ตอนที่ ๔
การเตรียมสนามรบด้านการข่าวกรอง
ตสข. และวงรอบของข่าวกรอง เป็นหัวใจของความสำเร็จในการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาว่า ข้าศึกศัตรูคือใคร, มีขีดความสามารถอย่างไร และจะค้นพบได้ที่ใด นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนและกำหนด ห/ป และการแบ่งมอบอำนาจกำลังรบเพื่อการจัดหน่วยเข้าทำการรบ กระบวนการของ ตสข.จะตรวจสอบปัจจัย ๕ ประการ (ดูใน รส.๓๔–๑๓๐) ในตอนที่ ๔ นี้จะอธิบายถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยดังกล่าวที่มีต่อกัน และการประมาณสถานการณ์ ข้อมูลที่จะนำมาพัฒนาและดำเนินกรรมวิธีจะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพความขัดแย้งของการประเมินค่าพื้นที่สนามรบ และเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา ประเภทของแผ่นบริวารและชนิดของข้อมูลที่จะบันทึกลงในแผ่นบริวารนั้นจะแปรเปลี่ยนไปตามความจำเป็นและความต้องการในแต่ละภารกิจ การใช้ระบบการเขียนและการแบ่งสีที่จะใช้บนแผนที่ มาตราส่วนใหญ่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อใช้แผ่นบริวารแบบโปร่งใส การประยุกต์ใช้แบบฟอร์มของ ตสข. สามารถนำมาใช้ได้กับการประมาณกำลังรบของฝ่ายตรงข้าม และประมาณการด้านการข่าวกรองของผู้บังคับบัญชาในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับต่ำ ทั้งนี้เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้นจากองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ ซึ่งมักจะปรากฏเสมอในสนามรบภายใต้สภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ วงรอบการข่าวกรองจะประกอบด้วย :
• การกำหนดลำดับความเร่งด่วนของ หขส., ตขอ.
• การรวบรวม : การจัดทำแผน, ตสข.
• การดำเนินกรรมวิธี : ทำให้ข่าวสารกลายเป็น ข่าวกรอง
• การกระจาย : เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี
• ลักษณะธรรมชาติของภัยคุกคามในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ
• ความสำคัญและสวัสดิภาพของประชาชนพลเมือง
• บทบาทของรัฐบาลและกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน
๖ - ๒๑ ปัจจัยประกอบสำคัญ
ปัจจัยหรือองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณานั้นไม่ได้มีเฉพาะเพียงแต่ภัยคุกคามเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาถึงประชาชนพลเมือง และประเทศเจ้าบ้านด้วย
ก. ภัยคุกคาม ฝ่ายที่เป็นภัยคุกคามจะปะปนและกลมกลืนอยู่กับประชาชน ข้าศึกยังสามารถใช้วิธีการหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้อย่างมากมายและหลายระดับของความรุนแรงเพื่อให้บรรลุความต้องการ หรือวัตถุประสงค์ (ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ, การก่อการร้าย, ยุทธวิธีของกองโจร, อาชญากรรม และอื่น ๆ อีกมาก) การสร้างภาพจำลองของภัยคุกคามนั้น เป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการ ตสข. ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ภาพของภัยคุกคามจะต้องถูกสร้างและพัฒนาขึ้น โดยใช้พื้นฐานจาก สถานการณ์ และสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หขส./ตขส. อาจได้แก่.-
(๑) การพิสูจน์ทราบ, ที่ตั้ง และการเตรียมการเคลื่อนย้ายทางการเมืองของบุคคล
(๒) นโยบายต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนกำลังทหารของฝ่ายเรา
ข. ประชาชนพลเมือง จุดมุ่งเน้นหลักของการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ก็คือการเข้าควบคุมและการสนับสนุนประชาชน การระมัดระวังและให้ความสนใจต่อปัจจัยด้านประชาชนอย่างคงที่ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวของการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ การรักษาความมั่นคงภายในจากต่างประเทศ เป็นภารกิจที่ประกอบด้วย การสู้รบ, การสนับสนุนการรบ และการสนับสนุนทางการช่วยรบที่ใกล้ชิดกับประชาชนของประเทศเจ้าบ้าน วัตถุประสงค์หลักของปฏิบัติการเหล่านี้คือ การป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน และแยกประชาชนออกจากผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดอย่างมากในการใช้อาวุธ และจำเป็นต้องบริหารจัดการการใช้กำลังรบอย่างดี กุญแจสำคัญในการใช้กำลังอย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำก็คือ การวิเคราะห์ในรายละเอียดเกี่ยวกับประชาชนในระหว่างการ ตสข. การปฏิบัติการจะต้องลดความสำคัญในการใช้การยิงเล็กจำลอง และการใช้อาวุธจากทางอากาศ การปฏิบัติการข่าวกรองและการปฏิบัติของหน่วยทหารขนาดเล็ก เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องนำมาใช้ และจะต้องใช้การเมืองนำการปฏิบัติการทางทหาร
ค. รัฐบาลและกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน ความสำเร็จขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าบ้าน องค์กรและหน่วยงานทางพลเรือนและทางทหารจะมีหน้าที่รับผิดชอบหลักต่อการปฏิบัติการทางทหาร, การปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน, การปฏิบัติการจิตวิทยา, การควบคุมประชาชนและทรัพยากร กำลังทหารของฝ่ายเราจะหลีกเลี่ยงกิจเหล่านี้ แต่อาจจำเป็นต้องให้คำแนะนำหรือให้การสนับสนุน การดำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของรัฐบาลประเทศเจ้าบ้านเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญยิ่งอีกบางเรื่องที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิผลในความพยายามทางทหารของฝ่ายเราได้อีกก็คือ ความรอบรู้ในยุทธวิธีของทหารฝ่ายประเทศเจ้าบ้าน, การปฏิบัติการยุทธ์และระบบงานด้านการข่าวกรอง ตลอดจนขีดความสามารถในการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว
๖ - ๒๒ ความต้องการข่าวกรอง
ความต้องการข่าวกรองส่วนใหญ่จะหาพบได้ใน หขส.ของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการวางแผน กระบวนการ ตสข. ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ คงเป็นเช่นเดียวกับในสภาวะความขัดแย้งระดับปานกลางและระดับสูง ซึ่งจะมีอยู่ในกระบวนการ ๕ ระบบ ซึ่ง ฝอ.๒ จะเป็นผู้พิจารณาปัจจัย METT-T เพื่อหาคำตอบให้กับ หขส.และ ตขอ. และผู้บังคับบัญชา (รูปที่ ๖ - ๒) แต่อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติการแต่ละประเภทจะประกอบด้วย ปัจจัยและข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษผสมผสานกัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประเมินค่า พื้นที่ของสนามรบใน ตสข. ประเภทของการปฏิบัติการหรือภารกิจพิเศษในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ยังส่งผลกระทบต่อระบบงาน ตสข.อีก ๔ ระบบ ว่าจะผลิตข้อมูลออกมาเป็นอย่างไร ผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการ ตสข.จะเป็นประมาณการข่าวกรองในรูปแบบของกราฟฟิกส์ สอดคล้องกับ หขส./ตขอ.ของผู้บังคับบัญชา หัวข้อต่อไปจะเป็นคำอธิบายในรายละเอียดวิธีการเตรียมสนามรบด้านการข่าวกรอง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ(รายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ใน รส.๓๔ - ๑๓๐)
๖ - ๒๓ การประเมินค่าพื้นที่สนามรบ
ในขั้นตอนของการทำงานนี้ ผู้วิเคราะห์จะเริ่มรวบรวมข้อมูลข่าวสารเพื่อสนองความต้องการพื้นฐานด้านข่าวกรองในแง่คิด ๕ ประการคือ การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม-ภูมิศาสตร์, การทหาร และการข่าวกรองด้านภัยคุกคาม สำหรับแง่คิดในด้านกลวิธีของประเทศเจ้าบ้านและประชากรจะถูกนำมาพิจารณาประกอบกับสภาพลมฟ้าอากาศ, ข้าศึก และข้อมูลเกี่ยวกับภูมิประเทศ ข่าวกรองพื้นฐานนี้จะถูกนำมาใช้ในพื้นที่สนามรบเฉพาะแห่ง ซึ่งในขั้นตอนนี้พื้นที่ปฏิบัติการและพื้นที่สนใจพิเศษจะถูกพิจารณาดำเนินการกำหนดขึ้น การแบ่งมอบพื้นที่ปฏิบัติการในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จะเป็นไปโดยกองบัญชาการของหน่วยเหนือ เช่นเดียวกับในสภาวะความขัดแย้งระดับปานกลางและระดับสูง พื้นที่ปฏิบัติการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารว่ามีขอบเขตอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณากำหนดพื้นที่สนใจขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานจากการพิจารณาของ สธ.๒ พื้นที่ทั้งสองนี้จะถูกวิเคราะห์โดยอาศัยปัจจัย METT-T และปัจจัยทางด้านการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น การประเมินค่าพื้นที่ทั้งสองจะยังคงมีความสำคัญต่อประชาชนของประเทศเจ้าบ้าน หรือการปฏิบัติกิจกรรมทางทหาร
๖ - ๒๔ การวิเคราะห์ภูมิประเทศ
เนื่องจากกำลังของฝ่ายข้าศึกศัตรูมักจะมีจำนวนน้อยกว่ากำลังของฝ่ายเรา และขาดการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ดังนั้นฝ่ายข้าศึกจึงหลีกเลี่ยงการรบแบบยึดพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการเข้ายึดและควบคุม หรือป้องกันรักษาภูมิประเทศสำคัญที่ใช้ในการรบตามแบบ ขีดความสามารถที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของข้าศึกก็คือ การเคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้าได้อย่างรวดเร็วในภูมิประเทศที่ทุรกันดารยากลำบาก ดังนั้นการใช้เครื่องกีดขวางแบบผสมผสานทั้งที่มีอยู่ในหน่วยและแบบแสวงเครื่องตามข่ายเส้นทาง จึงมีผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของข้าศึกไม่มากนัก ความสำคัญของภูมิประเทศที่มักใช้ในการรบตามแบบจะมีต่อการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงและการระวังป้องกัน การวิเคราะห์ภูมิประเทศจำเป็นต้องกระทำในรายละเอียดทั้งที่เคยเป็นมาก่อนในประวัติการสู้รบ และการวาดภาพการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับรายงานข่าวกรองตามระยะเวลา
ก. การกำบังและการซ่อนพราง ควรใช้การกำหนดพื้นที่ที่ข้าศึกสามารถใช้เป็นที่กำลังและซ่อนพรางลงไปในแผ่นบริวาร ซึ่งจะระบุพื้นที่ซึ่งฝ่ายข้าศึกจะใช้ป้องกันตนจากการลาดตระเวนเป็นพื้นที่ของฝ่ายเรา พื้นที่ดังกล่าวมักจะเป็นพื้นที่สูงต่ำไม่สม่ำเสมอ และมีพืชพันธุ์ไม้หนาทึบภูมิประเทศสำคัญจะเกื้อกูลต่อฝ่ายตั้งรับและให้การกำบังในการถอนตัว เช่นเดียวกับในการ ตสข.สำหรับสงครามตามแบบ แผ่นบริวารที่ใช้กำหนดพื้นที่การกำบังและการซ่อนพราง จะระบุพื้นที่ที่ป้องกันการตรวจการณ์จากทางอากาศหรือจากภูมิประเทศที่สูงข่ม แผ่นบริวารนี้จะมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
ข. ภูมิประเทศสำคัญ ถึงแม้ว่าคำจำกัดความและความหมายของภูมิประเทศสำคัญที่ใช้ในการปฏิบัติการในความขัดแย้งระดับต่ำ และการปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ จะมีความใกล้เคียงกัน แต่การเลือกใช้ประโยชน์มีความแตกต่างกันในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ การเลือกภูมิประเทศสำคัญจะถูกอิทธิพลบังคับจากพลเมืองในท้องถิ่น และแหล่งทรัพยากรทางการส่งกำลังบำรุงในพื้นที่ ฝอ.๒ จะต้องระมัดระวังในสาระสำคัญเหล่านี้ และผลกระทบถึงการใช้พื้นที่ปฏิบัติการทั้งของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก
(๑) กลุ่มประชากร ถือเป็นภูมิประเทศสำคัญในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ เนื่องจากฝ่ายข้าศึกสามารถใช้ประโยชน์ในด้านการสนับสนุนและการระวังป้องกันได้ โดยทดแทนลักษณะภูมิประเทศสำคัญที่จะต้องเข้าควบคุม หรือยึดรักษาป้องกันไว้ ฝอ.๒ จะเริ่มต้นแบ่งประเภทของประชากรในพื้นที่ของการรบตามลักษณะของพื้นฐาน โดยใช้ฐานข้อมูลและความพยายามในการเก็บรวบรวม (ชนพื้นเมือง, ศาสนา, เผ่าพันธุ์, การเมือง และอื่น ๆ) ความสัมพันธ์ของประชากรที่มีต่อฝ่ายข้าศึก, ความจงรักภักดีและความง่ายที่จะถูกชักจูงหรือครอบงำจากฝ่ายข้าศึก เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถประเมินค่าการโฆษณาชวนเชื่อ, การจัดทำข้อมูลโดยใช้แผนภูมิ, การดำรงรักษาและพัฒนาความทันสมัยของข้อมูลและสถานภาพของประชากรโดยใช้แผ่นบริวาร ฝอ.๒ มักจะต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยบัญชาการระดับเหนือขึ้นไป รวมทั้งประเทศเจ้าบ้าน และหน่วยงานทางด้าน พลเรือน
(๒) การดำรงความต่อเนื่องในด้านการส่งกำลังบำรุงของข้าศึก ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ อาวุธ, กระสุน, วัตถุระเบิด แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย แผ่นบริวารจะต้องถูกจัดทำขึ้นเพื่อระบุพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและอาหารของฝ่ายข้าศึก, พื้นที่ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้ ตลอดจนพื้นที่บริเวณใดที่เป็นแหล่งขาดแคลนสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าว พื้นที่น่าสนใจ ยังอาจพิจารณาได้จาก กลุ่มผู้ตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่, ปศุสัตว์ หรือแหล่งเกษตรกรรมที่อยู่ใกล้เคียง หรือในพื้นที่ของข้าศึก (ภายในระยะทาง ๑ วันเดินทาง) ซึ่งอาจใช้เป็นแหล่งจัดหาอาหารหรือใช้เป็นพื้นที่ระวังป้องกัน หากได้มีการล่วงรู้หรือคาดการณ์ว่ากำลังฝ่ายกองโจรจะมีการติดต่อกับหน่วยกำลังรบตามแบบแล้ว, หน่วยก็ควรจะกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทิ้งของหรือส่งทางอากาศ หรือพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งรวมเรือหรือพื้นที่ซ่อนตัวของเรือดำน้ำ และถนน/เส้นทางที่จะนำไปสู่พื้นที่ครอบครองของฝ่ายข้าศึกหรือประเทศที่เป็นกลาง แต่อาจโน้มเอียงเข้าหาฝ่ายข้าศึก สิ่งอุปกรณ์สายแพทย์มักจะเป็นความต้องการของกำลังฝ่ายข้าศึก ดังนั้นพื้นที่หรือแหล่งของสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวก็อาจเป็นภูมิประเทศสำคัญได้ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายเราหรือฝ่ายข้าศึกจะสามารถเข้าควบคุมและใช้ประโยชน์ได้มากเพียงใด
(๓) ในบางท้องถิ่นอาจไม่มีลักษณะภูมิประเทศเด่นชัดในทางยุทธวิธี แต่ก็อาจมีลักษณะเด่นชัดในด้านอื่น เช่น สิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตวิทยา หรือทางด้านการปกครองจากรัฐบาล ความสำคัญในด้านต่าง ๆ เหล่านี้อาจพิจารณาเปรียบได้กับลักษณะภูมิประเทศสำคัญ นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น สถานที่เกิดของวีรชนในชาติ หรือสถานที่สำคัญทางศาสนา ซึ่งข้าศึกศัตรูอาจจำเป็นต้องป้องกันรักษาไว้, จงหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการทางทหารในบริเวณใกล้เคียง หรือใช้การแสดงตนเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านจิตวิทยา
ค. แนวทางการเคลื่อนที่ แนวทางการเคลื่อนที่จะถูกพิจารณากำหนดขึ้นภายหลังจากการพิจารณาภูมิประเทศในแง่คิดอื่น ๆ แล้วซึ่งคงเป็นเช่นเดียวกับในการปฏิบัติการในสงครามตามแบบ
(๑) แผ่นบริวารแสดงถนน/เส้นทาง จะเน้นความสำคัญของถนนและเส้นทางในพื้นที่ปฏิบัติการ หน่วยควรจะต้องระมัดระวังเส้นหลักการคมนาคม ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายข้าศึก หรือเส้นหลักการคมนาคมที่สนับสนุนให้เกิดอำนาจกำลังรบของข้าศึก หรือเส้นทางการคมนาคมซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ มีหลายครั้งที่การลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศทำให้ค้นพบเส้นทางที่เกิดขึ้นใหม่โดยสังเกตการทำลายพืชพันธุ์ไม้ หรือใช้การเปรียบเทียบภาพถ่ายปัจจุบันกับภาพถ่ายในอดีต ควรใช้การพิจารณาสังเกตเป็นพิเศษกับสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้.-
(ก) ถนนหรือเส้นทางที่เคลื่อนเข้าไปสู่พื้นที่ที่น่าสงสัยว่าจะมีพวกผู้ก่อความไม่สงบอยู่
(ข) ถนนหรือเส้นทางหลักที่เป็นเส้นทางเคลื่อนย้าย หรือเส้นทางผ่านบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นพื้นที่ซ่อนตัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
(ค) เส้นทางถนนหลักที่เป็นทางเชื่อมต่อพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
(ง) ถนนหรือเส้นทางใกล้ ๆ ฐานที่มั่นของกำลังฝ่ายเรา และเส้นทางการคมนาคม
(จ) สถานที่ตั้งท่าเรือ, สะพาน และท่าข้ามแม่น้ำ ; ฤดูกาลที่แม่น้ำมีน้ำหลากหรือท่วมสูง
(ฉ) สถานที่ตั้งแหล่งผลิตน้ำใช้
(ช) ลำน้ำที่สามารถใช้เป็นเส้นทางนำทิศได้
(ซ) เส้นทางใต้ดิน เช่น อุโมงค์ หรือถนนใต้ดิน
(๒) การปฏิบัติการส่วนใหญ่ของฝ่ายเราก็คือ การปฏิบัติการของหน่วยทหารขนาดเล็ก การปฏิบัติการของฝ่ายข้าศึกโดยใช้หน่วยระดับกองร้อยหรือใหญ่กว่าเป็นสิ่งอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์หรือความคาดหมาย ดังนั้น การกำหนดแนวทางการเคลื่อนที่โดยให้มีพื้นที่การดำเนินกลยุทธ์พอเพียงนั้นจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้ง ฝอ.๒ กรม และ ฝอ.๒ กองพัน จะต้องตระหนักถึงการกำหนดและวิเคราะห์แนวทางการเคลื่อนที่ของหน่วยทหารระดับหมู่ ตอน และหมวด (รวมทั้งเส้นทางใต้ดิน) เข้ามาสู่พื้นที่ที่อยู่ในการระวังป้องกันของฝ่ายเรา และเข้าไปสู่พื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมาย
(๓) เนื่องจากหน่วยระดับกรมและกองพัน อาจจำเป็นต้องเข้าปฏิบัติการในลักษณะกึ่งอิสระ หรือปฏิบัติการผสมเหล่า บ่อยครั้งขึ้น ฝอ.๒ จึงต้องกำหนด เลือก และระบุแนวทางการเคลื่อนที่ซึ่งนอกเหนือจากทางภาคพื้นดิน ซึ่งอาจเป็นทางอากาศ หรือทางน้ำ ในแต่ละกรณี หลักการวิเคราะห์ภูมิประเทศจะถูกประยุกต์ใช้ โดยการเน้นลงไปในรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการของหน่วยทหารขนาดเล็ก แนวทางการเคลื่อนที่จะต้องถูกพิจารณาเป็นพิเศษ แม้ว่าในบางพื้นที่อาจดูเหมือนจะไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แนวทางการเคลื่อนที่ที่ยากลำบาก หรือเป็น ภูมิประเทศทุรกันดาร มักจะถูกใช้เพื่อหวังผลในการจู่โจม แนวทางการเคลื่อนที่ทั่วไปอาจถูกกำหนดขึ้นโดยการศึกษาจากแผ่นบริวารแนวทางการเคลื่อนที่ ตามปกติแล้ว กำลังพลและยุทโธปกรณ์จะถูกเคลื่อนย้ายผ่านทางพื้นที่ซึ่งประชาชนมีความเห็นอกเห็นใจฝ่ายข้าศึก
ง. พื้นที่สนใจที่ถูกกำหนดชื่อเรียก การผสมผสานกันระหว่างแผ่นบริวารข้อมูลประชากร, แผ่นบริวารแสดงพื้นที่กำบังและซ่อนพราง, พื้นที่ป้องกันใกล้เคียง, พื้นที่ที่ถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่ใช้เพื่อความต่อเนื่องในการส่งกำลังบำรุง จะเป็นตัวกำหนดว่ากำลังของฝ่ายข้าศึกน่าจะลงมือปฏิบัติการที่ใด พื้นที่ซึ่งให้การกำบังและซ่อนพราง, ประชาชนซึ่งเป็นมิตรหรือเป็นกลาง และสิ่งอุปกรณ์ที่พร้อมให้การสนับสนุนกับฝ่ายข้าศึก พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้อาจถูกกำหนดชื่อเรียกเพื่อเป็นการยืนยัน หรือปฏิเสธการปรากฏตัวของฝ่ายข้าศึก หรือเมื่อพิจารณากับสิ่งบอกเหตุอื่น ๆ แล้วสามารถใช้พิจารณาเจตนารมณ์ของฝ่ายข้าศึกได้ พื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของประชากร และแหล่งสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุง จะถูกแยกออกต่างหากจากพื้นที่ซึ่งมีการกำบังและซ่อนพราง ข้าศึกอาจใช้การเคลื่อนที่ผ่านระหว่างพื้นที่เหล่านั้น ขั้นตอนต่อไปก็คือ การพิจารณากำหนดเป้าหมายของฝ่ายข้าศึก
จ. แผ่นบริวารกับดัก แผ่นบริวารกับดักจะกำหนดเป้าหมายซึ่งข้าศึกน่าจะให้ความสนใจที่จะใช้การก่อวินาศกรรม, วางทุ่นระเบิด, กับระเบิด หรือเข้าโจมตี ซึ่งอาจหมายรวมถึง สะพาน แหล่งกำเนิดพลังงาน, เส้นทางการส่งพลังงาน, ทำเลซึ่งเกื้อกูลต่อการซุ่มโจมตี หรือเป้าหมายบุคคลที่น่าจะถูกลักพาตัว พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกกำหนดไว้ในแผนที่เพื่อพิจารณาหาแนวทางและเส้นทางการหลบหนีของฝ่ายข้าศึก แผ่นบริวารกับดักอาจถูกผสมผสานเข้ากับแผ่นบริวารแสดงความต่อเนื่องในการส่งกำลังบำรุง เพื่อการสร้างภาพแสดงให้เห็นสถานการณ์อย่างชัดเจนสมบูรณ์
๖ - ๒๕ การวิเคราะห์สภาพลมฟ้าอากาศ
การพิจารณาสภาพลมฟ้าอากาศและการเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อนำลงในแผ่นบริวาร คงเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ – ระดับปานกลาง และระดับสูง ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศที่มีผลต่อการตรวจการณ์, พื้นการยิง, การพราง, การเตรียมสนามเฮลิคอปเตอร์ และการมองระดับเส้นสายตา, ตลอดจนการใช้วิทยุ/เรดาร์ คงนำมาใช้พิจารณาประกอบในการวางแผน
ก. ฝอ.๒ จะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องสภาพลมฟ้าอากาศ และการพยากรณ์สภาพลมฟ้าอากาศในระยะสั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาผลกระทบของลมฟ้าอากาศที่มีต่อภารกิจของหน่วยว่าจะมีความแม่นยำและเที่ยงตรงเพียงใด ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศอย่างรุนแรงนั้น รายงานข่าวกรองเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศที่ดำเนินการจัดทำในห้วงฤดูกาลอาจใช้ประโยชน์ไม่ได้ในฤดูกาลอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ รายงานข่าวกรองสภาพภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศจึงต้องมีการจัดทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตลอดจนมีการตรวจสอบทบทวนเพื่อให้มั่นใจว่า มีความทันสมัยถูกต้อง
ข. ลักษณะธรรมชาติของกลยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ อาจเป็นไปในรูปแบบของการต่อสู้ในระยะประชิดบ่อยครั้ง ดังนั้นความรอบรู้ในผลกระทบของลมฟ้าอากาศและสภาพทัศนวิสัย จึงมีความสำคัญยิ่งในการวางแผนและการปฏิบัติการ ฝอ.๒ จะต้องพยายามดำเนินการจัดทำรายการแสงสว่างและสภาพทัศนวิสัยให้ได้อย่างถูกต้องในห้วงเวลาของแต่ละวัน ในสภาพภูมิประเทศแต่ละแบบ
ค. ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ ล้วนมีความสำคัญต่อทั้งฝ่ายเรา และฝ่ายข้าศึกในการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก ดังนั้น ความรอบรู้ในผลกระทบจากสภาพลมฟ้าอากาศที่มีต่อขีดความสามารถในการสัญจรเดินทาง ย่อมส่งผลอย่างมากต่อเวลาและธรรมชาติของการปฏิบัติการยุทธ์ ตามปกติแล้ว ฝ่ายข้าศึกมักใช้การเคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้า, การใช้เรือขนาดเล็ก และการใช้สัตว์ต่าง ดังนั้นผลกระทบจากสภาพลมฟ้าอากาศที่มีต่อการสัญจรด้วยยานยนต์ล้อและสายพาน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายทางอากาศและการเคลื่อนที่แบบสะเทินน้ำสะเทินบกจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ในทางตรงกันข้าม สภาพลมฟ้าอากาศมักจะปกปิดหรือขัดขวางกำลังของฝ่ายเรามากกว่าฝ่ายตรงข้าม แต่อย่างไรก็ตาม การไหลบ่าของน้ำในแม่น้ำ และการท่วมขัง ทำให้เกิดพื้นที่ลุ่มเป็นหล่มโคลน ก็ย่อมจะลดขีดความสามารถในการถอนตัวหลบหนีของฝ่ายข้าศึก
ง. การพิจารณาของ ฝอ.๒ ประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ ดังนี้.-
(๑) ข้าศึกมักจะใช้สภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่ดี หรือความมืดเพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบในทางยุทธวิธี สภาพอากาศดังกล่าวจะลดประสิทธิภาพในการปฏิบัติการและการตรวจการณ์ของฝ่ายรัฐบาล, การยิงเล็งตรง, การสนับสนุนทางอากาศ และการใช้ปืนใหญ่ – ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อความได้เปรียบของกำลังฝ่ายเรา
(๒) สภาพลมฟ้าอากาศ สามารถส่งผลกระทบต่อการผลิตหรือแปรรูปอาหารจากพืชและสัตว์เลี้ยง ฤดูกาลเพาะปลูก, วงจรชีวิตของพืช และข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยวพืชผลจะต้องถูกนำมาพิจารณาร่วม
(๓) ข้าศึกจะมีปัญหาในการจัดทำตำบลซุกซ่อน หรือรวบรวมสิ่งอุปกรณ์ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
(๔) การแสดงกำลังหรือการแสดงลวง จะถูกวางแผนเพื่อให้ปฏิบัติในห้วงเวลาที่มีทัศนวิสัยดี เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด
(๕) โครงการด้านกิจการพลเรือนและสื่อที่ใช้ในการปฏิบัติการจิตวิทยา ย่อมถูกลดประสิทธิภาพในการใช้ลงด้วยสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม สภาพลมฟ้าอากาศที่เลวร้ายสามารถทำลายสภาพถนนและเส้นทางที่มีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ของฝ่ายข้าศึก
๖ - ๒๖ การประเมินค่าภัยคุกคาม
การประเมินค่าภัยคุกคามสำหรับสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จะต้องเริ่มดำเนินการแต่เนิ่นและให้มีความครอบคลุมในปัจจัยหลากหลายเพื่อสร้างรูปแบบจำลองของภัยคุกคาม ปัจจัยประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ จะประกอบด้วยหลักความเป็นจริงเกี่ยวกับ การเป็นผู้นำ, วัตถุประสงค์, การจัดหน่วย, ยุทธวิธี, การสนับสนุนจากภายนอก, จังหวะเวลา และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับข้าศึก รูปแบบของหลักนิยมฝ่ายข้าศึกซึ่งโดยทั่วไปจะถูกค้นพบและพัฒนาเป็นลำดับในระหว่างขั้นตอนของการประเมินค่าภัยคุกคามนั้น มักจะไม่สามารถกระทำได้ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ ดังนั้นแบบกำหนดหลักนิยมฝ่ายข้าศึกจึงไม่สามารถประยุกต์ออกมาเป็นกลยุทธ์หรือยุทธวิธีของฝ่ายข้าศึกได้ ในระหว่างขั้นตอนของการประเมินค่าภัยคุกคาม หน่วยควรจะพยายามพิสูจน์ทราบและระบุวิธีการหรือรูปแบบของการปฏิบัติของฝ่ายข้าศึก รวมทั้งยุทธวิธีและเป้าหมายเฉพาะ เพื่อทำการขยายผลในระหว่างการนำภัยคุกคามมาสนธิเข้าด้วยกัน
ก. ฐานข้อมูลของภัยคุกคาม ฝอ.๒ จะรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวทั้งหมดที่มีอยู่, รวมทั้งองค์กรและแหล่งข่าวของประเทศเจ้าบ้านด้วย ขั้นตอนแรกในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของข้าศึกก็คือ การศึกษาองค์กรการจัดหน่วยและยุทธวิธีของฝ่ายข้าศึก นอกจากนี้ยังต้องสืบสภาพของกำลังบางส่วนที่จัดเป็นพิเศษ และมีโอกาสที่จะปะทะกับกำลังของฝ่ายเรา ประสิทธิผลในการวางแผนของ ฝอ.๒ ตลอดจนทิศทางของการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร, กรรมวิธีในการดำเนินการต่อข้อมูล และการใช้ข่าวกรองในการประมาณการณ์จะได้ผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรอบรู้และความเข้าใจในยุทธวิธีและเทคนิคของฝ่ายข้าศึก หน่วยข่าวกรองของประเทศเจ้าบ้านสามารถให้การช่วยเหลือได้โดยการให้ข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นมาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งที่เป็นเอกสารลับและมิใช่เอกสารลับ เพื่อ ฝอ.๒ หรือ สธ.๒ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการขยายฐานข้อมูล
(๑) ข้าศึก ยุทธวิธีของฝ่ายข้าศึกมักจะเป็นลักษณะของการปฏิบัติการโดยหน่วยทหารขนาดเล็ก ถึงแม้ว่าจะมีขีดความสามารถในการรวมกำลังได้ถึงระดับกองร้อยหรือกองพันก็ตาม ฝ่ายข้าศึกสามารถปฏิบัติการด้วยหน่วยขนาดเล็กได้ในมากมายหลายพื้นที่ โดยการใช้วิธีการ “ตีหัวเข้าบ้าน” (HIT – AND – RUN) ซึ่งวิธีการตีโฉบฉวยและถอนตัวโดยการกระจายกำลังออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ แทนที่จะใช้การกำบังหรือซ่อนพรางจากภูมิประเทศ ข้าศึกอาจมีขีดความสามารถในการเข้าตี ตั้งรับ, ถอนตัว และเพิ่มเติมกำลัง ดังนั้นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารจึงต้องพิจารณาข่าวสารและข่าวกรองเกี่ยวกับข้าศึกอย่างละเอียดรอบคอบ
(๒) กำลัง ฝ่ายข้าศึกอาจมีการจัดกำลังในลักษณะของหน่วยทหาร (นั่นคือ ชุด, หมู่, ตอน และหมวด) อย่างไรก็ตามการจัดกำลังของฝ่ายข้าศึกจะต้องถูกค้นพบและล่วงรู้โดยฝ่ายเรา โครางสร้างการจัดของฝ่ายข้าศึกจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการ หากไม่สามารถล่วงรู้ถึงการจัดกำลังของฝ่ายข้าศึกว่าเป็นรูปแบบใด ก็ควรจะได้ตัวเลขหรือจำนวนกำลังพลที่มีอยู่ในแต่ละตำบลหรือที่ตั้ง รวมทั้งจำนวนของพลประจำอาวุธยิง, ยานหุ้มเกราะ, อาวุธยิงวิถีโค้ง และอากาศยานที่มีอยู่
(๓) แฟ้มประวัติบุคคล แฟ้มประวัติบุคคลที่ฝ่ายเราควรจะเก็บรวบรวมข้อมูล ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับผู้บังคับบัญชาของฝ่ายข้าศึก และจำนวนสมาชิกหรือกำลังพลซึ่งเป็นพลพรรคใต้ดิน รวมทั้งการสนับสนุนจากพลเรือน ชื่อและข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้เพื่อกำหนดให้เป็นบุคคลที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อต้านขัดขวางรัฐบาลและผู้นำทางด้านปรัชญา, อดีตผู้นำทางการทหาร และกลุ่มบุคคลผู้มีขีดความสามารถในการเป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังจะต้องสืบสภาพไปถึง บุคคลที่เป็นคู่ชีวิต, ญาติพี่น้อง และมิตรสหายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและพลพรรคใต้ดิน บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว จะถือ
เป็นแหล่งที่มาของข่าวสาร และอาจใช้เป็นกับดักต่อบุคคลของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ของชุมชนที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จะมีบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นการถาวรในเรื่องการรวบรวมเสบียงอาหาร และสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งอาจทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารและจัดที่พัก หรือที่ซ่อนตัวให้กับกำลังพลของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ฝ่ายเราต้องพยายามค้นพบบุคคลดังกล่าวให้จงได้; แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่จำเป็นต้องเข้าดำเนินการจับกุมในทันทีที่ค้นพบ ทั้งนี้อาจใช้วิธีการเฝ้าจับตาดูพฤติกรรมหรือการไปมาหาสู่กับบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่นำสาร หรือส่งข่าวให้กับฝ่ายข้าศึกด้วย
ข. การประเมินค่าขีดความสามารถของฝ่ายคุกคาม ภายหลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับฝ่ายข้าศึกแล้ว ฝอ.๒ ก็จะประเมินค่าขีดความสามารถของฝ่ายข้าศึกว่าจะปฏิบัติในเรื่องใดได้บ้าง โดยจะต้องระบุลงไปให้แน่ชัดว่าข้าศึกจะทำได้หรือไม่ ในเรื่อง.-
• การก่อวินาศกรรม หากสามารถทำได้ จะกระทำต่อไปอีกต่อเป้าหมายใด
• การรวบรวมข่าวสารและข่าวกรอง
• การใช้ทุ่นระเบิดและกับระเบิด
• การโจมตีต่อที่มั่นตั้งรับ
• การปะทะกับกำลังของฝ่ายรัฐบาลโดยตรง
• การสนับสนุนการแสดงลวง
• การปฏิบัติการทางทหารด้วยกำลังขนาดใหญ่
• การปฏิบัติการก่อการร้าย
ค. แผนที่สถานการณ์ ฝอ.๒ จะเตรียมแผนที่สถานการณ์ฝ่ายข้าศึกในระหว่างขั้นตอนการ ตสข. แผนที่สถานการณ์นี้จะประกอบด้วยข้อมูลข่าวสารที่แน่นอนและชัดเจนที่มีอยู่เกี่ยวกับข้าศึก ข้อมูล เช่น ที่ตั้งค่ายพักของข้าศึก, พื้นที่ปฏิบัติการของหน่วยและเขตปฏิบัติการรวมทั้งเส้นทางต่าง ๆ แผนที่นี้จะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในกรณีที่ข้าศึกมีการเคลื่อนไหวและขีดความสามารถเปลี่ยนแปลงไป
ง. แผนที่เฉพาะเหตุการณ์ ข่าวสารมากมายจะถูกใช้ในการจัดเตรียมและพัฒนาแผนที่สถานการณ์ฝ่ายข้าศึกให้มีความทันสมัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้แผนที่เฉพาะเหตุการณ์ ซึ่งจะบันทึกความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แผ่นบริวารแผนที่เฉพาะเหตุการณ์อาจใช้ประกอบกับแผนที่สถานการณ์เพื่อการเปรียบเทียบอย่างทันทีทันใด
จ. ฐานข้อมูลเกี่ยวกับประชากร ฝอ.๒ จะตรวจสอบซ้ำในเรื่องของประชาชนในท้องถิ่น ถึงแม้ว่าประชาชนในท้องถิ่นจะไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจขอย่างกระจ่างชัดในเรื่องประชาชน เพื่อกำหนดสถานะของประชาชนในท้องถิ่นนั้นไว้ในแผ่นบริวาร ฝอ.๒ จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น ตลอดจนเศรษฐกิจ นอกจากนี้อาจใช้ปัจจัยประกอบอื่น ๆ เพื่อพิจารณาประเมินหาหนทางที่จะได้มาซึ่งความเชื่อมั่นและเชื่อถือของประชาชนในท้องถิ่น หรือสิทธิผลในการปฏิบัติการในพื้นที่นั้น
๖ - ๒๗ การสนธิภัยคุกคาม
การสนธิภัยคุกคามเป็นการเชื่อมโยงหลักนิยมของฝ่ายข้าศึกเข้ากับ ภูมิประเทศ, ลมฟ้าอากาศและประชาชน ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารจะใช้วิธีการนี้เพื่อพิจารณาหาวิธีการที่ข้าศึกน่าจะนำมาใช้ปฏิบัติ ตลอดจนเวลาและสถานที่
ก. แบบกำหนดจากสถานการณ์ เนื่องจากไม่มีแบบกำหนดการปฏิบัติจากหลักนิยมที่จะใช้ในการ ตสข. ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องสร้างแบบกำหนดจากสถานการณ์ ซึ่งจะมีพื้นฐานมาจาก ประเภทของกิจกรรมหรือการปฏิบัติ และวันเวลา รวมทั้งสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ข้อมูลข่าวสารจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้เกี่ยวกับขีดความสามารถของข้าศึกในท้องถิ่น และแนวโน้มซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุถึงสถานที่และวิธีการที่ฝ่ายข้าศึกจะปฏิบัติ
(๑) ขั้นตอนแรก คือ การพิสูจน์ทราบและกำหนดการปฏิบัติหลัก หรือภารกิจต่าง ๆ ซึ่งข้าศึกน่าจะมีความจำเป็นหรือต้องการที่จะปฏิบัติ (การก่อวินาศกรรม, การโจมตีโดยตรง, การรบกวนทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ) แต่ละภารกิจมีความจำเป็นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างชนิดกัน การฝึกและยุทธวิธีที่แตกต่างกัน ความต้องการขั้นพื้นฐานและสิ่งบอกเหตุของการปฏิบัติของข้าศึกนี้จะถูกใช้เป็นแบบกำหนด
(๒) ตัวอย่าง เช่น แบบกำหนดจากสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ข้าศึกจะเข้าตีที่มั่นตั้งรับ จะมีความต้องการสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้.-
(ก) ภูมิประเทศสำคัญที่สามารถใช้ตรวจการณ์ไปยังพื้นที่เป้าหมาย
(ข) จุดซุ่มโจมตีซึ่งสามารถใช้ตรวจการณ์ไปยังพื้นที่เป้าหมาย
(ค) ตำบลเตรียมเข้าโจมตีสามารถหาได้
(ง) ที่ตั้งยิงของเครื่องยิงลูกระเบิดที่สามารถหาได้โดยมีระยะยิงถึงเป้าหมาย
(จ) เส้นทางของฝ่ายข้าศึกเข้าไปยังตำบลเตรียมเข้าโจมตีหรือเข้าไปยังเป้าหมายที่อยู่ใกล้
(ฉ) เส้นทางถอนตัวหลบหนีของฝ่ายข้าศึกหลังจากเข้าโจมตีแล้ว
(๓) กิจกรรมหรือการปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุก่อนการเข้าตี จะประกอบด้วย.-
(ก) การสะสมเสบียงหรือสิ่งอุปกรณ์เพิ่มเติม
(ข) การเคลื่อนไหวของฝ่ายข้าศึกมีมากขึ้น
(ค) การตรวจพบบุคลากรของฝ่ายข้าศึกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่
(ง) การเข้ายึดครองหรือมีการจัดเตรียมที่รวมพล ซึ่งมีระยะห่างจากเป้าหมายภายในเวลา ๑ หรือ ๒ วันเดินทาง
(๔) ในการจัดเตรียมแบบกำหนดจากสถานการณ์ สำหรับใช้กำหนดขีดความสามารถของข้าศึกนั้น เราจะหาข้อมูลได้จากการปฏิบัติหรือกิจกรรมใด ๆ ของฝ่ายข้าศึกที่มักปรากฏซ้ำ ๆ และบ่อยครั้งภายในพื้นที่ ฝอ.๒ จะใช้การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเท่านั้น จึงจะสามารถพิสูจน์ทราบความต้องการของฝ่ายข้าศึกได้
ข. แบบกำหนดจากเหตุการณ์ แบบกำหนดจากสถานการณ์จะเป็นพื้นฐานในการสร้างแบบกำหนดจากเหตุการณ์ขึ้นมาก ซึ่งจะประกอบด้วย การพิสูจน์ทราบและวิเคราะห์เหตุการณ์หลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในสนามรบ รวมทั้งการปฏิบัติต่าง ๆ ของข้าศึกซึ่งจะเป็นสิ่งบอกเหตุถึงหนทางปฏิบัติที่ข้าศึกน่าจะใช้ พื้นที่สนใจที่ถูกกำหนดชื่อจะถูกพิสูจน์ทราบและระบุผ่านทางการวิเคราะห์ภูมิประเทศ และแบบกำหนดจากสถานการณ์ จากแผนที่กับดักเราจะสามารถพิจารณาพื้นที่สนใจ เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ซุ่มโจมตีที่ฝ่ายข้าศึกน่าจะเลือกใช้ ด้วยวิธีการผสมผสานแผ่นบริวารของพื้นที่การกำบังและซ่อนพราง, แผ่นบริวารการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง และแผ่นบริวารสถานะของประชากรเข้าด้วยกันแล้ว เราอาจสามารถกำหนดพื้นที่ที่น่าจะเป็นที่ตั่งค่ายพักของฝ่ายข้าศึกในบริเวณใดบริเวณหนึ่งได้ และจากการใช้แบบกำหนดจากสถานการณ์นั้นเราอาจพิจารณาให้ เส้นทาง, ลักษณะภูมิประเทศ หรือที่ตั้งค่ายพักของฝ่ายข้าศึกให้เป็นพื้นที่สนใจที่ถูกกำหนดชื่อขึ้นได้
ค. พื้นที่สนใจที่เป็นเป้าหมาย แบบกำหนดจากสถานการณ์และจากเหตุการณ์จะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับแบบกำหนดจากหลักนิยม แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่สนใจที่เป็นเป้าหมายที่มีพื้นฐานมาจากพื้นที่สนใจที่ถูกกำหนดชื่อจะมีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ฝอ.๒ ซึ่งหน่วยของตนกำลังเคลื่อนที่อยู่บนถนนจะต้องมีตำบลหรือจุดซึ่งพิจารณาว่าจะเป็นพื้นที่ซุ่มโจมตี ระบุไว้เป็น พื้นที่สนใจที่มีชื่อกำหนดไว้ ตำบลหรือจุดต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกกำหนดเป็นเป้าหมาย โดยคณะทำงานก่อนและระหว่างการเคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังจะถูกประสานให้เป็นพื้นที่สนใจเป้าหมาย ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะตกลงใจว่าจะปฏิบัติอย่างไรกับเป้าหมายต่าง ๆ เหล่านั้น การปฏิบัติต่อเป้าหมายจะเป็นไปในลักษณะของการปฏิบัติต่อข้าศึก – มิใช่การปฏิบัติต่อพลเรือน
ง. การวิเคราะห์ค่าของเป้าหมาย การวิเคราะห์ค่าของเป้าหมายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในขั้นตอนนี้เช่นกัน เป้าหมายที่มีค่าสูงจะถูกกำหนดระบุขึ้น, ซึ่งอาจหมายรวมถึงที่บังคับการและส่วนส่งกำลังบำรุงด้วย การประเมินค่าของขีดความสามารถพิเศษเฉพาะของฝ่ายข้าศึกจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนสัมพันธ์ในการกำหนดเป้าหมายที่มีค่าสูง ตัวอย่างเช่น หากภัยคุกคามในด้านการก่อวินาศกรรมมีสูง เป้าหมายที่มีค่าสูงก็ควรจะเป็นสถานที่เก็บวัตถุระเบิด หรือพื้นที่ซึ่งมีการฝึกการก่อวินาศกรรม บุคคลก็อาจถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายที่มีค่าสูงได้เช่นกัน ทั้งนี้หมายรวมถึง บุคคลซึ่งหากเสียชีวิตหรือถูกจับกุมแล้วจะทำให้เกิดการลดขีดความสามารถในการนำหน่วยของกำลังฝ่ายข้าศึก, การ จารกรรม, การควบคุมประชาชน หรือลดขีดความสามารถในการปฏิบัติการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น