วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อำนาจไม่ได้ถูกแสดงออกด้วยการปฏิบัติอย่างรุนแรง

บทที่ ๖


การบังคับบัญชา, การควบคุม, การติดต่อสื่อสาร และการข่าวกรอง

“อำนาจไม่ได้ถูกแสดงออกด้วยการปฏิบัติอย่างรุนแรงหรือบ่อยครั้ง, แต่ด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง”

Honore De Balzac

ความเป็นผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่สุดในระบบการบังคับบัญชาและการควบคุม ซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารและการข่าวกรอง สิ่งนี้ก็ยังคงเป็นความจริงในสภาวะแวดล้อมของความขัดแย้งระดับต่ำ การปฏิบัติภารกิจภายใต้ข้อจำกัดของข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของกองกำลัง และข้อบังคับจากกฎของการปะทะนั้น จำเป็นต้องอาศัยความเป็นผู้นำในด้านการต่างประเทศ เพื่อการบรรลุความสำเร็จ ลักษณะความเป็นผู้นำของผู้บังคับบัญชาจะก่อให้เกิดเป้าหมาย, ทิศทาง และการโน้มน้าวจูงใจ เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความชัดเจนและสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้จะประกอบด้วยระดับของหน่วยที่เข้าร่วมในยุทธวิธี, การข่าวกรอง, การปฏิบัติการจิตวิทยา, การควบคุมประชาชนและทรัพยากร, การปฏิบัติกิจการพลเรือน, การต่อต้านการก่อการร้าย และคำแนะนำช่วยเหลือในการปฏิบัติ ในบทนี้จะอธิบายถึงวิธีการจัดหน่วยในสภาวะของความขัดแย้งระดับต่ำ, กระบวนการบังคับบัญชาและการควบคุม, การติดต่อสื่อสาร และการสนับสนุนด้านการข่าวกรอง

ตอนที่ ๑

ระบบการบังคับบัญชาและการควบคุม

ระบบการบังคับบัญชาและการควบคุม ประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวก, ยุทโธปกรณ์, การติดต่อสื่อสาร, ระเบียบปฏิบัติ และบุคลากรที่จำเป็นสำหรับผู้บังคับบัญชา ในการวาง แผน, อำนวยการ และควบคุมการปฏิบัติต่อกำลังรบที่ได้รับการบรรจุมอบเพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับ

๖ - ๑ ส่วนของการบังคับบัญชาและการควบคุม

ส่วนสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบัญชาและการควบคุม มีอยู่ ๕ ส่วน ดังต่อไปนี้.-

ก. สิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการบังคับบัญชาและการควบคุมในหน่วยระดับกองพันจะถูกจัดแบ่งออกตามลำดับขั้น ดังเช่น กำลังรบหลัก, ขบวนสัมภาระรบ, ขบวนสัมภาระพัก และที่บังคับการสำรอง กลุ่มการบังคับบัญชาเป็นกลุ่มบุคคลที่ใช้ที่บังคับการนั้นเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชาหน่วยนั้น และทหารที่อยู่ในส่วนของการบังคับบัญชา พร้อมด้วยเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ที่จะนำติดไปข้างหน้าเพื่อใช้ในการบังคับบัญชาและควบคุม การยุทธ์โดยพลัน ที่บังคับการหลักจะประกอบด้วยทหาร, ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการบังคับบัญชาและควบคุม กองพัน ที่บังคับการทางยุทธวิธี เป็นสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ในที่บังคับการหลัก การบูรณาการระบบการสนับสนุนทางการช่วยรบไว้กับหน่วยนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การรบประสบชัยชนะ ที่บังคับการของขบวนสัมภาระรบเป็นส่วนที่ทำหน้าที่วางแผนการช่วยรบให้กับ กองทัพ ส่วนที่บังคับการสำรองนั้นจะมีความจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ที่บังคับการทางยุทธวิธี หรือที่บังคับการหลักถูกทำลาย

ข. ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการบังคับบัญชาและการควบคุมจะถูกระบุไว้ใน อจย.เฉพาะของแต่ละหน่วย

ค. การติดต่อสื่อสาร การสื่อสารสำหรับการบังคับบัญชาและการควบคุม เป็นวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาส่งผ่าน และรับข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสั่งการให้หน่วยปฏิบัติ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการที่จะใช้บังคับวิถีการรบ ผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการจะต้องเข้าใจขีดความสามารถ, ขีดจำกัดและความล่อแหลมของระบบการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้จะต้องคาดการณ์ล่วงหน้าและวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ถูกแทรกแซงจากเรดาร์ คลื่นวิทยุ และแสงเลเซอร์ ทั้งของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก ที่สามารถสร้างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ในลักษณะเดียวกัน

ง. กระบวนการหรือระเบียบการ กระบวนการในการบังคับบัญชาและการควบคุมเป็นลำดับขั้นของการปฏิบัติ ซึ่งจะกำหนดวิธีการปฏิบัติกิจเฉพาะแต่ละกิจไว้

จ. กำลังพล ผู้บังคับกองพันมีฝ่ายอำนวยการสำหรับช่วยเหลือในการบริหารและออกคำสั่ง ฝ่ายอำนวยการจะเป็นกลุ่มบุคคลที่จำเป็นสำหรับการบังคับบัญชา ควบคุมและช่วยเหลือให้การสนับสนุนผู้บังคับหน่วยไม่อาจที่จะบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบในการบังคับบัญชาให้กับฝ่ายอำนวยการได้ แต่ผู้บังคับหน่วยจะปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายได้โดยการใช้ขีดความสามารถของฝ่ายอำนวยการและผู้บังคับหน่วยรองของตนอย่างชาญฉลาด

๖ - ๒ การบังคับบัญชา

การบังคับบัญชาเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับหน่วยในกองทัพที่มีอยู่ตามกฎหมายบัญญัติ ให้สามารถสั่งการต่อหน่วยรองและผู้ใต้บังคับบัญชาได้ โดยมีการจัดลำดับชั้นยศและหน่วยบรรจุมอบในอัตรา อำนาจในการบังคับบัญชา หมายความรวมถึง อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการวางแผน, จัดการ, อำนวยการ, ประสานงาน และควบคุมกำลังพลภายในหน่วยทหาร เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบให้บรรลุผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงความรับผิดชอบในเรื่องสุขภาพ, สวัสดิภาพ, ขวัญ และวินัยของกำลังพลภายในหน่วย

๖ - ๓ การควบคุม

การควบคุมเป็นวิธีการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ และเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับบัญชา ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงใจ ซึ่งไม่เบี่ยงเบนหรือเบี่ยงเบนน้อยที่สุดจากแนวความคิดของผู้บังคับบัญชา การควบคุม หมายถึงการกำกับดูแลการปฏิบัติการโดยประกันความมั่นใจว่า ทุกระบบและกิจกรรมได้มีการประสานสอดคล้องกัน

๖ - ๔ อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา

อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา จะถูกกำหนดไว้ด้วยกฎข้อบังคับและกฎหมาย อำนาจหน้าที่จะอยู่ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบโดยมิอาจแยกออกจากกันได้ ในการปฏิบัติภารกิจบางครั้ง ผู้บังคับบัญชาอาจมอบอำนาจให้กับหน่วยรองของตน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับบัญชานั้นยังคงมีความรับผิดชอบต่อคำสั่งการของตนอยู่ ความรับผิดชอบที่มีอยู่นั้นจะถูกส่งผ่านด้วยการนำหน่วย, การวางแผน, แสวงข้อตกลงใจ, ออกคำสั่ง และกำกับดูแลการปฏิบัติตามคำสั่ง

๖ - ๕ การปรากฏตัวของผู้บังคับบัญชา

ผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ในสนามรบ ณ ที่ที่ตนสามารถควบคุมและบังคับวิถีการรบได้ดีที่สุด ซึ่งหมายรวมถึง การสั่งการด้วยการพบปะโดยตรงในพื้นที่ปฏิบัติการ ในขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาจะต้องหลีกเลี่ยงการทำให้ขีดความสามารถนั้นลดถอยลงด้วยการเปลี่ยนระบบการส่งผ่านคำสั่งการ โดยมิให้สูญเสียการประสานการปฏิบัติ, ความผูกพันและประสิทธิภาพ มีหลายโอกาสทีเดียวที่ผู้บังคับบัญชาอาจจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับส่วนที่ปฏิบัติการอยู่ข้างหน้า และก็มีหลายโอกาสเช่นเดียวกันที่อาจจะต้องอยู่ ณ ที่บังคับการหลัก ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีขีดความสามารถในการควบคุมและบังคับบัญชาหน่วยและกำลังรบของตนไม่ว่าจะอยู่ ณ ตำบลใด ผู้บังคับบัญชาจะสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจและเชื่อมั่นให้กับผู้บังคับหน่วยรองของตน ความเชื่อมั่นซึ่งจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีเสรีในการปฏิบัติตามคำสั่งและใช้ความริเริ่มของตนเองได้

๖ - ๖ ความเป็นผู้นำของผู้บังคับบัญชา

ความเป็นผู้นำเป็นปัจจัยหลักของอำนาจกำลังรบ เป็นลักษณะเฉพาะตัวและเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่าง การแสดงตัวอย่าง, การชักจูง และการมีอิทธิพลครอบงำ ลักษณะผู้นำเป็นเครื่องมือปฏิบัติงานของผู้บังคับหน่วย ผู้บังคับหน่วยที่มีประสิทธิภาพในสนามรบจะใช้ลักษณะผู้นำดังต่อไปนี้.-

ก. การกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐาน ผู้บังคับหน่วยจะต้องรู้ถึงมาตรฐานที่ตนต้อง การในสนามรบ และจะต้องถ่ายทอดมาตรฐานนี้ให้กำลังพลได้ทราบอย่างชัดเจนและมีผลบังคับใช้ผู้บังคับหน่วยจะสั่งการให้กำลังพลปฏิบัติและแก้ไขข้อบกพร่องในทันทีที่ตรวจพบจากการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องหลังจากสั่งการไปแล้ว หรืออาจใช้การติดตามสถานการณ์และสุ่มตรวจในบางโอกาสที่ต้องการก็ได้

ข. ความชำนาญในเทคนิคและยุทธวิธี ผู้บังคับหน่วยจะต้องมีความรอบรู้ในเทคนิคและหลักการในด้านยุทธวิธี ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นระบบการปฏิบัติการของตน และจะต้องมีความเข้าใจภูมิประเทศพอที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ผู้บังคับหน่วยจะแสดงออกถึงความรอบรู้และความเป็นมืออาชีพผ่านทางการปฏิบัติและการชี้แจงให้นายทหารและกำลังพลของตนได้รู้เห็น

ค. การบริหารจัดการเวลา ผู้บังคับหน่วยจะดำเนินการตามแผนของตน เพื่อให้หน่วยรองและผู้ใต้บังคับบัญชามีเวลาพอเพียงสำหรับการเตรียมการเพื่อภารกิจต่อไป ทั้งนี้ด้วยการบริหารจัดการเรื่องเวลาเป็นอย่างดี และมีการจัดลำดับความเร่งด่วนของงาน

ง. การแบ่งมอบอำนาจหน้าที่ ผู้บังคับหน่วยต้องมีความเชื่อมั่นในผู้บังคับหน่วยรอง และแบ่งมอบอำนาจหน้าที่ให้กับผู้บังคับหน่วยรองนั้น นอกจากนี้ จะต้องพยายามพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถปฏิบัติภารกิจและหน้าที่แทนได้เมื่อตนเองไม่อยู่ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นลักษณะความเป็นผู้นำในทางลึกตามสายการบังคับบัญชา

จ. ความเด็ดขาด ผู้บังคับหน่วยจะต้องปรับวิธีการปฏิบัติอย่างรวดเร็วให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ และต้องสามารถตกลงใจอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว

ฉ. การยกย่องและการตำหนิ ผู้บังคับหน่วยจะต้องรู้จักและตระหนักในขีดความสามารถ ตลอดจนลักษณะนิสัยของกำลังพลภายในหน่วย ทั้งยังต้องรู้จักการยกย่องให้เกียรติผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับหน่วยจะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับผู้บังคับหน่วยรองและทหารภายในหน่วย ในเรื่องของจุดแข็ง, จุดอ่อน และการโน้มน้าวจูงใจ นอกจากนี้ยังต้องมีการให้รางวัลกับผู้ปฏิบัติงานดีเด่นและปรับปรุงแก้ไขผู้ที่ปฏิบัติงานบกพร่อง

๖ - ๗ เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา

เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาจะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ในภารกิจสิ่งนี้ถือเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชาที่กำหนดวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ และหนทางปฏิบัติซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับกำลังของฝ่ายเรา, ฝ่ายข้าศึกและภูมิประเทศ เจตนารมณ์จะหมายรวมถึงหนทางปฏิบัติที่จะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติการในอนาคตอีกด้วย

ก. วัตถุประสงค์โดยรวมของภารกิจจะมีความสำคัญมากกว่ากิจเฉพาะที่มอบให้ทหารเป็นบุคคล ผู้บังคับหน่วยรองแต่ละคนต้องรู้ว่ากิจของตนที่ได้รับมอบนั้นมีความสัมพันธ์กับแนวความคิดในการปฏิบัติทั้งหมดอย่างไร และด้วยเหตุผลใด เพื่อในกรณีที่สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถติดต่อกับหน่วยเหนือได้นั้น หน่วยรองก็ยังสามารถใช้ความริเริ่มและแนวความคิดของตนเพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ได้

ข. ผู้บังคับกองพันจะมีความรับผิดชอบในสองสถานะ โดยจะต้องเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของผู้บังคับการกรมและผู้บัญชาการกองพล (หน่วยเหนือขึ้นไปสองระดับ) และยังจะต้องมั่นใจด้วยว่าเจตนารมณ์ของตนนั้นเป็นที่เข้าใจของผู้บังคับกองร้อยและผู้บังคับหมวด (หน่วยรองลงไปสองระดับ) ข้อความที่ระบุถึงเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งยุทธการนั้น จะเริ่มต้นด้วยคำว่า “เจตนารมณ์ของข้าพเจ้า คือ..........,” เพื่อให้เป็นที่เข้าใจและถ่ายทอดไปยังหน่วยรองได้อย่างง่ายดาย

ค. เจตนารมณ์ที่ชัดเจนของผู้บังคับบัญชาจะช่วยก่อให้เกิด ความว่องไว, จังหวะเวลา และความริเริ่มในทุกระดับหน่วย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้บังคับหน่วยรองสามารถปรับเปลี่ยนงานหรือความพยายามหลักได้ในสนามรบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

๖ - ๘ กลยุทธ์ในภารกิจ

วัตถุประสงค์ของการบังคับบัญชาและการควบคุม ก็เพื่อให้ผู้บังคับหน่วยสามารถสร้างและใช้อำนาจกำลังรบได้ ณ จุดแตกหักในสนามรบ กลยุทธ์ในภารกิจเป็นวิธีการในการอำนวยการปฏิบัติทางทหาร; หน่วยรองจะมีความกล้าตัดสินใจ และสามารถปฏิบัติการได้โดยลำพังเมื่อได้รับมอบภารกิจจากหน่วยเหนือแล้ว โดยยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของผู้บังคับหน่วยเหนือ ผู้บังคับหน่วยจะต้อง.-

ก. คาดการณ์ล่วงหน้าถึงการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้ามในทุกหนทางที่เป็นไปได้; โดยไม่ใช้สูตรตายตัว ทั้งนี้ฝ่ายข้าศึกอาจไม่ปฏิบัติตามหลักนิยมเสมอไป และอาจไม่ปฏิบัติตามการวาดภาพเตรียมการสนามรบด้านการข่าวที่ฝ่ายเราได้ดำเนินการไว้ ผู้บังคับหน่วยจะต้องมีความอ่อนตัว การวาดภาพสนามรบ, การเตรียมแผนเผชิญเหตุ, การใช้ความลึกในสนามรบ, การพัฒนาแผนและการซักซ้อมตาม รปจ. ของหน่วยเป็นอย่างดี รวมทั้งการจัดเตรียมกองหนุนพร้อมใช้ปฏิบัติการ จะเป็นมาตรการที่ช่วยก่อให้เกิดความอ่อนตัวทั้งสิ้น

ข. การจัดหน่วยและการอำนายการปฏิบัติโดยหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซง หรือเข้าควบคุมจากหน่วยเหนือให้น้อยที่สุด แต่ในบางโอกาสก็อาจมีความจำเป็นต้องใช้การสั่งการจากหน่วยเหนือให้เริ่มการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความประสานสอดคล้อง ผู้บังคับหน่วยเหนือควรจะให้โอกาสแก่หน่วยรองในการใช้ความริเริ่มของตนแสวงข้อตกลงใจได้เอง

ค. ให้เวลาแก่หน่วยรองในการวางแผนอย่างพอเพียง หลักการแบ่งเวลาหนึ่งในสาม/ สองในสามนั้น มิได้ใช้เพียงแค่การออกคำสั่งยุทธการเท่านั้น หากแต่ยังนำไปใช้กับการซักซ้อม, การบรรยายสรุปกลับ หรือการปฏิบัติแบบรวมการใด ๆ ก็ตามที่จะมีผลทำให้เวลาเตรียมการของหน่วยรองลดน้อยลงไป

ง. การแบ่งมอบทรัพยากรให้กับหน่วยรองโดยให้มีข้อจำกัดในการใช้ให้น้อยที่สุด ผู้บังคับหน่วยจะแบ่งมอบทรัพยากรและการสนับสนุนให้กับหน่วยรองตามลำดับความจำเป็นและความเร่งด่วน และจะระบุเฉพาะเจาะจงตามความจำเป็นในการใช้จริง ๆ

จ. ให้เสรีในการปฏิบัติกับหน่วยรองให้มากที่สุดภายในขอบเขตของเจตนารมณ์ของตน ทั้งนี้เนื่องจากการสู้รบจะพัฒนาไปในทิศทางที่บางครั้งก็ไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้อย่างชัดเจน บ่อยครั้งที่ผู้บังคับหน่วยระดับล่างจำเป็นต้องปฏิบัติการโดยยังไม่มีข่าวสารและคำสั่งการที่สมบูรณ์ทุกประการ ความล้มเหลวในอันที่จะปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการขาดอำนาจกำลังรบในเวลาและจังหวะที่จำเป็นต้องใช้ การใช้ช่วงจังหวะเวลาชิงความได้เปรียบเพื่อให้สำเร็จภารกิจ เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ, เร่งเร้าให้ปฏิบัติ หรือจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับหน่วยเหนือจะต้องได้รับทราบ ก่อนที่หน่วยรองจะเริ่มลงมือปฏิบัติทุกครั้ง หากทำได้

ฉ.โครงสร้างของการติดต่อสื่อสารที่จะเอื้ออำนวยให้หน่วยรองสามารถควบคุมการปฏิบัติของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บังคับหน่วยจะต้องวางตัวอยู่ ณ ตำบลที่สามารถควบคุมและมีอิทธิพลอย่างสูงสุดต่อการปฏิบัติของหน่วยรองของตนในสนามรบ ทั้งการสั่งการผ่านหน่วยรองและการเข้าควบคุมอำนายการด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันนั้น ก็จะต้องดำรงขีดความสามารถของตนในอันที่ จะโยกย้ายความพยายามหลักได้อย่างรวดเร็ว ผู้บังคับหน่วยอาจจะอยู่กับหน่วยรองในแนวหน้า ในลักษณะของกลุ่มการบังคับบัญชา หรืออาจจะอยู่ในที่บังคับการหลักก็ได้ ทั้งนี้จะต้องสามารถบังคับบัญชาและควบคุมหน่วยรองทั้งหมด รวมทั้งส่วนสนับสนุนได้ทั้งสองกรณี

๖ - ๙ คำสั่งแบบมอบภารกิจ

หลักนิยมอากาศ – พื้นดิน มีความจำเป็นต้องใช้การออกคำสั่งแบบมอบภารกิจ การควบคุมแบบกระจายอำนาจนี้จะทำให้ผู้บังคับหน่วยรองสามารถตกลงใจได้อย่างรวดเร็ว ภายในขอบ เขตของภารกิจ, แนวความคิดในการปฏิบัติ และเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา

ก. คำสั่งแบบมอบภารกิจนี้จะระบุถึงเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น โดยจะบ่งบอกถึงงานที่จะต้องทำว่า ผู้บังคับบัญชาต้องการให้ปฏิบัติอะไร แต่จะไม่บ่งบอกลงไปในรายละเอียดว่า ให้ปฏิบัติอย่างไร คำสั่งแบบนี้ต้องการเนื้อหาสำคัญสามประการเท่านั้น ประการแรกคือ การบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาต้องการให้บรรลุผลการปฏิบัติในเรื่องใด ประการที่สองก็คือ จะต้องระบุถึงปัจจัยจำกัดที่จะต้องเฝ้าสังเกตเพื่อวัตถุประสงค์ในการประสานการปฏิบัติ ประการที่สามก็คือ จะต้องระบุถึงทรัพยากรที่มีอยู่และสามารถใช้ได้ที่จะแบ่งมอบให้กับหน่วยรอง รวมทั้งการสนับสนุนอื่น ๆ ที่สามารถร้องขอได้จากนอกสายการบังคับบัญชา

ข. การปฏิบัติการใช้กลยุทธ์ตามภารกิจนั้น จำเป็นต้องใช้ความริเริ่ม, ความพร้อมของกำลังรบและการสนับสนุน รวมทั้งการใช้จินตนาการ ผู้บังคับหน่วยต้องพร้อมเสมอที่จะปรับการปฏิบัติให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามรูปแบบที่คาดไว้

ค. ความริเริ่มของผู้บังคับหน่วยรอง จะอยู่บนพื้นฐานของคำสั่งแบบมอบภารกิจและเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะกำหนดขอบเขตของการปฏิบัติการของหน่วย แต่จะให้โอกาสกับหน่วยรองในการช่วงชิงความได้เปรียบในสนามรบ ผู้บังคับหน่วยรองจะมีความห้าวหาญและรุกรบโดยสามารถร้องขอข้อมูลข่าวสาร, ทรัพยากร และการทบทวนแผนตามความต้องการ เพื่อที่จะยืนหยัดในสถานภาพของตนเมื่อมีความมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ง. ความริเริ่มและอิสระในความคิดของผู้บังคับหน่วยรอง จะจำกัดอยู่ในกรอบของ เอกภาพในการบังคับบัญชา, เอกภาพของความพยายาม และเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับหน่วยรองคนใดที่มีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องปฏิบัตินอกเหนือคำสั่ง เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นบีบบังคับ ก็จะต้องยอมรับผิดชอบในการปฏิบัติของตนดังกล่าว เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาจะต้องระบุอย่างชัดเจนและอยู่ในจิตใจของผู้บังคับหน่วยรอง ถึงแม้ว่าชัยชนะจะขึ้นอยู่กับความริเริ่ม ของผู้บังคับหน่วยรอง แต่ความริเริ่มนั้นจะต้องเกิดมาจากความเข้าใจในเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา มิใช่เกิดมาจากความต้องการที่จะมีอิสระในความคิดและการปฏิบัติ เพื่อผลเลิศการปฏิบัติของหน่วยต้องมีความประสานสอดคล้อง หากจำเป็นต้องมีการปฏิบัติโดยเสรีเพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่ผู้บังคับหน่วยรองพึงต้องระมัดระวังให้มีความสมดุลย์กันระหว่างความประสานสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามสถานการณ์ โดยมองภาพรวมของการปฏิบัติตามภารกิจ ความริเริ่มและเสรีในการปฏิบัติมักจะเกิดขึ้นและถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการขยายผล หรือการไล่ติดตาม แต่การปฏิบัติโดยอิสระเสรีที่เกิดขึ้นในระหว่างการรบหน่วงเวลา หรือการถอนตัวภายใต้การกดดันของข้าศึกนั้น อาจก่อให้เกิดความหายนะกับกำลังส่วนใหญ่ได้

จ. ตามปกติแล้วผู้บังคับบัญชามักนิยมใช้การสั่งการแบบมอบภารกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นของการประสานสอดคล้องของภารกิจในภาพรวม ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้การออกคำสั่งแบบระบุวิธีการปฏิบัติโดยเฉพาะเจาะจง เพื่อให้บรรลุความสำเร็จของภารกิจ

๖ - ๑๐ ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชา

การปฏิบัติการยุทธ์ในสภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ เป็นผลลัพธ์ของการจัดทำแผนของหน่วยงานของรัฐบาลที่อยู่นอกกองทัพ ซึ่งอาจหมายรวมถึง หน่วยงานพัฒนาของประเทศ หน่วยงานด้านการข่าวกรอง และสภาความมั่นคงแห่งชาติ การปฏิบัติการนั้นมักจะต้องมีการประสานงานกับประเทศพันธมิตรที่อยู่ภายในยุทธบริเวณ เมื่อมีการใช้กำลังทหาร ผู้บังคับการกองกำลังที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการนั้น จะเป็นผู้ควบคุมสั่งการและอำนวยการปฏิบัติ ผู้บังคับบัญชาของหน่วยทหารภาคพื้นดินมักจะไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมในการจัดทำแผนดังกล่าวในขั้นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับบัญชาของหน่วยทหารภาคพื้นดินก็จะแสวงข้อตกลงใจในการปฏิบัติและการใช้กำลังของตนเอง ด้วยเหตุผลนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ และความเข้าใจในความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของกองทัพที่มีต่อหน่วยราชการดังกล่าวข้างต้น

ก. นโยบายแห่งชาติของเราและของประเทศเจ้าบ้าน รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศจะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชาระหว่างผู้บัญชาการกองกำลังทหารของเราและของประเทศเจ้าบ้าน ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กรของรัฐบาลและฝ่ายทหารนำไปใช้ปฏิบัติ การพบปะกันระหว่างหน่วยงานทางพลเรือนและหน่วยงานทางทหาร และระดับความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาทางทหารสำหรับการพบปะนี้ เป็นปัจจัยพิจารณาสำหรับผู้บังคับหน่วยทางภาคพื้นดินที่จะจัดวางการติดต่อ, การสื่อสาร และการข่าวกรอง

ข. หน่วยงานการต่างประเทศจะเข้าดูแลการปฏิบัติงานทั้งของพลเรือนและทหาร ในพื้นที่ประเทศที่เกิดเหตุทั้งในยามสงบและเมื่อเกิดความขัดแย้ง โดยใช้การจัดตั้งชุดประสานงานภายนอกประเทศขึ้นเพื่อประสานการปฏิบัติของหน่วยงานทางพลเรือนและหน่วยงานทางทหาร กำลังพลในชุดประสานงานภายนอกประเทศจะช่วยดูแลปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และวัตถุประสงค์เป้าหมายของภูมิภาค และของประเทศที่มีเหตุการณ์ว่าได้มีการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัด ตัวอย่างของการจัดชุดประสานงานภายนอกประเทศ ได้แก่.-

• เอกอัคราชทูต

• ผู้แทนฝ่ายพลเรือนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

• ผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ

• ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ซึ่งจะรายงานตรงไปยังหน่วยข่าวกรองของกระทรวงกลาโหม

• หัวหน้าฝ่ายของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

• เจ้าหน้าที่สารนิเทศ/ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการพลเรือน

• ผู้ช่วยฝ่ายรักษาความปลอดภัย; ผู้แทนอาวุโสของกระทรวงกลาโหม

ค. กองกำลังเฉพาะกิจร่วมจะประสานงานกับผู้แทนอาวุโสของกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด หากไม่มีการจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจร่วมขึ้น ผู้แทนของกองทัพน้อย, กองพล หรือผู้แทนจากกองบัญชาการกรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการพบปะประชุมประสานงานกับชุดประสานงานภายนอกประเทศและประเทศเจ้าบ้าน
ง. กองบัญชาการควบคุมอาจถูกจัดตั้งขึ้นร่วมประเทศเจ้าบ้าน ซึ่งจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พลเรือนและกำลังรักษาความปลอดภัย เช่น ตำรวจ, กำลังกึ่งทหาร, กำลังทหาร การปฏิบัติการจะต้องมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานทางพลเรือนภายในประเทศนั้น เพื่อประกันว่าจะไม่เกิดข้อขัดแย้งขึ้นระหว่างวัตถุประสงค์ทางการเมือง และวัตถุประสงค์ทางการทหาร ทั้งนี้อาจใช้ระบบการจัดนายทหารติดต่อและเจ้าหน้าที่ประสานงานของฝ่ายพลเรือน


จ. กองกำลังเฉพาะกิจร่วมจะถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการปฏิบัติการยุทธ์ แต่ส่วนการบังคับบัญชาและการควบคุมจากกองพลจะถูกใช้งานเพื่อการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานอื่น ๆ และเพื่อให้การสนับสนุนกับกรมที่ออกปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้กรมสามารถมุ่งเน้นภารกิจในการควบคุมหน่วยในอัตราและหน่วยที่มาขึ้นสมทบได้อย่างเต็มที่

ฉ. การปฏิบัติการจิตวิทยา, การปฏิบัติกิจการพลเรือน และการช่วยเหลือประชาชนภายในและภายนอกประเทศ จะประสานการปฏิบัติผ่านทางกองกำลังเฉพาะกิจร่วม เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง กรมจะเป็นผู้ประสานในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการจิตวิทยาและการช่วยเหลือประชาชนในขณะนั้นเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการจิตวิทยาและการช่วยเหลือประชาชนอาจมีอิทธิพลต่อการวางแผน การเตรียมการและการปฏิบัติการ

ช. หากมีการใช้กำลังทหารตามแบบ เป็นส่วนติดตามการปฏิบัติของหน่วยรบพิเศษในระหว่างการเคลื่อนย้ายและใช้กำลัง ก็จำเป็นต้องร้องขอนายทหารติดต่อเข้ามาสมทบก่อนเคลื่อนที่เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการ หน่วยกำลังทหารตามแบบจะประสานงานกับหน่วยรบพิเศษผ่านทางกองกำลังเฉพาะกิจร่วม แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจร่วมขึ้นแล้ว หน่วยรบพิเศษจะถูกติดต่อประสานงานผ่านทางส่วนบัญชาการสงครามพิเศษของหน่วยบัญชาการรวมก่อนได้รับอนุมัติให้เคลื่อนที่เข้าพื้นที่ปฏิบัติการ กองบังคับการกรมจะต้องส่งส่วนล่วงหน้าเข้าไปก่อน หากการเคลื่อนย้ายกำลังนั้นอยู่ภายใต้การสนับสนุนของการปฏิบัติการแล้ว จะต้องมีการวางแผนและประสานงานในเรื่อง การผลัดเปลี่ยน, การผ่านแนว และการปฏิบัติอื่น ๆ ที่จำเป็น ผู้บังคับบัญชาสามารถร้องขอการสนับสนุนโดยตรงของหน่วยรบพิเศษได้จากส่วนบัญชาการสงครามพิเศษของหน่วยบัญชาการรวม ซึ่งเป็นผู้กำหนดจัดตั้งกองกำลังรบพิเศษร่วม ทั้งนี้อาจให้หน่วยทหารจู่โจมเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมทางยุทธการด้วยก็ได้ กำลังเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่การผลัดเปลี่ยนหน่วยกำลังรบตามแบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น