ตอนที่ ๔
การปฏิบัติการรบด้วยวิธีรับ
ในตอนที่ ๔ นี้ จะอธิบายถึงการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรับ ซึ่งกรมและหน่วยรองหลักของกรมจำเป็นต้องนำมาใช้ นอกจากนี้ยังมีแนวทางสำหรับ ผบ.หน่วยที่จะนำมาพิจารณาเลือกใช้ วิธีการตั้งรับแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรับชั่วคราว หรือการตั้งรับโดยใช้ฐานที่มั่นแบบกึ่งถาวร ซึ่งหมายรวมถึงสถานที่ตั้งทางการส่งกำลังบำรุง, ฐานยิงสนับสนุน, สนามบิน และฐานทัพอากาศภายใต้สภาวการณ์ระวังป้องกันในเงื่อนไขต่าง ๆ ของพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตั้งรับภายในพื้นที่ชุมชนได้ ผบ.หน่วยจะมีความรับผิดชอบต่อฐานที่มั่น, สิ่งอำนวยความสะดวก, ชุมชนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งนี้ย่อมต้องใช้วิธีการประยุกต์หลักการ และวิธีการหลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์เหล่านั้น
๒ - ๕ ฐานที่มั่นตั้งรับ
การตั้งรับและการระวังป้องกันของหน่วยทางยุทธวิธี รวมทั้งหน่วยสนับสนุนและบริการต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญยิ่งของภารกิจการรบ (คำว่า “ฐานที่มั่น” นั้น ใช้เพื่อให้ครอบคลุมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในการป้องกันและตั้งรับ) ผบ.หน่วยซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวจะรวมถึง การป้องกันทรัพยากรในพื้นที่ให้พ้นจากการรบกวนของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบเป็นพื้นที่หรืออาณาเขตที่ ผบ.หน่วยจะต้องจัดการระวังป้องกันเฉพาะตำบลในแต่ละพื้นที่ฐานที่มั่น นอกจากนี้ ผบ.ฐานที่มั่นอาจจำเป็นต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกหรือทรัพยากรเพื่อการปฏิบัติการอื่น ๆ เช่นเดียวกับการปฏิบัติการในพื้นที่ส่วนหลัง กำลังทหารจะร่วมสถาปนาระบบการตั้งรับในพื้นที่ซึ่งควบคุมโดยกำลังทหารมิตรประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ยังคงไม่ได้รับการระวังป้องกันพอเพียงต่อการเคลื่อนที่เข้ามาในลักษณะการแทรกซึม หรือเป็นหน่วยขนาดเล็กของฝ่ายกบฏ หรือการเข้ามาลอบยิง, รวมทั้งการใช้หน่วยรบขนาดเล็กเคลื่อนที่ด้วยยานพาหนะเข้าตีโฉบฉวย วิธีการตั้งรับที่ดีที่สุดก็คือการตั้งรับเป็นแบบวงรอบ (ดูรายละเอียดใน รส.๗–๒๐ และ รส.๗–๓๐)
ก. เงื่อนไขที่จะกำหนดให้ต้องดำเนินการตั้งรับในฐานที่มั่น มีดังต่อไปนี้.-
(๑) กำลังทหารของเราเข้าไปปฏิบัติการในประเทศอื่น
(๒) กำลังทหารของมิตรประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีภารกิจคล้ายคลึงกันเข้ามาอยู่ใน
ประเทศเจ้าบ้านประเทศเดียวกัน
(๓) เอกภาพในการบังคับบัญชา หรือกองบัญชาการผสมอาจถูกจัดตั้งขึ้น
(๔) ถึงแม้ว่าจะมีการขัดแย้งและต่อสู้กันด้วยอาวุธ, แต่ยังไม่ถึงระดับขั้นสงคราม
(๕) ฝ่ายกบฏอาจได้รับการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งทางเปิดเผยและทางลับ ประเทศที่ให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏ อาจให้ที่พักพิงหลบซ่อน ซึ่งฝ่ายกบฏสามารถใช้จัดตั้งเป็นฐานที่มั่นได้
(๖) กำลังกึ่งทหารอาจได้รับมอบความรับผิดชอบมากขึ้น
(๗) ฝ่ายกบฏมักไม่ค่อยดำรงการเข้าปะทะกับฝ่ายรัฐบาล
(๘) ฝ่ายกบฏมักไม่ค่อยใช้การยึดพื้นที่ แต่จะใช้การกระจายกำลัง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับกำลังที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือเข้มแข็งกว่า
ข. ฐานที่มั่นตั้งรับ จะประกอบด้วยมาตรการทางทหารเฉพาะตำบล ทั้งยามปกติและยามฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและลดประสิทธิผลในการเข้าโจมตีหรือก่อวินาศกรรมของฝ่ายกบฏ อีกทั้งจะต้องประกันความมีประสิทธิผลในการปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องของฝ่ายเรา
ค. ผบ.ฐานที่มั่นจะต้องรับผิดชอบในการจัดการระวังป้องกันรอบตัว หรือการตั้งรับแบบวงรอบกำลังทุกส่วน ไม่สำคัญว่าจะเป็นเหล่าใด ที่อยู่ภายในฐานนั้น ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทางยุทธการของ ผบ.ฐาน เพื่อภารกิจการป้องกันนั้น กำลังส่วนที่ได้จัดให้มาอยู่ในฐานเพื่อความมุ่งหมายอื่น ก็จะต้องให้ความช่วยเหลือในการระวังป้องกันเฉพาะตำบล เมื่อถูกฝ่ายกบฏเข้าโจมตี ผู้บังคับบัญชาของกำลังแต่ละส่วน จะต้องประจำอยู่ในฐานที่มั่น เพื่อรับผิดชอบในเรื่องดังนี้.-
(๑) มีส่วนร่วมในการจัดเตรียมแผนการระวังป้องกันฐาน และฝึกทหารในบังคับบัญชาให้ทำการป้องกันฐาน
(๒) จัดสิ่งอุปกรณ์ และกำลังพลสำหรับศูนย์กลางการป้องกัน และฝ่ายอำนวยการสำหรับภารกิจการระวังป้องกัน
(๓) จัดให้มีการระวังป้องกันภายในส่วนของตนเอง
ง. ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชาในภารกิจการป้องกันฐาน จะเป็นไปในลักษณะที่มีเอกภาพของการบังคับบัญชา ลำดับความเร่งด่วนในการปฏิบัติการป้องกันฐาน ทำให้เกิดความจำเป็นในสายการบังคับบัญชา ซึ่งกำลังพลทุกคนจะต้องมีความเข้าใจ
๒ - ๑๖ หลักพื้นฐานของการป้องกันฐานที่มั่น
ผู้บังคับบัญชาจะจัดการป้องกันฐานที่มั่นด้วยกำลังทหารที่มีอยู่ โดยใช้การระวังป้องกันรอบตัว การระวังป้องกันแบบนี้ จำเป็นต้องใช้การวางแผนอย่างละเอียดและการควบคุมแบบรวมการ มาตรการระวังป้องกันอาจต้องการการดำเนินเพิ่มเติมเพื่อป้องกันชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง การปฏิบัติการเชิงรุกอย่างต่อเนื่องคงที่ โดยกำลังทหารฝ่ายเดียวกันปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้าม จะสร้างแกนหลักในการป้องกันฐานที่มั่น การเฝ้าระวังและวินัยการใช้เสียง จะลดโอกาสที่ฝ่ายตรงข้ามจะแทรกแซงการปฏิบัติในฐาน และยังทำให้ฝ่ายตรงข้ามหันเหความสนใจและการปฏิบัติออกไปจากพื้นที่ตั้งของฝ่ายเรา(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน รส.๙๐–๑๒)
ก. การใช้ภูมิประเทศ ประเมินค่าพื้นที่ปฏิบัติการอย่างถูกต้องและการจัดหน่วยอย่างเหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในอันที่จะลดจำนวนกำลังทหารเพื่อภารกิจการป้องกันฐานที่มั่น ปัจจัยและองค์ประกอบต่าง ๆ มีดังนี้.-
(๑) ลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติที่เอื้ออำนวยแก่การตั้งรับ
(๒) เส้นทางถนนที่มีอยู่และเส้นทางน้ำ สำหรับเส้นหลักการติดต่อสื่อสารและการพาณิชย์ของพลเรือน
(๓) การควบคุมพื้นที่ทางบกและทางน้ำ รวมทั้งแนวทางการเคลื่อนที่ที่อยู่ล้อมรอบฐานที่มั่น จนถึงระยะยิงหวังผลของเครื่องยิงลูกระเบิดและเครื่องยิงจรวดของฝ่ายตรงข้าม
(๔) การควบคุมห้วงอากาศ
(๕) สถานที่ตั้งที่สำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น สนามบิน, สถานีผลิตกระแสไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างของพลเรือน
ข. การระวังป้องกัน การแจ้งเตือนถึงการปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามแต่เนิ่น จะทำให้ผู้บังคับบัญชามีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการตอบโต้ภัยคุกคามทุกชนิด การจัดยามคอยเหตุ, การลาดตระเวน, การปฏิบัติงานของทหารสารวัตร, การใช้เครื่องมือเฝ้าตรวจทางพื้นดิน ร่วมกับเรดาร์ค้นหาเป้าหมายของเครื่องยิงลูกระเบิด, สุนัขทหาร และการลาดตระเวนระวังป้องกันทางอากาศ จะช่วยแจ้งเตือนได้แต่เนิ่น นอกจากนี้ยังสามารถแสวงประโยชน์จากข่าวสารที่ได้รับจากพลเรือน และชนพื้นเมืองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับฐานที่มั่นของเรา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งบอกเหตุและการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม มาตรการการระวังป้องกันจะแปรเปลี่ยนไปตามภัยคุกคามจากฝ่ายตรงข้าม, กำลังทหารของฝ่ายเราที่มีอยู่ และปัจจัยประกอบอื่น ๆ ; การระวังป้องกันรอบตัวถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ค. การสนับสนุนซึ่งกันและกัน กำลังที่ตั้งรับจะต้องประกันไว้ซึ่งความสามารถในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งได้แก่ การยิง, การตรวจการณ์และส่วนดำเนินกลยุทธ์ การสนับสนุนซึ่งกันและกันในระหว่างกำลังที่ทำการตั้งรับนั้น ต้องการการวางแผนร่วมกันอย่างรอบคอบ, การวางกำลังและการประสานงานอันเนื่องมาจากพื้นที่ของฐานที่มั่นซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม จะต้องใช้กำลังทำการเฝ้าตรวจเพื่อควบคุมช่องว่าง ร่วมกับการใช้เครื่องกีดขวาง, การยิงตามแผนที่ได้จัดเตรียมไว้ และการดำเนินกลยุทธ์ แผนการตั้งรับจะต้องจัดให้มีการใช้ทรัพยากรในการสนับสนุนร่วมกัน เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตี, อากาศยานสนับสนุนภาคพื้นดิน และการสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการยิงฝ่ายเดียวกันอย่างที่สุด
ง. การตั้งรับแบบวงรอบ การตั้งรับแบบวงรอบ เป็นการป้องกันในทุกทิศทาง หน่วยระดับกองพันสามารถจัดกำลังทำการตั้งรับแบบวงรอบเพื่อให้บรรลุภารกิจพิเศษหรือเพื่อจัดให้ป้องกันตนในแบบเร่งด่วน เช่น ในระหว่างการรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม การตั้งรับแบบวงรอบจะถูกนำมาใช้เมื่อกองพัน หรือกรม จำเป็นต้องยึดภูมิประเทศสำคัญในพื้นที่ซึ่งการตั้งรับนั้นไม่มีหน่วยข้างเคียงช่วยเหลือหรือประสานการปฏิบัติ เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อกองพันหรือกรมปฏิบัติการหลังแนวข้าศึก หรือในเมื่อหน่วยนั้นกำลังยึดรักษา หรือป้องกันที่หมายที่อยู่โดดเดี่ยว เช่น สะพาน,เนินเขาหรือสนามบิน กองพันหรือกรมอาจจะใช้การตั้งรับแบบวงรอบในขณะที่กำลังถูกข้าศึกอ้อมผ่าน และถูกตัดขาดจากหน่วยอื่น ๆ แต่หน่วยจำเป็นต้องป้องกันตนในพื้นที่นั้น
(๑) ความจำเป็นที่หน่วยต้องยึดหรือรักษาตำบลหนึ่ง เช่น สะพาน, สนามบิน หรือพื้นที่เขตบินลง เพื่อป้องกันให้พ้นจากการตรวจการณ์และการยิงของข้าศึก จะจำกัดขอบเขตของการวางกำลังของหน่วยให้เป็นรูปวงกลม ปัจจัยเหล่านี้ และความที่ไม่สามารถปฏิบัติการในทางลึกได้ จะก่อให้เกิดความล่อแหลมต่อการถูกโจมตีด้วยยานเกราะ ผบ.หน่วยจะลดความล่อแหลมลงได้โดยปฏิบัติดังนี้.-
ก. วางระบบอาวุธต่อต้านยานเกราะไว้ในภูมิประเทศที่จำกัดการเคลื่อนที่ของยานเกราะเพื่อใช้ระดมยิงในขณะที่ยานเกราะเคลื่อนที่เข้ามา
ข. จัดวางกำลังให้มีความลึกให้มากที่สุดเท่าที่เส้นผ่าศูนย์กลางของวงรอบ จะ อำนวยให้จัดกำลังส่วนระวังป้องกัน, กองหนุน และเขตการยิงรองของอาวุธต่อสู้รถถัง
ค. จัดสร้างเครื่องมือกีดขวางเพื่อตรึง หรือสะกัดกั้นข้าศึกให้หยุด หรือชะลอการเคลื่อนที่ เพื่อง่ายต่อการยิงโจมตีได้อย่างมีประสิทธิผล
(๒) วงรอบนั้นมีรูปร่างที่แปรเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและสถานการณ์ หาก ผบ.หน่วยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้าศึกน่าจะเข้าโจมตีในทิศทางใด, ก็จะวางน้ำหนักของการต้านทานไปยังส่วนของวงรอบ เพื่อคุ้มครองแนวทางการเคลื่อนที่ในทิศทางนั้น รูปร่างของวงรอบจะเป็นไปตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งให้การตรวจการณ์และพื้นที่การยิงที่ดีที่สุดแก่หน่วยทหารฝ่ายเดียวกัน ประสิทธิผลของการตั้งรับแบบวงรอบอาจเพิ่มขึ้นได้ โดยความพยายามในการใช้เครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ เช่น ลำน้ำ, เพื่อให้ฝ่ายเราสามารถใช้อำนาจกำลังรบมุ่งเน้นไปในพื้นที่ที่คาดว่าข้าศึกจะคุกคามได้
(๓) การจัดการตั้งรับแบบวงรอบ สามารถดำเนินการได้มากมายหลายวิธี วิธีการหนึ่งก็คือ การวางกำลังระดับหมวดหรือกองร้อยทั้งหมดที่มีอยู่ในกองพันไว้ตามจุดต่าง ๆ ตามเส้นรอบ วง วิธีการนี้มักไม่ค่อยนิยมใช้กัน เนื่องจากเอื้ออำนวยต่อการเจาะของข้าศึก แต่อย่างไรก็ตาม ที่มั่นหรือการวางกำลังที่ตายตัวแบบนี้ ช่วยก่อให้เกิดความลึกในการตั้งรับได้
(ก) วงรอบของการตั้งรับจะถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่เขตย่อยให้กับกองร้อย โดยการใช้เส้นแบ่งเขตและจุดประสานเขต, ซึ่งเกิดขึ้นจากการพิจารณาตามที่กล่าวมาแล้ว หากทำได้ ให้วางกำลังสองหมวด (ซึ่งใช้กำลังทั้งสามหมู่เคียงกัน) ไว้เป็นวงรอบชั้นนอก และวางกำลังอีกหนึ่งหมวดไว้เป็นวงรอบชั้นใน ซึ่งลักษณะนี้จะทำให้กองร้อยมีความลึกและสะดวกในการควบคุม และยังทำให้หนึ่งหมวดจากแต่ละกองร้อยอาวุธเบา สามารถรับภารกิจสนับสนุนหมวดที่อยู่ในแนวหน้าได้ (เช่นเดียวกับการตั้งรับแบบปกติ)นอกจากนี้ ผบ.ร้อย.ยังสามารถจัดตั้งที่บังคับการและเลือกที่ตั้งยิงของ ค.๖๐ มม. ใกล้ ๆ กับหมวดหนุน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมและการระวังป้องกัน
(ข) ผบ.พัน. อาจเลือกใช้วิธีการวางกำลังสองกองร้อยอาวุธเบาเป็นวงรอบชั้นนอก และอีกหนึ่งกองร้อยวางเป็นวงรอบชั้นใน โดยไม่คำนึงถึงว่าจะใช้วิธีการใด วงรอบชั้นในควรจะอยู่ห่างจากวงรอบชั้นนอก พอเพียงที่จะป่องกันมิให้ข้าศึกทำการยิงกดหรือข่มกำลังทั้งสองชั้นได้ด้วยการยิงในครั้งเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม วงรอบชั้นในก็จะต้องอยู่ในระยะที่ใกล้พอที่จะสนับสนุนกำลังที่อยู่ตามวงรอบชั้นนอกได้ด้วยการยิงของอาวุธเบา ช่องว่างที่มีอยู่ตามการวางกำลังของวงรอบชั้นนอกในบริเวณพื้นที่เปิดนั้น จะต้องถูกวางการยิงคุ้มครองไว้ และเมื่อหน่วยอยู่ในพื้นที่ภูมิประเทศที่จำกัดพื้นที่การยิงและการตรวจการณ์แล้ว จะต้องไม่ยอมให้มีช่องว่างเกิดขึ้นในการวางกำลัง, ลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องกำหนดความกว้างด้านหน้าให้แคบลง และ ผบ.ร้อย.อาจจำเป็นต้องใช้การวางกำลังทั้งสามหมวดปืนเล็กตามวงรอบชั้นนอก
(๔) ผบ.หน่วยจะต้องมั่นใจว่า วงรอบชั้นนอกได้รับการป้องกันทางด้านหลัง จากอาวุธยิงของกำลังที่วางตามวงรอบชั้นใน, เมื่อได้มีการวางกำลังตามวงรอบชั้นในแล้ว
(๕) ยานพาหนะรบซึ่งให้การสนับสนุนการตั้งรับ มักจะได้รับมอบที่ตั้งยิงบริเวณเส้นรอบวง เพื่อคุ้มครองแนวทางการเคลื่อนที่ที่หน่วยยานยนต์ หรือยานเกราะของข้าศึก น่าจะเคลื่อนที่เข้ามาได้ ทั้งนี้จะต้องเลือกและเตรียมที่ตั้งยิงสำรอง รวมทั้งเส้นทางเคลื่อนที่เอาไว้ล่วงหน้าด้วย หากเส้นรอบวงภายนอกมีเส้นทางหรือแนวทางการเคลื่อนที่ที่หน่วยยานยนต์ หรือยานเกราะที่ข้าศึกน่าจะใช้หลายเส้นทาง ผบ.หน่วยก็อาจพิจารณาวางยานพาหนะรบของฝ่ายเราไว้ในตำบลที่สามารถโยกย้ายที่ตั้งได้ง่าย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมเส้นทาง, ที่กำบัง และแผ่นจดระยะไว้ล่วงหน้าสำหรับทุกที่ตั้งยิง นอกจากนี้ ผบ.หน่วยจะต้องมั่นใจว่ายานพาหนะดังกล่าวจะไม่เคลื่อนที่ผ่าน ทับและทำลายสายโทรศัพท์
(๖) การที่หน่วยต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว อาจทำให้ ผบ.พัน. หรือ ผบ.กรม จำเป็นต้องใช้การตั้งรับแบบวงรอบ หากเป็นเช่นนั้น หน่วยรบและหน่วยสนับสนุนการรบจากหน่วยอื่นอาจจำเป็นต้องแสวงหาการป้องกันจากกองพัน หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้ถูกมอบภารกิจให้ปฏิบัติโดยพิจารณาจากขีดความสามารถในการสนับสนุนของหน่วย การยิงสนับสนุนใด ๆ จากภายนอกวงรอบการตั้งรับจะต้องมีการประสานการปฏิบัติ และสนธิเข้ากับแผนการตั้งรับของหน่วย การยิงสนับสนุนจากภายนอก จะช่วยประหยัดกระสุนให้กับหน่วยภายในพื้นที่การตั้งรับ
(๗) ตามปกติแล้ว ผบ.พัน.ทุกคน จะต้องใช้ มว.ลว.ปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวนระวังป้องกันภายนอกวงรอบการตั้งรับ เพื่อการแจ้งเตือนแต่เนิ่น นอกจากนี้แล้ว ยังอาจเพิ่มเติมการระวังป้องกันด้วยหน่วยขนาดหมู่ หรือเล็กกว่า ซึ่งจัดมาจากหน่วยภายในพื้นที่การตั้งรับ และอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยนั้น ส่วนระวังป้องกันจะถูกวางไว้เพื่อตรวจการณ์ตามแนวทางการเคลื่อนที่หน่วยลาดตระเวนและระวังป้องกันนี้ จะป้องกันพื้นที่ที่หน่วยประจำพื้นที่ไม่สามารถเฝ้าตรวจได้ หากมว.ลว.ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกองพัน ก็จะต้องมีการประสานการปฏิบัติกับหน่วยในขอบหน้าที่มั่น เรื่องการผ่านแนว
(๘) ส่วนที่เป็นกองหนุน อาจประกอบกำลังขึ้นมาจากหน่วยขึ้นตรงหรือหน่วยรองของกองบัญชาการ และกำลังพลที่มาสนับสนุน กำลังส่วนนี้จะจัดวางเป็นแนวตั้งรับที่สองหลังแนวเส้นรอบวง ในทางอุดมคติแล้ว กองหนุนจะมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่พอเพียงที่จะตอบโต้การปฏิบัติของข้าศึก ณ บริเวณใดก็ตามของแนวเส้นรอบวงการตั้งรับ หรืออาจวางกำลังกองหนุนไว้ปิดกั้น ณ ตำบล หรือแนวทางการเคลื่อนที่ที่สำคัญที่สุดที่ข้าศึกน่าจะใช้ และพร้อมที่จะปฏิบัติการ ณ ตำบลอื่น หรือแนวทางเคลื่อนที่อื่นที่เกิดวิกฤตขึ้นได้ เมื่อมีคำสั่ง หากเป็นไปได้ก็อาจใช้ยานพาหนะรบที่มีอยู่ เข้าวางตัวในขั้นต้นบริเวณที่ตั้งยิงตามแนวเส้นรอบวง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือหรือเสริมอำนาจการยิงให้กับกองหนุนเมื่อเข้าปฏิบัติการ
(๙) การตั้งรับแบบวงรอบนั้น คงมีวิธีการปฏิบัติดำเนินไปเช่นเดียวกับการตั้งรับในเขตหน้า เครื่องยิงลูกระเบิด, ปืนใหญ่สนาม, รถถัง และอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง TOW จะใช้เพื่อการยิงข้าศึกในระยะไกล และเมื่อข้าศึกเข้ามาในระยะหวังผลของอาวุธเบา อาวุธเหล่านั้นก็จะถูกใช้ทำการยิงร่วมกัน หากมีการรบในระยะตะลุมบอน หรือระยะประชิด ก็จะต้องใช้การยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย หากข้าศึกสามารถเจาะแนวตั้งรับเข้ามาได้ ก็จะใช่กองหนุนเข้าสกัดกั้นและทำการตีโต้ตอบเพื่อสถาปนาแนวตั้งรับขึ้นใหม่ เมื่อได้สั่งใช้กองหนุนไปแล้ว ผบ.หน่วยจะต้องจัดตั้งกองหนุนขึ้นใหม่ ชั่วคราว เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ต่อไป กำลังส่วนนี้ตามปกติแล้วจะจัดมาจากหน่วยที่ยังมิได้ปะทะกับข้าศึกในส่วนหนึ่งส่วนใดของแนวตั้งรับ และเมื่อได้จัดกำลังส่วนนี้ทำหน้าที่กองหนุนแล้ว ผบ.หน่วยก็จะต้องพิจารณากำลังที่พอเพียงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในแนวตั้งรับที่ว่างลงนั้นต่อไป
(๑๐) ส่วนสนับสนุนการช่วยรบ อาจให้การสนับสนุนจากพื้นที่ด้านในของการตั้งรับ หรืออาจให้การสนับสนุนจากที่ตั้งแห่งอื่น, ขึ้นอยู่กับภารกิจและสถานภาพของกองพัน, ชนิดและจำนวนของยานพาหนะขนส่ง, สภาพลมฟ้าอากาศ และสภาพภูมิประเทศ บ่อยครั้งที่มักใช้การส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากทางอากาศ หน่วยรับการสนับสนุนจึงจำเป็นต้องเลือกและเตรียมพื้นที่เขตบินลง และเขตส่งลงที่ปลอดพ้นจากการตรวจการณ์และการยิงของข้าศึก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นปัจจัยพิจารณาที่สำคัญประการหนึ่งของการเลือกที่มั่นตั้งรับ และด้วยเหตุผลที่ว่าการส่งกำลังทางอากาศนั้นมีความล่อแหลมต่อสภาพลมฟ้าอากาศ และการยิงของข้าศึก, ผบ.หน่วยจึงต้องเน้นระบบการส่งกำลังและการประหยัดสิ่งอุปกรณ์ไว้ใช้ในยามคับขัน
ฉ. ความรับผิดชอบ ฐานที่มั่นอาจถูกโจมตีจากการยิงในระยะไกลของพลซุ่มยิง, เครื่องยิงลูกระเบิด หรือการยิงจากเครื่องยิงจรวดของหมู่โจมตีในลักษณะพลีชีพ หรือจากการโจมตีทางอากาศ หรือแม้แต่การใช้กำลังหลักเข้าโจมตี ข้าศึกจะมีความได้เปรียบตรงที่เป็นฝ่ายเลือกว่าจะปฏิบัติการเมื่อใด, ที่ไหน และด้วยการใช้กำลังแบบใดเข้าโจมตี ฝ่ายตั้งรับจึงต้องพิจารณาวางกำลังและวางแผนการยิงสนับสนุน รวมทั้งการเคลื่อนที่ เพื่อให้สามารถตอบโต้การปฏิบัติการของข้าศึกได้อย่างกว้างขวาง แผนที่ถูกจัดเตรียม จะหมายรวมถึงแผนการตีโต้ตอบ, หน่วยจะต้องดำเนินการซักซ้อม, ประเมินค่า และปรับแก้ตามความจำเป็น
ช. การใช้ปฏิบัติการเชิงรุกให้มากที่สุด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการป้องกันฐานที่มั่นก็คือ การดำรงรักษาไว้ซึ่งที่ตั้งของฐานนั้น,ฝ่ายตั้งรับใช้การปะทะข้าศึกด้วยกำลังปฏิบัติการภายนอกฐานที่มั่นเป็นหลัก ในขั้นแรกของการเข้าวางกำลังจัดเตรียมฐานที่มั่น, จะใช้กำลังทหารฝ่ายเดียวกันปฏิบัติการเชิงรุกเข้าทำลายกำลังของข้าศึกในพื้นที่ ผบ.พื้นที่จะใช้การลาดตระเวน, การตีโฉบฉวย, การซุ่มโจมตี, การโจมตีทางอากาศ และการยิงสนับสนุนเพื่อขัดขวางและทำลายกำลังส่วนที่เหลือของข้าศึก ทั้งนี้ ผบ.หน่วยอาจพิจารณาระบบเครื่องมือต่อต้านแสงเลเซอร์ เพื่อทำลายความพยายามในการสอดแนมของข้าศึก หากฝ่ายเราสามารถกวาดล้างข้าศึกออกไปจากพื้นที่ได้แล้ว, ก็อาจพิจารณาใช้กำลังจำนวนน้อยเพื่อทำการป้องกันฐานที่มั่น ผบ.กองกำลังป้องกันฐานดำรงรักษาการติดต่อกับ ผบ.หน่วยหลักทางยุทธวิธีในพื้นที่ เพื่อประสานการปฏิบัติร่วมกันกำจัดภัยคุกคามให้หมดสิ้น
ซ. การใช้ปฏิบัติการเชิงรับ หน่วยทุกหน่วยภายในพื้นที่ฐานที่มั่น ล้วนต้องมีความรับผิดชอบในการช่วยเสริมมาตรการเชิงรับ การใช้ปฏิบัติการเชิงรับจะช่วยลดโอกาส (และประสิทธิผล) ในการทำลาย ซึ่งเกิดจากปฏิบัติการของข้าศึก ความรับผิดชอบในการปฏิบัติภายใต้มาตรการเชิงรับพิเศษนั้น จะมอบหมายให้กับหน่วยดับเพลิง, หน่วยเคมี, หน่วยเสนารักษ์ และหน่วยอื่น ๆ ซึ่งสามารถสนองตอบความต้องการมาตรการเชิงรับที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยทหารทั้งหมดที่อยู่ในฐานที่มั่นจะต้องริเริ่มนำมาตรการเชิงรับอื่น ๆ มาใช้ เช่น การกระจายกำลัง, การพราง, วินัยการใช้แสงสว่าง และการใช้ที่กำบัง มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ในการปฏิบัติการของฐานที่มั่น และเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติตอบโต้การโจมตีของข้าศึก
ด. การเตรียมการตั้งรับ การใช้มาตรการตั้งรับเมื่อเริ่มต้นวางกำลังในฐานที่มั่น ควรจะเริ่มดำเนินการก่อนที่หน่วยหลักในการวางกำลังจะเดินทางมาถึง ตามปกติแล้ว หน่วยกำลังรบจะจัดการตั้งรับขึ้นภายในฐานที่มั่นแห่งใหม่ กำลังรบเหล่านี้จะยังคงอยู่ภายในฐาน, ปฏิบีติการเชิงรุก จนกว่าหน่วยต่าง ๆ ภายในฐานจะสามารถรับภารกิจได้ เมื่อหน่วยหลักของฐานที่มั่นเดินทางมาถึง ก็จะเริ่มดำเนินการวางกำลังตั้งรับ โดยปฏิบัติกิจหลาย ๆ กิจพร้อม ๆ กันในคราวเดียว แต่อย่างไรก็ตาม มีบางภารกิจที่ต้องจัดเป็นลำดับความเร่งด่วนต้น ๆ ผบ.ฐานที่มั่นจะเป็นผู้จัดลำดับขั้นตอนในการวางระบบการตั้งรับป้องกันฐานที่มั่น (ดูรายละเอียดใน รส.๗-๘, รส.๗–๑๐ และ รส.๗–๒๐ สำหรับการกำหนดลำดับงานในการตั้งรับทางยุทธวิธี)
ต. กองหนุน ผบ.หน่วยจะต้องดำรงให้มีกองหนุนอยู่เสมอ เพื่อให้ได้เปรียบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และสำหรับต่อต้านการปฏิบัติของกองโจร ขนาดของกองหนุนนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยแม่และสถานการณ์ทางยุทธวิธี ในการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก, กองร้อยอาจต้องเก็บกำลังขนาดหมู่ไว้เป็นกองหนุน; กองพัน มีกองหนุนขนาดหมวด; กรม มีกองหนุนขนาดกองร้อย แต่ในการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรับ เนื่องจากความต้องการการระวังป้องกันรอบตัว การวางระดับของกองหนุนจะมีข้อพิจารณาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ากำลังในแนวตั้งรับตามเส้นรอบวงจะถูกลดจำนวนหรือสูญเสียไปเท่าใด
(๑) ผบ.ร้อย. หรือ ผบ.พัน. อาจจำเป็นต้องกระจายกำลังไปวางตามแนวเส้นรอบวง ซึ่งใช้กำลังจำนวนมาก ในกรณีนี้ ผบ.หน่วยจะมีทางเลือกอยู่ ๔ ทาง คือ : จัดให้มีกองหนุนขนาดเล็กวางอยู่ในทิศทางที่คาดว่าจะใช้ปฏิบัติการ และควบคุมแบบรวม; ไม่จัดให้มีกองหนุน แต่วางกำลังส่วนหนึ่งไว้ที่แนบเส้นรอบวง และใช้วิธีการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปทดแทนในกรณีจำเป็น; ไม่จัดให้มีกองหนุน แต่ใช้การเพิ่มเติมกำลังในจุดที่ล่อแหลม หรือส่วนที่ต้องต้านทานการโจมตีอย่างหนักโดยใช้วิธีมอบการยิงสนับสนุนให้มากเป็นพิเศษในแนวเส้นรอบวงนั้น;และทางเลือกสุดท้ายก็คือพิจารณาลดขนาดของกำลังที่วางตามแนวเส้นรอบวงลง
(๒) กรม ควรจะดำรงให้มีกองหนุนขนาดกองร้อยไว้ในการตั้งรับ ภารกิจกองหนุนนี้ควรจัดหมุนเวียนให้แต่ละกองร้อยได้ปฏิบัติ, โดยหมุนเวียนให้กองร้อยที่ปฏิบัติภารกิจในแนวหน้า (หรือกองร้อยที่รับภารกิจหนักที่สุด) กลับมาปฏิบัติหน้าที่กองหนุน กองร้อยหนุนจะมีเวลาพักผ่อน, ปรนนิบัติบำรุงอาวุธ และทำการฝึกทบทวนในช่วงเวลาที่รับภารกิจกองหนุนนั้นเอง
(๓) หน่วยที่ปฏิบัติภารกิจกองหนุน ควรจะมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่อย่างสูง การเคลื่อนย้ายหน่วยทางอากาศเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากมีความรวดเร็วและไม่ต้องใช้ข่ายเส้นทางในภูมิประเทศ เช่น การเคลื่อนย้ายด้วยยานยนต์หรือยานเกราะ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการเคลื่อนย้ายหน่วยแบบใดก็ตาม ยานพาหนะส่วนใหญ่จะถูกแบ่งมอบให้กับกองหนุน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างทันท่วงที
(๔) หน่วยที่เป็นกองหนุนจะถูกเตรียมไว้เพื่อภารกิจฉุกเฉิน หรือแผนเผชิญเหตุ และหากได้มีการใช้กองหนุนไปแล้ว, ผบ.หน่วยจะต้องจัดตั้งกองหนุนใหม่ขึ้นมา ในกรณีนี้ควรพิจารณาให้หน่วยซึ่งยังไม่ได้ใช้ทำการรบ หรือไม่ติดพันกับข้าศึกในขณะนั้นเป็นทางเลือกแรก
๒ - ๑๗ การลาดตระเวนเฝ้าตรวจ
รายละเอียดในการวางแผนการลาดตระเวน และการต่อต้านการลาดตระเวน มีพื้นฐานอยู่กับการเตรียมสนามรบด้านการข่าว (IPB) โดยมุ่งเน้นเพิ่มการระวังป้องกันของแต่ละฐานที่มั่น หรือฐานปฏิบัติการ การปฏิบัติการเพื่อต่อต้านการรบด้วยวิธีรุกของหน่วยขนาดเล็กของข้าศึก จะสำเร็จได้ผลด้วยการใช้หน่วยลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ขนาดหมู่ และหมวด ปฏิบัติการจำนวนบ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้ การลาดตระเวนเฝ้าตรวจในเวลากลางคืน จะประสบความสำเร็จ ก็ต่อเมื่อสามารถสกัดกั้นและขัดขวางการปฏิบัติของข้าศึก และมั่นใจได้ว่าฝ่ายเราครองสนามรบในเวลากลางคืน กำลังหน่วยลาดตระเวนในเวลากลางคืนนี้จะค้นหาและสกัดจับ หรือทำลายกำลังรบขนาดย่อยของฝ่ายกบฏ การใช้ชุดสุนัขสงครามจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการระวังป้องกัน และการตรวจจับให้กับหน่วยลาดตระเวน
ก. หน่วยขนาดเล็ก, ที่มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง จะใช้การลาดตระเวนด้วยการเดินเท้า หรือบนยานพาหนะ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หน่วยอาจใช้อากาศยานหรือเรือในการปฏิบัติภารกิจหน่วยยานเกราะ,ทหารม้าและทหารราบยานเกราะ สามารถนำมาใช้ในภารกิจการลาดตระเวนเป็นพื้นที่ ในภูมิประเทศที่เป็นพื้นราบ, ลูกคลื่น หรือในพื้นที่ผสมระหว่างพื้นที่เปิดกับป่าขนาดย่อม ๆ ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่และอำนาจการยิงของหน่วยขนาดหนักนี้ จะช่วยให้หน่วยสามารถปฏิบัติการได้อย่างกว้างไกลและสามารถทำลายหน่วยของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างรวดเร็วหน่วยนี้จะเลือกภูมิประเทศที่เหมาะสมใกล้ ๆ กับฐานที่มั่น และยังสามารถจัดตั้งจุดตรวจที่ข้าศึกไม่คาดคิด ตามเส้นทางที่ฝ่ายเรารู้จักดีหรือเส้นทางที่เราคาดว่าฝ่ายกบฏจะใช้เป็นเส้นหลักการติดต่อสื่อสารนอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีจัดชุดข่าวกรองทางทหารและชุดปฏิบัติการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิสูจน์ทราบการใช้เครื่องมือสื่อสารและคลื่นวิทยุของฝ่ายกบฏ
ข. ควรพิจารณาใช้พื้นที่ซุ่มโจมตีที่มีการซ่อนพรางในเวลากลางคืนเป็นครั้งคราวนอก บริเวณพื้นที่ที่มีฉากขัดขวาง ในชุดซุ่มโจมตีควรจัดให้มีชนพื้นเมืองร่วมไปในบริเวณพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ใกล้ ๆ ความรู้ความชำนาญพื้นที่ของชนพื้นเมืองนั้นจะเป็นประโยชน์และช่วยเหลือภารกิจของชุดซุ่มโจมตีได้เป็นอย่างดี การใช้ปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิด จะต้องมีการทำบัญชีเป้าหมายและกำหนดตำบลระดมยิงไว้เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการร้องขอ นอกจากนี้ หน่วยยังต้องจัดวางเครื่องตรวจค้นและระบบการพิสูจน์ทราบ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนการเข้ามาของข้าศึกได้แต่เนิ่น
ค. ผบ.หน่วยกำลังป้องกันฐานหรือหน่วยลาดตระเวนป้องกันฐานจะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเป้าหมายความเคลื่อนไหว หน่วยลาดตระเวนอาจใช้การเจาะพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายกบฏเข้าไปเพื่อลอบติดตั้งเครื่องมือเฝ้าตรวจ เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏตามเส้นทางการแทรกซึมและเส้นทางการส่งกำลังบำรุง หรือหน่วยลาดตระเวนเฝ้าตรวจนั้นอาจใช้การปฏิบัติด้วยกำลังพลเพื่อเฝ้าตรวจความเคลื่อนไหวของข้าศึกตามเส้นทางเหล่านั้น หน่วยลาดตระเวนจะแจ้งเตือนให้ทราบถึงข่าวสารเกี่ยวกับการรวมกำลังการเคลื่อนย้ายอาวุธ, กระสุน หรือสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ; รวมทั้งการเตรียมที่ตั้งยิงเครื่องยิงลูกระเบิดหรือจรวด หน่วยลาดตระเวนอาจกำหนดที่ตั้งหรือตำบลที่สงสัยว่าจะเป็นเป้าหมาย ในขณะที่ใช้ระบบการเฝ้าตรวจและการแจ้งเตือนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมข่าวสาร ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นควรร่วมไปกับหน่วยลาดตระเวน ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ ความชำนาญภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม และการใช้ภาษา ตลอดจนความคุ้นเคยในขนบธรรมเนียมประเพณีถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ง. หน่วยจะใช้ชุดลาดตระเวนรบในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากฐานที่มั่น แต่ยังอยู่ในระยะยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ฝ่ายเรา ชุดลาดตระเวนรบเหล่านี้อาจปฏิบัติการนอกระยะยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากเฮลิคอปเตอร์โจมตี, อากาศยานสนับสนุนโดยใกล้ชิด หรืออากาศยานแบบ AC – ๑๓๐ ชุดลาดตระเวนอาจได้รับการส่งกำลังเพิ่มเติมทางอากาศ และมีเครื่องมือสื่อสารที่สามารถติดต่อกับมายังฐานและติดต่อกับอากาศยานได้ ชุดลาดตระเวนอาจมีการประกอบกำลังตั้งแต่ระดับหมู่จนถึงหมวด และจะออกปฏิบัติการในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอนเพื่อมิให้ฝ่ายข้าศึกสามารถคาดการณ์ได้ ชุดลาดตระเวนจะใช้การตรวจค้นตามแผน เพื่อพิสูจน์ทราบพื้นที่ความเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏ, พื้นที่ซุกซ่อนสิ่งอุปกรณ์, พื้นที่รวมกำลัง, พื้นที่พักผ่อน; พื้นที่ฝึก หรือพื้นที่เตรียมการโจมตี หากชุดลาดตระเวนรบค้นพบกำลังขนาดเล็กหรือหน่วยย่อยของฝ่ายกบฏ ก็จะเข้าปะทะและทำลายกำลังนั้นเสีย; แต่หากเป็นกำลังขนาดใหญ่ ก็จะใช้การรายงานและเฝ้าตรวจอย่างเกาะติด จนกว่าจะสามารถใช้วิธีการอื่นโจมตีได้ การเพิ่มขีดความสามารถของการลาดตระเวนโดยใช้กำลังกึ่งทหารประจำถิ่น หรือชุดสะกดรอย จะทำให้การปฏิบัติภารกิจได้ผลมากยิ่งขึ้น
(๑) การปฏิบัติการของหน่วยตอบโต้ เมื่อได้ค้นพบที่ตั้งหน่วยของฝ่ายกบฏแล้วก็จะใช้หน่วยปฏิบัติการตอบโต้เข้าปะทะกับกำลังของฝ่ายกบฏ เพื่อริดรอนและทำลายกำลังส่วนนั้น หากไม่สามารถทำลายกำลังของฝ่ายกบฏนั้นได้ ก็จะใช้การเฝ้าตรวจและเกาะเป้าหมายไว้; รายงานขอการสนับสนุนกำลังเพิ่มเติม; เพื่อเข้าทำลายกำลังฝ่ายกบฏต่อไป เมื่อได้ค้นพบเส้นทางถอนตัวหลบหนี ก็จะใช้การสกัดกั้นมิให้ฝ่ายกบฏถอนตัวและถูกทำลาย ณ บริเวณที่ปะทะ การใช้ยานพาหนะและอากาศยาน ตลอดจนการเคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้าอย่างรวดเร็ว จะทำให้หน่วยมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ ในการนี้ควรจะแบ่งมอบยานยนต์ล้อ และยานเกราะให้กับหน่วยตอบโต้อย่างพอเพียง
(ก) การปฏิบัติการตอบโต้จะเป็นแบบฝ่าย ๆ, มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และมีการซักซ้อมทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน จะต้องมีการกำหนดจุดแยกขั้นต้นและจุดแยกสำรองเพื่อปล่อยการบังคับบัญชาให้กับหน่วยปฏิบัติการตอบโต้ จุดแยกดังกล่าวจะใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนที่ไปยังที่หมายได้หลายที่หมาย จุดต่าง ๆ เหล่านั้นจะถูกลาดตระเวนและถ่ายภาพไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้ในการวางแผนและบรรยายสรุป เนื่องจากขีดจำกัดในการระวังป้องกัน จุดแยกที่แท้จริงจะถูกกำหนดเลือกโดยให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับในพื้นที่ที่ได้ซักซ้อมการปฏิบัติ
(ข) การปฏิบัติการตอบโต้โดยฉับพลันต่อการโจมตีลักษณะใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นไปโดยควบคู่กับการใช้อำนาจการยิง ประกอบกับการเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ การปฏิบัติตอบโต้โดยฉับพลัน ทันเวลา ตามข่าวกรองที่ถูกต้องแม่นยำ จะยังความสูญเสียให้กับฝ่ายกบฏได้อย่างมาก ก่อนมีการโจมตี การใช้เครื่องยิงลูกระเบิด หรือจรวดทำการยิงอย่างฉับพลัน จะยังความเสียหายให้กับฝ่ายกบฏ ในขณะเข้าโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายเรา และยังอาจใช้การยิงดังกล่าวสกัดกั้นการถอนตัวได้อีกด้วย
(๒) กำลังของประเทศเจ้าบ้านและประเทศที่สาม ตามปกติแล้ว ผบ.ฐานที่มั่นจะพิจารณาประกอบกำลังในฐานที่มั่น โดยให้มีกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้านและกำลังทหารของประเทศที่สามร่วมอยู่ด้วย โดยอนุมัติจาก ผบ.กองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม ทั้งนี้ ผบ.ฐานที่มั่นจะเน้นการใช้กำลังทหารของประเทศเจ้าบ้าน ในภารกิจการลาดตระเวนเฝ้าตรวจและการควบคุมการปฏิบัติของพลเมือง ทั้งกำลังทหารของประเทศเจ้าบ้านและกำลังทหารของประเทศที่สาม ต่างก็จัดการระวังป้องกันตนเอง; อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด จะต้องมีการประสานการปฏิบัติแผนการระวังป้องกันหน่วยดังกล่าว สนธิเข้ากับแผนหลักในการป้องกันฐานที่มั่น การเข้ามามีส่วนร่วมภายในฐานที่มั่นของกำลังทหารจากประเทศเจ้าบ้านและกำลังทหารจากประเทศที่สามนั้น ขึ้นอยู่กับคำสั่งและแนวนโยบายของรัฐบาลประเทศนั้น ๆ
๒ - ๑๘ การระวังป้องกันเส้นหลักการคมนาคม
ฝ่ายกบฏอาจใช้ความพยายามทำลายหรือตัดขาดเส้นหลักการคมนาคม ด้วยวิธีการต่าง ๆ ถนน, เส้นทางน้ำ และเส้นทางรถไฟ อาจถูกวางกับระเบิดหรือทุ่นระเบิด; อาจมีการซุ่มโจมตีในพื้นที่ใกล้กับเส้นหลักการสื่อสาร; แม้แต่สะพานหรืออุโมงค์ก็อาจถูกระเบิดทำลาย เส้นหลักการคมนาคมที่ยาวเกินไป ไม่อาจได้รับการระวังป้องกันได้เต็มที่; อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการบังคับใช้ เพื่อลดประสิทธิผลในการปฏิบัติของฝ่ายกบฏต่อเส้นหลักการคมนาคมเส้นนั้น
ก. การลาดตระเวนเฝ้าตรวจ โดยกองกำลังฝ่ายปราบปรามนั้น จะเพิ่มโอกาสให้ตรวจพบฝ่ายกบฏได้ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการวางทุ่นระเบิดหรือใช้การระเบิดทำลาย,หรือจัดวางการซุ่มโจมตีและการปิดกั้นเส้นทางถนน ในระหว่างขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ ของการปฏิบัติการของฝ่ายกบฏนั้น หน่วยสารวัตรทหารสามารถปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวนตรวจสอบเส้นทางหลักการคมนาคมทางภาคพื้นดิน แต่ถ้าสถานการณ์ทางยุทธวิธีบังคับ ก็อาจจำเป็นต้องใช้หน่วยกำลังรบปฏิบัติภารกิจนี้ หน่วยกำลังรบดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อได้รับการจัดกำลังแบบผสมเหล่าซึ่งประกอบด้วยหน่วยยานเกราะ, ทหารม้าและหน่วยทหารราบยานเกราะหรือทหารราบยานยนต์เพิ่มเติมด้วย ทหารช่าง,ทหารราบเบา,ปตอ.และหน่วยบินทหารบกเป็นกำลังผสมเหล่าในอุดมคติที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการระวังป้องกันเส้นหลักการติดต่อสื่อสาร
ข. การลาดตระเวนจะปฏิบัติอย่างเป็นรูปแบบ,แต่หน่วยลาดตระเวนต้องไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ซ้ำซากจนสามารถดักทางได้ ซึ่งการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติเป็นกิจวัตรเช่นนี้ จะทำให้ฝ่ายกบฏไม่สามารถซุ่มโจมตีได้ผล หน่วยลาดตระเวนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องผ่านเข้าใกล้พื้นที่ที่อาจถูกใช้เป็นที่ซุ่มโจมตี และพื้นที่คับขัน ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการใช้ เครื่องปิดกั้นถนนหรือทุ่นระเบิดกับระเบิดและวัตถุระเบิด อื่น ๆ อย่างได้ผล
ค.หน่วยลาดตระเวนพื้นที่สามารถปฏิบัติการได้ผลในพื้นที่กว้างขวาง แต่ในห้วงระยะเวลาสั้น ๆ หน่วยลาดตระเวนเดินเท้าจะปฏิบัติได้ช้ากว่า แต่สามารถตรวจสอบและเก็บรายละเอียดได้มากกว่าหน่วยอื่น ๆ กำลังพลในหน่วยลาดตระเวนเดินเท้าจะต้องได้รับการฝึกให้สามารถตรวจค้นทุ่นระเบิดและกับระเบิด ซึ่งในการนี้ควรพิจารณาใช้เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด และชุดสุนัขทหาร ช่วยเหลือในการปฏิบัติภารกิจ
ง.ภารกิจหลักของหน่วยลาดตระเวนก็คือการตรวจสอบความปลอดภัยของเส้นทางที่ใช้ตามปกติแล้วจะไม่พิจารณาจัดกำลังจำนวนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้หน่วยขาดความคล่องตัว แต่กำลังพลจำนวนน้อยก็อาจไม่มีขีดความสามารถในการรบปะทะกับกำลังของฝ่ายกบฏที่มีจำนวนมากกว่า;อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีอาวุธยิงสนับสนุน เช่นปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์โจมตี จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยลาดตระเวนในการต่อสู้กับฝ่ายกบฏหน่วยลาดตระเวนจะประกอบกำลังขึ้นให้มีอำนาจกำลังรบพอเพียงที่จะอยู่รอด และเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าปฏิบัติการ การปฏิบัติของฝ่ายกบฏที่ผ่านมาจะเป็นเครื่องบ่งชี้การจัดกำลังของหน่วยลาดตระเวน หากตรวจพบว่าฝ่ายกบฏมีการประกอบกำลังอย่างเข้มแข็งแล้วภารกิจการทำลายกำลังฝ่ายกบฏนี้ จะเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายเราแต่ทั้งนี้หน่วยลาดตระเวนรบก็จะพยายามริเริ่มเข้าปะทะด้วยกำลังที่น้องที่สุดเท่าที่จำเป็นหน่วยลาดตระเวนนี้จะต้องมีทักษะในการต่อต้านการซุ่มโจมตีเป็นอย่างดี
จ. เครื่องปิดกั้นถนน,จุดตรวจและการจัดยามประจำด่านตรวจในจุดคับขันต่างๆ( เช่น สะพาน อุโมงค์ ) จะช่วยป้องกันการก่อวินาศกรรม ได้อย่างมีประสิทธิผลกำลังของฝ่ายเราจะหยุดการเคลื่อนที่ของยานพาหนะเพื่อทำการตรวจค้นทั้งยานพาหนะและบุคคลเครื่องป้องกันมิให้มีการเริ่มดำเนินการก่อวินาศกรรมได้ แต่กำลังของฝ่ายเราจะต้องไม่ยอมให้ยานพาหนะหยุดหรือจอดบนสะพาน ใต้สะพาน หรือในอุโมงค์
ฉ. กำลังพลในหน่วยลาดตระเวน จะเฝ้าตรวจจุดคับขันอย่างระมัดระวังในเวลากลางคืนด้วย การใช้กล้องตรวจการณ์ในเวลากลางคืน และเครื่องมือตรวจการณ์ตามทางรถไฟ เรดาร์เฝ้าตรวจภาคพื้นดิน และเครื่องมือตรวจจับ จะช่วยในการตรวจพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม การวางทุ่นระเบิดหรือกับระเบิดต่อเส้นทางที่เข้ามายังพื้นที่ล่อแหลม อาจช่วยลดโอกาสในการเข้ามาโจมตีทางภาคพื้นดินของข้าศึก พื้นที่จะต้องถูกวางการระดมยิงของปืนใหญ่โดยให้ล้อมรอบเป็นลักษณะเช่นเดียวกับวงแหวน กำลังพลในจุดเฝ้าตรวจควรจะดัดแปลงภูมิประเทศเป็นหลุม หรือบังเกอร์ เพื่อช่วยในการป้องกันอันตรายเป็นบุคคล และสามารถใช้เป็นที่มั่นสู้รบได้จนกว่าจะมีการเพิ่มเติมกำลัง นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาใช้เครื่องกีดขวางประเภททุ่นระเบิด กับระเบิด เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายกบฏใช้เส้นทางน้ำแทรกซึมเข้ามายังที่ตั้งของสะพาน
ช. ทหารช่าง สามารถช่วยเหลือการรักษาเส้นหลักการคมนาคม ให้ใช้การได้ โดยใช้เครื่องตรวจค้นและรื้อถอนทุ่นระเบิด กับระเบิด, ตรวจค้นพื้นที่ที่คาดว่าอาจถูกใช้เป็นที่ซุ่มโจมตี และช่วยซ่อมแซมถนน และเส้นทางที่ชำรุดเสียหาย ทหารช่างยังสามารถช่วยเตรียมระบบการป้องกันบริเวณรอบ ๆ จุดคับขันได้อีกด้วย
ซ. หน่วยยานเกราะ, ทหารม้า และหน่วยทหารราบยานเกราะ/ยานยนต์ จะเป็นหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในการระวังป้องกันตำบลสำคัญ เช่น ถนนหลัก, ชุมทางถนน, สะพาน, อุโมงค์, คลอง, ฝายกั้นน้ำ, เขื่อน และสถานีผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า
๒ - ๑๙ การตั้งรับเพื่อต้านทานการเข้าตีของกำลังกองโจร
เมื่อการปฏิบัติของฝ่ายกบฏได้ผ่านเข้ามาจนถึงขั้นที่ ๓ แล้ว ฝ่ายกบฏอาจใช้วิธีการรบตามแบบ ในการปฏิบัติการต่อฝ่ายรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจับกุมกำลังพลฝ่ายเรา หรือยึดสถานที่ที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก, ฐานปฏิบัติการ, ฐานที่มั่น, ชุมชน และเขตการปกครองเป็นพื้นที่ นอกจากนี้ยังพยายามที่จะตัดขาดหรือทำลายเส้นหลักการคมนาคมที่สำคัญ
ก. การเข้าปฏิบัติการโจมตี จะคงมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการเข้าตีของหน่วยกำลังรบตามแบบ ฝ่ายกบฏอาจทำการเข้าตีจากทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือหลายทิศทางพร้อมกัน เมื่อกำลังของฝ่ายรัฐบาลและกำลังทหารของเราปฏิบัติการตอบโต้ เส้นหลักการคมนาคมของฝ่ายเราและฝ่ายศัตรูก็จะเริ่มก่อตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในขั้นเริ่มต้นของการปฏิบัติการรุกของฝ่ายกบฏนั้น ฐานที่มั่นของฝ่ายเดียวกัน, ฐานปฏิบัติการ หรือแม้แต่ตัวเมืองก็อาจถูกโอบล้อม หรือเข้ายึดได้
ข. การจัดกำลังของหน่วยเพื่อตั้งรับ และโครงสร้างต่าง ๆ ของการตั้งรับจะต้องถูกจัดเตรียมให้พร้อมก่อนที่ฝ่ายกบฏจะเริ่มโจมตี การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยฝ่ายตั้งรับจนกว่าจะสามารถเริ่มการตีโต้ตอบได้ เมื่อเส้นหลักการคมนาคมของฝ่ายข้าศึกและฝ่ายเราได้เริ่มจัดตั้งขึ้น กำลังของทั้งสองฝ่ายก็จะใช้ยุทธวิธีการรบตามแบบในขั้นเริ่มแรก อย่างไรก็ตาม กำลังทหารของฝ่ายเราอาจจำเป็นต้องใช้การเข้าตีต่อที่หมายจำกัด เพื่อสถาปนาเส้นหลักการคมนาคมขึ้นใหม่ หรือเพื่อปลดปล่อยพื้นที่ที่ถูกยึดครองบางแห่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น