตามปกติทั่วไปจะไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ดังนั้น ปัจจัยทางการเมืองและปัจจัย METT – T จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ

ข. ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ผู้บังคับบัญชาจะมุ่งเน้นการใช้พลังอำนาจทางทหารในทางอ้อม การใช้ส่วนสนับสนุนทางการรบและทางการช่วยรบ จะมีประสิทธิภาพมากในอันที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา สิ่งนี้เป็นความจริง ตราบใดที่งานทางการช่าง, การบริการทางการแพทย์ และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ยังมีความสำคัญอยู่

ค. ในแผนการทัพภายใต้สภาวะความขัดแย้งระดับต่ำกองทัพจะไม่เป็นผู้แสดงบทบาทหลักในการนำและผู้บังคับบัญชาจะต้องประสานการปฏิบัติทางยุทธวิธีกับองค์กรและหน่วยงานทาง พลเรือนมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับหน่วยทางภาคพื้นดินจะต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผู้ตกลงใจใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการ ดังนั้นผู้บังคับหน่วยจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางทหาร และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นอย่างดี

ง. ในสภาวะแวดล้อมของความขัดแย้งระดับต่ำ การปฏิบัติการของหน่วยทหารขนาดเล็กถือเป็นเรื่องธรรมดา ตามปกติแล้ว หน่วยระดับกรม, กองพัน และกองร้อย จำเป็นต้องมีการปรับการจัดในบางอย่าง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ, ภัยคุกคาม รวมทั้งสถานการณ์ทางด้านพลเรือนและด้านการทหาร การจัดหน่วยเฉพาะกิจควรจะมุ่งเน้นในเรื่องความพอเพียงในตนเองทางด้านยุทธวิธี ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการจัดหรือสมทบหน่วยสนับสนุนโดยตรงให้พอเพียง ทั้งส่วนปฏิบัติการรบ, ส่วนสนับสนุนการรบ และส่วนสนับสนุนทางการช่วยรบ เพื่อให้หน่วยสามารถปฏิบัติการในลักษณะกึ่งอิสระได้ นอกจากนี้ยังจะต้องจัดเตรียมให้มีเครื่องมือสำหรับปฏิบัติงานด้านพลเรือนไว้ให้พอเพียง ซึ่งจะประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในงานด้านการช่วยเหลือประชาชน, เจ้าหน้าที่ในงานปฏิบัติการจิตวิทยา, เจ้าหน้าที่ล่าม และเครื่องมืออื่น ๆ จากองค์กรสนับสนุน

๖ - ๑๒ การจัดกรมผสมเฉพาะกิจ

กรมผสมเฉพาะกิจ จะปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังเฉพาะกิจร่วม ซึ่งมักจะประกอบด้วยหน่วยแบบเบา, หน่วยแบบหนัก, หน่วยรบพิเศษ, หน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วผสมกัน หน่วยระดับกรมสามารถบังคับบัญชาและควบคุมหน่วยระดับกองพันได้ถึง ๕ กองพัน หน่วยจะจัดกำลังโดยขึ้นอยู่กับภัยคุกคาม, สภาพแวดล้อม และประเภทของการปฏิบัติการ กรมอาจจะร้องขอหน่วยสนับสนุนทางการรบและหน่วยสนับสนุนทางการช่วยรบมาสมทบเพิ่มเติม ไม่ว่าจะใช้งานในลักษณะของหน่วยรองหลักของกองพล หรือหน่วยปฏิบัติการแยกเป็นอิสระก็ตาม หน่วยระดับกรมจะต้องจัดให้มีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติการแบบกึ่งอิสระหรือปฏิบัติเป็นอิสระได้

ก. หน่วยรบ, หน่วยสนับสนุนการรบ และหน่วยสนับสนุนการช่วยรบ หน่วยเหล่านี้จะถูกจัดสมทบหรือวางกำลังไว้ในตำบลที่สามารถสนับสนุนกรมได้ทันท่วงทีและตามความจำเป็นในภารกิจ เมื่อกรมปฏิบัติการเป็นอิสระก็มักจะเน้นการจัดแบบสมทบหน่วย เมื่อหน่วยรบ, หน่วยสนับสนุนการรบและหน่วยสนับสนุนการช่วยรบถูกใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของกรมทหารราบเบา ก็จะเป็นการจัดแบบขึ้นสมทบ หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีส่วนสนับสนุนการช่วยรบขึ้นสมทบอย่างพอเพียงเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

ข. หน่วยดำเนินกลยุทธ์แบบหนักและแบบเบา หน่วยดำเนินกลยุทธ์ทั้งสองแบบล้วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ โดยทั่วไปแล้วการใช้กำลังรบผสมระหว่างหน่วยแบบเบา/ แบบหนัก จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับกองกำลังเฉพาะกิจ กำลังรบแต่ละแบบจะมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของตนเอง ซึ่งสามารถใช้ให้เกิดอำนาจกำลังรบได้อย่างสูง ขึ้นอยู่กับภัยคุกคามและภารกิจ

ค. ส่วนดำเนินกลยุทธ์ของกองพัน กองพันเป็นหน่วยดำเนินกลยุทธ์หลักของกรม โครงสร้างของส่วนบังคับบัญชาและส่วนอำนวยการได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถรับการเพิ่มเติมกำลังได้ จากสภาพตามธรรมชาติในลักษณะของการกระจายการปฏิบัติในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ หน่วยสนับสนุนการรบและหน่วยสนับสนุนการช่วยรบอาจจะถูกจัดขึ้นสมทบ หรือวางไว้ในลักษณะช่วยสนับสนุนโดยตรงให้กับกองพัน นอกจากนี้ยังสามารถขอรับการสนับสนุนกำลังทหาร, กำลังกึ่งทหาร หรือกำลังตำรวจจากประเทศเจ้าบ้านได้

ง. กองร้อยดำเนินกลยุทธ์ กองร้อยเป็นส่วนดำเนินกลยุทธ์พื้นฐานของหน่วยระดับกองพัน กองร้อยต่าง ๆ จะต้องดำรงไว้ซึ่งสภาพความพร้อมรบไม่ว่าจะได้ปะทะกับฝ่ายตรงข้ามมาบ่อยครั้งเท่าใดก็ตาม สิ่งนี้จะช่วยต่อต้านสำนึกผิด ๆ ซึ่งจะก่อตัวขึ้น เมื่อหน่วยไม่เคยได้ปะทะกับข้าศึก ผู้นำหน่วยต่าง ๆ ภายในกองร้อยต้องมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการขนาดย่อย ๆ ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในระยะห่างไกล ผู้นำเหล่านั้นต้องดำรงสภาพความมีวินัยอย่างสูงของทหารภายใต้บังคับบัญชา เช่นเดียวกับการดำรงสภาพขวัญให้อยู่ในเกณฑ์สูง ทหารจะต้องได้รับการฝึกฝนให้สามารถปฏิบัติตามแผน ฉุกเฉิน หรือแผนเผชิญเหตุได้ตามภารกิจ ทั้งจะต้องเกาะติดสถานการณ์ ภัยคุกคาม และความสัมพันธ์กับรัฐบาล รวมทั้งประชากรของตน, หน่วยงานพลเรือนและบุคลากรภายในหน่วย, บทบาทของตน และเหตุผลที่จะนำไปสู่การปฏิบัติของหน่วย กองร้อยดำเนินกลยุทธ์จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานในการรบเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำหรือในสงครามตามแบบ แต่ยังจำเป็นต้องมีการปรับทักษะดังกล่าวให้เข้ากับกฎของการปะทะ ทักษะพื้นฐานทั่วไปที่จำเป็นได้แก่.-

(๑) ความรู้ความสามารถในการพิสูจน์ทราบ, ค้นหา และรื้อถอนทุ่นระเบิดกับระเบิด

(๒) ความรู้ในภาษาง่าย ๆ หรือคำที่ใช้ทั่วไปในภาษาท้องถิ่น

(๓) ความรู้ความเข้าใจในยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม, เทคนิค และระเบียบปฏิบัติ

(๔) ความเข้าใจในกฎของการปะทะ

(๕) ความรู้ในลักษณะนิสัยของประชาชนในท้องถิ่น, รวมทั้งขนบธรรมเนียม, ศาสนา และลักษณะนิสัยในการกินอาหารและการดื่ม

(๖) การได้รับการฝึกแลกเปลี่ยนโดยใช้อาวุธต่างประเทศ, เครื่องมือติดต่อสื่อสารและยุทโธปกรณ์อื่น ๆ

(๗) ความรู้ความสามารถในการใช้อาวุธนอกอัตราการจัด เช่นปืนลูกซอง, เรือและวัตถุระเบิด

จ. หน่วยลาดตระเวน หน่วยลาดตระเวนมีอัตราการจัดยุทโธปกรณ์ และได้รับการฝึกเพื่อปฏิบัติการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ และทำการระวังป้องกันอย่างจำกัด ทั้งนี้อาจเข้ามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือควบคุม, เคลื่อนย้าย และวางกำลังของหน่วย โดยปกติแล้วหมวดลาดตระเวนมักจะถูกใช้งานภายใต้การควบคุมของกองพัน นอกเหนือจากภารกิจมาตรฐานแล้ว หน่วยลาดตระเวนอาจได้รับการจัดเพื่อ.-

(๑) ปฏิบัติการเชื่อมต่อระหว่างจุดตรวจกับกำลังพลของประเทศเจ้าบ้าน

(๒) ปฏิบัติการร่วมหรือผสมกับกำลังพลของประเทศเจ้าบ้าน

(๓) ปฏิบัติการร่วมหรือผสมกับกำลังทหาร, กำลังกึ่งทหาร และตำรวจของประเทศเจ้าบ้าน

(๔) สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวและการปฏิบัติของบุคลากร

ฉ. หน่วยต่อสู้รถถัง หากไม่มีภัยคุกคามจากยานเกราะของฝ้ายตรงข้ามแล้ว หน่วยต่อสู้รถถังอาจถูกจัดขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจอื่น การใช้งานหน่วยดังกล่าวขึ้นอยู่กับเครื่องมือเครื่องใช้ในการขนส่งที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถนำอาวุธอื่น ๆ มาใช้ทดแทนอาวุธต่อสู้รถถังได้

ช. ตอนเครื่องยิงลูกระเบิด ตามปกติส่วนยิงจะเข้าที่ตั้งยิงภายในฐานที่มั่น หากตอนเคลื่อนย้ายออกไปเข้าที่ตั้งยิงภายนอกฐานที่มั่นแล้ว ก็จำเป็นต้องเน้นในเรื่องการระวังป้องกันที่ตั้งยิง โดยมอบหมายให้ส่วนดำเนินกลยุทธ์เป็นผู้ดำเนินการ ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารควรจะระมัดระวังในเรื่องพื้นที่ห้ามยิง, แนวจำกัดการยิงและข้อจำกัดในการใช้ชนิดของกระสุน

ซ. หน่วยสนับสนุนการรบ จำนวนและประเภทของการสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับภารกิจ ประเภทของการสนับสนุนที่สามารถดำเนินการและเทคนิคการใช้จะมีตามลำดับ (ในบทที่ ๗ จะอธิบายถึงการใช้ส่วนสนับสนุนการรบนี้)

(๑) ปืนใหญ่สนาม ปืนใหญ่สนามจะถูกใช้เพื่อสนับสนุนหน่วยดำเนินกลยุทธ์, นอกจากนี้ยังสามารถจัดให้มีเครื่องช่วยฝึกและช่วยเหลือในการปฏิบัติการของหน่วยทหารปืนใหญ่และส่วนร่วมอื่น ๆ ในระบบงาน เช่น การแผนที่ การอุตุนิยม และการทำบัญชีเป้าหมาย (ดูรายละเอียดในบทที่ ๗)

(๒) หน่วยบิน หน่วยบินจะให้การสนับสนุนในเรื่องการเคลื่อนย้ายทางอากาศ เมื่อมีการใช้หน่วยบินในลักษณะเป็นหน่วยเดียว จะต้องมีองค์กรการจัดหน่วย ซึ่งมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์พอเพียงเพื่อที่จะดำรงประสิทธิภาพในการซ่อมบำรุงอากาศยานไว้ กำลังพล, อากาศยาน และยุทโธปกรณ์สามารถที่จะนำมาใช้เพื่อฝึกหน่วยตามลักษณะธรรมชาติและเพื่อสนับสนุนการ ปจว. รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนโดยหน่วยทหาร (ดูบทที่ ๗)

(๓) หน่วยทหารช่าง หน่วยทหารช่างจะช่วยสนับสนุนตามความต้องการของกองกำลังเฉพาะกิจ (ตารางที่ ๖ – ๑) ภารกิจทั้งหมดที่เกี่ยวกับความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่, การต่อต้านความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ และความอยู่รอดในสนามรบจะเป็นภารกิจที่หน่วยทหารช่างช่วยสนับสนุนให้ นอกจากนี้ทหารช่างยังสามารถจัดดำเนินการฝึก, การสนับสนุนการรบ และการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือหน่วยทหารและหน่วยกึ่งทหาร รวมทั้งการสนับสนุนด้านแผนงานการช่วยเหลือประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เมื่อให้การสนับสนุนตามแผนงานการช่วยเหลือประชาชน หน่วยทหารช่างจะประสานงานโดยใกล้ชิดกับหน่วยงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาภายในประเทศ และบุคลากรของประเทศเจ้าบ้าน ทหารช่างที่ได้รับเพิ่มเติมมาจากกองทัพน้อย อาจรวมถึง ทหารช่างสนาม, ทหารช่างก่อสร้าง และชุดปฏิบัติงานพิเศษ ซึ่งสามารถทำงานการขุดเจาะบ่อบาดาล, วิเคราะห์ ภูมิประเทศ, ก่อสร้าง, วางสะพาน และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน
(๔) หน่วยทหารสารวัตร การให้การสนับสนุนของหน่วยทหารสารวัตรต้องจัดและออกแบบให้ตรงกับความต้องการของกองกำลังเฉพาะกิจ หน่วยทหารสารวัตรสามารถปฏิบัติภารกิจดังนี้


• ให้คำแนะนำช่วยเหลือในการฝึก

• ปฏิบัติการร่วมกับตำรวจ

• การปราบปรามและการสืบสวน

• การสื่อสารประสานงานกับตำรวจ

• การข่าวกรองตำรวจ

• การควบคุมประชาชนและทรัพยากร

• การควบคุมเชลยศึกและพลเรือน

• การรักษาความปลอดภัย

• การปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในยุทธการ

• การปฏิบัติการทางยุทธวิธี

• การปฏิบัติการร่วมกับสุนัขทหาร

(๕) ส่วนปฏิบัติการกิจการพลเรือนและปฏิบัติการจิตวิทยา ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารจะต้องรู้ว่าการปฏิบัติการทางทหารใด ๆ ก็ตาม มีความจำเป็นและเป็นไปได้ที่จะต้องอาศัยการปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นเครื่องช่วย และเนื่องจากบุคลากรทางทหารส่วนใหญ่มักจะขาดความรู้ในเรื่องการ ปจว. และการช่วยเหลือประชาชนจึงต้องมีหน่วย ปจว.และช่วยเหลือประชาชนเข้ามารับภารกิจนี้เพื่อให้การสนับสนุนกองกำลัง

(๖) หน่วยทหารสื่อสาร หน่วยนี้จะต้องเตรียมการเพื่อประสานงาน และจัดเตรียมเครื่องมือพร้อมทั้งวิธีการสื่อสาร เพื่อให้บรรลุภารกิจและความสำเร็จของแผนเผชิญเหตุทุกแผน ซึ่งรวมทั้งการใช้หน่วยทหารขนาดเล็กปฏิบัติการในพื้นที่ที่กว้างไกล

• การติดต่อสื่อสารกับหน่วยบัญชาการระดับสูง

• การติดต่อสื่อสารกับกำลังพลของหน่วยรบพิเศษในพื้นที่

• การติดต่อสื่อสารกับกำลังทหารประจำถิ่น, กำลังกึ่งทหาร และตำรวจ

(ก) กำลังพลและหน่วยช่วยเหลือประชาชนจะประสบกับงานและกิจกรรมที่หลากหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร, การช่วยเหลือประชาชนโดยทหาร, ควบคุมประชาชนและทรัพยากรและการดูแลผู้อพยพลี้ภัย เป็นกิจกรรมที่สำคัญของงานการช่วยเหลือประชาชน (รส.๔๑ - ๑๐ จะอธิบายแนวทางการใช้หน่วยทหารช่วยเหลือประชาชน)

(ข) กำลังพลและหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาจะช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมทั้งปวงในแผนงานการพัฒนาประเทศ หน่วย ปจว.ของทหารจะช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาด้วยวิธีการของตน เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในภารกิจ การปฏิบัติการทางทหารในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำควรจะได้รับการประเมินค่าในรูปแบบของการส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางจิตวิทยาของประเทศหรือของภูมิภาค ปัจจัยทั้งในแง่บวกและแง่ลบจะต้องได้รับการประเมินค่าเพื่อพิสูจน์ทราบ และกำหนดกิจเฉพาะในการ ปจว. เพื่อที่จะให้บรรลุความสำเร็จของภารกิจ (รส.๓๓ - ๑ จะอธิบายแนว ทางในการปฏิบัติการจิตวิทยา)

(๗) หน่วยลาดตระเวนระยะไกล หน่วย ลว.ไกล สามารถนำมาใช้ปฏิบัติการภายในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำได้ ขีดความสามารถของหน่วยจะเป็นเช่นเดียวกับในความขัดแย้งของสงครามตามแบบ แต่จะต้องพิจารณาปัจจัยเพิ่มเติมบางประการ :

(ก) อาจต้องเพิ่มจำนวนชุดปฏิบัติการให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เพื่อให้มาซึ่งข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม

(ข) ชุดปฏิบัติการอาจลดบทบาทในการปฏิบัติการรบแบบกองโจรลง และมุ่งต่อกิจกรรมของกลุ่มกบฏมากขึ้น

(ค) ระยะทางในการปฏิบัติการอาจลดน้อยลง แต่ต้องปฏิบัติภารกิจเป็นเวลายาวนานมากขึ้น

(ง)การปฏิบัติการส่วนใหญ่มักจะอยู่ในภูมิประเทศจำกัด เช่น ป่า ภูเขา และพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง

(จ) การเคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้าอาจกลายเป็นวิธีการหลักของการแทรกซึม

ด. หน่วยสนับสนุนการช่วยรบ ปริมาณและประเภทของการสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับภารกิจ ประเภทของการสนับสนุนและวิธีการปฏิบัติจะปรากฏอยู่ในรายการข้างล่างนี้ (บทที่ ๘ จะอธิบายรายละเอียดในการใช้เครื่องมือสนับสนุนทางการช่วยรบสำหรับแต่ละกรณีของความขัดแย้งระดับต่ำ

(๑) หน่วยทหารเสนารักษ์ จะต้องถูกออกแบบและกำหนดให้มีการจัด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกองกำลังเฉพาะกิจ ด้วยการฝึกเพิ่มเติม หน่วยทหารเสนารักษ์จะสามารถจัดการฝึกและให้คำแนะนำกับหน่วยกำลังรบ รวมทั้งอาจให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนโดยหน่วยทหารตามแผนยุทธการได้

(๒) ตอนธุรการและกำลังพล ภารกิจของตอนธุรการและกำลังพลก็คงเป็นเช่นเดียวกับภารกิจในสถานการณ์และการปฏิบัติการลักษณะอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีความจำเป็นต้องปรับการปฏิบัติให้สามารถบริการหน่วยต่างๆ และส่วนแยกที่มาขึ้นสมทบเป็นหน่วยเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามตำบลต่าง ๆ ได้ กิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้ทหารมีขวัญดีจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

(๓)อนุศาสนาจารย์ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บังคับบัญชาในสาระสำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวกับ ศาสนา, ขวัญ และสภาพขวัญที่มีผลกระทบจากทางศาสนา อนุศาสนาจารย์จะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในขนบธรรมเนียมประเพณี, พิธีกรรม และประชาชนในประเทศเจ้าบ้าน และเป็นผู้ประสานงาน ดำรงการติดต่อกับผู้นำทางศาสนา, สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และกลุ่มบุคคลทางศาสนา ภายในพื้นที่ของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ อนุศาสนาจารย์จะดำเนินการอบรมศีลธรรมให้กับหน่วย, ประชาชนในพื้นที่ และกำลังพลภายในหน่วยทหาร

(๔) หน่วยทหารการเงิน ทหารการเงินจะดำเนินการจัดหาและให้บริการด้านการเงินและการงบประมาณ เพื่อให้หน่วยได้ดำรงความต่อเนื่อง ในด้าน ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังสามารถให้การบริการจ่ายเงินเดือนผ่านทางธนาคาร หรือการเบิกจ่ายเช็คและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทหารการเงินจะประสานงานและดำเนินการร่วมกับ ฝอ.๔, หน่วยกิจการพลเรือน และนายทหารพระธรรมนูญ

(๕) นายทหารพระธรรมนูญ นธน.เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชาในเรื่องทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทหารและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อพิจารณาในการจัดทำข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ อาทิเช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของกองกำลังทหาร และกฎหมายสงคราม นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่นที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติของกองกำลัง และกิจกรรมต่าง ๆ ในต่างประเทศ นธน.ยังมีความจำเป็นในการให้บริการเกี่ยวกับการตีความกฎหมายในท้องถิ่นของประเทศเจ้าบ้าน นธน.จะมีความสำคัญในพื้นที่ที่มีการเจรจาตกลง,การทำสัญญาข้อตกลงและการประชุม

(๖) นายทหารฝ่ายการสารวัตร นายทหารฝ่ายการสารวัตรเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชาในกิจการทั้งหลายที่เกี่ยวกับ ขีดความสามารถของทหารสารวัตร และการใช้ทหารสารวัตร นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประสานงานและประสานการติดต่อกับ ทหารสารวัตรและกำลังกึ่งทหาร รวมทั้งตำรวจของประเทศเจ้าบ้าน

(๗) นายทหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ นายทหารฝ่ายประชาสัมพันธ์เป็นฝ่ายกิจการพิเศษที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชาในการสั่งการและบริหารเรื่องข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับสื่อมวลชนได้ทราบ ทั้งส่วนที่อยู่ในบังคับบัญชาและส่วนที่เป็นของเอกชน หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์จะถูกกำหนด และออกแบบการจัด เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งให้การสนับสนุนหน่วยทหารต่าง ๆ ด้วยขีดความสามารถของตน ฝ่ายประชาสัมพันธ์จะมีบทบาทและมีความสำคัญมากในพื้นที่ที่ผู้บังคับบัญชาต้องการได้รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารด้วยการติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชน

ตอนที่ ๓

การติดต่อสื่อสาร

ผู้บังคับบัญชาจะกระจายข่าวสารและรับข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสั่งการด้วยการใช้วิธีผสมผสานระหว่างข่ายวิทยุทางยุทธวิธี, การติดต่อสื่อสารเป็นพื้นที่และระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้บังคับบัญชาต้องมีความเข้าใจในจุดแข็ง, จุดอ่อน และขีดจำกัดของระบบการสื่อสารที่มีอยู่ ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ทรัพยากรทางการสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์จะต้องถูกกำหนดและเลือกใช้เพื่อให้สามารถรองรับหนทางปฏิบัติทางยุทธวิธี และลักษณะเฉพาะของหน่วยปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมือติดต่อสื่อสารที่มีคุณลักษณะเฉพาะเหมาะกับหน่วยระดับกรม ได้แก่ วิทยุ, โทรทัศน์, พลนำสาร, เสียงสัญญาณ และทัศนสัญญาณ ในตอนที่ ๓ นี้จะอธิบายถึงข้อพิจารณาในการวางแผนใช้วิธีการติดต่อ สื่อสารในระหว่างการเตรียมการเคลื่อนย้าย, การเคลื่อนย้ายกำลัง, การใช้กำลัง และการดำรงสภาพของกำลังรบทางยุทธวิธี

๖ - ๑๓ ลำดับความเร่งด่วนในการติดต่อสื่อสาร

เนื่องจากการติดต่อสื่อสารมักจะมีข้อจำกัด หากเกิดข้อผิดพลาดในการจัดลำดับความเร่งด่วนสำหรับการติดต่อสื่อสารแล้ว ก็จะส่งผลก่อให้เกิดความล่าช้า ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารจะต้องจัดลำดับความเร่งด่วนของการติดต่อสื่อสารให้กับที่บัญชาการของตน โดยใช้ปัจจัยทางการเมืองและปัจจัย METT – T ข้อมูลข่าวสารอาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ชนิด เพื่อกำหนดความเร่งด่วน ซึ่งจะได้อธิบายในหัวข้อนี้

ก. ข่าวกรอง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกำลังของฝ่ายคุกคาม, ภูมิประเทศ และลมฟ้าอากาศ ในระหว่างหน่วยบัญชาการระดับต่าง ๆ และส่วนต่าง ๆ ในหน่วย บัญชาการ

ข. การบังคับบัญชา เป็นการแจกจ่ายคำสั่งปฏิบัติการ หรือแนวทางในการปฏิบัติไปยังผู้บังคับหน่วยรอง

ค.การควบคุม เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในระหว่างที่บัญชาการระดับต่างๆ และส่วนต่าง ๆ ในที่บัญชาการ เพื่อก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและพลังขับเคลื่อนในการสั่งการของหน่วยดำเนินกลยุทธ์และการยิง

ง. ความต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงในระหว่างที่บัญชาการระดับต่าง ๆ และส่วนต่าง ๆ ภายในที่บัญชาการ



๖ - ๑๔ การวางแผน

ความต้องการและความจำเป็นทั้งปวงของภารกิจจะเป็นตัวกำหนดขนาดของกองกำลังเฉพาะกิจ และความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชากับหน่วยทหารของเรา, หน่วยทหารของมิตรประเทศ และหน่วยบัญชาการของประเทศเจ้าบ้าน, ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้มีอิทธิพลต่อกิจในการติดต่อสื่อสารและระบบที่ต้องการเพื่อสนับสนุน และดำรงความต่อเนื่องในการปฏิบัติการยุทธ์ ผู้วางแผนการติดต่อสื่อสารต้องใช้วิธีการวางแผนย้อนหลังเพื่อพิจารณาเลือกกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่ต้องการในภารกิจ ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ขีดความสามารถในการยก หรือระยะทางที่จำกัดจะต้องถูกนำมาใช้พิจารณาประกอบ เกณฑ์การเสี่ยงจะต้องถูกพิสูจน์ทราบ และระบุอย่างชัดเจนให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ในการพัฒนาแผนการติดต่อสื่อสาร ผู้วางแผนจะต้องพิจารณาปัจจัยที่แน่นอน ซึ่งจะอธิบายไว้ในหัวข้อนี้

ก. เนื่องจากการที่ต้องมีการกระจายกำลังกันในพื้นที่กว้างไกล และขีดจำกัดของวิทยุ FM และการสื่อสารทางสาย ขีดความสามารถด้านการติดต่อสื่อสารในตัวเองของหน่วยทางยุทธวิธีอาจลดน้อยลง ในการปฏิบัติการอาจจำเป็นต้องให้หน่วยจัดตั้งระบบการติดต่อสื่อสารกับกองทัพของประเทศเจ้าบ้าน, หน่วยกำลังกึ่งทหารและหน่วยงานของพลเรือน ดังนั้นการประสานในเรื่องความถี่ของคลื่นวิทยุจึงมีความสำคัญยิ่งในการดำรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสาร อาจจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติมเครื่องมือถ่ายทอดคลื่นวิทยุ FM, วิทยุคลื่นความถี่สูง และดาวเทียมทางยุทธวิธีให้กับหน่วยในอัตราเพื่อใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร

ข. การรักษาความปลอดภัยที่ตั้งของเครื่องมือสื่อสาร ถือเป็นความสำคัญสูงสุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเป้าหมายอันดับแรกของกำลังกองโจร, พวกผู้ก่อการร้าย และยุทธวิธีการก่อวินาศกรรม ตลอดจนการเข้าตีประสานของฝ่ายกบฏ

ค. การติดต่อสื่อสารในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ถือเป็นความสำคัญอันดับแรก เพราะเป็นเรื่องยากลำบากทีเดียวในการแยกแยะศัตรูออกจากพันธมิตร หรือการพิสูจน์ทราบให้แน่ชัดว่าฝ่ายข้าศึกจะดักฟังเมื่อใดและที่ไหน กำลังของฝ่ายเราทั้งหมดจะต้องขัดขวางมิให้ข้าศึกได้มีโอกาสล่วงรู้ในเจตนารมณ์ของเรา

ง. การซ่อมบำรุงและการส่งกำลังชิ้นส่วนของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อาจก่อให้เกิดปัญหา ทั้งนี้เป็นเพราะการขาดการระวังป้องกันข่ายถนน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องถูกนำมาพิจารณา.-

(๑) การส่งกำลังทางอากาศและการซ่อมบำรุงแบบแยกการ จะบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยการจัดกำลังพลไปขึ้นสมทบกับหน่วยในพื้นที่ปฏิบัติการ หรืออาจใช้ชุดติดต่อประสานงานการ ขนส่งทางอากาศ

(๒) สิ่งอุปกรณ์ที่พอเพียง, ยุทโธปกรณ์สนับสนุน และชิ้นส่วนซ่อม ควรจะถูกเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ของการติดต่อสื่อสารหากสภาพลมฟ้าอากาศหรือการปฏิบัติของข้าศึกทำให้ไม่สามารถใช้การขนส่งทางอากาศได้ในช่วง ๒ - ๓ วัน ก็ยังมีสิ่งอุปกรณ์อยู่ในหน่วยพอใช้งาน

จ. ต้องมีการวางแผนการติดต่อสื่อสาร โดยพิจารณาตามลำดับขั้นตอนดังนี้.-

• การเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลังรบ

• การเคลื่อนย้ายกำลังรบ

• การใช้กำลังรบ

• การปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

ฉ. การเคลื่อนย้ายกำลังของกรมหรือกองพัน จะต้องมีการเตรียมการปฏิบัติในลักษณะของกองกำลังเฉพาะกิจอิสระ เมื่อมีการสมทบหน่วยทหารสื่อสาร จากกองพันทหารสื่อสารให้กับ กองพันเฉพาะกิจ หรือกรมเฉพาะกิจแล้ว หน่วยดังกล่าวก็จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และการควบคุมทางยุทธการของนายทหารสื่อสารของกองพันหรือกรม นายทหารสื่อสารของหน่วยเฉพาะกิจจะต้องวางแผนการติดต่อสื่อสาร, นสป., นปส., การบริหารความถี่ และวางแผนการสื่อสารทางโทรศัพท์ให้กับภายในหน่วยเฉพาะกิจทั้งหมด

ช. วิทยุสนามแบบนำพาด้วยบุคคล ซึ่งมีระยะการติดต่อไกลนั้น เป็นความต้องการหลักของกองพันดำเนินกลยุทธ์ การสื่อสารทางสายนั้นมักจะใช้เฉพาะการสื่อสารภายในหน่วยที่อยู่ในฐานที่มั่นที่มีการรักษาความปลอดภัย หากใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัยแล้วก็จะกลายเป็นจุดล่อแหลม กองกำลังจะใช้อุปกรณ์เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย จากกองพันทหารสื่อสารของกองพลเพื่อจัดตั้งระบบการติดต่อสื่อสารเป็นพื้นที่ด้วยโทรศัพท์และโทรพิมพ์

ซ. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควรจะเพ่งเล็ง และเน้นความสำคัญในการใช้การสื่อสารด้วยทัศนสัญญาณ การใช้ทัศนสัญญาณตามแผนที่เตรียมการไว้ จะมีประสิทธิภาพมากในการสื่อสารทางภาคพื้นดินในระหว่างหน่วยขนาดเล็กที่อยู่ในระยะใกล้กัน และยังสามารถใช้ในการสื่อสารจากภาคพื้นดินสู่อากาศได้อีกด้วย แผ่นผ้าสัญญาณ, ควัน และแสงสัญญาณ (แสงอินฟราเรดและแสงสว่าง) ควรจะถูกนำมาใช้

ด. พลนำสารด้วยยานยนต์มีโอกาสถูกยิงจากพลซุ่มยิง หรือได้รับอันตรายจากทุ่น ระเบิด กับระเบิด และเครื่องปิดกั้นถนน ดังนั้นพลนำสารดังกล่าวจึงควรจะถูกใช้เฉพาะในพื้นที่ที่มีการระวังป้องกันเท่านั้น การนำสารด้วยอากาศยานเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณา และเพื่อเป็นการประหยัด หน่วยควรจะใช้การฝากนำสารไปกับอากาศยานที่ปฏิบัติภารกิจการส่งกำลังบำรุง, การส่งกลับสายแพทย์ หรือภารกิจขนส่งอื่น ๆ

ต. ความต้องการทางการติดต่อสื่อสารกับหน่วยรบพิเศษ และกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน หรือหน่วยงานอื่น ๆ จะได้รับการตอบสนองด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์การสื่อสาร, นสป. และเจ้าหน้าที่ติดต่อ

ถ. การใช้อากาศยานปฏิบัติภารกิจมากมายหลายแบบ จะเพิ่มความต้องการความเชื่อถือได้และการตอบสนองที่ได้ผลจากระบบการติดต่อสื่อสารจากพื้นดินสู่อากาศหน่วยภาคพื้นดินที่ปฏิบัติการอย่างโดดเดี่ยวจะต้องติดต่อสื่อสารโดยตรงกับหน่วยสนับสนุนทางอากาศของ ทบ. และหน่วยสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธีของ ทอ.

ท. ปัจจัยทางการติดต่อสื่อสารของการปฏิบัติการในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จะต้องสามารถสนองตอบแผนการรักษาความปลอดภัยของการปฏิบัติทั้งหมดได้

(๑) หากมีการใช้แผนการปกปิดและการลวง, การส่งข่าวทางการสื่อสารจะต้องเป็นไปทางตรงกันข้ามหรือผิดไปจากความเป็นจริง โดยที่ฝ่ายเราไม่ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยทางวิทยุและโทรศัพท์ แต่ถ้าหากไม่มีการใช้แผนการปกปิดและการลวงแล้ว การเตรียมการและการปฏิบัติการจะต้องเป็นไปภายใต้ระเบียบการรักษาความปลอดภัยทางการส่งข่าวทางวิทยุ หรือใช้การระวับวิทยุหรือการเฝ้าฟังเป็นหลัก

(๒) อุปกรณ์และเครื่องมือติดต่อสื่อสารทั้งหมดที่ใช้ในการปฏิบัติการ จะต้องอยู่ ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัย ไม่เว้นแม้แต่โทรศัพท์และวิทยุของทางพลเรือน งานทางด้านธุรการและการวางแผนการส่งกำลังบำรุง ซึ่งตามปกติจะไม่จัดอยู่ในชั้นความลับ ก็ควรจะต้องเข้ารหัสรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อแผนซึ่งมีความละเอียดอ่อน ในขั้นตอนการวางแผน ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารควรต้องใช้พลนำสารพิเศษ เครือข่ายประจำถิ่นอาจนำมาใช้ได้ หากมีการรักษาความปลอดภัยระบบโทรศัพท์ Minterm, Vinson หรือระบบโทรศัพท์ STU – III

(๓) ระบบวิทยุการสื่อสารหลายช่องความถี่ และอุปกรณ์เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยทั้งระบบ, มาตรการรักษาความปลอดภัยระหว่างผู้ใช้ต่อผู้ใช้ จะได้รับความมั่นใจก็ต่อเมื่อสายโทรศัพท์ทุกสาย และเครื่องมือปลายสายที่ใช้ระบบการสื่อสารหลายช่องความถี่ ได้มีการติดตั้งเครื่องมือควบคุมรักษาความปลอดภัยทางกายภาพแล้วเท่านั้น ผู้บังคับหน่วยแต่ละคนต้องมั่นใจว่าพื้นที่รับผิดชอบของตนได้มีการวางระบบรักษาความปลอดภัย หากไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องประกาศให้ทราบแน่ชัดว่า ไม่มีการรักษาความปลอดภัย ระบบเหล่านี้ได้แก่ เครือข่ายโทรศัพท์-ประจำที่ หรือวงจร AUTOVON ไม่ควรจะนำมาใช้ร่วมกับระบบที่มีการรักษาความปลอดภัย โดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม หรือไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด

น. ผู้บังคับหน่วยทหารจะใช้แผนการลวงเพื่อทำให้ข้าศึกเข้าใจผิด ด้วยการหลอกล่อ, บิดเบือน หรือการส่งข่าวที่เป็นเท็จ เพื่อที่จะทำให้ข้าศึกปฏิบัติการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐ - ๒ ในเรื่องการใช้วิธีการลวง) ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ แผนการลวงจะถูกสนธิเข้าไว้กับแผนยุทธการ แต่อย่างไรก็ตาม นับเป็นการยากทีเดียว สืบเนื่องจากการจัดนายทหารติดต่อกับกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน รายละเอียดในการปฏิบัติการ นับเป็นเรื่องหลักเสมอทุกครั้งในการยอมรับ

๖ - ๑๕ เครื่องมือการติดต่อสื่อสารและคุณลักษณะ

ผู้วางแผนจะต้องรวบรวมระบบวิธีการติดต่อสื่อสารหลากหลายวิธีที่เพียงพอและไม่มากจนเกินความจำเป็นสำหรับใช้ในแผนการเคลื่อนย้ายหน่วย เพื่อประกันให้มั่นใจว่ามีการสื่อสารที่เชื่อถือได้ในพื้นที่ที่จะเคลื่อนย้ายเข้าไป
(๑) ข่ายวิทยุทางการรบ (CNR) มีการ รปภ.ระบบการสื่อสารช่องความถี่เดียว เป็นวิธีการที่เหมาะสมและใช้ได้ผลดีที่สุดในการติดต่อสื่อสารในสนามรบ ซึ่งสามารถใช้การสื่อสารด้วยเสียงโดยตรงระหว่างบุคคลต่อบุคคล โดยติดตั้งวิทยุบนยานพาหนะที่มีความคล่องแคล่วสูง แต่ละระบบจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวซึ่งสามารถอำนวยความสะดวก และเสริมขีดความสามารถให้กันได้ โดยใช้การผสมผสานกันในเรื่อง ระยะการติดต่อสื่อสาร, ความล่อแหลมของฝ่ายตรงข้ามในมาตรการต่อต้านและรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์และความเชื่อถือได้ ประเภทของข่ายวิทยุทางการรบ ได้แก่ UHF/TACSAT, VHF/FM และ HF/SSB วิทยุระบบต่าง ๆ เหล่านี้สนับสนุนระบบข้อมูลปฏิบัติการ เช่น การยิงทางยุทธวิธี ระบบวิทยุโทรศัพท์โทรพิมพ์จะสนับสนุนด้านการถ่ายทอดข่าวสารข้อมูลจากแผ่นบันทึก การใช้วิทยุติดต่อสื่อสารที่ไม่มีการ รปภ. แต่ใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากเป็นพิเศษ จะสามารถช่วยลดการรั่วไหลของข่าวสารได้ วิทยุมือถือในทางพาณิชย์มีความล่อแหลมต่อการรบกวนและดักฟัง; หากนำมาใช้จะต้องเข้าระบบการ รปภ. ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใดของการปฏิบัติการ


(๒) ระบบการติดต่อสื่อสารเป็นพื้นที่ จะช่วยให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกอย่างสูงในการใช้ เสียง, คลื่นสัญญาณ และระบบแฟ็กซ์ วิทยุระบบเส้นสายตาที่ได้รับการ รปภ. จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบวิทยุ CNR ช่องความถี่เดียวได้ วิทยุติดตั้งประจำที่ และวิทยุบังคับระยะไกล จะช่วยให้หน่วยสามารถใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ระบบดังกล่าวมาแล้วจะมีขีดจำกัดเมื่อใช้ปฏิบัติการในระบบเส้นสายตา ทั้งนี้เนื่องจากจำเป็นต้องตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณ ซึ่งมีจำนวนจำกัดและอุปสรรคอันเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ขัดขวางการเพิ่มระยะรับ-ส่งสัญญาณ

(๓) การวางสายโทรศัพท์เป็นระยะทางไกล ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมในกรณีที่ต้องใช้การเคลื่อนย้ายที่ตั้ง ทก.อย่างรวดเร็วและบ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตามข่ายการติดต่อสื่อสารทางสายแบบประจำที่ มีความจำเป็นต้องนำมาใช้กับระบบโทรศัพท์และโทรพิมพ์ในพื้นที่ ทก.ส่วนหลัง

(๔) พลนำสารพิเศษ เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีระบบการ รปภ.ได้มากที่สุดในสถาน-การณ์ที่ข้าศึกมีขีดความสามารถทางสงครามอิเล็กทรอนิกส์สูง หากจำเป็นต้องใช้พลนำสารเดินทางเป็นระยะทางไกลหรือนำสารสำคัญแล้ว ผู้บังคับบัญชาสามารถร้องขออากาศยานจากกองพลมาให้การสนับสนุนได้

ข. ทางเลือกของการใช้เครื่องมือสื่อสารขึ้นอยู่กับสิ่งอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในสถานที่และตำบลต่าง ๆ, ความเร่งด่วนของข่าวสาร และความเสี่ยงหรือความล่อแหลมที่จะเกิดขึ้น คุณลักษณะประการหนึ่งของการปฏิบัติการของกองพลก็คือ ขีดความสามารถที่จะสามารถปฏิบัติการได้ในระยะไกลและในสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก ซึ่งเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องใช้การติดต่อสื่อสารระบบนอกเส้นสายตา ระบบดังกล่าวที่มีอยู่ก็คือ ระบบการสื่อสารช่องความถี่เดียว และระบบการสื่อสารด้วยดาวเทียมทางทหาร และวิทยุระบบ HF/SSB ระบบต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความล่อแหลมต่อมาตรการการรบกวนและต่อต้านทางอิเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายตรงข้าม วิทยุระบบ HF/SSB จะใช้ได้ดีเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพลมฟ้าอากาศ และระดับของจุดดับบนดวงอาทิตย์, ผสมผสานกับเทคนิคการบริหารคลื่นความถี่วิทยุอย่างเข้มงวด ระบบการสื่อสารด้วยดาวเทียมทางทหารจะมีขีดจำกัดจากเครื่องรับสัญญาณปลายทางและพื้นที่ในอวกาศ

ค. ระบบการสื่อสารที่มักนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทางยุทธวิธี ก็คือ วิทยุระบบ VHF/FM ถึงแม้ว่าวิทยุระบบนี้จะถูกจำกัดด้วยระยะทาง, หน่วยขนาดใหญ่ขึ้นไปจะต้องเพิ่มสถานีถ่ายทอดสัญญาณอย่างน้อย ๑ สถานี ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของสถานีถ่ายทอดสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นดินหรืออากาศจะสามารถเอาชนะลักษณะภูมิประเทศและช่วยเพิ่มระยะทางการติดต่อสื่อสารได้ไกลขึ้น นอกจากนี้หน่วยอาจใช้วิธีการติดต่อสื่อสารแบบเว้นช่วงการรายงาน และการนำเอาวิทยุคลื่นความถี่แบบก้าวกระโดดมาใช้ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านการรบกวน และต่อต้านทางอิเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายตรงข้ามได้

ง. ชุดอุปกรณ์การบังคับบัญชาและควบคุม (AN/ASC – ๑๕ B) ชุดอุปกรณ์นี้ประกอบด้วยวิทยุ VHF/UHF – FM/AM ๓ เครื่อง สื่อสารผ่านทางดาวเทียม/HAVEQUICK/ สามารถปรับใช้ย่านความถี่ของกองทัพเรือได้ และวิทยุระบบ HF/SSB อีก ๑ เครื่อง วิทยุนี้มีระบบการรักษาความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์แบบ on-line encryption ชุดอุปกรณ์นี้สามารถใช้ปฏิบัติการร่วมกับวิทยุของกองทัพอากาศ, กองทัพเรือ และหน่วยยามรักษาฝั่ง อีกทั้งใช้ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์แบบ UH – ๖๐ และ UH – ๑ ได้ด้วย ภายในระบบประกอบด้วยบอร์ดติดแผนที่, โต๊ะทำงาน, เครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า และเสาอากาศติดตั้งบนพื้นดินเมื่อต้องนำลงมาจากอากาศยาน ปัจจุบันไม่มีวิทยุคลื่นความถี่ก้าวกระโดดแบบของ SINCGARSสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมให้ดูในตารางที่๖- ๓

๖ - ๑๖ การสนับสนุนคลื่นความถี่

สหภาพการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติได้กำหนดข้อบังคับในการใช้ความถี่ของคลื่นวิทยุของกองกำลังทหาร เข้าไปปฏิบัติการในประเทศอื่นซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ประเทศเจ้าบ้านก็จะอยู่ภายใต้กฏข้อบังคับของสหภาพการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติเช่นกัน ในการที่จะแบ่งมอบและควบคุมการใช้ความถี่

ก. กองกำลังทหารที่เข้าไปปฏิบัติการในประเทศอื่น ไม่มีสิทธิในการใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของย่านความถี่วิทยุ นอกเหนือไปจากที่ได้รับมอบจากประเทศเจ้าบ้าน การแบ่งมอบความถี่จะประกอบด้วยการอนุญาตให้ใช้ และการจำกัดขอบเขตการใช้ควบคู่กันไป การใช้ความถี่ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือการใช้ที่ผิดพลาด สามารถก่อให้เกิดการแทรกแซงกัน และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งทำให้เกิดการเสื่อมเสียถึงรัฐบาลแห่งชาติที่ส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจ นั้นด้วย

ข. นายทหารฝ่ายการสื่อสารอาวุโสที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศจะเป็นผู้รับมอบความถี่จากประเทศเจ้าบ้าน ซึ่งตามปกติแล้วจะมอบตารางแสดงความถี่ไว้เป็นหลักฐาน การร้องขอความถี่จะได้รับอนุมัติผ่านทางสายการสื่อสาร

๖ - ๑๗ การติดต่อสื่อสารในระหว่างเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลัง

หน่วยทหารที่จะเคลื่อนย้ายเข้าปฏิบัติงานและหน่วยสนับสนุนจะต้องใช้ประโยชน์จากโครงสร้างทางทหาร และโครงสร้างทางการพาณิชย์ที่มีอยู่แล้วภายในประเทศนั้น ๆ (ระบบการเข้าสวมแทนที่) โดยจะต้องพยายามไม่เปิดเผยการสื่อสารทางยุทธวิธีให้ถูกรบกวนขัดขวางจากฝ่ายตรงข้าม ในขั้นตอนนี้การใช้ระบบการรักษาความปลอดภัยทางเสียงอัตโนมัติ หรือการรักษาความปลอดภัยทางโทรศัพท์ท้องถิ่น, ข้อมูลข่าวสาร/โทรพิมพ์ (AUTODIN) และการใช้พลนำสารพิเศษจะต้องได้รับการเน้นย้ำเป็นพิเศษ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกผสมผสานกันเพื่อป้องกันระบบการรักษาความปลอดภัยของแผนปฏิบัติการยุทธ์ และเพื่อทำให้เกิดเสรีในการใช้ระบบการสื่อสารกับการเคลื่อนย้ายกำลัง

ก. ตารางที่ ๖ - ๔ แสดงถึงภารกิจของการเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลังและวิธีการใช้เครื่องมือสื่อสารที่สามารถนำมาใช้ได้

ข. การสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทหาร ยังไม่ควรได้รับอนุมัติให้นำมาใช้ นอกเสียจากว่าจะสามารถค้นหาและใช้งานได้อย่างรวดเร็วจริงๆ การจำกัดการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในขั้นตอนแรกของการเคลื่อนย้ายกำลัง และขั้นตอนการใช้กำลัง ทั้งนี้ เนื่องจากความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่อย่างสูง และความง่ายในการใช้ปฏิบัติงานทั่วไปในทุกภูมิภาคของโลก

ค. ผู้วางแผนจะต้องพิจารณาการใช้สิ่งอุปกรณ์สนับสนุนภายนอก การสนับสนุนนี้จะทำให้ได้รับการประสานข้อมูลจากระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม และระบบการส่งผ่านข้อมูลในพื้นที่ที่ส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการโดยใช้หน่วยภายในกองพล ระบบการส่งผ่านข้อมูลจะเชื่อมโยงประสานกับระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม ทำให้สามารถสื่อสารกันได้ด้วยเสียงทางตรงผ่านระบบการ รปภ. และการใช้โทรพิมพ์/โทรคมนาคมทหาร นอกจากนี้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลยังสามารถให้ความช่วยเหลือด้วยการใช้ระบบโทรศัพท์ท้องถิ่นในพื้นที่ปฏิบัติการ ระบบการติดต่อสื่อสารทางยุทธวิธีที่มีอยู่ (ยกเว้น ดาวเทียมทางทหาร/UHF) จะมีระยะการติดต่อไม่เพียงพอจากพื้นที่ปฏิบัติการ กำลังทหารของเราอาจจะต้องถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ซึ่งแม้แต่วิทยุที่ใช้ดาวเทียมทางทหาร/UHF ก็ยังไม่สามารถติดต่อสื่อสารกลับมายังภาคพื้นทวีปของเราได้

๖ - ๑๘ การติดต่อสื่อสารในระหว่างการเคลื่อนย้ายกำลัง

ผู้วางแผนจะต้องวิเคราะห์ภารกิจและขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสารที่จะใช้ในภารกิจเป็นพื้นฐานในการพัฒนาแผน การเคลื่อนย้ายกำลังด้วยวิธีทะยอยอาจจำเป็นต้องนำมาใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการในภารกิจและข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายทางอากาศ (ตารางที่ ๖ - ๕) ระบบการติดต่อสื่อสารทั้งระบบจะต้องถูกจัดตั้งอย่างสมบูรณ์เพื่อให้บรรลุความสำเร็จของภารกิจ ตัวอย่างเช่น ระบบจะต้องประกอบด้วย วิทยุแบบพื้นฐาน, สิ่งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่, เครื่องกำเนิดพลังงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน; หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือสิ่งใดที่ถูกแยกออกไปอย่างโดดเดี่ยวแล้ว ระบบก็จะไร้ความหมาย การใช้งานอย่างต่อเนื่องจะต้องรวมระบบการซ่อมบำรุงไว้ เช่น การรวบรวมชิ้นส่วน อะไหล่, ชิ้นส่วนซ่อม, เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการปรนนิบัติบำรุง รวมทั้งบุคลากรที่ได้

รับการฝึกมาเป็นอย่างดี

ก. กำลังรบจะมีความล่อแหลมและมีจุดอ่อนในระหว่างขั้นตอนเริ่มแรกของการเคลื่อนย้ายทางยุทธวิธี ขั้นตอนดังกล่าวประกอบด้วย การเข้าที่รวมพล, การบรรทุก และการเตรียมการเพื่อทำการรบ
ข. ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารจะใช้วิธีการเคลื่อนย้ายส่งเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารไปข้างหน้าก่อนเพื่อความมั่นใจในการควบคุมบังคับบัญชา และข่าวกรองทางการสื่อสารจะมีพอเพียงสำหรับการใช้งาน เมื่อหน่วยเดินทางเข้าไปถึงพื้นที่


ค. โครงสร้างภายในของการติดต่อสื่อสารที่มีอยู่เดิม จะต้องได้รับการขยายผลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้ระบบการติดต่อสื่อสารทางยุทธวิธีมีอิสระที่จะเคลื่อนย้ายตามหน่วยกำลังรบขึ้นไปข้างหน้า และช่วยให้ไม่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นใหม่ในการปฏิบัติการทางยุทธวิธี

ง. ชุดอุปกรณ์การติดต่อสื่อสารที่ได้รับการ รปภ. และติดตั้งบนอากาศยานทางทหารจะทำให้ผู้บังคับบัญชาได้รับข่าวสารที่ทันเหตุการณ์ ในระหว่างที่อากาศยานเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย

จ. ศูนย์ควบคุมและบังคับบัญชาทางยุทธวิธีบนอากาศยาน สามารถทำการบังคับบัญชาและควบคุมในขั้นต้นต่อการติดต่อสื่อสารให้กับหน่วยกำลังรบเฉพาะกิจที่เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ ยุทโธปกรณ์ที่มีจำกัดและหาได้ยากนี้มักจะใช้สนับสนุนให้กับการเคลื่อนย้ายของกองบัญชาการร่วม

ฉ. การรักษาความปลอดภัยทางการติดต่อสื่อสาร เป็นกุญแจสำคัญของความอยู่รอดในกรณีที่มีการจัดตั้งสถานีถ่ายทอด หรือส่วนการสื่อสารที่ต้องแยกออกไปอยู่โดดเดี่ยว หากเป็นไปได้แล้ว ชุดที่ต้องเคลื่อนย้ายควรจะเคลื่อนที่เฉพาะในเวลาที่มีทัศนวิสัยจำกัดเท่านั้น และควรจะต้องมีระบบการพรางติดตั้งเพื่อป้องกันการตรวจการณ์จากทางพื้นดินหรือทางอากาศ ยานพาหนะที่ใช้ในการส่งกำลังและเส้นทางการขนส่งจะต้องถูกพราง หากมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ล้มเหลว ชุดการสื่อสารเล็ก ๆ ดังกล่าวก็ย่อมจะเปิดเผยตนเองต่อการปฏิบัติของฝ่ายข้าศึก และอาจเป็นสาเหตุให้ฝ่ายข้าศึกล่วงรู้ไปถึงการปฏิบัติการหรือการเคลื่อนย้ายของหน่วยทหารฝ่ายเดียวกันได้

๖ - ๑๙ การติดต่อสื่อสารในระหว่างการใช้กำลัง

กำลังทหารของฝ่ายเราควรจะดำรงการใช้เครื่องติดต่อสื่อสารที่มีอยู่แล้วในโครงสร้างภายในทั้งของฝ่ายเราและของฝ่ายประเทศเจ้าบ้าน ชุดอุปกรณ์การสื่อสารของกองพลอาจเพิ่มเติมให้กับกองกำลังเฉพาะกิจตามความจำเป็น กองกำลังเฉพาะกิจที่ถูกแยกออกไปอย่างโดดเดี่ยว อาจจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบการติดต่อสื่อสารระยะไกลจากกองพันทหารสื่อสารของกองพล หากสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละกรมและกองพันจะต้องเตรียมการจัดตั้งการติดต่อสื่อสารระยะไกล โดยใช้ระบบวิทยุ HF ที่มีอยู่ในอัตราการจัด หน่วยทหารของประเทศเจ้าบ้านและบริษัทเอกชนที่สามารถให้การสนับสนุนและช่วยเหลือได้ในพื้นที่ปฏิบัติการจะทำให้ระบบวิทยุ HF ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง (ตารางที่ ๖ - ๖)

ก. กองพันเฉพาะกิจอิสระจะใช้ระบบวิทยุนำพาด้วยบุคคลในอัตราการจัดแบบ

VHF/FM และชุดวิทยุแบบ VHM/FM และ HF/SSB ที่มีขีดจำกัดในการติดตั้งบนยานพาหนะ กองพันดังกล่าวนี้มักจะถูกใช้ปฏิบัติภารกิจในลักษณะของส่วนนำ ซึ่งเป็นกำลังส่วนหนึ่งของหน่วยใหญ่กว่า หรืออาจถูกใช้ปฏิบัติภารกิจในลักษณะของหน่วยขนาดเล็กที่ปฏิบัติการในห้วงเวลาและภารกิจที่มีขอบเขตจำกัด หากภารกิจมีความจำเป็นก็อาจจัดชุดการติดต่อสื่อสารทางดาวเทียม หนึ่งหรือสองชุด จากกองพันทหารสื่อสารของกองพลมาขึ้นสมทบกับกองกำลังเฉพาะกิจก็ได้

ข. การสื่อสารทางสายควรจะถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายของท้องถิ่นเข้ากับการสื่อสารในพื้นที่ของที่บังคับการ แต่ควรหลีกเลี่ยงการวางสายโทรศัพท์เป็นระยะทางไกล เนื่องจากอาจถูกดักฟังและการติดตั้งก็ใช้เวลาสิ้นเปลืองมาก สายโทรศัพท์อาจถูกทำลายจากบุคคล, ยานยนต์สายพาน หรือกำลังทหารของฝ่ายตรงข้าม หากมีการวางสายโทรศัพท์ออกไปนอกพื้นที่ระวังป้องกัน ก็จะต้องพิจารณาเสมือนว่าเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งหมดนั้นขาดการรักษาความปลอดภัย
ค. ที่บัญชาการของกองพล ให้การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายกำลังของกรมเฉพาะกิจด้วยการจัดหาเพิ่มเติมระบบการสื่อสาร และการส่งกำลังบำรุง รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านบุคลากร หากเป็นไปได้และมีความเหมาะสมแล้ว ทภ.พล. จะควบคุมการติดต่อสื่อสารภายในพื้นที่ฐานที่มั่น ทก.พล.จะประกอบด้วยนายทหารฝ่ายการสื่อสารของกองกำลัง ซึ่งจะช่วยวางแผนการติดต่อสื่อสาร และให้การสนับสนุนทางเทคนิคทั้งโดยตรงและผ่านทางการประสานงานกับส่วนการสื่อสารที่มาให้การ


สนับสนุน นายทหารฝ่ายการสื่อสารของกองพลจะดำเนินการบังคับบัญชาและควบคุมทางยุทธการต่อส่วนการสื่อสารทั้งหมดภายในกองพันทหารสื่อสารนั้น





๖ - ๒๐ การติดต่อสื่อสารในระหว่างการปฏิบัติการเพื่อความต่อเนื่อง

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการปรนนิบัติบำรุง ซ่อมบำรุง การติดต่อสื่อสาร และการ รปภ.ทางการสื่อสาร การพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการติดต่อสื่อสารที่มีปริมาณหนาแน่นและจำนวนมากในฐานการส่งกำลังบำรุง และระบบการเชื่อมต่อที่มีจำนวนมากระหว่างฐานนั้นกับกองพลที่ออกปฏิบัติการ ระบบการติดต่อสื่อสารของฐานที่ถูกขยายกว้างไกลออกไป และระบบการติดต่อสื่อสารของกระทรวงกลาโหม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติการที่ต่อเนื่อง ระบบการติดต่อสื่อสารจะหมายรวมถึง การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในโครงสร้างภายในของท้องถิ่นนั้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น