ตอนที่ ๓
ประเภทของการปฏิบัติการ
การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบนั้น จะมีลักษณะแตกต่างจากการปฏิบัติการอื่น ทั้งนี้เนื่องมาจากการมุ่งเน้นถึงปัญหาเฉพาะด้าน และความต้องการการตกลงใจแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบมีความอ่อนไหวทางการเมือง และอ่อนไหวต่อปัจจัยเวลา และจะต้องได้รับการบริหารจัดการในระดับสูงสุดของรัฐบาล ตามปกติแล้วจะสิ้นสุดภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปฏิบัติการในระยะยาวได้ ผู้บังคับบัญชาจะจัดกำลังสำหรับการปฏิบัติการเหล่านี้ และใช้กำลังในลักษณะกำลังรบร่วม หรือกำลังรบผสมหรือทั้งสองอย่าง ในตอนที่ ๓ นี้จะอธิบายถึงการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบบางลักษณะ ซึ่งผู้บังคับหน่วยระดับกรมและกองพันอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหรือให้การสนับสนุน
๕ - ๘ การแสดงกำลังทางทหาร/ การแสดงแสนยานุภาพทางทหาร
กำลังรบเผชิญเหตุนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและความมีน้ำหนักในการเจรจา กำลังรบเหล่านี้จะมีผลต่อชาติอื่น ๆ โดยการแสดงกำลังทางทหารในลักษณะต่าง ๆ การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบจะเป็นการใช้ความพยายามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศพันธมิตร นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบถึงรัฐบาลของชาติอื่น ๆ หรือหน่วยงานทางด้านการทหาร-ทางการเมือง ให้มีความเชื่อถือและยอมรับในผลประโยชน์ของชาติเรา การปฏิบัติการนั้นจะเริ่มต้นจากการส่งกำลังรบไปข้างหน้า ด้วยการใช้อากาศยานหรือเรือ และปรากฏกำลังในลักษณะการแสดงกำลังทางทหาร การแสดงกำลังอย่างน่าเกรงขามจะช่วยรักษานโยบายซึ่งผลประโยชน์และความมีอำนาจในการเจรจาตกลงได้
ก. กองกำลังทางยุทธศาสตร์ หรือกำลังพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว สามารถใช้เพื่อการแสดงกำลัง ทั้งในการตอบโต้ต่อภัยคุกคามเฉพาะ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมรบตามห้วงระยะเวลา อาจใช้การประกอบกำลังในลักษณะใดก็ได้ และขึ้นอยู่กับปัจจัย METT – T
ข. ในการปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำนั้น ธรรมชาติของการปฏิบัติการจะมีผลกว้างขวางต่อการปฏิบัติทางด้านการเมือง เนื่องจากวัตถุประสงค์แท้จริงนั้นไม่ใช่การใช้กำลังทางทหาร ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดข้อจำกัดทางด้านการเมืองและทางกฎหมาย การปฏิบัติการจะต้องมีการประสานกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กองกำลังจะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ ก่อนมีการสั่งใช้งาน สายการบังคับบัญชาจะต้องมั่นใจว่า กองกำลังมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์, กฎของการปะทะ และการเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของการปฏิบัติ กองกำลังที่เข้าปฏิบัติการนี้จะต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะสู้รบให้ได้ชัยชนะ หากการแสดงแสนยานุภาพเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์และสำเร็จภารกิจได้
ค. กำลังรบส่วนแรกที่ถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการแสดงกำลังทางทหารนั้นก็คือ การส่งกำลังรบเผชิญเหตุเข้าไป สถานภาพความต้องการการส่งกำลังบำรุง และโครงสร้างของกำลังรบถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง กำลังรบต้องสามารถอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีความต้องการ.-
(๑) ยุทโธปกรณ์ที่ทำให้เกิดความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม ทั้งภายในและภายนอกยุทธบริเวณ
(๒) นายทหารติดต่อทั้งภายในหน่วยที่จะต้องจัดแยกออกไป และนายทหารติดต่อระหว่างกองกำลังนานาชาติ ในจำนวนที่พอเพียง
(๓) ข่าวกรองที่ถูกต้องแม่นยำ
(๔) สายการบังคับบัญชาและควบคุมที่ชัดเจน
(๕) ขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสารที่พอเพียง
(๖) กำลังรบที่เตรียมพร้อมสามารถปฏิบัติการได้ทันที
ง. ภารกิจจะต้องถูกกำหนดขึ้นอย่างเหมาะสมและชัดเจน อีกทั้งสามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว
๕ - ๙ การปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก
ในสถานการณ์ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการสงครามนั้น การปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุกถือเป็นการใช้กำลังทหารในลักษณะที่เปิดเผยที่สุด การปฏิบัติการนี้อาจใช้เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการเมืองและทางการทูต การปฏิบัติการเข้าตีและการเข้าตีโฉบฉวยจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์มากกว่าที่จะมุ่งเข้ายึดครองภูมิประเทศ โดยจะเป็นการตอบสนองในแบบของการปฏิบัติแบบประณีต หรือการตอบโต้อย่างรวดเร็วและอาจจะเป็นแบบธรรมชาติโดยตรงหรือโดยทางอ้อมก็ได้ ตัวอย่างเช่น การมุ่งเข้าขัดขวางการใช้เส้นหลักการคมนาคม, การเข้าโจมตีฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้าย หรือทั้งสองแบบผสมกัน การปฏิบัติการรุกในหลายทิศทางจะสามารถช่วยให้เกิดการประสานงานได้ ทั้งนี้จะช่วยสร้างสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้ฝ่ายเดียวกันสามารถยึดและช่วงชิงความเป็นฝ่ายริเริ่มทางการเมือง
ก. การปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก จะประสบผลสำเร็จหากใช้หน่วยที่มีทักษะพื้นฐานในการสู้รบ หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้ (หน่วยจู่โจม, หน่วยรบพิเศษ หรือหน่วยทหารราบเบา, หน่วยทหารราบส่งทางอากาศ หรือหน่วยทหารราบเคลื่อนที่โจมตีทางอากาศ) อาจปฏิบัติการโดยลำพังหรืออาจปฏิบัติการร่วมกับส่วนปฏิบัติการพิเศษอื่น ๆ หรือกำลังทหารของมิตรประเทศ หากสถานการณ์เอื้ออำนวยก็
จะใช้กำลังรบผสมเหล่าระหว่างหน่วยแบบเบา/ หน่วยแบบหนักเข้าปฏิบัติการ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน METT-T การใช้กำลังรบของหน่วยแบบหนัก อาจใช้ปฏิบัติตามแผนโดยเป็นกำลังส่วนติดตาม การส่งกำลังรบเข้าปฏิบัติการอาจใช้เรือหรืออากาศยาน กำลังรบเหล่านี้จะเข้าโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์, เป้าหมายที่มีผลต่อทางจิตวิทยาอย่างสูง, เป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเวลา หรือบุคคลสำคัญและฐานที่มั่น เมื่อได้รับการสนับสนุนด้วยยานพาหนะในการเคลื่อนที่เข้าปฏิบัติการอย่างเหมาะสม หน่วยที่เข้าปฏิบัติการด้วยวิธีรุกนี้จะสามารถปฏิบัติการเข้าตีโฉบฉวยในทางลึกได้ การถอนตัวจากการเข้าตีโฉบฉวยนี้เป็นสิ่งที่ยากลำบาก และเป็นปัจจัยจำกัดอย่างหนึ่งของกำลังรบที่จะต้องนำมาพิจารณา
ข. หน่วยบัญชาการแห่งชาติเป็นผู้อนุมัติการเข้าตีโฉบฉวยทางยุทธศาสตร์ การเข้าตีโฉบฉวยจะปฏิบัติการภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วม/ผสม เป้าหมายโดยทั่วไป ได้แก่.-
(๑) ศูนย์การบังคับบัญชา ควบคุม, ศูนย์การติดต่อสื่อสาร และศูนย์การข่าวกรอง
(๒) คลังหรือตำบลเก็บอาวุธนิวเคลียร์และเคมี รวมทั้งอาวุธดังกล่าวที่ถูกครอบครองโดยประเทศ หรือกลุ่มที่ขาดความรับผิดชอบในการเก็บและใช้งาน
(๓) สิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญของกลุ่มผู้ก่อการร้าย เช่น คลังส่งกำลังบำรุง, สนามบิน, อาคาร, สะพาน, ฝายกั้นน้ำ, อุโมงค์ หรือเส้นหลักการคมนาคม
(๔) ที่อยู่อาศัยของผู้ก่อการร้าย, สถานที่ฝึก และพื้นที่ที่ใช้หลบซ่อนหรือรวมพล
ค. การปฏิบัติการด้วยวิธีรุกที่ประสบความสำเร็จ จะมีลักษณะดังนี้.-
(๑) ข้าศึกไม่ล่วงรู้เวลาเริ่มปฏิบัติการและสถานที่
(๒) ข้าศึกไม่สามารถตรวจพบระหว่างการวางแผน, การซักซ้อมและการเคลื่อนกำลัง
(๓) การปฏิบัติการด้วยความรวดเร็ว, รุนแรง, แม่นยำและห้าวหาญ โดยมุ่งเน้นการใช้กำลังรบอย่างเต็มรูปแบบ ณ เวลาและตำบลที่แตกหัก
(๔) การใช้อำนาจกำลังรบที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างเหมาะสม
(๕) ปฏิบัติการได้ตรงเวลาและจังหวะ
(๖) ผละจากการปะทะได้อย่างรวดเร็วเมื่อสำเร็จภารกิจ
(๗) มีการวางแผนการถอนตัวและปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วพร้อมทั้งมีแผนการลวง
ง. ถึงแม้ว่าการปฏิบัติการเชิงรุกจะก่อให้เกิดผลทางด้านการเมืองเป็นอย่างมาก แต่การปฏิบัติการเชิงรุกก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกควบคุมจากทางการเมืองในระดับที่น้อยที่สุดในบรรดาการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุทั้งหมด การปฏิบัติการเชิงรุกจำเป็นต้องได้รับการแจ้งเตือนจากสถานการณ์ทางด้านการเมือง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการใช้ความริเริ่มในการรวบรวมบริหารข้อมูลข่าวสารทางด้านการเมืองโดยตลอดและทั่วถึง การปฏิบัติการมักจะเป็นไปในลักษณะของการใช้กำลังรบขนาดจำกัด ปฏิบัติต่อที่หมายจำกัด และต้องใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การวางแผนและการซักซ้อมในทุกขั้นตอน จะช่วยเสริมความพยายามให้เป็นผลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังจะต้องประกอบด้วยข่าวกรองที่ถูกต้องแม่นยำตรงตามเวลา, การติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ, ความสามารถในการเพิ่มเติมกำลังส่วนปฏิบัติการ และสายการควบคุมบังคับบัญชาที่ชัดเจน หน่วยและระบบการส่งกำลังบำรุงจะต้องเข้าใจถึงความต้องการของกองกำลังและปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ภารกิจจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และเคร่งครัดตลอดเวลาการปฏิบัติ
จ. การปฏิบัติการในลักษณะอื่นที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างติด ๆ ก็คือ การสร้างสันติภาพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา และหน่วยปฏิบัติการกิจการพลเรือน เช่นเดียวกับการใช้หน่วยทหารสารวัตรเพิ่มเติมเข้ามาปฏิบัติภารกิจ ทั้งนี้จะต้องรีบดำเนินการส่งมอบความรับผิดชอบให้กับกองกำลังสนับสนุนของรัฐให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด
๕ - ๑๐ การอพยพพลเรือนในสภาพที่มิใช่การรบ (NONCOMBATANT EVACUATION
OPERATIONS NEO) NEO เป็นการนำบุคคลพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบส่งกลับจากต่างประเทศ (ประเทศที่เกิดเหตุการณ์) มายังถิ่นฐาน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีภัยคุกคามจากการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้การอพยพเคลื่อนย้ายดังกล่าวอาจจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือพลเมืองของประเทศนั้นหรือประเทศพันธมิตรที่อยู่ในโลกที่สามเข้ามายังประเทศของเราอีกด้วย การปฏิบัติการในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้การส่งหน่วยเข้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อยึดครองพื้นที่เป้าหมายไว้เป็นการชั่วคราว ติดตามด้วยการถอนตัวตามแผนที่วางไว้ ซึ่งในการนี้ต้องมีการใช้กำลังทหารเพื่อการคุ้มกันการอพยพเคลื่อนย้ายและการป้องกันตนเอง การปฏิบัติการนี้จะได้รับการอำนวยการประสานการปฏิบัติโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด และการวางแผนในรายละเอียดเพื่อให้หน่วยระดับกรมหรือกำลังทหารอื่น ๆ เข้าปฏิบัติการ
ก. สถานการณ์อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันจากผลการปฏิบัติการทางด้านทหาร, การเมือง หรือเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการอพยพบุคคลพลเรือนบางกลุ่ม รัฐบาลจะสั่งการให้กำลังทหารของกองทัพภายในประเทศเข้าช่วยเหลือและขอความร่วมมือจากประเทศพันธมิตรในการยอมให้ใช้น่านฟ้าเพื่อการบินผ่าน และการใช้ท่าอากาศยาน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อดำเนินการอพยพเคลื่อนย้าย ก่อนเริ่มปฏิบัติการทางทหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตจะต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจำนวนของผู้อพยพนั้นมีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้จะใช้การอำนวยการควบคุมการอพยพพลเรือนและบุคคลธรรมดาสามัญด้วยการขนส่งแบบปกติ
ข. ปัจจัยสำคัญในการวางแผนก็คือ การดำเนินการเพื่อให้ทราบได้แน่ชัดว่า การอพยพเคลื่อนย้ายนั้นจะกระทำในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีภัยสงคราม หรือจะเผชิญกับภัยคุกคามจากการปฏิบัติที่รุนแรงของฝ่ายตรงข้าม หรือจะเป็นการปฏิบัติการในลักษณะของการสู้รบจริง ๆ
ค. ผู้บังคับหน่วยจะปรับสภาพของที่ตั้งและเวลาการเคลื่อนย้ายโดยใช้พื้นฐานจากสถานการณ์ในท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในขณะนั้น โดยที่ผู้บังคับหน่วยมักไม่มีโอกาสใช้ขีดความสามารถของตนในอันที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในขณะนั้นได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือหรือป้องกันการอพยพเคลื่อนย้ายให้ปลอดภัยจากกำลังทหารของฝ่ายตรงข้าม ผู้บังคับหน่วยจะดำเนินการในลักษณะการป้องกันมากกว่า และแทบจะไม่มีอำนาจที่จะเข้าปฏิบัติการต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยความเป็นฝ่ายริเริ่มได้เลยการปฏิบัติการอพยพเคลื่อนย้ายนี้ก็มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางด้านการเมืองเช่นกันและตลอดห้วงเวลาของการปฏิบัติก็มักจะต้องมีการเฝ้าฟังติดตามสถานการณ์และการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง หรืออาจใช้การควบคุมการปฏิบัติจากหน่วยระดับสูงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ง. ที่หมายของหน่วยระดับกรม จะมีความจำกัดสำหรับความจำเป็นทางยุทธวิธีที่จะใช้กำหนดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการอพยพ ความรับผิดชอบหลักเบื้องต้นคือ การดูแลพลเรือนและดำรงรักษาการปฏิบัติตามคำสั่งทั้งภายในและรอบ ๆ พื้นที่ที่ใช้เป็นตำบลเคลื่อนย้าย และจากความอ่อนไหวตามธรรมชาติของลักษณะภารกิจนี้ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการและข้อจำกัดทางการเมืองเข้ามาร่วมในการควบคุม
จ. ผู้บังคับหน่วยจะต้องจดจำไว้เสมอว่า การปฏิบัติการ NEO สามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ กลายเป็นการปฏิบัติการสร้างสันติภาพ หรือการรักษาสันติภาพได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าไว้เพื่อการปฏิบัติในลักษณะของแผนเผชิญเหตุ
๕ - ๑๑ การปฏิบัติการสร้างสันติภาพ
การปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุสำหรับการสร้างสันติภาพ เป็นความพยายามที่จะดำรงรักษากฎหมายและข้อบังคับของทางบ้านเมือง โดยใช้กำลังทหารเข้าป้องกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดภารกิจการสร้างสันติภาพอาจเกิดขึ้นจากผลของการรักษาสันติภาพ หรือผลของการสร้างสันติภาพอาจก่อให้เกิดปัจจัยในภารกิจการรักษาสันติภาพก็ได้ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพจำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบและยินยอมจากกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องในผลประโยชน์ แต่การปฏิบัติการสร้างสันติภาพนั้นเป็นการปฏิบัติในลักษณะของการบังคับ
ก. กำลังทหารอาจปฏิบัติการเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งกฎหมายบ้านเมือง หรือเพื่อการสนับสนุนรัฐบาลของประเทศที่ถูกคุกคาม โดยใช้การปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนานาชาติ, การปฏิบัติการอิสระ หรือปฏิบัติการร่วมกับรัฐบาลของประเทศเจ้าบ้าน ถึงแม้ว่าการเข้ายุติข้อพิพาทในสาธารณรัฐโดมินิกันในปี ค.ศ.๑๙๖๕ ของสหรัฐอเมริกาจะมีเป้าหมายในทางการเมืองระดับภูมิภาคของโลกก็ตาม แต่กำลังทหารของสหรัฐ ฯ ก็ได้ถูกใช้งานในบทบาทของการสร้างสันติภาพ
ข. การสร้างสันติภาพนั้นยากที่จะหาคำจำกัดความกำหนดลงไปให้ชัดเจนได้ ทั้งนี้เนื่องจากขอบเขตที่มีความคลุมเครือไม่แน่นอน ซึ่งคาบเกี่ยวกันกับภารกิจแบบอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างสันติภาพก็ประกอบด้วยกุญแจสำคัญมากมายหลายอย่าง ประการแรกที่สำคัญมากก็คือ การวางแผน ผู้บังคับหน่วยจะต้องประสบกับอุปสรรคความยุ่งยากและข้อจำกัดมากมาย
(๑) การปฏิบัติการตอบสนองโดยใช้เวลาวิเคราะห์สั้น ๆ เป็นสิ่งที่มักต้องปฏิบัติและ ก็มักจะไม่ทราบล่วงหน้าถึงพื้นที่หรือตำบลที่จะเข้าปฏิบัติการ
(๒) ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกำลังของข้าศึก, ประกอบกำลัง, การวางกำลัง, จุดแข็งและสภาพขวัญของข้าศึกนั้น จะได้รับมาอย่างค่อนข้างจำกัด
(๓) ภารกิจอาจไม่ชัดเจน และการประกอบกำลัง ขนาดของกำลังที่จะใช้ปฏิบัติการ อาจถูกเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
(๔) มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการรุนแรง
(๕) ไม่อาจกำหนดห้วงเวลาของการปฏิบัติการได้ในบางภารกิจ
(๖) มีอิทธิพลจากทางด้านการเมืองส่งผลกระทบ, กฎของการปะทะมีความซับซ้อน และบีบบังคับให้ต้องใช้กำลังได้ในจำนวนน้อยที่สุด
(๗) ภารกิจและการปฏิบัติการทางทหารจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ที่สำคัญก็คือการถูกเปลี่ยนแปลงความต้องการได้อย่างทันทีทันใด
(๘) สำหรับผู้บังคับหน่วยและกำลังทหารนั้น สภาพแวดล้อมจะมีความกดดันและมีอันตรายมาก
(๙) โอกาสที่จะใช้กำลังที่มีขนาดใหญ่กว่ากองพล ซึ่งเป็นการปฏิบัติการรุนแรงนั้น ไม่น่าจะเป็นหนทางเลือกที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา
ค. วัตถุประสงค์ที่ค่อนข้างซับซ้อนของการปฏิบัติการสร้างสันติภาพนั้น จำเป็นต้องใช้การวางแผนอย่างอ่อนตัวและยืดหยุ่น ทั้งนี้ผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการจะต้องมีความรอบรู้ในยุทธวิธี, มีความคิดริเริ่ม และมีความเข้าใจในอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและสภาวะทางการเมือง ในการปฏิบัติกิจแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้อง.-
• วิเคราะห์ภารกิจอย่างต่อเนื่อง
• มีสายการควบคุมบังคับบัญชา และความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชาอย่าง ชัดเจน
• สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
• นายทหารติดต่อของกองกำลังร่วมและผสม
• แผนการรณรงค์ด้านการทูตและการปฏิบัติการจิตวิทยาที่มีประสิทธิภาพ
• การผ่องถ่ายความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องกลับคืนไปให้ประเทศเจ้าบ้าน
ง. ในการปฏิบัติภารกิจจำเป็นต้องมีการปรับสภาพของกำลังทหารเป็นอย่างดี เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จะต้องมีการดำรงรักษากำลังรบ, มีการทดแทน, หมุนเวียน หรือเพิ่มเติมกำลังเพื่อให้สามารถดำรงความพยายามในการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องและอาจจำเป็นต้องมีการปรับให้เข้ากับกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น เมื่อผู้บังคับหน่วยได้รับมอบภารกิจ และได้รับการแจ้งเตือนถึงข้อจำกัดแล้ว ก็อาจต้องกำหนดความต้องการและเลือกบุคลากรในบางตำแหน่งด้วยตนเอง บรรยากาศของความพยายามทางการเมืองอาจมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ภารกิจการสร้างสันติภาพนั้นมีความกดดันและมีลักษณะเฉพาะของมันเอง ดังนั้นลักษณะของบุคลากร, การฝึก และทักษะของผู้บังคับบัญชา ตลอดจนหน่วยรองทั้งหมดนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในภารกิจ
๕ - ๑๒ การสนับสนุนด้วยการทำสงครามนอกแบบ (สนบ.)
การสงครามนอกแบบเป็นการปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหารที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก สนบ. เป็นการปฏิบัติการภายในดินแดนของข้าศึก, พื้นที่ควบคุมของข้าศึก หรือในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
ก. สนบ. ย่อมหมายรวมถึง สงครามกองโจร, การเล็ดลอดหลบหนี, การบ่อนทำลาย, การก่อวินาศกรรม และการปฏิบัติการอื่น ๆ ในลักษณะปฏิบัติการลับ, ปกปิด ซ่อนตัว ผู้บังคับหน่วยสามารถใช้การประสาน สนบ. เข้ากับการปฏิบัติการโดยอาจใช้แยกเป็นอิสระ หรือใช้ปฏิบัติการร่วมกันโดยอาศัยบุคลากรในท้องถิ่น บุคลากรเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นในยามสงบหรือยามสงคราม การปฏิบัติการทางทหารที่ได้รับการสนับสนุนจาก สนบ. สามารถใช้หน่วยเข้าร่วมปฏิบัติการทั้งจาก หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และหน่วยเอนกประสงค์ทั่ว ๆ ไป เช่น หน่วยสนับสนุนทางการช่วยรบ สำหรับการก่อความไม่สงบในประเทศของโลกที่สาม เทคนิคและยุทธวิธีสำหรับการ สนบ. ก็คงเป็นเช่นเดียวกับที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามภายในของประเทศอื่น ๆ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า สนบ.นั้นเป็นการปฏิบัติการในระยะยาวนานต่อเนื่องมากกว่าการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในยามสงบ
ข. การปฏิบัติการนี้มักจะไม่ใช้หน่วยกำลังรบดำเนินกลยุทธ์ของสงครามตามแบบ แต่อาจมีการใช้สิ่งอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยสนับสนุนการรบ และหน่วยสนับสนุนการช่วยรบ ซึ่งได้แก่.-
• การพับร่ม
• การส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากทางอากาศ
• การรบกวนทางคลื่นวิทยุ
• การลาดตระเวน/ การถ่ายภาพทางอากาศ
๕ - ๑๓ การปฏิบัติการช่วยชีวิตและเก็บกู้
การปฏิบัติการช่วยชีวิตและเก็บกู้ เป็นการปฏิบัติที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง และต้องปฏิบัติด้วยความชำนาญ แม่นยำ เฉียบขาด ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงการปฏิบัติการช่วยชีวิตบุคลากรของประเทศเรา, ประเทศพันธมิตร และการปฏิบัติการค้นหา, พิสูจน์ทราบ, การเก็บกู้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ
ก. กำลังทหารของฝ่ายตรงข้ามอาจเข้าขัดขวางการปฏิบัติการในลักษณะนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการลับ, การจู่โจม, การลวง, ความรวดเร็ว และการคุกคามด้วยกำลังทหารที่เหนือกว่าเพื่อเอาชนะการต่อต้านขัดขวางของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการช่วยชีวิตและเก็บกู้นั้นจำเป็นต้องใช้ การข่าวกรองที่ทันเวลา, การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ, การลวง, การปฏิบัติการด้วยความรวดเร็ว และมาตรการระวังป้องกัน รวมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัด นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องใช้หน่วยที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษ หน่วยทหารระดับกรมนั้นอาจได้รับมอบภารกิจให้การสนับสนุนด้านการระวังป้องกัน
ข. การปฏิบัติการช่วยชีวิตและเก็บกู้ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ขั้นตอน.-
(๑) ขั้นที่ ๑ - การเคลื่อนที่เดินทาง ในขั้นตอนนี้จะเน้นการรักษาความปลอดภัย การลวง และการรักษาความลับจะถูกนำมาพิจารณาวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ
(๒) ขั้นที่ ๒ - การโจมตี ในขั้นตอนนี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหลัก คือ.-
(ก) ใช้วิธีการปฏิบัติการแบบโจมตี (การส่งลงด้วยร่ม, การเคลื่อนที่โจมตีทางอากาศ, การยกพลขึ้นบก) ด้วยความรวดเร็วและอำนาจการยิงสูงสุด
(ข) ใช้การระวังป้องกันแนวทางการเคลื่อนที่เข้าและออกจากที่หมาย
(ค) ใช้การระวังป้องกันตำบลถอนกำลังกลับ
(ง) ช่วยชีวิต, เก็บกู้ซากยุทโธปกรณ์ และคุ้มกันป้องกัน
(จ) นำยุทโธปกรณ์และวัสดุที่มีความสำคัญนั้นกลับมายังตำบลถอนกำลังกลับ
(๓) ขั้นที่ ๓ - การถอนตัวกลับและการเคลื่อนกำลัง
ค. กำลังส่วนนำที่ใช้เข้าโจมตี ตามปกติแล้วจะประกอบด้วย กำลังพลของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กำลังของหน่วยในระดับกรมนั้นอาจถูกนำมาใช้ได้ในเมื่อมีการจัดตั้งที่พักหรือค่ายพักแล้ว ภารกิจที่น่าจะเป็นไปได้ที่กรมอาจจะได้รับก็คือ.-
• การระวังป้องกันรักษาความปลอดภัยสนามบิน
• การป้องกันเส้นทางเคลื่อนที่เข้าไปยังที่หมาย
• การระวังป้องกันการเคลื่อนย้ายและนำยุทโธปกรณ์สำคัญกลับไปยังตำบลถอนกำลังกลับ
• การคุ้มกันยุทโธปกรณ์ หรือบุคคลสำคัญ
๕ - ๑๔ การสนับสนุนหน่วยงานพลเรือน
การให้การสนับสนุนหน่วยงานพลเรือนนั้นจะเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ รัฐบาลจะพิจารณาความจำเป็นและสั่งการให้กองทัพเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ ในลักษณะของการสนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงานพลเรือนตามความจำเป็นของสถานการณ์ ทั้งนี้ได้แก่ การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ, การควบคุมฝูงชนที่ก่อความไม่สงบ, การคุกคามทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ นอกจากนี้รัฐบาลอาจพิจารณากำหนดให้ การสกัดกั้นการลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศ, การลักลอบเข้าเมือง, การหลบหนีภาษีศุลกากร และภัยคุกคามอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อทางทหาร เป็นสถานการณ์ที่จำเป็นกำหนดให้ต้องใช้กำลังทหารเข้าช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ได้
ก. การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ เป็นการปฏิบัติการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินต่อพลเรือนและหน่วยงาน ตลอดจนสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อให้มีสภาพคงอยู่ปกติและใช้งานได้ กำลังทหารอาจปรับสภาพเป็นหน่วยปฏิบัติงานเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น หน่วยทหารระดับกรมอาจให้ความช่วยเหลือในกรณีต่อไปนี้.-
• การส่งกำลังด้านการแพทย์, ยุทโธปกรณ์ และการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
• การช่วยเหลือด้านอาหาร, น้ำ และที่พักกำบัง
• การช่วยเหลือบุคคล, การช่วยชีวิต และการดับเพลิง
• การคุ้มกันแบบตำรวจ
• การตรวจเส้นทางและการควบคุมการจราจร
• การป้องกันการแตกตื่น
• การติดต่อสื่อสาร
• การระวังรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก
• การบังคับใช้มาตรการห้ามออกนอกบ้าน
ข. การควบคุมฝูงชนที่ก่อความไม่สงบ ภารกิจของหน่วยทหารในการช่วยเหลือด้านนี้ก็คือ การช่วยหน่วยงานของทางราชการเพื่อดำรงไว้ซึ่งสภาพบังคับใช้ของกฎหมายบ้านเมือง หน่วยทหารระดับกรมจะดำเนินการดังนี้.-
• การแสดงกำลังทางทหาร
• จัดตั้งตำบลปิดกั้นและเครื่องกีดขวางถนน
• สลายฝูงชน
• ใช้อุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล
• การลาดตระเวนเฝ้าตรวจ
• ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือกองหนุน
ค. ภัยคุกคามต่อทรัพย์สินของรัฐ ผู้บังคับหน่วยในฐานที่ตั้งจะต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งกฎระเบียบและข้อบังคับในฐานที่ตั้งนั้น ทั้งนี้จะใช้การพิจารณาคดีโดยอำนาจศาลสูงสุด
ง. การสกัดกั้นขัดขวางยาเสพติด ภารกิจหนึ่งที่กองทัพจะเข้าร่วมปฏิบัติก็คือ การสกัดกั้นขัดขวางยาเสพติด หน่วยระดับกองพันและกรมอาจเข้าร่วมปฏิบัติการในหลายลักษณะ เช่น การรบกวน, ขัดขวาง หรือทำลายแหล่งผลิตและเครือข่ายของการค้ายาเสพติด (บุคคล, เครื่องมือ และระบบการส่งผ่าน)
(๑) การปฏิบัติการดังกล่าวจะต้องมีการประสานงาน และเชื่อมต่อกับหน่วยงาน อื่น ๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ หน่วยยามรักษาฝั่ง, กรมศุลกากร, หน่วยตรวจคนเข้าเมืองตามแนวชายแดน, หน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติ, หน่วยงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, ตำรวจปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
(๒) การที่กองทัพให้การสนับสนุนการต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดนั้น อาจกระทำโดยการจัดชุดครูฝึกเคลื่อนที่,การฝึกในพื้นที่ห่างไกล, บุคลากรให้คำแนะนำ, การสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง (อุปกรณ์เครื่องมือ, การซ่อมบำรุง, การส่งกำลัง และการขนส่ง) และการสนับสนุน ด้านการข่าวกรอง นอกจากนี้ยังอาจรวมถึง การก่อสร้างหรือเตรียมสนามบิน, พื้นที่ส่งลงเพื่อการโจมตี และถนนหรือเส้นทางคมนาคม
จ. การต่อต้านและปราบปรามยาเสพติด การปฏิบัติของหน่วยงานในกองทัพเพื่อสนับสนุนการต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสนับสนุนหน่วยงาน พลเรือนของรัฐบาล การใช้อากาศยานแบบพิเศษ, เรือ และบุคลากร ตลอดจนกำลังทหารเพื่อช่วยเหลือหน่วยยามรักษาฝั่ง และหน่วยปราบปรามอื่น ๆ ของรัฐบาลในการสืบค้น สะกดรอย และขัดขวางการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยการควบคุมอำนวยการของหน่วยบัญชาการแห่งชาติ อาจให้กองบทัพของเราให้การช่วยเหลือรัฐบาลของต่างชาติในการหยุดยั้งขบวนการผลิตยาเสพติด บ่อยครั้งทีเดียวที่มีการนำเอากิจกรรมการฝึกทางทหารเข้ามาประยุกต์เพื่อการสนับสนุนความพร้อมรบ และความพยายามในการต่อต้านยาเสพติด การให้การสนับสนุนหน่วยงานพลเรือนของรัฐนั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะในทางทหารเพื่อปฏิบัติกิจเฉพาะดังกล่าว
๕ - ๑๕ การปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัย หรือภัยพิบัติ
การปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัย เป็นการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับผู้ประสบภัยทั้งภัยธรรมชาติและที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้น เป็นการปฏิบัติการเพื่อสนองตอบต่อการร้องขอของหน่วยงานอื่นของรัฐบาล ในสภาวะของความขัดแย้งในระดับต่ำนั้น ภัยพิบัติสามารถก่อให้เกิดความสั่นคลอนของสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วให้เกิดวิกฤตมากขึ้น การที่กองทัพจะเข้าร่วมปฏิบัติการบรรเทา สาธารณภัยได้นั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวก หน่วยรองของกรมทหารราบที่เข้าปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัย มีกิจที่ต้องปฏิบัติมากมายและหลากหลาย ซึ่งอาจรวมถึงการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย, การช่วยเหลือด้านอาหาร, การรักษาพยาบาลและแผนงานด้านกิจการพลเรือนในเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิต หน่วยสนับสนุนการรบ และหน่วยสนับสนุนทางการช่วยรบจะเป็นผู้ปฏิบัติในบทบาทหลักแต่หน่วยกำลังรบก็อาจให้การช่วยเหลือสนับสนุนได้ หากการปฏิบัติดังกล่าวเป็นการปฏิบัติในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม หน่วยที่ปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัยจำเป็นต้องมีหน่วยกำลังรบทำหน้าที่ระวังป้องกัน ขีดความสามารถของกองทัพมีดังนี้.-
ก. จัดให้มีการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงเพื่อขนย้ายสิ่งอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ควบคุม
ข. ช่วยขนย้ายหรือส่งกลับผู้ประสบภัย
ค. จัดให้มีการติดต่อสื่อสารเร่งด่วน
ง. ปฏิบัติการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์
จ. จัดให้มีการสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างเพื่อเปิดเส้นทางคมนาคม, การซ่อมแซมสะพาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ
ผู้บังคับหน่วยจะเริ่มหยุดการปฏิบัติการเมื่อเห็นว่าประเทศเจ้าบ้านหรือรัฐบาลของประเทศที่รับการช่วยเหลือนั้นเริ่มมีขีดความสามารถจะเข้าควบคุมสถานการณ์และปฏิบัติการด้วยตนเองได้แล้วการปฏิบัติการจะค่อย ๆ ลดลงทีละกิจกรรมทีละขั้นตอนจนกระทั่งสามารถถอนกำลังทหารและหน่วยปฏิบัติการกลับได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น